กสม. ศยามล ลงพื้นที่จังหวัดเชียงรายประชุมตรวจสอบ โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบงในแม่น้ำ
เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยนางรัตติกุล จันทร์สุริยา ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และพนักงานเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในอำเภอเชียงของ กรณีการดำเนินโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบงในแม่น้ำโขง อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน และวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่อำเภอเวียงแก่น อำเภอเชียงของ และอำเภอเชียงแสน ทั้งในประเด็นน้ำเท้อ การเปลี่ยนแปลงสภาพและระบบนิเวศในแม่น้ำโขง ที่อาจมีผลกระทบต่ออุทกศาสตร์ ชลศาสตร์ การประมง การปักปันเขตแดน น้ำท่วมพื้นที่ทางการเกษตรบริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขา ซึ่งโครงการดังกล่าวจะดำเนินการในเขตอธิปไตยของ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และประเทศไทยอยู่ระหว่างกระบวนการทำสัญญารับซื้อไฟฟ้า แต่ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบอย่างเพียงพอ และไม่มีการกำหนดแนวทางการป้องกันผลกระทบอย่างชัดเจน
จากนั้นเวลา 10.00 น. กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่บ้านสบกก อำเภอเชียงแสน เพื่อรับฟังข้อมูลจากประชาชน กรณีข้อพิพาทเกาะช้างตาย ซึ่งเป็นเกาะดอนในแม่น้ำโขงที่ชาวไทยเข้าไปทำประโยชน์มาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงร่องน้ำ ทำให้ชาวไทยไม่กล้าเข้าไปทำประโยชน์ หากมีการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง และระดับน้ำมีการเปลี่ยนแปลง อาจส่งผลกระทบต่อเกาะแก่งต่างๆ ในแม่น้ำโขง และอาจนำมาซึ่งข้อพิพาทระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ
เวลา 13.30 น. กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่แก่งผาได อำเภอเวียงแก่น ซึ่งเป็นจุดที่น้ำโขงไหลผ่านประเทศไทยจุดสุดท้ายก่อนไหลเข้าเขต สปป.ลาว และอยู่ใกล้กับพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนปากแบงมากที่สุด โดยปลัดอำเภอเวียงแก่น พร้อมด้วยนายกเทศมนตรีตำบลม่วงยาย และคณะ ได้ให้ข้อมูลต่อกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่า ประชาชนในพื้นที่มีข้อกังวลเกี่ยวกับน้ำเท้อ เนื่องจากในพื้นที่เคยประสบปัญหาน้ำท่วมในช่วงน้ำหลาก หากมีน้ำเท้อจากการสร้างเขื่อน อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรริมฝั่งแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขา เช่น น้ำอิง น้ำงาว ซึ่งเป็นพื้นที่ทำการเกษตร โดยเฉพาะส้มโอ พืชเศรษฐกิจของอำเภอเวียงแก่น แต่ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถให้ข้อมูลที่ชัดเจนในเรื่องดังกล่าวได้
จากนั้นวันที่ 15 กันยายน 2566 เวลา 09.30 น. นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมคณะ ได้ประชุมตรวจสอบข้อเท็จจริง และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบไปด้วย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมทรัพยากรน้ำ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นผู้ให้ข้อมูลแก่หน่วยงานและผู้แทนภาคประชาชนในพื้นที่ เกี่ยวกับการดำเนินโครงการ ความคืบหน้าการทำสัญญารับซื้อไฟฟ้า และแนวทางการกำหนดมาตรการป้องกันผลกระทบ โดยสรุปได้ว่า หลังจากโครงการได้ผ่านกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าตามระเบียบของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) สำนักงานคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อกำหนดแผนปฏิบัติการร่วม ในการพิจารณารูปแบบและแนวทางดำเนินโครงการโดยการมีส่วนร่วมของประเทศสมาชิก แต่ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าในการศึกษา อย่างไรก็ตาม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยชี้แจงว่าได้ลงนามในสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 โดยมีเงื่อนไขให้ผู้พัฒนาโครงการมีมาตรการลดผลกระทบข้ามพรมแดน จัดตั้งกองทุน และเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่ง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จะได้รวบรวมข้อเท็จจริงเพื่อจัดทำรายงานผลการตรวจสอบและเสนอแนะมาตรการต่อรัฐบาลต่อไป
ทั้งนี้ กรณีโครงการดังกล่าว กสม. ได้มีรายงานผลการตรวจสอบเมื่อปี 2563 โดยเสนอให้คณะรัฐมนตรีกำชับหน่วยงานที่มีหน้าที่พิจารณารับซื้อไฟฟ้าให้นำหลักธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนไปปรับใช้เพื่อให้การตัดสินใจเป็นไปอย่างเคารพหลักสิทธิมนุษยชน รวมทั้งเรียกร้องให้มีการกำหนดแนวทางการป้องกันผลกระทบและแก้ไขข้อกังวลในประเด็นต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าประเทศไทยจะไม่ได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าว