Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ข่าวประชาสัมพันธ์ / ข่าวสำนักงาน กสม.
ข่าว View : 175
กสม.ร่วมเสวนา “ข้อความหวังของภาคประชาสังคมในการถ่วงดุลกระบวนการทางการเมืองและนโยบายสาธารณะ”
15 มี.ค. 2556 ร.ร. พลาซ่าแอทธนี ประชาไทร่วมกับ USAID และโครงการสะพาน จัดเสวนาหัวข้อ “ความหวังของภาคประชาสังคมในการถ่วงดุลกระบวนการทางการเมืองและนโยบายสาธารณะ” ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย กำชัย จงจักรพันธ์ ที่ปรึกษากรรมการการเลือกตั้ง, จอน อึ๊งภากรณ์ อนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง, น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กสม. และเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธบูรณะนิเวศ

เวทีเสวนาเห็นร่วมกันว่า ผลงานกรรมการอิสระสะท้อนปัญหาบทบัญญัติกรรมการสรรหาองค์กรอิสระที่จำกัดอยู่กับอรหันต์จากสายตุลาการ ต้องแก้ไข  น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระชี้ องค์กรอิสระต้องกลับสู่หลักอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน จอน อึ๊งภากรณ์ ระบุภาคประชาสังคมต้องมีส่วนร่วมมากขึ้น

นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ: องค์กรอิสระต้องกลับมายึดโยงกับหลักอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน

น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า เป้าหมายขององค์กรอิสระคือ การปิดทุจริต เปิดเสรีภาพ และสร้างความมั่นคง องค์กรอิสระทุกองค์กรจำเป็นต้องยึดโยงกับหลักอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ซึ่งหลักการที่จะให้อำนาจประชาชนมากขึ้นคือลดอำนาจรัฐ โดยเขาวิพากษ์ว่า รธน. 2540 ทำให้ได้รัฐบาลที่เข้มแข็ง แต่ภาคประชาชนและสังคมอ่อนแอ องค์กรอิสระนั้นต้องทำงานกับหลักสิทธิเสรีภาพ และการมีส่วนร่วมของประชาชนที่อยู่ในหมวด 3 และ 5 ของรธน.

ถ้าใช้หลักนี้ไปพิจารณาการทำงาน จะเห็นปัญหาเช่น กกต. ที่เป็นระบบรราชการมากกว่าจะเห็นการมีส่วนร่วมของประชาชน

เขาย้ำว่า องค์กรอิสระจะเป็นอิสระและเป็นกลางเฉยๆ ไม่ได้ ต้องทำสิ่งที่เป็นสิทธิและเป็นประโยชน์ของประชาชนและจะทำได้ต้องเป็นกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน

แต่หลังจากรัฐประหารกลุ่มอำนาจเก่าทำรัฐประหาร  แทนที่รธน. จะปกป้องสิทธิประโยชน์ของประชาชนกลายเป็นเครื่องมือต่อสู้ระหว่างอำนาจเก่าและใหม่ รัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นหลังการรัฐประหารมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาเกี่ยวกับองค์กรอิสระ

น.พ.นิรันดร์กล่าวต่อไปถึงปัญหาการสรรหากรรมการมาดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 2550 ว่าจำกัดอยู่กับอำนาจตุลาการมากเกินไป “ผมไม่ได้ดูหมิ่นว่าตุลาการเป็นกรรมการสรรหาไม่ได้ แต่ตุลาการจะรู้ได้อย่างไรว่าคนที่จะทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิปะชาชนได้อย่างไร” เขาเห็นว่าบทบัญญัติประเด็นกรรมการสรรหาคณะกรรมการองค์กรอิวสระ เช่น กสม. เป็นประเด็นที่จำเป็นต้องแก้

น.พ.นิรันดร์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนกสม. พบปัญหาว่าสำนักงานยังเป็นราชการ เขากล่าวว่า องค์กรอิสระจะไม่จำเป็นเลยหากข้าราชการทำดีอยู่แล้ว แต่เพราะข้าราชการยังมีข้อบกพร่องจึงต้องมีองค์กรอิสระ ปัญหาขณะนี้ หน่วยงานธุรการขององค์กรอิสระก็ยังเป็นราชการอยู่ แต่ราชการขณะนี้ทำงานโดยไม่ได้มีสำนึกของประชาชน ยังใช้สำนึกของผู้มีอำนาจเป็นผู้ปกครอง ยังไม่มีการทำปฏิรูประบบราชการ พอเป็นระบบราชการและมีอำนาจขององค์กรอิสระก็คิดว่าตัวเองเป็นซูเปอร์ราชการก็ไปกันใหญ่ ทำให้ระบบการทำงานไม่เห็นหัวประชาชน ห่างไกลจากประชาชน ทั้งกสม. หรือปปช. หรือองค์กรอื่นๆ

