Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ข่าว กสม.
ข่าว View : 234
กสม. ศยามล ลงพื้นที่ร่วมกับ ปสม. 3 และให้คำปรึกษาสิทธิในการใช้น้ำที่ดีและยั่งยืน : กรณีศึกษา คลองอ้อมนนท์ จังหวัดนนทบุรี
          เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม 2566 นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายไพโรจน์ พลเพชร ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ลงพื้นที่ดูสภาพแวดล้อมคลองอ้อมนนท์ บริเวณท่าน้ำวัดโตนด ต.วัดชลอ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี  และสนทนากลุ่มร่วมกับนักศึกษาสถาบันพระปกเกล้า หลักสูตรประกาศนียบัตรสิทธิมนุษยชนสำหรับนักบริหารระดับสูง รุ่นที่ 3 (ปสม.3) เพื่อให้คำปรึกษาการทำรายงานกลุ่ม เรื่อง สิทธิในการใช้น้ำที่ดีและยั่งยืน : กรณีศึกษา คลองอ้อมนนท์ จังหวัดนนทบุรี ณ ศาลากตัญญู วัดโตนด  โดยมีชุมชนและหน่วยงานในพื้นที่ร่วมสนทนาด้วย ได้แก่ เจ้าอาวาสวัดโตนด กำนันตำบลบางสีทอง ปราชญ์ชุมชน ปราชญ์เกษตรทุเรียน อ.บางกรวย อุปนายกสมาคมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมชุมชนไทย ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองบางกรวย ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 6 ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนนทบุรี
          การลงพื้นที่ดังกล่าวได้รับข้อมูลว่าคุณภาพน้ำในคลองอ้อมนนท์จัดอยู่ในระดับเสื่อมโทรม คือ ใช้ในการบริโภคและการปลูกทุเรียนไม่ได้ ปัจจุบันใช้เพื่อการคมนาคมเป็นหลัก สาเหตุที่น้ำคลองเสื่อมโทรมมาจากน้ำทิ้งในครัวเรือน น้ำเสียจากห้องสุขาของชุมชนและหมู่บ้านจัดสรรที่ไม่มีการบำบัดน้ำเสียก่อนทิ้งลงสู่สาธารณะ และสารเคมีที่ใช้ในการเกษตร ทั้งนี้ การพัฒนาผังเมืองจังหวัดนนทบุรีมีแนวทางให้เป็นเมืองที่น่าอยู่อาศัย ในขณะที่ยังคงมีพื้นที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตร 219,012 ไร่ (จากเนื้อที่ของจังหวัด 388,939 ไร่) คิดเป็นร้อยละ 56.31 การดูแลรักษาคุณภาพน้ำในคลองอ้อมนนท์โดยหน่วยงานของรัฐทั้งระดับจังหวัดและท้องถิ่น มีการจัดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่ 1 จุด ที่อำเภอปากเกร็ด และอยู่ระหว่างเตรียมการอีก 1 จุด ที่อำเภอบางบัวทองและอำเภอบางกรวยบางส่วน
          การจัดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียขนาดเล็กโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่ง เคร่งครัดต่อการติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียตามที่กฎหมายกำหนดของหมู่บ้านจัดสรรที่เกิดขึ้นใหม่ และการติดตามตรวจสอบให้มีการติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียของหมู่บ้านจัดสรรเดิม การจัดเก็บและการจัดการขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนมีการรณรงค์ร่วมกันระหว่างภาครัฐและประชาชน ภายใต้โครงการ “รวมใจภักดิ์ รักษ์คลองอ้อมนนท์” โดยผู้ว่าราชการจังหวัด แบ่งการดำเนินการออกเป็น 3 ระยะ ระยะสั้น ทำความสะอาดและปรับปรุงภูมิทัศน์ เก็บสิ่งกีดขวางทางน้ำ สร้างจิตอาสาการแก้ไข ฟื้นฟู และพัฒนาแหล่งน้ำ ระยะกลาง ตรวจวัดคุณภาพน้ำ และเฝ้าระวังแก้ไขปัญหาน้ำเสียโดยการติดตั้งบ่อดักไขมัน ปลูกต้นไม้ริมคลอง ส่วนระยะยาว จะพัฒนาคลองอ้อมนนท์อย่างยั่งยืน ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมโยงวัฒนธรรม สถานที่สำคัญ อนุรักษ์ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและสัตว์ประจำถิ่น
          กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้ความเห็นว่า สิทธิชุมชน คือ การคำนึงถึงระบบนิเวศวัฒนธรรมของคลองอ้อมนนท์ ศึกษาการพึ่งพาอาศัยอยู่ร่วมกันระหว่างชาวบ้านกับคลอง และการบริหารจัดการน้ำคลองของชุมชนดั้งเดิม ซึ่งตอบสนองความต้องการใช้น้ำคลองของทุกกลุ่มอาชีพในชุมชน สืบเนื่องจากการเกษตรโดยรอบคลองอ้อมนนท์เป็นระบบนิเวศน้ำขึ้นน้ำลง ดังนั้น การสร้างประตูระบายน้ำของรัฐสามารถป้องกันน้ำท่วมได้แต่ไม่ตอบสนองต่อการเกษตรในระบบนิเวศน้ำขึ้นน้ำลงของชุมชน รัฐจำเป็นต้องเห็นความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ผ่านการปรับตัวของชุมชนและพัฒนาเป็นองค์ความรู้ เพื่อการอยู่รอดมายาวนาน จึงเห็นด้วยกับความคิดของกำนันตำบลบางสีทองที่ว่า กรณีคลองอ้อมนนท์ควรสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อให้ได้ประโยชน์กับการเกษตรด้วย และมีข้อเสนอแนะว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรทบทวนเทศบัญญัติของแต่ละท้องถิ่น ให้สอดคล้องกับกฎหมายของกรมควบคุมมลพิษ เพื่อให้เท่าทันกับการแก้ปัญหามลพิษในคลองอ้อมนนท์ รวมถึงการสร้างประสิทธิภาพของการจัดการขยะโดยทำขยะให้เป็นรายได้ของชาวบ้านจะเป็นแรงผลักดัน ให้ขยะของชุมชนลดลงอย่างรวดเร็ว


© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5148488
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
193
คน