Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ข่าว กสม.
ข่าว View : 17
กสม.สุภัทรา ประชุมรับฟังความคิดเห็น กรณีการแก้ปัญหาเชิงระบบของการประกันภัยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และการจ่ายเงินตามกรมธรรม์ประกันภัยล่าช้า
          เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2466 เวลา 13.00-16.00 น. นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วย นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ ที่ปรึกษาประจำ กสม. นายจุมพล ขุนอ่อน ผู้อำนวยการสำนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 1 และเจ้าหน้าที่กลุ่มงานคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 3 สำนักงาน กสม. ประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับสิทธิของผู้บริโภคอันเกี่ยวเนื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน กรณีการแก้ปัญหาเชิงระบบของการประกันภัยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และการจ่ายเงินตามกรมธรรม์ประกันภัยล่าช้า ร่วมกับ ผู้ทรงคุณวุฒิของ กสม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) สมาคมประกันวินาศภัยไทย ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง (101 PUB) สภาองค์กรผู้บริโภค และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ณ ห้องประชุม 606 สำนักงาน กสม. และการประชุมทางไกลในรูปแบบสื่อออนไลน์ (Zoom Meeting) ซึ่งเป็นกรณีสืบเนื่องจากปัญหาการขายกรมธรรม์ประกันภัย Covid-19 ประเภทเจอ จ่าย จบ และประเภทอื่น ทำให้ปัจจุบันยังมีผู้บริโภคไม่ได้รับค่าชดเชยตามกรมธรรม์ประกันภัยเป็นจำนวนมาก

          ที่ประชุมให้ข้อมูลว่า ยอดขายกรมธรรม์ประกันภัย Covid-19 ของทุกบริษัทตั้งแต่ปี 2563 ถึงปี 2565 มีจำนวนประมาณ 50 ล้านฉบับ โดยมีบริษัทที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้จำนวน 4 แห่ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการชำระบัญชีโดย กองทุนประกันวินาศภัย (กปว.)  นอกเหนือจากนั้นยังมีอีก 1 บริษัทปัจจุบันอยู่ระหว่างการยื่นขอฟื้นฟูกิจการต้องรอให้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งก่อน โดยมีเจ้าหนี้ของทั้ง 4 บริษัทมายื่นคำทวงหนี้ต่อ กองทุนประกันวินาศภัย (กปว.)  ทั้งหมด จำนวน 683,068 ราย รวมเป็นเงินที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยมากกว่า 56,000 ล้านบาท

          ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้มีมาตรการแก้ไขปัญหาในระยะยาว คืออยู่ระหว่างเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และมีมาตรการระยะสั้น เพื่อส่งเสริมให้บริษัทมีความมั่นคงทางการเงิน และเสริมสร้างศักยภาพให้บริษัทมีความพร้อมในการแข่งขันมากขึ้น รวมทั้งกำหนดให้บริษัทต้องจัดทำรายงานการประเมินความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงินของบริษัท ทั้งนี้ อยู่ในระหว่างการจัดทำมาตรฐานในการบริหารความเสี่ยงผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่มีความเสี่ยงสูงหรือภัยอุบัติใหม่

          สำหรับ กองทุนประกันวินาศภัย (กปว.)  ประสบปัญหาเรื่องการชำระหนี้ที่ล่าช้าเนื่องจากมีเจ้าหนี้ผู้เอาประกันภัยเป็นจำนวนมากและการพิสูจน์หลักฐานต้องเป็นไปด้วยความรอบคอบ เนื่องจากประสบปัญหาในเรื่องการทำเอกสารเท็จร่วมด้วย โดยปัจจุบัน กองทุนประกันวินาศภัย (กปว.)  สามารถพิจารณาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ได้ประมาณเดือนละ 6,000 ราย ตามลำดับ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาประมาณ 40 ปี จึงจะชำระหนี้เสร็จสิ้น อีกทั้งเงินกองทุนอาจมีจำนวนไม่เพียงพอที่จะรองรับการชำระหนี้ ซึ่ง กองทุนประกันวินาศภัย (กปว.). พยายามเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหา ซึ่งเบื้องต้นได้ขอปรับเพิ่มวงเงินตามมาตรา 80/3 ให้บริษัทนำส่งเบี้ยประกันภัยจาก 0.25 เพิ่มเป็น 0.5 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2566

          ที่ประชุมมีข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหา ดังนี้ 1) รัฐบาลควรมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาด้านการเงินของ กองทุนประกันวินาศภัย (กปว.)  ไปก่อนเพื่อบรรเทาผลกระทบของผู้เอาประกันภัย 2) กองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) ควรประสานสถาบันการเงินเพื่อหาทางกู้เงินนำมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ผู้เอาประกันภัย และ 3) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)  ควรมีมาตรการกำกับดูแลการขายประกันภัยประเภทระยะสั้นและมีความเสี่ยงสูงของบริษัทประกันภัยอย่างเข้มข้นและทันต่อเหตุการณ์ และควรทำสัญญาประกันภัยให้มีลักษณะที่เข้าใจง่ายกว่าในปัจจุบัน 

          ทั้งนี้ กสม. จะรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการประชุม เพื่อนำมาวิเคราะห์และจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป


© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5144884
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
131
คน