ประเด็นปัญหาต่อมาคือการแทรกแซง  โดยเขายกตัวอย่างองค์กรอิสระในอดีตที่ถูกแทรกแซงตั้งแต่ยังไม่คลอดออกมาคือ กสช. เพราะทุนจะเข้าไปแทรกแซงเนื่องจากองค์กรนี้จะส่งผลกระทบต่อทุน หลังรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา รัฐบาลที่ได้มา ก็ผนวกเข้ากับทุน และเป็นปัญหาต่อมาว่าองค์กรอิสระต้องเผชิญกับการแทรกแซงและกลายเป็นเครื่องมือของทั้งรัฐและทุน

สำหรับองค์กรอิสระทางการเมือง มีอำนาจมากในการตรวจสอบ บางคนหวังว่ากสม. แล้วทำไมไม่สั่งการ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด กสม. ทำหน้าที่เพียงแต่ตรวจสอบ ซึ่งก็เป็นเพียงเสือกระดาษ เช่น ปัญหาการจับกุมผู้ที่ชุมนุมทางการเมือง กสม. บอกว่าเจ้าหน้าที่รัฐใช้กฎหมายผิด เจ้าหน้าที่ก็บอกว่าเขาไม่ผิดเพราะเขาใช้กฎหมายตามที่รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่สนใจรัฐธรรมนูญ เป็นการละเมิดทางนโยบายและกฎหมาย เรื่องสิทธิชุมชน กรมป่าไม้ก็อ้างกฎหมายป่าไม้ กรมอุทยานก็อ้างกฎหมายอุทยาน ไม่อ้างรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญปี 2550 ให้อำนาจกสม. ในการฟ้องคดี แต่ยอมรับว่าระบบภายในกสม. นั้นไม่พร้อม ก็ตองประสานกับสภาทนาย

โดยสรุปเรื่องความคาดหวังและอุปสรรคขององค์กรอิสระ ปัญหาขององค์กรอิสระคือการแก่งแย่งทางการเมือง , รธน. เป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงาน ,ต้องดูเรื่องกฎหมายหน่วยงานว่าสอดคล้องกับการทำงานหรือไม่ , มีปัญหาการเมืองที่เข้ามาแทรกแซง และสุดท้ายองค์กรอิสระเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจที่แบ่งแยกมากแล้ว ไม่ใช่อำนาจรวมศูนย์

สุดท้าย เขากล่าวว่าประชาชนจะใช้กสม. เป็นเครื่องมือ โดยต้องใช้สิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง และเข้ามาร่วมตรวจสอบการทำงานของกสม. รวมถึงเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการบริหารนโยบายผ่านโครงการพัฒนาต่างๆ ของรัฐ และเป้าหมายในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่องค์กรอิสระต้องคำนึงถึง 

จอน อึ๊งภากรณ์ชี้ต้องแก้ที่มาองค์กรอิสระ และให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น

จอน อึ๊งภากรณ์ อนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เห็นว่าองค์กรอิสระของไทยถูกครอบงำ 2 ช่วงคือ ช่วงเวลาพรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นการครอบงำชั่วคราว และช่วงที่สองถูกครอบงำแบบถาวรโดยระบบอำมาตย์ 

"ผมคิดว่าองค์กรอิสระที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนคือ ศาลปกครอง การหยุดยั้งการแปรรูปกฟผ. เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มาบตาพุด  บทบาทศาลปกครองในกรณีนี้ ทำให้เรานึกได้ว่าศาลปกครองมีอำนาจจริงๆ ที่สามารถจะคานกับอำนาจรัฐได้ในเรื่องสำคัญๆ ที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจริงๆ"

องค์กรที่สองเขานึกถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในสเกลเล็ก ที่สามารถจะตรวจสอบการละเมืดสิทธิได้ แต่ถ้าถามประสิทธิภาพของกรรมการสิทธินั้นเขาเห็นว่ามีปัญหาพอสมควร

แต่พอมานึกถึงผู้ตรวจการแผ่นดินนั้นเขานึกไม่ออกจริงๆ ว่าทำประโยชน์อะไรให้กับสังคมไทย หรือ ปปช. ซึ่งเขาเห็นว่ามีข้อจำกัดมากในการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ทำได้ไม่กี่คดี ทั้งๆ ที่รับรู้กันว่าการโกงกินขนาดใหญ่มีมากเพียงใด

ส่วนกกต. นั้นเขานึกถึงกกต. ชุดแรกที่เป็นอิสระจริงๆ แต่หลังจากนั้นเขาไม่คิดว่าเป็นอิสระ

โดยสรุปเขาเห็นว่าองค์กรอิสระนั้นไม่เป็นอิสระ ตั้งแต่เรื่องของการสรรหา แบ่งเป็นสองยุค ยุคแรกคือพรรคไทยรักไทยสามารถเข้าไปชี้ให้วุฒิสภาเลือกใครหรือไม่เลือกใครเข้ามาดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ ที่ชัดเจนคือ ศาล รธน., กกต. และ ปปช. ที่ไม่ได้แทรกแซงคือ กสม. เพราะว่าไม่คอยมีทางเลือกเท่าไหร่เพราะกรรมการสรรหาเลือกมาค่อนข้างดี ไม่ค่อยมีตัวแปรที่รัฐบาลจะพึ่งพาได้ นั่นคือการแทรกแซงครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นลักษณะชั่วคราวคือชั่วอายุรัฐบาลไทยรักไทย

