กสม. ร่วมกับ Swing จัดประชุมเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายตามโครงการขับเคลื่อนกฎหมายคุ้มครองพนักงานบริการ (Sex worker)
เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2566 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (Swing) จัดประชุมเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายโครงการขับเคลื่อนกฎหมายคุ้มครองพนักงานบริการ(Sex worker) ณ โรงแรมทีเค พาเลซ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม องค์การระหว่างประเทศ และตัวแทนพนักงานบริการจำนวนประมาณ 50 คน เข้าร่วมการประชุม มีวิทยากรร่วมแสดงความคิดเห็นประกอบด้วย คุณสุรางค์ จันทร์แย้ม ผอ.มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ ศาสตราจารย์ ดร. ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คุณอภิรดี สุสุทธิ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว คุณธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ พรรคก้าวไกล คุณสมชาย หอมลออ นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และคุณสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดำเนินรายการโดย คุณกรรณิการ์ กิจติเวชกุล นักจัดรายการสถานีวิทยุ กล่าวสรุปการประชุมโดยคุณวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สรุปเนื้อหาสำคัญได้ดังนี้
ข้อมูลจากการสำรวจ Sex worker จำนวน 63 คน แบบรวดเร็ว Rapid Servey ของมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการช่วงเดือนที่ผ่านมาพบว่า มีพนักงานบริการถูกตำรวจจับข้อหาพกถุงยางอนามัยยามวิกาล ข้อหาบดบังทัศนียภาพเมืองพัทยา เป็นต้น ซึ่งเป็นข้อหาที่ไม่มีในกฎหมาย การที่กฎหมายยังกำหนดให้การค้าประเวณีเป็นความผิดทางอาญา เป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่รัฐแสวงหาผลประโยชน์ทั้งจากผู้ประกอบการและพนักงานบริการ ทำให้พนักงานบริการไม่มีตัวตน ไม่มีพื้นที่ยืนในสังคม จึงอยากให้ยกเลิกกฎหมายนี้ ไม่อยากมีกฎหมายเฉพาะใด ๆ ขอใช้กฎหมายแรงงาน กฎหมายประกันสังคมร่วมกับแรงงานทั่วไป
จากข้อมูลของ World Bank พบว่าแรงงานภาคบริการ (Service sector)ในประเทศไทยมีขนาดใหญ่มากและทำรายได้คิดเป็นร้อยละ 56 ของ GDP ของประเทศ ส่วนธุรกิจบริการทางเพศ Sex Industry มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 3 ของ GDP ดังนั้น พนักงานบริการ Service worker และ Sex worker จึงต้องได้รับการดูแลและคุ้มครองสิทธิมีคำกล่าวว่า Sex worker เป็นสิ่งชั่วร้ายที่จำเป็นของสังคม Necessary Evil จึงทำให้แนวทางการแก้ปัญหาการค้าประเวณีทั่วโลก มี 3 แนวทาง
- Ill-legal กำหนดให้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย มีโทษรุนแรง ต้องการกำจัดให้หมดสิ้น
- Legalization ใช้กฎหมายกำกับกิจกรรม มีกฎหมายเฉพาะ มีการลงโทษทางอาญาต่อผู้ฝ่าฝืน ซึ่งประเทศไทยใช้แนวทางนี้
- De-criminalization ยกเลิกความผิดทางอาญา
คณะกรรมการประจำอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ (CEDAW) ได้แสดงความห่วงใยและเสนอแนะให้ประเทศไทยแก้ไข พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 โดยยกเลิกความผิดทางอาญาของผู้ค้าประเวณี ตลอดจนสร้างหลักประกันว่าจะมีการใช้บังคับกฎหมายแรงงานและการจัดสวัสดิการสังคมอย่างทั่วถึงในธุรกิจบันเทิง ซึ่งสอดคล้องกับคณะทำงานของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนเสรีภาพในการประกอบอาชีพ ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 43 กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีการเลือกปฏิบัติต่อ sex worker หลายกรณี รวมทั้งได้มีข้อเสนอแนะให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ทบทวนแก้ไข พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539
พม. ได้จัดทำร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองการให้บริการทางเพศ พ.ศ. .... และพรรคก้าวไกลจัดทำร่าง พ.ร.บ. การค้าประเวณีและการคุ้มครองผู้ให้บริการ พ.ศ. .... ซึ่งทั้งสองฉบับมีเนื้อหาสาระคล้ายคลึงกัน ได้แก่ ให้ยกเลิก พ.ร.บ. ป้องกันและปราบรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 ยกเลิกโทษทางอาญา กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบการกับพนักงานบริการเป็นนายจ้าง-ลูกจ้าง มีการจัดตั้งศูนย์คุ้มครองการให้บริการทางเพศ (ร่าง พม.) กำหนดให้ผู้ประกอบการขออนุญาต และผู้ให้บริการอิสระขึ้นทะเบียน (ร่างพรรคก้าวไกล)
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายซึ่งที่ประชุมเห็นร่วมกัน ประกอบด้วย
1. ดำเนินการยกเลิก พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 เนื่องจากไม่สามารถแก้ปัญหาการค้าประเวณีได้ ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ และมีลักษณะตีตรา ลงโทษทางอาญาพนักงานบริการ
2. แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา เพิ่มโทษผู้ซื้อบริการเด็กที่อายุไม่เกิน 18 ปี เพื่อคุ้มครองเด็กให้มากขึ้น สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
3. ให้กระทรวงแรงงานออกมาตรการให้ความคุ้มครองพนักงานบริการ
4. ทุกหน่วยงานต้องร่วมกันสร้างความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับผู้ประกอบอาชีพเป็นพนักงานบริการ เพื่อลดทัศนคติ ความคิดความเชื่อด้านลบที่มีต่อคนกลุ่มนี้ เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และไม่มีการเลือกปฏิบัติ