กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 15/2567 กสม. เผยผลการตรวจสอบกรณีวัตถุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 สูญหายใน จ.ปราจีนบุรี แนะแนวทางเยียวยา และป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ - ชงข้อเสนอแนะแก้ไขผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนต่อผู้หนีภัยการสู้รบในพื้นที่พักพิงชั่วคราวในไทย ทั้งในระยะเร่งด่วน และในเชิงนโยบาย -ร่วมกับ AICHR Thailand รับฟังความคิดเห็นระดับชาติ จัดทำร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิในสิ่งแวดล้อม

03/05/2567 64

            วันที่ 3 พฤษภาคม 2567 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และนางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 15/2567 โดยมีวาระสำคัญ 3 วาระ ดังนี้

            1. กสม. เผยผลการตรวจสอบกรณีวัตถุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 สูญหายใน จ.ปราจีนบุรี แนะแนวทางเยียวยา และป้องกันไม่ให้เกิดเหตุขึ้นอีก

            นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่สื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวเมื่อเดือนมีนาคม 2566 กรณีวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 สูญหายไปจากโรงไฟฟ้าชีวมวลความร้อนของบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรม 304 ตำบลท่าตูม อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี ต่อมาสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) จังหวัดปราจีนบุรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องมือ และอุปกรณ์จำนวนมาก ร่วมกันค้นหาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งตรวจพบกากกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในถุงขนาดใหญ่ของโรงงานหลอมโลหะ บริษัท เค พี พี สตีล จำกัด ในเขตอุตสาหกรรมกบินทร์บุรี แต่ก็ไม่มีหน่วยงานใดยืนยันว่า เป็นวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่สูญหาย ส่งผลให้ประชาชนวิตกกังวลถึงผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับมาตรการด้านความปลอดภัยในการควบคุมและครอบครองวัสดุกัมมันตรังสีและการเปิดเผยข้อมูลของหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในกรณีดังกล่าว รวมทั้งตั้งคำถามต่อการประกอบกิจการของโรงไฟฟ้าว่ามีการดำเนินธุรกิจโดยเคารพสิทธิมนุษยชนหรือไม่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จึงมีมติเมื่อต้นเดือนเมษายน 2566 หยิบยกกรณีดังกล่าวขึ้นตรวจสอบ

             กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รับรองให้บุคคลและชุมชนมีสิทธิได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานของรัฐ โดยรัฐต้องเปิดเผยและจัดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่มิใช่ข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงหรือความลับของทางราชการได้โดยสะดวก อันสอดคล้องกับหลักสิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ดีและยั่งยืนของประชาชน หลักการระวังไว้ก่อน (Precautionary Principle) เพื่อป้องกันผลกระทบและกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงและเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือสิ่งแวดล้อม และหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluters Pay Principle: PPP) ตลอดทั้งหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน(UNGPs) ที่ระบุถึงหน้าที่ของภาครัฐและความรับผิดชอบของภาคธุรกิจในการคุ้มครองและเคารพสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการเยียวยาความเสียหาย

             จากการตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า วัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ได้สูญหายไปจากโรงงาน ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 แต่บริษัท เนชั่นแนลฯ กลับแจ้งการสูญหายเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 จึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 และหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับความปลอดภัยทางรังสีตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงความปลอดภัยทางรังสี พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้บริษัท เนชั่นแนลฯ ต้องแจ้งให้ ปส. ทราบทันที ทั้งยังไม่สอดคล้องกับหลักการระวังไว้ก่อน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า บริษัท เนชั่นแนลฯ ไม่มีมาตรการรักษาความปลอดภัยและการควบคุม ป้องกันวัสดุกัมมันตรังสีที่อยู่ในความครอบครองที่เพียงพอ โดยปล่อยให้สูญหายไปได้โดยง่าย ทั้งที่วัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 เป็นวัตถุอันตรายมากกว่าทรัพย์สินอื่น ๆ จึงรับฟังได้ว่า บริษัท เนชั่นแนลฯ ได้กระทำการอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชน อย่างไรก็ดี ปส. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ได้แจ้งความดำเนินคดีกับบริษัทแล้ว กสม. จึงสั่งให้ยุติเรื่องในประเด็นนี้ อันเป็นกรณีตามมาตรา 39 (5) ประกอบมาตรา 39 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560

             อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตว่า แม้ว่าบริษัท เนชั่นแนลฯ จะถูกแจ้งความดำเนินคดีแล้ว แต่บริษัท เนชั่นแนลฯ ยังมีหน้าที่ต้องแจ้งการสูญหายของวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมทราบภายใน 24 ชั่วโมง ตามประกาศกระทรวงฯ ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 แต่ก็มิได้รายงานให้ทราบภายในกำหนด อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี ไม่สามารถบังคับโทษตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน ได้ เนื่องจากพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 ได้ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะให้แก้ไขกฎหมายในประเด็นนี้

             สำหรับกรณีการตรวจพบกากกัมมันตรังสีดังกล่าวในโรงงานหลอมโลหะของบริษัท เค พี พีฯ เห็นว่า ในช่วงเวลาเกิดเหตุ อุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี ได้ออกคำสั่งให้บริษัท เค พี พีฯ หยุดประกอบกิจการชั่วคราวเพื่อตรวจสอบความปลอดภัยจากการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสี และผลการตรวจสอบไม่พบการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในร่างกายของพนักงานในโรงงาน และไม่พบการปนเปื้อนของรังสีในน้ำ ดิน อากาศ และน้ำประปาในพื้นที่บริเวณโรงงานและพื้นที่ใกล้เคียงที่ก่อให้เกิดอันตราย ประเด็นนี้จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า บริษัท เค พี พีฯ ได้กระทำการอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

             ทั้งนี้ แม้ว่ากากกัมมันตรังสีข้างต้น จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ตาม แต่ก็เป็นต้นเหตุให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้าไปร่วมตรวจสอบและค้นหาวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 รวมถึงเก็บรักษาและกำจัดกากกัมมันตรังสี ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการดังกล่าว เมื่อ ปส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดำเนินการก็สามารถเรียกค่าใช้จ่ายในการขจัดมลพิษจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษได้ตามกฎหมาย ตามหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย และหลักความรับผิดชอบของภาคธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน

             ส่วนกรณีการสื่อสารข้อมูลข่าวสารให้ประชาชน และสร้างความรับรู้มาตรการด้านความปลอดภัยจากกากกัมมันตรังสีซีเซียม-137 นั้น เห็นว่า จังหวัดปราจีนบุรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์พร้อมแต่งตั้งคณะทำงานการมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการจัดทำแผนเผชิญเหตุภัยจากนิวเคลียร์และรังสี และได้สื่อสารข้อเท็จจริง และข้อมูลที่ถูกต้องให้ประชาชนได้รับทราบในช่องทางต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า มีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

             ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 จึงมีมติ ให้เสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งแก้ไขปรับปรุงกฎหมายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ ดังนี้

             1) ให้บริษัท เนชั่นแนลฯ จัดให้มีกระบวนการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านที่ระบุความเสี่ยง การป้องกัน การบรรเทาผลกระทบ และกำหนดหน่วยรับผิดชอบเมื่อเกิดผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน และมีกระบวนการเยียวยาเมื่อเกิดผลกระทบจากการกระทำหรือมีส่วนร่วมในการกระทำที่กระทบต่อสิทธิมนุษยชน โดยให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กำกับดูแลบริษัทให้ปฏิบัติตามหลักการ UNGPs ด้วย

             2) ให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) เป็นหน่วยงานหลักในการรวบรวมค่าใช้จ่ายในการขจัดมลพิษจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเรียกให้บริษัท เนชั่นแนลฯ ชดใช้ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มาตรา 96 วรรคสอง