การแทรกแซงครั้งที่สองเป็นการแทรกแซงถาวรเกิดจากรัฐประหาร 2549 และเขียนรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แม้จะผ่านประชามติก็ตาม องค์กรอิสระที่ถูกแทรกแซงครั้งที่สองอาจจะเรียกว่าแทรกแซงโดยอำมาตย์ก็ได้

 จนกระทั่งปัจจุบัน องค์กรอิสระจำนวนมากกลายเป็นที่พักพิงของข้าราชการเกษียณที่ต้องการจะมีอะไรทีเป็นชื่อเสียง มีเงินเดือน มีตำแหน่ง และจบชีวิตลงด่วยตำแหน่งที่มีเกียรติ นี่ต่องพูดกันตามความเป็นจริง อาจจะไม่ใช่ทุกคน แต่โดยส่วนใหญ่ก็เป็นเช่นนั้น

ปัญหาที่สอง คือการต้องเกี่ยวข้องกับระบบราชการ ทั้งกระบวนการสรรหา ก็ไม่ค่อยมีภาคประชาสังคมเข้ามาร่วมในการสรรหา และคนที่ได้รับเลือกก็แทบจะไม่มีภาคประชาสังคมเข้าไป อาจจะไม่ความรู้สึกว่าภาคประชาสังคมไม่ค่อยมีความเชี่ยวชาญที่จะไปปฏิบัติหน้าที่เช่น เป็นกกต. แต่ในประเทศที่เจริญแล้วเขาไม่มองเช่นนั้น การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมแทบจะไม่มีทั้งในกระบวนการสรรหา และทั้งในการดำเนินงานขององค์กรเหล่านี้ ทำให้คนที่เข้าไปอยู่ในองค์กรอิวระไม่ได้เข้าใจลึกซึ้งถึงความเดือดร้อนของประชาชนผู้ไร้อำนาจ

ปัญหาที่สามที่เจอในการทำงานของหลายองค์กรก็คือสำนักงาน สำนักเลขาขององค์กรเหล่านี้เป็นปัญหาขององค์กรเหล่านี้เกือบทั้งนั้น คือองค์กรอิสระจะทำงานได้ดี ต้องมีสำนักเลขาธิการที่รู้เรื่องงาน แต่สำนักเลขาฯ โดยทั่วไปออกแบบเป็นราชการ เป็นเรื่องของการมีขั้นและการเลื่อนขั้น และคนที่เข้าไปจำนวนมาก อย่าง กสม. ชุดแรก ข้าราชการที่เข้ามาไม่รู้เรื่องสิทธิจำนวนมาก หรือบางครั้งสำนักเลขาฯ ทำตัวเป็นใหญเป็นโตจะเข้ามาครอบงำคณะกรรมการก็มี ฉะนั้นองค์กรอิสระต้องมีสำนักเลขาฯ ที่สอดคล้องกับงานของตัวเอง

ปัญหาที่สี่ อำนาจหน้าที่ และงบประมาณ แม้จะเป็นองค์กรอิสระก็ต้องขึ้นกับงบประมาณแผ่นดิน

เขากล่าวว่า ปัญหาสำคัญประการหนึ่งขององค์กรอิสระคือการให้ 7 อรหันต์มาสรรหากรรมการองค์กรอิสระ ต้องสรุปบทเรียนการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระและ หาวิธีสรรหาที่เหมาะสมและที่สำคัญคือต้องมีภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม กรรมการสรรหาต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญและพิสูจน์ตัวเองในเรื่องนั้นๆ เช่น ปปช. ต้องมีคนที่เคยมีประสบการณ์การปราบปรามทุจริตได้จริง โดยย้ำว่าการสรรหาโดย 7 อรหันต์ คือตัวแทนศาลต่างๆ (ประธานศาลรัฐธรรมนูญ  ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ผู้พิพากษาศาลฎีกาหรือตุลาการศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร)มาสรรหากรรมการอิสระนั้น เป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข

ในส่วนอำนาจหน้าที่ต่างๆ ขององค์กรอิสระอาจจะต้องเพิ่ม อย่างกรณีของ กสม. ที่ได้รับการเปิดโอกาสให้ฟ้องศาลแทนผู้ถูกละเมิดได้ แต่น่าเสียดายที่ กสม. ไม่ใช้อำนาจที่รธน. ให้ แต่ กสม. ปัจจุบันก็มีปัญหามากมายเนื่องจากระบบการสรรหา  ต้องได้ The right person for the right job.

สำหรับความเป็นกลาง เขาเห็นว่าการทำงานต้องใช้หลักเกณฑ์เดียวกันคือมาตรฐานเดียวในการพิจารณาทุกเรื่องโดยไม่คำนึงถึงกระแสการเมืองต่างๆ ยึดหลักการ
ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์ประชาไท


© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5374760
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
1611
คน