กสม. สุภัทรา ร่วมงาน ”เติมพลังให้เต็มร้อย ปลูกรัก สร้างชุมชน เสริมพลังภาคี” เนื่องในโอกาสครบรอบ 13 ปี การก่อตั้งมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยฯ
เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 เวลา 13.30 น. ที่โรงแรม Avani Sukhumvit Bangkok นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าร่วมงาน ”เติมพลังให้เต็มร้อย ปลูกรัก สร้างชุมชน เสริมพลังภาคี” เนื่องในโอกาสครบรอบ 13 ปี การก่อตั้งมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน (Thai TGA) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม หน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ใหม่ของมูลนิธิฯ และเพื่อสร้างการรับรู้อัตลักษณ์ใหม่ขององค์กร อันนำไปสู่การทำงานร่วมกันกับชุมชนคนข้ามเพศ และบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในทุกช่วงวัย
กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้กล่าวสุนทรพจน์ประเด็น “ไทยทีจีเอกับบทบาทในการเคลื่อนไหวสิทธิฯในระดับประเทศ” โดยได้แสดงความยินดีและชื่นชมมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ดำเนินการมาครบ 13 ปี เป็นมูลนิธิฯ ที่เกิดจากการรวมตัวกันของคนข้ามเพศ มีอัตลักษณ์ชัดเจน มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในสังคม โดยเจตจำนงของมูลนิธิฯ ปรากฎในชื่อของมูลนิธิฯ คือ
เครือข่าย คือการสนับสนุนการรวมตัว/รวมกลุ่มของคนข้ามเพศ เสริมสร้างความเข้มแข็ง องค์ความรู้ และพัฒนาศักยภาพ เพื่อให้คนข้ามเพศได้ออกมาเสนอปัญหาและทางออกด้วยตนเองตามปรัชญาที่ว่า คนที่รู้ปัญหาดีที่สุดคือเจ้าของปัญหา ดังนั้น คนที่จะแก้ปัญหาได้ดีที่สุดคือเจ้าของปัญหานั่นเอง การทำงานเป็นเครือข่ายจำเป็นต้องมีระบบการส่งต่อข้อมูลข่าวสารที่ดี ไม่ใช่รู้เฉพาะแกนนำ ต้องสร้างการรับรู้ที่เท่าเทียมกัน
เพื่อน คือ ภาคีที่สนับสนุนการทำงานของมูลนิธิฯซึ่งการขับเคลื่อนด้านนโยบาย กฎหมาย หรือ policy advocacy จำเป็นต้องมีเพื่อนร่วมทาง ทั้งนักวิชาการ คนทำงานภาคประชาสังคม สื่อ หน่วยงานรัฐ ผู้กำหนดนโยบาย สส. สว. เป็นต้น การสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับคนข้ามเพศ เพื่ออคติและความเกลียดกลัว ยังมีความจำเป็น เริ่มต้นจากการทำงานกับเครือข่ายภาคประชาชนอื่น ๆ ซึ่งมูลนิธิฯ เริ่มทำแล้ว เช่น เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ (we fair) เครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ (Move D) เป็นต้น
สิทธิมนุษยชน คือ มูลนิธิฯเป็นองค์กรที่ยึดมั่นในหลักการสิทธิมนุษยชน ได้แก่ ศักดิศรีความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาคเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ ไ คนข้ามเพศไม่ได้เรียกร้องสิทธิพิเศษ แต่เรียกร้องให้สังคมเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ปฏิบัติต่อคนข้ามเพศเสมอภาคเท่าเทียมกับคนอื่น ๆ ในสังคม
ในช่วงท้าย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า กสม. ยินดีที่จะเป็นเพื่อนร่วมทางทำงานร่วมกับมูลนิธิฯ เพื่อสร้างสังคมที่เคารพสิทธิมนุษยชน และสร้างสังคมที่น่าอยู่ สำหรับทุกคน ทุกเพศ ต่อไป