             3) ให้สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทน.) เร่งจัดการวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ของโรงไฟฟ้าชีวมวลความร้อนของบริษัท เนชั่นแนลฯ และกำจัดกากกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่เก็บไว้ในโรงงานหลอมโลหะของบริษัท เค พี พีฯ รวมทั้งกำหนดมาตรการควบคุม ป้องกัน และตรวจสอบปริมาณรังสีจากวัสดุและกากกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ไม่ให้แพร่กระจายหรือสูญหาย รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนทราบเป็นระยะ ๆ จนกว่าจะจัดการวัสดุและกากกัมมันตรังสีดังกล่าวแล้วเสร็จ

             4) ให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม ทบทวนประกาศฯ ฉบับที่ 27 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 ให้มีความเหมาะสมและทันต่อสถานการณ์ รวมทั้งให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และให้ติดตั้งเครื่องตรวจวัดรังสีในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดสภาวะการปนเปื้อนทางรังสีด้วย

 

            2. กสม. เสนอเร่งแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนต่อผู้หนีภัยการสู้รบในพื้นที่พักพิงชั่วคราว รวมถึงการแก้ไขปัญหาในเชิงนโยบาย

            นางปรีดา   คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีสถานการณ์ปัญหาผู้หนีภัยการสู้รบในพื้นที่พักพิงชั่วคราวหลายแห่งที่ส่งผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนหลายประการ ประกอบกับมีผู้ร้องเรียนว่าครอบครัวพำนักอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านแม่หละ จังหวัดตาก พบปัญหาสุขภาพย่ำแย่ ขาดแคลนอาหาร และไม่สามารถประกอบอาชีพได้ กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริง บทบัญญัติของกฎหมาย มาตรฐานสิทธิมนุษยชน  และรับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐบาลไทยกำหนดให้ผู้หนีภัยการสู้รบมีสถานะเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองกลุ่มเปราะบางต่อความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยควบคุมดูแลและผ่อนผันให้อาศัยอยู่เฉพาะในพื้นที่พักพิงชั่วคราวซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมพิเศษเฉพาะ ตั้งแต่ปี 2527 และยุบรวมเหลือพื้นที่พักพิงชั่วคราวเพียง 9 แห่ง ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี และราชบุรี โดยพบว่า ผู้หนีภัยการสู้รบที่อยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวซึ่งปัจจุบันมีอยู่กว่า 82,000 คน (UNHCR, มีนาคม 2567) ประสบปัญหาไม่ได้รับการปฏิบัติตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนหลายประการ สรุปได้ ดังนี้

            1) การควบคุมให้อาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวเป็นเวลานานอย่างไม่มีกำหนด กว่า 40 ปีที่ผู้หนีภัยการสู้รบต้องถูกควบคุมตัวในพื้นที่พักพิงชั่วคราวอย่างไร้ความหวังที่จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ด้วยเหตุผลที่การรับผู้หนีภัยในพื้นที่พักพิงชั่วคราวไปตั้งถิ่นฐานใหม่เป็นไปอย่างจำกัด ประกอบกับการรัฐประหารในเมียนมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ทำให้โครงการส่งกลับมาตุภูมิโดยสมัครใจต้องยุติลง นอกจากนี้ เด็กผู้หนีภัยรุ่นลูกหลานที่เกิดและเติบโตในพื้นที่พักพิงชั่วคราวมานาน รวมทั้งเด็กที่พลัดพรากจากครอบครัว ไม่มีแนวคิดจะกลับไปใช้ชีวิตในเมียนมา และแม้ผู้หนีภัยจะมีความรู้และทักษะอาชีพต่าง ๆ แต่ไม่มีโอกาสที่จะนำศักยภาพที่มีอยู่มาใช้พัฒนาชีวิตและครอบครัว ทำให้รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม ผิดหวัง และมีความทุกข์ในการใช้ชีวิตอยู่

