Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ข่าวประชาสัมพันธ์ / ข่าวสำนักงาน กสม.
ข่าว View : 1725
ข่าวสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เรื่อง ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมประชุมกับเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. กรณีสถานะองค์กร
        เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๘ ณ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  ศาสตราจารย์อมรา  พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เข้าร่วมประชุมกับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  เพื่อแจ้งผลการเข้าร่วมประชุม Annual Meeting International Coordinating Committee of National Human Rights Institutions (ICC) และ SCA (Sub-Committee on Accreditation) เมื่อวันที่ ๑๑ – ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๘  ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีสมาชิกที่เป็นสถาบันสิทธิมนุษยชนทั่วโลกร้อยกว่าประเทศเข้าร่วมประชุม  โดยสรุปว่า  นอกเหนือจากการประชุมตามวาระปกติแล้ว  ได้มีการปรึกษากันในประเด็นเรื่องการจะพิจารณาลดสถานะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของประเทศไทยจากสถานะ A เป็น B ในเดือนตุลาคม ๒๕๕๘  หากประเทศไทยไม่มีการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ต้องเป็นไปตามหลักการปารีส (Paris Principle) โดยจะต้องกำหนดให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการสรรหาด้วย  
        นอกจากนี้ยังได้แจ้งถึงกรณีร่างรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับ กสม. ที่อาจจะมีการควบรวม กสม. กับผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยจะให้มีการยกร่างพระราชบัญญัติขึ้นใหม่  ถ้าหมายถึงการยกเลิกพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และอาจถือได้ว่า เป็นการยกเลิกองค์กรสิทธิมนุษยชนและตั้งองค์กรใหม่ขึ้น  จะส่งผลต่อสถานะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของประเทศไทยที่ได้ดำเนินการร่วมกับสถาบันสิทธิมนุษยชนทั่วโลกเป็นระยะเวลาต่อเนื่องยาวนานมากว่า ๑๐ ปี จะสิ้นสุดลงในทุกกรณีด้วย  และหากประเทศไทยต้องการจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกสถาบันสิทธิมนุษยชนของโลกอีกครั้งจะต้องสมัครใหม่  โดยการยื่นใบสมัครใหม่จะสามารถกระทำได้ต่อเมื่อมีการดำเนินงานไปแล้วระยะเวลาหนึ่งและจะต้องมีการจัดทำรายงานประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนประจำปี ฉบับที่ ๑  ขององค์กรที่จัดตั้งใหม่แล้วเสร็จก่อน  กระบวนการดังกล่าวต้องใช้ระยะเวลาไม่น้อยกว่า ๓ ปี  ซึ่งหมายความว่าองค์กรที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของไทยจะไม่มีอยู่ในระบบของ ICC ในช่วงเวลานั้นด้วย   ทั้งนี้ การที่ประเทศไทยยกเลิกสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและตั้งองค์กรใหม่ โดยใช้ชื่อองค์กรว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ในด้านลบของรัฐบาลไทยในสายตาประชาคมโลก   
        ในส่วนหลักการสิทธิมนุษยชนและอำนาจหน้าที่นั้นประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวว่า  อำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต้องคงอยู่  ต้องมีหน้าที่ในการส่งเสริมให้ความรู้  และสร้างความเข้าใจกับสาธารณชนเรื่องหลักการสิทธิมนุษยชน  ส่วนหน้าที่ในการให้ความคุ้มครองนั้น  นอกเหนือจากการรับและตรวจสอบข้อร้องเรียนโดยยึดหลักสิทธิมนุษยชนตามที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไว้แล้ว  ต้องรวมถึงการให้ข้อเสนอแนะแก่รัฐบาลให้อนุวัติกฎหมายไทยให้สอดคล้องกับกติกา/อนุสัญญา  ที่ไทยเป็นภาคีด้วย
        อย่างไรก็ตาม ประธาน กสม. ได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ทุกคนปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ และพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงปรัชญาการทำงานภายใต้หลักการสิทธิมนุษยชน ปฏิญญาสากล กติกา อนุสัญญาสากลที่ประเทศเข้าร่วมเป็นภาคี เป็นหลักสำคัญนอกเหนือจากกฎหมายภายในประเทศที่อาจดูแลประชาชนได้อย่างมีข้อจำกัด  เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5397604
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
1246
คน