Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ข่าวประชาสัมพันธ์ / ข่าวสำนักงาน กสม.
ข่าว View : 192
๘๑ ปี ประชาธิปไตยไทย กับ สิทธิการเลือกตั้งที่ยังเข้าไปไม่ถึง : ปัญหาและทางออก
เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๖  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองร่วมกับเครือข่ายเฝ้าระวังการเลือกตั้ง  คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน  สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา  สภาพัฒนาการเมือง  คณะกรรมการการเลือกตั้ง  มูลนิธิ อีพีเอ ธรรมศาสตร์จัดสัมมนาวิชาการ "๘๑ ปี ประชาธิปไตยไทย กับ สิทธิการเลือกตั้งที่ยังเข้าไปไม่ถึง : ปัญหาและทางออก"   ณ ห้องรับรอง ๑-๒ รัฐสภา อาคาร ๒   การสัมมนาฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมฉลอง ๘๑ ปีแห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศ  และระดมความคิดเห็นจากผู้รู้และผู้รักในระบอบประชาธิปไตยในประเห็นปัญหา "การเข้าไม่ถึงสิทธิเลือกตั้ง"  และร่วมกันนำเสนอแนวทางแก้ไขและทางออกเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิทางการเมืองของพลเมืองและสร้างการตระหนักรู้ในปัญหา "การเข้าไม่ถึงสิทธิเลือกตั้ง" รวมถึงตระหนักถึงปัญหาการจัดการเลือกตั้งที่ยังไม่ "เสรี" (free) และ "บริสุทธิ์ยุติธรรม" (fair) เพื่อนำมาซึ่งการแก้ไขปัญหาสำคัญ ๆ ทั้งสองประการนี้ต่อไป        การสัมมนาในครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ ๓ โดยมีวิทยากรร่วมอภิปรายดังนี้ นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกวุฒิสภา  ดร.ศรีประภา  เพชรมีศรี  อาจารย์ประจำศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล  นพ.นิรันดร์  พิทักษ์วัชระ  กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง  นางสมศรี  หาญอนันทสุข  กรรมการนโยบายไทยพีบีเอส  อดีตผู้อำนวยการ ANFREL นายศรีสุวรรณ จรรยา  เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย  นางสุจิตรา สุทธิพงศ์  มูลนิธิพิทักษ์สตรีและเด็ก จังหวัดลำพูน  สมาชิกสภาพัฒนาการเมือง  นายชาลี  ลอยสูง  ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
        ศาสตราจารย์อมรา  พงศาพิชญ์  ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ ว่า สิทธิการเลือกตั้งที่ยังเข้าไม่ถึงเป็นหนึ่งในหลายเรื่องที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้ความสำคัญ  เหตุที่ยังเข้าไม่ถึง คือหลักการปฏิบัติที่ยังเข้าไม่ถึง นอกจากนี้ กฎหมายที่ออกมาจะต้องมีผลเป็นการบังคับทั่วไป  ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยระบุชัดใน ในมาตรา ๒๙ ว่าด้วยการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลจะกระทำมิได้  และมาตรา ๓๐  ที่ว่าด้วยบุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน
        นอกจากนี้ได้กล่าวถึงปัญหาการปฏิบัติและการบังคับใช้คือ (๑) สังคมไทยยังขาดความเข้าใจในสิทธิมนุษยชนที่ตรงกันและจริงจัง  การใช้อำนาจยังมีปัญหา คือมีการแปลความหลักสิทธิมนุษยชนที่ต่างกัน  (๒)  แนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนของรัฐยังไม่สอดคล้องกับนโยบาย  และเสนอว่ารัฐบาลควรมีนโยบายให้นำเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติที่ชัดเจนในรัฐบาลทุกชุด (๓) กฎหมายของประเทศไทยยังไม่สอดคล้องอนุสัญญาและกติการะหว่างประเทศจึงเสนอให้แก้กฎหมายให้สอดคล้องกับต่างประเทศ (๔) ความเป็นธรรมทางสังคมยังไม่ชัดเจน เราเคยชินกับระบบอุปถัมภ์จึงมองข้ามความเป็นธรรมทางสังคมและสิทธิของบุคคลอื่น 
        การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยการเลือกปฏิบัตินั้น คือ ความลำเอียง อคติ  ซึ่งจะนำไปสู่การเลือกปฏิบัติและจะทำให้เกิดความไม่เท่าเทียม ในเรื่องของสิทธิการเลือกตั้งที่เข้าไม่ถึง รัฐต้องทำงานอย่างหนักเป็นพิเศษที่จะช่วยเหลือ  และต้องมีมาตรการพิเศษช่วยผู้ถูกกระทำโดยต้องเป็นมาตรการเชิงบวกสำหรับผู้ด้อยโอกาสในกรณีพิเศษโดยใช้กฎหมายที่มีอยู่เอื้อให้เข้าถึงสิทธิ และเพื่อปรับไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ
        นายแพทย์นิรันดร์  พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กล่าวในงานสัมมนาครั้งนี้ว่า  สิทธิมนุษยชนที่สำคัญในระบอบประชาธิปไตยนั้นกฎหมายต้องมาก่อน  ทั้งนี้  นักโทษ  ผู้พิการ  นักบวช  ผู้อพยพ  กลุ่มชาติพันธุ์  ควรจะมีสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง  ทุกคนต้องสามารถเลือกได้ว่าจะให้ใครใช้อำนาจแทน ดังนั้นจะต้องเปิดพื้นที่ของประชาชนให้ได้มากที่สุด  ไม่มองแต่จำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งในแต่ละครั้ง แต่จะต้องพิจารณาระเบียบ  กฎเกณฑ์  ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีอำนาจในการสั่งการและประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทุจริตการเลือกตั้งตามของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  มาตรา ๘๗  ที่รัฐจะต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน ต้องมีสิทธิในนโยบายและสามารถเสนอกฎหมาย  นอกจากนี้ประชาชนต้องสามารถร่วมดูระเบียบและกฎหมายและร่วมแก้กฎหมายที่บกพร่อง  โดยที่รัฐจะต้องทำให้สิทธิของประชาชนเกิดขึ้นให้ได้ 


© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5376854
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
1485
คน