            2) ปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล การจำแนกผู้หนีภัยในพื้นที่พักพิงชั่วคราวให้มีสถานะเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองกลุ่มเปราะบางต่อความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทำให้ผู้หนีภัยเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองและถูกส่งกลับประเทศไปเผชิญอันตรายได้ และยังทำให้รัฐบาลไทยดำเนินนโยบายที่เต็มไปด้วยข้อจำกัด เช่น กรณีผลจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 ที่ยกเว้นการให้สิทธิอาศัยผู้หนีภัยในพื้นที่พักพิงชั่วคราว แต่ให้คนต่างด้าวกลุ่มอื่น ๆ ที่อพยพและอาศัยอยู่มานานมีสิทธิอาศัย โดยให้สถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายมีถิ่นที่อยู่ถาวร จึงเกิดความเหลื่อมล้ำ และกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของกลุ่มผู้หนีภัย

            3) การถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ การที่รัฐบาลไทยไม่ผ่อนปรนให้ผู้หนีภัยออกไปทำงานภายนอกพื้นที่พักพิงชั่วคราว ผู้หนีภัยจึงต้องลักลอบออกมาทำงาน เช่น มาเป็นแรงงานภาคเกษตรกรรมในชุมชนใกล้เคียง และจำต้องยินยอมให้ถูกเอารัดเอาเปรียบค่าจ้าง หรือถูกเรียกรับเงินไม่ให้ถูกจับกุมเมื่อเดินทางออกนอกพื้นที่ จึงเกิดความเครียดสะสมจากการถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ

            4) การเข้าไม่ถึงมาตรฐานการครองชีพ ผู้หนีภัยในพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านแม่หละไม่ได้รับอาหารที่เหมาะสมและเพียงพอ มีภาวะขาดสารอาหาร และยังพบภาวะคลอดก่อนกำหนด ขณะที่องค์การนอกภาครัฐที่ให้ความช่วยเหลือค่าดำรงชีพแก่ผู้หนีภัยก็สามารถสนับสนุนอัตราค่าดำรงชีพต่อรายได้เพียงเดือนละ 350 บาท หรือ วันละ 10 – 12 บาทเท่านั้น นอกจากนี้ ผู้หนีภัยยังไม่สามารถเข้าเรียนในระบบการศึกษาไทยตามสถานศึกษาต่าง ๆ ได้เช่นเดียวกับคนต่างด้าวกลุ่มอื่น ๆ  แต่ศึกษาได้ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวตามหลักสูตรการศึกษาของเมียนมาเท่านั้น ด้านสุขภาพ ผู้หนีภัยมีแนวโน้มปัญหาด้านสุขภาพจิตสูงขึ้น แต่ไม่มีจิตแพทย์เข้าไปให้คำปรึกษาอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ ผู้หนีภัยยังประสบเหตุอัคคีภัยบ่อยครั้งและยังพบปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศด้วย

            ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะ ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการ ดังนี้

            1) ข้อเสนอแนะระยะเร่งด่วน ให้สภาความมั่นคงแห่งชาติและกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ ประสานความร่วมมือด้านการต่างประเทศเพื่อส่งตัวผู้หนีภัยไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สามโดยเร็ว และให้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านสาธารณสุขให้แก่ผู้หนีภัย เช่น การตรวจสุขภาพประจำปี การจัดระบบประกันสุขภาพ รวมทั้งจัดให้มีจิตแพทย์เข้าไปบริการรักษาสุขภาพจิต นอกจากนี้ ให้มีกลไกการป้องกันอาชญากรรมในพื้นที่พักพิงชั่วคราวอย่างเคร่งครัด พัฒนามาตรการระวังภัยและลดปัจจัยเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น จัดสรรพื้นที่อยู่อาศัยไม่ให้แออัด จัดให้มีแสงสว่างและเวรยามรักษาการณ์ที่เพียงพอ ติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดในจุดเสี่ยง รวมทั้งจัดให้มีอุปกรณ์ระงับเหตุ เช่น ถังดับเพลิง ตู้ยาสามัญ เครื่องกระตุ้นหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (AED) รวมทั้งทบทวนหลักเกณฑ์การก่อสร้างที่พักโดยปรับเปลี่ยนการใช้วัสดุธรรมชาติเป็นวัสดุอื่นที่ทนทานต่อการติดไฟ

