Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ข่าวประชาสัมพันธ์ / ข่าวสำนักงาน กสม.
ข่าว View : 204
กสม. จัดประชุม เสนอ “บทวิเคราะห์ว่าด้วยยุทธศาสตร์และข้อท้าทายของขบวนการเอ็นจีโอด้านทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และเกษตรยั่งยืน”
          เมื่อ วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๖  คณะอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่ง ชาติ  จัดการประชุม "บทบาทภาคประชาสังคมกับการคุ้มครองสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง" ณ ห้องประชุม ๗๐๙ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  โดยมีการนำเสนอรายงานการศึกษาในแผนงานยุทธศาสตร์ของคณะอนุกรรมการด้านสิทธิ และสิทธิทางการเมือง หัวข้อ “บทวิเคราะห์ว่าด้วยยุทธศาสตร์และข้อท้าทายของขบวนการเอ็นจีโอด้านทรัพยากร  สิ่งแวดล้อม  และเกษตรยั่งยืน”
นายแพทย์นิรันดร์  พิทักษ์วัชระ  กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในฐานะประธานอนุกรรมการฯ กล่าวในการประชุมนี้ว่า ภายหลังรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ มีเรื่องของสิทธิชุมชน การมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ และการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ พบว่าความเป็นพลเมืองใช้สิทธิทางการเมืองของการมีส่วนร่วมเข้าไปมีบทบาทและเป็นเครื่องมือกลไกตามหลักสิทธิมนุษยชน ในการต่อสู้เพื่อเข้าถึงในทรัพยากรของประชาชนในสังคมวัฒนธรรมของเกษตรกรรม  สิทธิมนุษยชนในสังคมไทยจึงมีความผูกพันและเชื่อมโยงกับความเป็นพลเมืองและใช้สิทธิทางการเมือง  ในขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่อาจมองว่าสิทธิชุมชนเป็นเรื่องที่จะย้อนยุคกลับไปสู่ยุคโบราณ  ย้อนยุค เป็นเรื่องของอุดมคติ
        ทั้งนี้  ได้กล่าวถึงงานวิจัยของ สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง “ความเฟื่องฟูและความตกต่ำของขบวนการสิทธิชุมชน” ที่กล่าวว่ายุคเฟื่องฟูคือประมาณปี ๔๐ แต่ขณะนี้คือยุคตกต่ำ ซึ่งนายแพทย์นิรันดร์มีความเห็นว่าในยุคนี้ไม่ใช่ยุคตกต่ำ แต่เป็นยุคของการต่อสู้ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิชุมชน  และเสนอว่าสิ่งที่ต้องทำคือการวิจัยองค์ความรู้เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ ตรงกันว่าเรื่องสิทธิชุมชนและสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองคือองค์ประกอบ ในการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน การผลักดันการต่อสู้เพื่อการนำไปสู่การพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืน  เช่นการต่อสู้เพื่อผลักดัน พ.ร.บ. แร่ ประมงพื้นบ้าน การจัดการทรัพยากรทะเลชายฝั่ง แม้ว่ากฎหมายจะยังไม่เกิด แต่เกิดในเชิงวัฒนธรรม คือมีคนขับเคลื่อนในชุมชน  
        กระบวนการ การต่อสู้เชิงนโยบายเป็นกระบวนการการต่อสู้ผลักดันของประชาชน  บทบาทภาคประชาสังคมกับสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ต้องให้ชัดว่าไม่ใช่เป็นการต่อสู้แย่งชิงอำนาจรัฐ แต่เป็นการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคม และความเป็นธรรมและปัญหาความเหลื่อมล้ำก็เป็นอีกหนึ่งที่มีปัญหา  ระบบทุนเสรีนิยมที่เข้ามาในกระแสโลกาภิวัตน์ถ้ามีการศึกษาองค์ความรู้ของ บทบาทภาคประชาสังคม ที่ต้องการให้ผู้มีอำนาจรับรู้ถึงนโยบายสาธารณะหรือกฎหมายต่าง ๆ ที่จะคุ้มครองและรักษาประโยชน์ของประชาชน เพื่อการพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืน ก็จะมีประโยชน์สำหรับการทำงานของภาคประชาชนที่ยึดหลักสิทธิมนุษยชนต่อไป
          จากนั้น ดร.กฤษฎา บุญชัย  ได้นำเสนอ บทวิเคราะห์ว่าด้วย  ยุทธศาสตร์และข้อ   ท้าทายของขบวนการเอ็นจีโอด้านทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และเกษตรยั่งยืน  มี ๔ ยุทธศาสตร์คือ ยุทธศาสตร์การสร้างความเป็นสถาบันของขบวนการ   โดยเน้น  ๑. การสร้างความรู้เพื่อตรวจสอบ และเสนอนโยบาย และความรู้ในการขับเคลื่อนสังคม  ๒. การสร้างระบบบริหารจัดการองค์กร เครือข่ายที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส เป็นธรรม มีขีดความสามารถในการระดมทุนทางเศรษฐกิจ และทุนทางสังคม ๓.การสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ๔. การสร้างคน ผู้นำรุ่นใหม่ที่มีทักษะความรู้ หลากหลาย รอบด้าน  ๕. พัฒนาระบบ กลไกการกำหนดนโยบายแบบมีส่วนร่วมในขอบเขต ท้องถิ่นจังหวัด ๖.สนับสนุนให้เกิดสภาประชาชนจัดการทรัพยากรในแต่ละลุ่มน้ำ หรือพื้นที่ โดยมีการประเมินสถานภาพ ศักยภาพการจัดการทรัพยากร
    ยุทธศาสตร์การสื่อสารทางสังคม  ๑. บ่งชี้ให้เห็นภาพเชิงระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ของสังคมไทย (รวมผู้คน ชนชั้น กลุ่มต่างๆ เข้ามาในการวิเคราะห์) จากปัญหาแย่งชิงทรัพยากร  ๒. มีข้อเสนอต่อระบบเศรษฐกิจ สังคมทั้งระบบ ว่าจะเป็นอย่างไร เช่น ระบบเศรษฐกิจควรดำเนินต่อไปอย่างไร แบบไหน ระบบการเมืองเดินต่อไปแบบไหน และสังคมจะเป็นอย่างไร  ๓. ผลักดันให้สังคมมองทุกมิติ เชื่อมโยงเรื่องฐานทรัพยากร การผลิต การบริโภคผ่านประเด็น เช่น ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ความมั่นคงทางอาหาร สุขภาพ ๔. แสวงหาประเด็นร่วมที่มีพลัง (เป็นเรื่องของคนทุกคน กระทบวิถีชีวิตประจำวัน ประชาชนใส่ใจ มีการเคลื่อนไหวอยู่เป็นทุนเดิม) เพื่อดึงพลังทางสังคมที่หลากหลายมาร่วมคิด ถกเถียง และแสวงหาทางออก  ๕.  พัฒนาวิธีฉายภาพอนาคตที่ชัดขึ้น สร้างกระบวนการที่สังคมร่วมต่อภาพอนาคต โดยมีการอธิบายเพื่อชัดเจน ๖.การสร้างอารมณ์ร่วมเป็นพลัง แต่ต้องไม่ให้เกิดความตื่นตระหนก กลัว เกลียดชัง แบ่งขั้ว แยกตัว จะทำให้ขบวนการไม่ยั่งยืน และแยกตัวออกจากสังคม ๗.  ยุทธวิธีการเมืองบนท้องถนน ต้องใช้อย่างระมัดระวัง ต้องมีการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน ๘. ยุทธวิธีการเคลื่อนไหวแบบจัดประชุมสัมมนา แถลงข่าว ไม่มีพลังพอ ต้องมีกิจกรรมการเคลื่อนไหวอื่นๆ เชิงรุก
    ยุทธศาสตร์การตรวจสอบและขับเคลื่อนนโยบาย  ๑.มีกลุ่มเคลื่อนไหวตรวจสอบนโยบายในแต่ละประเด็น และบทบาทบรรษัทข้ามชาติ ๒. ตรวจสอบวิพากษ์วาทกรรมกระแสหลัก (รัฐและทุน) ที่ส่งผลกระทบต่อการจัดการทรัพยากรและการผลิตของท้องถิ่น เช่น แล้งซ้ำซาก ฯลฯ ๓.เพิ่มสัดส่วนการวิเคราะห์ปัญหาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น และเพิ่มการติดตามตรวจสอบปัญหาเชิงระบบของการทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และปัญหาเชิงระบบของเกษตร แม้ปัญหาเหล่านั้นบางกรณีอาจจะไม่กระทบคนชายขอบโดยตรงในเวลานั้นก็ตาม เพื่อให้ขบวนการฯ มีบทบาทเชิงรุกต่อการปกป้องฐานทรัพยากรและระบบการผลิตของสังคม ๔.นำเอากฎหมาย นโยบายที่เอื้อกับการปกป้องฐานทรัพยากร และสิทธิชุมชนมาใช้ต่อสู้ในทางนโยบาย และในกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น
    อีกหนึ่งยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญคือ ยุทธศาสตร์ด้านองค์ความรู้  ๑. ต้องพัฒนาบทวิเคราะห์ให้เห็นภาพเชิงระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ของสังคมไทย (รวมผู้คน ชนชั้น กลุ่มต่างๆ เข้ามาในการวิเคราะห์) จากปัญหาแย่งชิงทรัพยากร ๒. พัฒนาข้อเสนอต่อระบบเศรษฐกิจ สังคมทั้งระบบ ว่าจะเป็นอย่างไร เช่น ระบบเศรษฐกิจควรดำเนินต่อไปอย่างไร แบบไหน ระบบการเมืองเดินต่อไปแบบไหน และสังคมจะเป็นอย่างไร ๓. พัฒนาบทวิเคราะห์รัฐให้ซับซ้อนเพียงพอ มองให้เห็นพลังเชิงบวกในบางส่วนของรัฐ และเอกชนที่สามารถนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้ ๔. พัฒนาบทวิเคราะห์ด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมมีแง่มุมที่หลากหลายขึ้น เช่น เศรษฐศาสตร์สีเขียว วัฒนธรรมศึกษาในสังคมที่ซับซ้อน และอื่นๆ ทั้งนี้ได้นำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ ดังนี้ ๑. พัฒนาแผนพัฒนาและจัดการระดับภูมิภาค ๒.  พัฒนาระบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์  ๓. พัฒนาเครื่องมือนโยบายทางเศรษฐศาสตร์ เช่น ภาษีสิ่งแวดล้อม ๔. พัฒนาและส่งเสริมกระบวนการประเมินผลกระทบชุมชนโดยองค์รวมเพื่อตรวจสอบกับนโยบาย และโครงการ และวางแผนการพัฒนาท้องถิ่น  ๕. การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อพัฒนาโครงสร้างจัดการทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และเกษตร ปรับมาตรา ๖๖,๖๗  ๖. ผลักดันให้มาตราสิทธิชุมชนในรัฐธรรมนูญได้นำไปปฏิบัติ ผ่านการสร้างกระบวนการหารือสาธารณะอย่างกว้างขวาง (เน้นขยายพื้นที่ สร้างแนวร่วม พัฒนาแนวคิด ไม่หวังผลตัวกฎหมายมากนัก) และการสร้างระบบการจัดการสิทธิชุมชนในระดับพื้นที่หลากระดับ โดยไม่ต้องรอให้มีกฎหมายกลาง   ๗.  พัฒนาข้อเสนอนโยบายต่อการบริหารจัดการภาคส่วนอื่นๆ ด้วย ไม่ควรมีแค่ข้อเสนอต่อรัฐ
 


© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5397876
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
109
คน