Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ข่าวประชาสัมพันธ์ / ข่าวสำนักงาน กสม.
ข่าว View : 984
กสม.จัดเวทีสาธารณะ EIA เพื่อใคร
เวทีสาธารณะ “EIA เพื่อใคร”
ห้องเสวนา ชั้น ๖ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
วันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๖
 
ปาถกฐาพิเศษ
EIA เพื่อใคร : การประเมินสิทธิมนุษยชน (HRIA) กับการตรวจสอบแผนงานด้านสิทธิมนุษยชน (HRDD)
 
ศาสตราจารย์ ดร.อมรา พงศาพิชญ์
ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
......................................................................................................................................................
                   วันนี้เราพูดเรื่องการได้รับผลกระทบ และมีเอกสารออกมาใหม่ปีนี้ ว่ามีแนวทางการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในระยะหลังว่ามีเรื่องอะไรเพิ่มขึ้นบ้าง โดยปกติเราเคยชินเฉพาะรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ขณะนี้มีการเพิ่ม HIA และมีเรื่องอื่นๆที่เพิ่มมาในด้านสิทธิมนุษยชนด้วย
                   สิทธิมนุษยชนกับการพัฒนา เกิดขึ้นหลังปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ใน ค.ศ.๑๙๘๖       มีการรับรองสิทธิในการพัฒนา เพราะประชาคมโลกรู้สึกว่าเวลาผ่านไปนับสิบปี การพัฒนาตามกติการะหว่างประเทศยังไม่มีการพัฒนา และต่อมาอีก ๕ ปี เกิดปฏิญญาเวียนนาและแผนปฏิบัติการ โดยจะทำให้เห็นว่าสหประชาชาติได้ทำอะไรบ้างเกี่ยวกับเรื่องนี้
                   ในปี ๑๙๘๖ เกิดปฏิญญาว่าด้วยการพัฒนา และมีการประชุมที่ลิมเบิร์ก (Limburg) ประเทศเบลเยียม เรื่องการนำหลักสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และพิจารณาหลักการในการพัฒนา และต่อมาอีก ๑๐ ปี มีการประชุมที่มาดริด ประเทศเสปน  และเมื่อนำปฏิญญาและการประชุมทั้งหมดมารวมกัน จึงทำให้เห็นได้ว่า
                   หน้าที่ความรับผิดชอบของรัฐ  ๑) หน้าที่ในการเคารพและไม่ละเมิดประชาชน ๒) รัฐต้องคุ้มครองสิทธิของประชาชน  ๓) รัฐต้องมีมาตรการในการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิ ..
                UN Global Compact :
 เมื่อการพัฒนาทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนเป็นจำนวนมาก และโดยเฉพาะเรื่องธุรกิจข้ามชาติก่อให้เกิดผลกระทบระหว่างพรมแดน และในปี ๒๐๐๐ ก็เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันจึงเกิด UN Global Compact ที่มุ่งให้ธุรกิจรับผิดชอบต่อสังคม CSR และมีเรื่องสิทธิมนุษยชน ๒ ข้อ คือ ๑) ต้องเคารพสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ที่ทำงาน  ๒) ต้องไม่มีการเอาประโยชน์จากการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น
                   มีการสร้างเครือข่ายด้านธุรกิจ และเห็นความเติบโตของ CSR ทั่วโลก และเน้นว่าภาคธุรกิจมีพันธกรณีที่ต้องดูแลสิ่งแวดล้อมด้วย  แต่โดยเนื้อแท้แล้ว ยังไม่มีการบังคับให้รับผิดชอบสังคม ยังถือเป็นความสมัครใจของผู้ประกอบการ จึงมีการเรียกร้องให้รายงานประจำปีของภาคธุรกิจต้องมีรายงานด้านสิ่งแวดล้อม แรงงาน และสิทธิมนุษยชน UN Global Compact พยายามพูดถึงการยอมรับกฎหมายระหว่างประเทศ และต้องให้เชื่อมโยงกับธุรกิจที่ซับซ้อนและเป็นเครือข่าย เช่น ธุรกิจน้ำมันมีทั้งธุรกิจต้นน้ำ และปลายน้ำ การจะกล่าวอ้างว่าตัวเป็นเจ้าของธุรกิจ เจ้าของผลิตภัณฑ์ แต่ไม่รับรู้หรือไม่รับผิดชอบกับเครือข่ายอื่นๆ ในธุรกิจของตนไม่ได้
                   เมื่อกล่าวถึงธุรกิจกับการประกอบกิจการ การค้า การลงทุน จริยธรรมในการประกอบการ ธุรกิจทุกประเภทที่เป็นธุรกิจข้ามชาติ เกี่ยวกับคนหลายระดับ และเกี่ยวกับเครือข่ายอื่นๆ บริษัทจะอ้างว่าจะดูแลเฉพาะบริษัทของตัวเองไม่ได้ จะต้องดูแลถึงบริษัทอื่นๆที่เกี่ยวข้องด้วย ต้องใช้อำนาจของธุรกิจ ให้เกิดการดูแลเรื่องผลกระทบด้วย ทั้งสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสิทธิมนุษยชน
                   การได้ประโยชน์จากการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น  ได้ประโยชน์จากการละเมิดสิทธิมนุษยชน การกินตามน้ำ กรณีที่รับรู้แต่ไม่ทำอะไร เหล่านี้ถือเป็นการได้ประโยชน์จากการละเมิดสิทธิมนุษยชน การป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน ต้องมีการตรวจสอบเรื่องสิทธิอย่างเข้มข้น และทุกบริษัทต้องมีกฎเกณฑ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนด้วย
                   ตัวอย่างเช่น แต่ละบริษัทต้องมีกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวกับธุรกิจของตน บริษัทแต่ละประเภทจะต้องมีวิธีการของตน
                   UN Protection Respect Remedy Framework ในปี ๒๐๐๕ สหประชาชาติ มีธุรกิจข้ามชาติเอารัดเอาเปรียบชนพื้นเมืองในทวีปแอฟริกา และได้มีการตรวจสอบ พร้อมทั้ง มีข้อเสนอแนะ ในปี ๒๐๑๑ สหประชาชาติได้ยอมรับหลักการนี้ คือ ๑) รัฐมีหน้าที่ปกป้องรักษาคุ้มครอง  ๒) ธุรกิจต้องมีการปฏิบัติตามหลักสิทธิ และ  ๓) ต้องมีการเยียวยา หากมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะเกี่ยวข้องกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาไปอีกนาน เพราะเป็นการระบุความรับผิดชอบของภาคธุรกิจ ความสูญเสีย การพิจารณาให้รอบด้าน ที่พูดถึงกระบวนการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence : HRDD) ต้องมีการเอาข้อค้นพบเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนเข้ามาอยู่ในแผนของธุรกิจ  และต้องลดผลกระทบในทุกขั้นตอนของการทำธุรกิจ การดูแลในแง่ความเสี่ยง และธุรกิจที่อาจเข้ามาเกี่ยวข้องและสร้างอันตราย ทั้งการเป็นเหยื่อโดยตรง ธุรกิจมีผลกระทบต่อชุมชนโดยตรง และเกิดขบวนการคัดค้านมากกว่าในพื้นที่ของการประกอบธุรกิจ
                   หลักการของ HRDD  ต้องประกอบด้วย  ๑) นโยบาย ๒) ต้องมีการตรวจสอบ ๓) ต้องมีการศึกษาผลกระทบ  และ ๔) ต้องมีการป้องกันและลดผลกระทบ
                   Human Rights Impact Assessment ใช้มาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ต้องมีการออกแบบเรื่องผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนให้สอดคล้องกับธุรกิจ บูรณาการเข้าไปในแผนของธุรกิจ สร้างความเป็นเจ้าของ เน้นรายละเอียดและกระบวนการที่มีส่วนร่วมกับชุมชน ความโปร่งใส ให้ร้องเรียนและเรียกร้องได้ ให้มีการแจ้งการแก้ไขการละเมิดอย่างเปิดเผย
                   การทำ HRIA มีทั้งระดับธุรกิจ ประเทศและพื้นที่  ทั้งนี้  World Bank ซึ่งเคยมาประชุมที่กรุงเทพมหานครมีการพาเจ้าหน้าที่ไปศึกษาดูงานที่เขื่อนปากมูล ซึ่งเอาเงินของworld bank มาสร้างและก่อให้เกิดผลกระทบ จึงมีข้อกำหนด Freely Fully  Prior เป็นสิ่งที่ธนาคารโลกเสนอมา ซึ่งทำให้หลายๆ โครงการไม่สามารถสร้างได้เนื่องจากธนาคารโลกมีข้อพิจารณาที่คำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม  จึงมีการเลี่ยงโดยธนาคารในประเทศไทยได้รวมตัวกันและให้เงินกู้เพื่อสร้างโครงการต่างๆ อันเป็นการเลี่ยงกฎเกณฑ์ที่ธนาคารโลกกำหนด
                   เอกสารทั้งหมดที่กล่าวมานี้ได้มาจากองค์การสหประชาชาติ และอยู่ระหว่างการแปลเป็นภาษาไทย
 
 
การอภิปราย เรื่อง EIA เพื่อใคร
 
นายบรรจง  นะแส
นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย
.....................................................................................................................................................
                   รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA เป็นคำที่ชาวบ้านเริ่มรู้จักกันมากขึ้น ประสบการณ์ของตนที่นำมาเสนอต่อเวที คือ  ๑)  ท่อก๊าซไทย - มาเลเซีย ซึ่งเป็นเรื่องตั้งแต่ปี ๒๕๔๕  ๒) กรณีเขาคูหา ๓) กรณีแท่นขุดเจาะน้ำมันของบริษัทเชฟรอน  ๔) กรณีโครงการแลนด์บริดจ์ ท่าเทียบเรือปากบารา  ๕) การขุดเจาะน้ำมันในอ่าวไทย ตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ หลุมที่ใกล้ทะเลสุดคือ ๑๔ กิโลเมตร และเห็นว่า EIA ที่ผ่านมาใช้ไม่ได้
                   มีตัวอย่างกรณีท่าเทียบเรือ ได้แก่ กรณีท่าเทียบเรือปากบารา ซึ่งกำลังมีโครงการสร้างท่าเรือขนาดใหญ่ แล้วประมงพื้นบ้าน ชาวบ้าน แหล่งท่องเที่ยวจะอยู่ได้อย่างไร หากมีการเวนคืนที่ดินและที่ทำกินของประชาชน กรณีการสร้างท่าเรือน้ำลึก เช่น ที่จังหวัดระยอง มีการกัดเซาะอย่างรุนแรง ทำให้ได้คำตอบว่าการอนุมัติ EIA ทำเพื่อใคร ใครได้ประโยชน์
กรณีท่าเทียบเรือน้ำลึกสงขลา ให้ดูว่าก่อนมี EIA  มีผลกระทบอย่างไร และภายหลังเมื่อมี EIA มีผลอย่างไร กรณีท่าเทียบเรือน้ำลึก จังหวัดสงขลา แห่งที่ ๑  บริเวณเขาหัวแดง จังหวัดสงขลา ในปี ๒๕๒๘  มีแนวกันคลื่น มีการกั้นสันกันคลื่นทรายประมาณ ๙๕๐ เมตร และทำสันกันคลื่นยาวออก ทำให้เกิดการกัดเซาะอย่างรุนแรง ที่เห็นได้ชัดคือ พื้นที่ธรรมสถาน ๓๐๐ กว่าไร่ เหลือเพียง ๑๒ ไร่ เท่านั้น ณ ขณะนั้น (๒๕๒๘) ยังไม่มีเรื่องข้อกำหนดให้ทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ต่อมาก็มีโครงการต่างๆเข้ามาในช่วงที่ให้ทำ EIAเช่น โรงแยกก๊าซ ท่อส่งก๊าซ ซึ่งเป็นโครงการตามนโยบาย แต่กลับผ่านที่ดินวากัฟ ผ่านกุโบร์ ทำให้เกิดข้อขัดแย้งระหว่างประชาชนในพื้นที่ และการตั้งโรงงานต่างๆ ที่บอกว่าได้มาตรฐานหลายๆ โรงงานมาตั้งรวมกัน และไม่มีการติดตามตรวจสอบ
ผลกระทบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จากกรณีท่อก๊าซชาวบ้านและนักวิชาการได้ท้วงติงมาโดยตลอด และมีการแก้ไข และให้ความเห็นชอบ แต่ผ่านไป ๑๐ ปี ทำให้เห็นว่าผลกระทบที่ชาวบ้านคาดการณ์เอาไว้เกิดขึ้นจริงๆ ทุกข้อตามที่ชาวบ้านกังวล
แท่นขุดเจาะน้ำมัน ที่อำเภอระโนด  อำเภอสทิงพระ เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง ชาวบ้านต้องมาเก็บน้ำมันตามชายหาดทุกวัน ปลาหายไปหมด และอาชีพของชาวบ้านหายไป และเมื่อเห็นว่า EIA ไม่เป็นจริง ต่อไปเราก็จะไม่อ่าน EIA อีกต่อไป
 
**********************************************************
 
นายบัณฑูร  เศรษฐศิโรฒม์
ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัตน์เพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม
........................................................................................................................................................
                   วัตถุประสงค์ของEIA มี ๑) การคาดการประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนา          ๒) แนวทางป้องกันและลดผลกระทบที่อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ทั้งในระดับวิชาการและสังคม  ดังนั้น เมื่อพิจารณาว่าEIA เพื่อใคร ก็เพื่อให้ทุกส่วนอยู่ร่วมกันได้ ทั้งการพัฒนาและประชาชน
                   สถานะปัจจุบัน ภาคเอกชนบอกว่า EIA คืออุปสรรคของการพัฒนา และทำทุกอย่างเพื่อให้ EIAผ่านไปให้เร็วที่สุด แต่ภาคประชาชนกลับมองว่าเป็นตราประทับให้โครงการต่างๆ ผ่าน เช่นโครงการปากบารา ในยุคปัญหานิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ก็ตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหา แต่ทำได้แค่บางส่วน ปัญหาที่เกิดกับEIA เป็นเพียงการปะผุปัญหาเท่านั้น  แต่แท้จริงแล้ว ต้องมีการทำเรื่องนี้ใหม่ รื้อใหม่ทั้งหมด เพราะปัจจุบัน EIAไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์อันเกิดจากระบบและโครงสร้าง แม้จะมีการเติมเรื่องสุขภาพก็ยังไม่เพียงพอ
                   ปัญหาเชิงหลักการเรื่องการจัด กระบวนการพิจารณา และการติดตามผล  EIA พิจารณาเป็นรายโครงการ แต่เมื่ออยู่รวมๆกัน  ปัญหาก็ย่อมมากตาม และ EIA เป็นของผู้ว่าจ้าง ซึ่งอย่างไรก็ต้องผ่าน ข้อมูลไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ปัญหาเรื่องข้อกำหนด ปัญหาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ คชก.  ที่มา องค์ประกอบ ความโปร่งใส ความมีส่วนร่วม ความเข้าใจของ คชก. ต่อพื้นที่ การให้ความเห็นรายงาน EIA ไม่มีอายุ เหล่านี้ คือปัญหา คือระบบกับโครงสร้าง
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อยู่ภายใต้กระทรวงฯ และระบบราชการ ทำให้ใกล้ชิดกับการเมือง โครงการที่ต้องทำ EIA โดยเฉพาะโครงการของรัฐหรือโครงการร่วมทุน ผู้พิจารณาเป็นทั้งเจ้าของโครงการและเป็นผู้พิจารณา EIA  ระบบการติดตามและประเมินผล มีการตรวจสอบของ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)  พบว่าไม่มีการส่งรายงานผลการติดตามตรวจสอบตาม EIA ถึงร้อยละ ๗๐ แต่ด้วยกำลังของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ปี ๒๕๕๖ มีรายงานเข้ามาสองพันกว่าเรื่อง แต่มีเจ้าหน้าที่ติดตามเพียง ๑๐ กว่าคนเท่านั้น ตามแผนฯ  ๑๑ มีหัวข้ออุตสาหกรรมสีเขียว และได้ทราบว่าที่ผ่านมาไม่มีการตรวจติดตามโรงงานที่มีข้อกำหนดตาม EIA เลย ติดตามเฉพาะโรงงานที่อยู่ในอำนาจโดยตรงเท่านั้น
        ปัจจุบัน ต้องรื้อ – สร้าง EIA ใหม่ และควรต้องเติมเครื่องมือใหม่ๆ เข้าไป EIA เป็นเครื่องมือที่ไม่ได้แก้ปัญหาได้ทุกอย่าง และต้องมีการประเมิน SEA การประเมินความเป็นไปได้ เพื่อพิจารณาว่าพื้นที่เหมาะสมกับการพัฒนาหรือไม่
**********************************************************


นายศุภกิจ  นันทวรการ
คณะกรรมการองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
............................................................................................................................................
                   หลักของ EIA เป็นการวิเคราะห์ผลกระทบระดับโครงการ สิ่งสำคัญ คือ ป้องกันไว้ก่อน เพราะจะเกิดผลเสียน้อยกว่า ทั้งหมดของEIA คือการป้องกันและลดผลกระทบและตรวจสอบว่าได้ทำหรือไม่ และต้องใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุดในการป้องกัน ติดตาม ตรวจสอบ
        ๑. ระบบ EIA ใช้ข้อมูลการตรวจวัดสิ่งแวดล้อม ความเดือดร้อนของชาวบ้านถือว่าเป็นเรื่องความรู้สึก แต่ข้อมูลต่างๆ ย่อมมีต้นทุน และมีการเลี่ยงการตรวจวัด หรือทำให้ข้อมูลผิดไป กรณีตัวอย่างเช่น 
กรณีพื้นที่แหล่งน้ำใกล้นิคมและชุมชน แหล่งน้ำมีมลพิษ แต่บอกไม่ได้ว่าน้ำเสียเกิดจากโรงงานหรือชุมชน หากมีการตั้งสถานีตรวจวัดจากชุมชนก็น่าจะแยกได้ แต่ปัญหาคือ ใครจะลงทุน
        มีกรณีว่า ค่ามลพิษเกินมาตรฐานแล้ว แต่ EIA ยังผ่านไปได้ เป็นกรณีการขยายกำลังการผลิตแต่ปล่อยผลกระทบน้อยลง  เพราะใช้เทคโนโลยีที่ดีขึ้น มีการตรวจวัดสาร BOC ซึ่งก่อมะเร็งเกินมาตรฐาน ก่อนการขยายโครงการมีการปล่อยสารพิษ ๓,๐๐๐ ตันต่อปี ซึ่งเกินมาตรฐาน และเมื่อขยายโรงงานก็จะปล่อยลดลงเหลือ ๑,๒๐๐ ตันต่อปี  ทั้งที่ยังเกินมาตรฐานแต่รายงานกลับผ่านไปได้
        ๒. การใช้ข้อมูลและการลดผลกระทบ โดยสรุปภาพรวมรายงาน EIA มีกว่า ๗๐๐- ๑,๔๐๐ หน้า เป็นข้อมูล แต่เมื่อมีการประเมินกลับมีเนื้อหาที่บางลงๆ และข้อมูลหายไป การเปิดเผย ความโปร่งใสของการทำEIA หายไป มาตรการลดผลกระทบกลับมีความสำคัญน้อยกว่า
        ๓. ธรรมาภิบาลโครงการที่มีผลกระทบรุนแรง เช่น ท่าเรือน้ำลึก สนามบินสุวรรณภูมิ โครงการจัดการน้ำ ๓.๕ แสนล้าน ซึ่งต่างก็เลี่ยง EIA หรือ EHIA ทั้งสิ้น การทำประชาพิจารณ์ ไม่ได้มีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง มีโครงการทางเลือกแต่ไม่ได้เสนอให้ประชาชนทราบ และสุดท้ายก็เลือกทำโครงการทางเลือกที่ประชาชนไม่ได้ทราบ
        ๔. กรณีการติดตามตรวจสอบตามมารการ EIA ยังไม่มีการติดตามตรวจสอบอย่างแท้จริง กรณีที่เกิดขึ้นล่าสุด คือน้ำมันรั่ว กลับไม่มีมาตรการจัดการที่รวดเร็ว
 
        องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ : ทำหน้าที่ให้ความเห็นประกอบในการดำเนินโครงการพัฒนาต่างๆ การเน้นความพร้อมของพื้นที่ว่าจะรองรับการพัฒนาได้หรือไม่
        สิ่งที่ยังไม่ได้ทำ : ธรรมาภิบาลของการตัดสินในโครงการขนาดใหญ่ บางโครงการทำโครงการไปแล้วกว่าร้อยละ ๙๐ ก่อนเรื่องจะมาถึงองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ การกำหนดประเภทโครงการอาจรุนแรง ไม่มีประเด็นการทบทวนประเภทและขนาดโครงการ ความรู้ ฐานข้อมูลยังไม่ได้ทำ เนื่องจากยังมีข้อจำกัดต่างๆ ทั้งเรื่องงบประมาณ บุคลากร และองค์ความรู้
                   EIA มีทั้งเรื่องจริงและลวง การยอมรับ GDP ไปเรื่อยๆ โดยไม่สนใจต้นทุนที่ลงไป มุ่งแต่รายได้ไม่สนใจสิ่งใดเลย ก็จะติดอยู่ในวังวนเช่นนี้ต่อไป และการลวงพื้นที่ เช่นในพื้นที่ระยอง โรงไฟฟ้าอยู่คนละจังหวัด แต่ใช้แหล่งน้ำในพื้นที่เดียวกัน เป็นต้น
                   การแก้ไขปัญหา แทนที่จะซ่อมระบบใหม่ ซึ่งจริงๆแล้วน่าจะสร้างระบบใหม่ให้ประชาชนยอมรับได้ เช่น กรณีโรงไฟฟ้าชีวมวล ๑๐ เมกกะวัตต์ แทนที่จะลดขนาดโรงงาน ก็มีข้อเสนอให้ประชาชนและจังหวัดร่วมกันหาทางออกให้เรื่องโรงไฟฟ้า และอยู่ระหว่างการเสนอ ครม. ในเรื่องทางออกนี้
*****************************************


นางรสริน  อมรพิทักษ์พันธ์
นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษ
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
......................................................................................................................................................
                   มาตรการตาม EIA มีทั้งผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบ ด้านบวกก็มีเรื่องสาธารณูปโภค การจ้างงาน เป็นต้น เจตนารมณ์ของ EIA เป็นไปตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕
        ๑.  การทำรายงาน EIA ต้องทำโดยนิติบุคคลที่ขึ้นทะเบียนกับ สผ. มี ๖๒ นิติบุคคล ที่ขึ้นทะเบียน โครงการที่ต้องทำ EIA ก็สามารถจ้างนิติบุคคลเหล่านี้
        ๒.  คณะกรรมการผู้ชำนาญการ มี ๘ คณะ ทำหน้าที่เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับตัวรายงาน EIAเท่านั้น
        ๓.  หน่วยงานอนุญาต จะต้องรอ EIA ก่อน
        ๔.  หน่วยงานอนุญาตต้องเอารายงานไปเป็นส่วนประกอบในการอนุมัติอนุญาตด้วย
        กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมมีตั้งแต่ ปี ๒๕๑๘ และในปี ๒๕๕๕ มีการปรับให้เป็น ๓๕ ประเภทที่ต้องทำ EIA  โครงการรุนแรงประกาศในปี ๒๕๕๓ ต้องทำ EHIA มีทั้งหมด ๑๑ โครงการ มีข้อเสนอเรื่อง EIA มาอยู่เรื่อยๆ
        ทุกโครงการที่ต้องทำ EIA หรือ  EHIA เจ้าของโครงการต้องส่งรายงานให้ สผ. และให้ความเห็นเบื้องต้น ภายใน ๓๐ วัน และส่งรายงานให้ คชก. และให้ความเห็นรายงานภายใน ๔๕ วัน หากไม่ให้ความเห็นชอบโครงการต้องมีการแก้ไข และส่งกลับมาภายใน ๓๐ วัน และ คชก. มีเวลาในการพิจารณา ๓๐ วัน
        กรณี EHIA ก็จะให้มีการส่งรายงานให้องค์กรอิสระพิจารณาให้ความเห็นด้วย และต้องมีการรับฟังความเห็นด้วย การทำ EIA จะต้องมีการรับฟังความเห็นของประชาชน อย่างน้อย ๒ ครั้ง เพื่อให้ได้มาตรการตรวจสอบและแก้ไข และต้องมีการประเมินผลด้านสุขภาพด้วย
        การติดตามตรวจสอบมาตรการ EIA ต่อปีอาจจะมีการผ่านโครงการกว่า ๑,๐๐๐-๒,๐๐๐ โครงการและต้องรายงานผลทุก ๖ เดือน แต่ สผ. มีบุคลากรเพียง ๖ คน เท่านั้น ที่ดูแลติดตามตรวจสอบ หากมีปัญหาในการดำเนินงานก็จะให้หน่วยงานอนุมัติอนุญาตทราบและแก้ไขปัญหา มีการตั้งคณะทำงานไตรภาคี เพื่อให้มีการติดตามตรวจสอบด้วย และการติดตามตรวจสอบเอง สผ. มิได้มีหน้าที่โดยตรง แต่เป็นหน้าที่ของผู้อนุมัติอนุญาตซึ่งอยู่ในขณะอนุญาตโดยตรง
        สผ. ให้ความสำคัญเรื่องการติดตามตรวจสอบ  และแจ้งผลการติดตามไปยังหน่วยงานอนุมัติอนุญาต และนำข้อมูลเหล่านั้นมาพิจารณารูปแบบ EIA แต่ปัญหาหลักของ EIA คือ ขาดความเชื่อถือจากประชาชน และเจ้าของโครงการก็ต้องการให้โครงการผ่านไปให้เร็วที่สุด และแต่ละหน่วยงานก็ถือกฎหมายของตัวเอง ควรต้องมาหาจุดร่วมว่าจะให้โครงการพัฒนาอยู่ร่วมการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร
 
******************************************************


ดร.เดชรัตน์  สุขกำเนิด
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
......................................................................................................................................................
                   ในปี ๒๕๔๖ นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พยายามให้มีการแก้ไขปัญหาเรื่อง EIA และเมื่อการเมืองเปลี่ยนก็ยังไม่ได้มีการปรับปรุง จนกระทั่งครบรอบ ๑๐ ปี ในปีนี้ ยังไม่มีทางออกของเรื่อง EIA
                   การว่าด้วยเรื่องการประเมินผลกระทบ มีทั้งความตั้งใจ หรือไม่ได้ตั้งใจ เป็นเรื่องความหวังดี       ที่มีผลกระทบทางลบ เป็นต้น ผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งก็เป็นผู้หวังดี เช่น การทำไบโอแก๊ส ต้องทำ EIA ด้วยหรือเป็นต้น ปัญหาที่เกิดขึ้นจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ต้องหาทางป้องกันให้ได้ เช่น การลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม ทั้งภาคตะวันออกเป็นต้น
                   ระบบการประเมินผลกระทบมีวัตถุประสงค์เพื่อ ๑) ลดและหลีกเลี่ยงผลกระทบ ๒) หรือการแสวงหาทางเลือกที่ดีกว่า แต่ในประเทศไทยไม่เคยมีคำถามเรื่องนี้ และไม่ถูกออกแบบให้หาทางเลือกที่ดีกว่า ๓) การติดตามตรวจสอบอย่างจริงจัง และโปร่งใส ดังนั้น การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยยังทำได้ไม่เต็มที่ จะลดจะเลือกก็ทำไม่ได้ และยิ่งจะแสวงหาทางเลือกที่ดีกว่าก็ไม่เคยมี
                   ระบบการประเมินผลกระทบ
                   สมดุลของการประเมินระบบผลกระทบต้องมี ๒ ข้างที่สมดุล คือ การอนุมัติอนุญาต และเครื่องมือในการเรียนรู้ร่วมกัน กระบวนการถูกออกแบบมาเพื่อการอนุมัติโครงการเท่านั้น จึงมีการหลีกเลี่ยงขนาดโครงการเพื่อเลี่ยง EIA ความไม่ไว้วางใจเจ้าของ EIA คือเจ้าของบริษัท  ขาดการประเมินผลกระทบที่มาจากประชาชน  ประชาชนไม่มีโอกาสเห็น EIA ก่อนการพิจารณา คชก.  ไม่มีโอกาสลงพื้นที่จริง ความเห็นชอบไม่ได้มีส่วนโดยแท้จริง และขาดอำนาจโดยตรง เป็นต้น
                   “เมื่อ EIA ไม่เป็นจริง ก็กลายเป็นความไม่ไว้วางใจกันในการดำเนินโครงการ”
มีหลายเรื่องที่ต้องช่วยกัน
๑.  ให้เอกสาร EIA เป็นเอกสารสาธารณะที่ให้ประชาชนสามารถตรวจสอบและเข้าถึงได้
๒.  ต้องรื้อระบบ EIA เพื่อให้มีการแก้ไข และต้องสร้างอำนาจต่อรองกับรัฐบาลให้ได้ เช่น สภาการปฏิรูปฯ จะนำเรื่องนี้เข้าไปร่วมได้หรือไม่
๓.  ต้องมีการประเมินผลกระทบในระดับยุทธศาสตร์ SEA  หากมีการประเมินก็จะสามารถวิเคราะห์เปรียบเทียบได้ ว่าโครงการประเภทใดเหมาะสมกับพื้นที่ เช่น กรณีโรงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ กรณีการจัดการน้ำ ๓.๕ แสนล้าน ซึ่งจะต้องประเมินในระดับยุทธศาสตร์ มากกว่าการประเมินรายโครงการ
๔.  การประเมินผลกระทบในระดับพื้นที่ เช่น ในเมือง แทนที่จะรอให้โครงการเกิดขึ้น ต้องมีการประเมินก่อน โดยอาศัยกฎหมายผังเมืองว่าพื้นที่ใดเหมาะสมกับโครงการหรือใช้ทำสิ่งใด
 
ความเห็นในเวที  
                   ๑.  ก่อนมีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม มีการสำรวจพื้นที่ และประเมินพื้นที่จริงหรือไม่  เช่น ที่บางสะพาน ซึ่งเป็นแหล่งปลาทูหลักของประเทศ  กลับมีการสำรวจและประเมินว่าพื้นที่บางสะพานเป็นพื้นที่เสื่อมโทรมเหมาะสมกับการสร้างท่าเรือ  ควรมีการลงโทษบริษัทหรือผู้อนุญาตด้วย เช่น การถอนใบอนุญาต หรือการเรียกค่าเสียหายเป็นต้น
                   ๒.  ปัญหา คือ อำนาจของนักการเมืองกับหน่วยงานอนุญาต ควรต้องมีการแยก สผ. ออกมาเป็นหน่วยงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง ปัญหาที่ผ่านมา EIA อิงนักการเมือง และอิงทุนเพราะเจ้าของแหล่งทุนที่ทำ EIA คือบริษัท
                   ๓.  ความขัดแย้งเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ก่อนเป็นเรื่องธุรกิจกับประชาชน แต่ปัจจุบันเป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับประชาชนแล้ว เช่น ความขัดแย้งระหว่างคนในสื่อสังคมออนไลน์ เรื่อง  กูเกิลกับชาวบ้านที่สะเอียบ เป็นต้น 


© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5397912
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
145
คน