            2) ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ให้สภาความมั่นคงแห่งชาติร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน คณะกรรมการผู้หนีภัย และองค์การนอกภาครัฐ สำรวจข้อมูลประชากรในพื้นที่พักพิงชั่วคราวทุกคนเพื่อดำเนินงานด้านนโยบาย ทั้งในส่วนข้อมูลของผู้หนีภัย เช่น ความประสงค์ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม สมาชิกในครอบครัวในเมียนมา การศึกษาหรือทักษะอาชีพต่าง ๆ ข้อมูลจากภาคเอกชน เช่น ประเภทแรงงานที่ยังขาดแคลน ตลาดแรงงานที่เหมาะสมกับการจ้างงานผู้หนีภัย รวมทั้ง ข้อมูลจากองค์การนอกภาครัฐที่สนับสนุนให้ความช่วยเหลือ เช่น ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนานโยบายต่อผู้หนีภัยที่เหมาะสมกับสถานการณ์

            ทั้งนี้ ให้นำข้อมูลจากการสำรวจข้างต้นมาพิจารณากำหนดนโยบายทั้งด้านสิทธิและสถานะบุคคล ด้านการศึกษา และด้านการจ้างงานและการมีรายได้ โดยให้สิทธิผู้หนีภัยที่ไม่ประสงค์ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สามเป็นผู้มีสถานะคนต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยได้เป็นการชั่วคราว รวมทั้งมีมาตรการทางเลือกสำหรับผู้หนีภัยที่ไม่มีเครือญาติในประเทศต้นทาง สามารถเข้าสู่กระบวนการสำรวจจัดทำบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน กำหนดนโยบายรองรับผู้หนีภัยได้เข้าเรียนในระบบการศึกษาของไทยทุกระดับชั้น รวมทั้งเตรียมความพร้อมให้ผู้หนีภัยมีทักษะที่จำเป็นต่อการทำงาน และควรผ่อนปรนให้สามารถเดินทางออกจากพื้นที่พักพิงชั่วคราวเพื่อมาทำงานหรือเพื่อเข้าเรียนในสถานศึกษาได้  นอกจากนี้ ให้มีการส่งเสริมรายได้โดยจัดหาตลาดจำหน่ายสินค้าของผู้หนีภัย เช่น ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร หรือสินค้าหัตถกรรม ด้วย ทั้งนี้ มาตรการต่าง ๆ ต้องครอบคลุมถึงการป้องกันการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบต่อผู้หนีภัยด้วย

 

            3. กสม. ร่วมกับ AICHR Thailand รับฟังความคิดเห็นระดับชาติเพื่อขับเคลื่อนการจัดทำร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิในสิ่งแวดล้อม เตรียมเสนอที่ประชุมอาเซียนรับรอง

            นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า สถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน เช่น ปัญหาการลักลอบขนกากพิษ การเผาพื้นที่การเกษตร และฝุ่นละออง PM 2.5 ล้วนมีผลโดยตรงกับการพัฒนา ส่งผลกระทบต่อประชากรทุกกลุ่มในทุกภูมิภาคโดยไม่มีพรมแดน และส่งผลกระทบรุนแรงยิ่งขึ้นต่อกลุ่มประชากรที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบาง เช่น ผู้ยากไร้ ผู้สูงอายุ คนพิการ กลุ่มชาติพันธุ์ แรงงานข้ามชาติ เด็ก ผู้หญิง หรือกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2564) และสมัชชาใหญ่ของสหประชาชาติ (เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2565) ได้รับรองว่า “สิทธิในสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ดีต่อสุขภาพ และยั่งยืน เป็นสิทธิมนุษยชน” และยืนยันว่า รัฐมีหน้าที่ในการเคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิดังกล่าวให้เกิดขึ้นจริง

             แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีการกำหนดสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีไว้ในสนธิสัญญาหลักด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นทางการ แต่หลายประเทศก็ได้รับรองหลักการสิทธิมนุษยชนและหน้าที่ของรัฐต่อสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ดีต่อสุขภาพ และยั่งยืน ไว้ในรัฐธรรมนูญ กฎหมาย หรือนโยบายในประเทศ ขณะที่ประเทศไทยอยู่ระหว่างการผลักดันร่างกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาด อย่างไรก็ดีเพื่อให้มีกรอบการดำเนินงานหรือตราสารด้านสิ่งแวดล้อมของอาเซียนซึ่งเป็นการยกระดับการเข้าถึงความคุ้มครองด้านสิ่งแวดล้อมโดยประชาชนในภูมิภาคได้มีส่วนร่วม กสม. จึงได้ร่วมกับคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หรือ AICHR และภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนการจัดทำ “ร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิในสิ่งแวดล้อม” (National Consultation on the Draft ASEAN declaration on environmental rights) โดยมีศาสตราจารย์กิตติคุณ อมรา พงศาพิชญ์ ผู้แทนไทยใน AICHR (AICHR Thailand) ทำหน้าที่บทบาทนำในการดำเนินการจัดทำร่างปฏิญญาดังกล่าวร่วมกับผู้แทน AICHR อีก 10 ประเทศ ผ่านกลไกคณะทำงานด้านสิ่งแวดล้อมของอาเซียน (ASEAN environmental rights working group: AER working group) โดยเมื่อวันที่ 25 - 26 เมษายน 2567 กสม. AICHR Thailand และภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นระดับชาติต่อร่างปฏิญญาดังกล่าวในส่วนของประเทศไทย โดยมีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เข้าร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประมาณ 130 คน ณ โรงแรมไมด้า ดอนเมืองแอร์พอร์ต เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร

             ในการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว มีการนำเสนอความเป็นมาและสาระของร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิในสิ่งแวดล้อม ซึ่งว่าด้วยการรับรองหลักการสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย สะอาด เอื้อต่อสุขภาพ และยั่งยืน การอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมสำหรับคนรุ่นปัจจุบันและอนาคต การเข้าถึงข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม การมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจด้านสิ่งแวดล้อมและการเข้าถึงความยุติธรรมตามกฎหมาย ตลอดทั้งการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพในเรื่องสิ่งแวดล้อมสำหรับทุกคน โดยได้เปิดพื้นที่ให้กับทุกภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในมิติสิ่งแวดล้อมด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากฝุ่นข้ามพรมแดน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การควบคุมมลพิษ เหมืองแร่ ขยะ ที่ดิน ป่าไม้ น้ำ ระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงชายฝั่งทะเลและมหาสมุทร ได้แสดงความคิดเห็น โดยภายหลังจากการรับฟังความคิดเห็น จะมีการประมวลข้อมูลและข้อคิดเห็นที่ได้จากเวที นำเสนอคณะทำงานด้านสิ่งแวดล้อมของอาเซียนเพื่อปรับปรุงร่างปฏิญญาฯ จากนั้น จะนำไปสู่การขอความเห็นชอบจากคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) ในเดือนพฤษภาคม 2567 และที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน (AMM) ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2567 หากผ่านความเห็นชอบจะนำไปสู่การรับรองร่างปฏิญญาฯ ในที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) ในช่วงเดือนตุลาคม 2567 ต่อไป

             การรับฟังความคิดเห็นระดับชาติต่อร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิในสิ่งแวดล้อมครั้งนี้ของประเทศไทย ถือเป็นพัฒนาการสำคัญของการรับรองสิทธิทางสิ่งแวดล้อมระดับภูมิภาคอาเซียน แนวทางการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิสิ่งแวดล้อมที่ดีโดยประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน จะถูกนำไปต่อยอดและส่งเสียงสะท้อนในเวทีอาเซียน โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าร่างปฏิญญาดังกล่าวจะได้รับการรับรองจากประเทศสมาชิก และทำให้อาเซียนมีตราสารด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมที่สามารถนำไปใช้เพื่อรับมือกับสถานการณ์ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้ในเร็ววัน” นายวสันต์ กล่าว

 

 

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

3 พฤษภาคม 2567  

ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน