Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ข่าวประชาสัมพันธ์ / ข่าวสำนักงาน กสม.
ข่าว View : 114
กสม. ร่วม สสส. จัดเวทีเสวนาหนุนผู้หญิงท้องไม่พร้อมเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ชงรัฐประกันสิทธิและสนับสนุนกลไกทางการแพทย์ เพื่อลดอัตราเสียชีวิตและบาดเจ็บ
วันที่ 28 กันยายน 2565 เวลา 13.00 น. ที่โรงแรมนิกโก้ กรุงเทพฯ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาวิชาการเรื่อง “ความก้าวหน้าด้านสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์: สิทธิในการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย”
นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเปิดงานเสวนาสรุปว่า การเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิด้านสุขภาพที่เกี่ยวกับอนามัยเจริญพันธุ์ซึ่งได้รับการรับรองในอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) และกติการะหว่างประเทศด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม โดยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญประจำกติกา ICESCR เห็นว่า การขาดบริการฉุกเฉินด้านสูติกรรมหรือการปฏิเสธการทำแท้งมักนำไปสู่การเสียชีวิตและการเจ็บป่วยของผู้หญิงที่เป็นมารดา ซึ่งถือเป็นการละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนในการมีชีวิตและสุขภาพอนามัยที่ดี
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ประเทศไทยได้แก้ไขและบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 ที่กำหนดให้หญิงที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ สามารถทำแท้งได้โดยไม่ผิดกฎหมาย และมาตรา 305 ที่กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภาให้บริการยุติการตั้งครรภ์ได้โดยไม่มีความผิด อย่างไรก็ดี จากรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนปี 2564 ของ กสม. พบว่าภายหลังจากที่กฎหมายบังคับใช้ ยังมีปัญหาในการให้บริการยุติการตั้งครรภ์หลายประการ เช่น โรงพยาบาลของรัฐจำนวนมากยังขาดความพร้อมในการให้บริการยุติการตั้งครรภ์และไม่ส่งต่อ (Refer) ไปยังสถานบริการอื่นที่พร้อมให้บริการ นอกจากนี้ ในรอบ 6 เดือนแรกของปี 2565 พบว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่ยังไม่ทราบข้อมูลแหล่งบริการโรงพยาบาลที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งกสม. ได้มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลให้เร่งรัดการออกกฎหมายลำดับรองเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวและเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจต่อประชาชนเกี่ยวกับกฎหมายและกลไกที่เกี่ยวข้อง
ประธาน กสม. ย้ำด้วยว่า การยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย เป็นเรื่องที่สังคมโลกให้ความสำคัญโดยได้กำหนดให้วันที่ 28 กันยายนของทุกปีเป็นวันยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยสากล เพื่อรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนของสังคมร่วมกันขจัดอุปสรรคต่าง ๆ ที่ทำให้ผู้หญิงเข้าไม่ถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยของผู้หญิงจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย ทั้งนี้ กสม. จะนำข้อมูลและข้อเสนอแนะที่ได้รับฟังจากเวทีในวันนี้ไปประกอบการจัดทำรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปี 2565 ที่จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา รวมทั้งนำไปสู่การจัดทำรายงานคู่ขนานการปฏิบัติตามอนุสัญญา CEDAW ของประเทศไทย
นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2565 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์ ตามมาตรา 305 (5) แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2565 กำหนดให้หญิงซึ่งมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ที่จะยุติการตั้งครรภ์ต้องได้รับการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมก่อน เพื่อให้การตัดสินใจอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ครบถ้วน รอบด้าน ส่งผลให้ผู้ให้บริการสุขภาพและผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าทางกฎหมายท่ามกลางความท้าทายในทางปฏิบัติ เช่น ข้อจำกัดเรื่องจำนวนหน่วยบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย
รศ.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงมุมมองของสังคมโลกต่อเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ สรุปว่า ประเทศส่วนใหญ่ในโลกรวมทั้งประเทศไทยกำหนดให้การยุติการตั้งครรภ์เป็นทางเลือกของผู้หญิงแบบกำหนดเงื่อนไข เช่น การกำหนดอายุครรภ์ที่สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เมื่อปลายปี 2564 ระบุว่า 6 ใน 10 ของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมทั่วโลกเลือกยุติการตั้งครรภ์ และร้อยละ 45 ต้องยุติการตั้งครรภ์ด้วยวิธีการที่ไม่ปลอดภัยซึ่งถือเป็นปัญหาเชิงสุขภาวะใหญ่ของโลก โดยระบุว่าการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยควรเป็นเรื่องพื้นฐานที่ผู้หญิงมีสิทธิเลือกและได้รับการดำเนินการโดยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ ทั้งนี้ อุปสรรคที่ผู้หญิงต้องเผชิญในการเลือกยุติการตั้งครรภ์ของตน คือ การเข้าไม่ถึงบริการทางการแพทย์ที่ปลอดภัย ในเวลาที่เหมาะสม ในราคาที่จับต้องได้ และได้รับการปฏิบัติเยี่ยงมนุษย์ ซึ่งถือเป็นปัญหาสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง
ในเวทียังมีการอภิปรายใน หัวข้อ “สถานการณ์ความก้าวหน้าสำหรับผู้หญิงที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์” โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ รศ.กฤตยา อาชวนิจกุล เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม รศ.พญ. อรวี ฉินทกานันท์ เครือข่ายอาสา RSA นายแพทย์กฤช ลี่ทองอิน ที่ปรึกษาประจำกลุ่มภารกิจสนับสนุนการเข้าถึงบริการปฐมภูมิและการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นายแพทย์บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย และนางสาวอรพินท์ ศักดิ์เอี่ยม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเด็ก กรมกิจการเด็กและเยาวชน โดยมีประเด็นการพูดคุยที่น่าสนใจ เช่น ปัญหาจำนวนสถานพยาบาลที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดในพื้นที่เพียง 38 จังหวัด การที่บุคลากรทางการแพทย์ไม่ทราบแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการให้บริการ ความท้าทายในการปรับทัศนคติของบุคลากรทางการแพทย์และสังคมให้สอดคล้องตามแนวทางของ WHO ที่ว่าการยุติการตั้งครรภ์คือบริการสุขภาพที่ช่วยเหลือชีวิตคน และข้อท้าทายต่อการพัฒนาระบบการให้บริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมีเสนอแนะให้ทุกโรงพยาบาลมีมาตรฐานเช่นเดียวกันในการให้บริการยุติการตั้งครรภ์เบื้องต้นด้วยการใช้ยา และการนำการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เข้ามาช่วย
หลังการอภิปราย ภาคีเครือข่ายได้ยื่นจดหมายเปิดผนึก เรื่อง “สถานการณ์การเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ในสถานพยาบาลของกรุงเทพมหานคร” โดยมี พญ.เลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร รับเรื่องดังกล่าวเพื่อเสนอต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในการกำหนดนโยบายบริหารจัดการโรงพยาบาลในสังกัดให้มีความพร้อมให้บริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพต่อไป
ในช่วงท้ายของเวที นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้กล่าวถ้อยแถลงในหัวข้อ “Abortion Rights=Health Rights=Human Rights” สรุปว่า ประเทศไทยยังมีผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมและต้องการเข้าถึงบริการทำแท้งที่ปลอดภัยอยู่จำนวนมาก แม้ว่าจะมีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 และ 305 ที่แก้ไขใหม่แล้วก็ตาม แต่รัฐยังต้องมีหน้าที่ในการเคารพ ปกป้อง และเติมเต็มสิทธิของผู้หญิงทั้งกลุ่มที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ตามกฎหมายและที่ต้องการตั้งครรภ์ต่อให้ได้เข้าถึงระบบบริการดูแลสุขภาพที่เหมาะสม และสวัสดิการที่ควรได้รับ
“กสม. ตระหนักถึงความจำเป็นในการร่วมมือกับองค์กรภาคีเครือข่ายเพื่อสนับสนุนให้ผู้หญิงเข้าถึงบริการการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย ภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด และกระตุ้นให้หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องจัดให้ผู้หญิงเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยไม่ว่าผู้นั้นจะอยู่ในพื้นที่ใดหรือถือสิทธิประโยชน์ใดอยู่ เพราะสิทธิในการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยคือสิทธิสุขภาพและสิทธิมนุษยชน” กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวปิดท้าย


© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5397378
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
1020
คน