กสม. สุภัทรา ร่วมเป็นวิทยากรอภิปราย หัวข้อ “การวิเคราะห์สถานการณ์บนมุมมองสิทธิมนุษยชน: ประสบการณ์และบทเรียนสำคัญ” ในหลักสูตร ปสม.3
เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 เวลา 13.00 น. นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมเป็นวิทยากรการอภิปราย หัวข้อ “การวิเคราะห์สถานการณ์บนมุมมองสิทธิมนุษยชน: ประสบการณ์และบทเรียนสำคัญ” ในหลักสูตรประกาศนียบัตรสิทธิมนุษยชนสำหรับนักบริหารระดับสูง รุ่นที่ 3 (ปสม.3) ร่วมกับ รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา นายประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) และนายณัฐวุฒิ บัวประทุม รองหัวหน้าพรรคฝ่ายกฎหมาย พรรคก้าวไกล ณ ห้องประชุมสถาบันพระปกเกล้า (ฝั่งอาคารฝึกอบรม) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ
กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้กล่าวถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เร่งขับเคลื่อนในปัจจุบัน จำนวน 5 ประเด็น คือ 1. สิทธิในกระบวนการยุติธรรม 2. สิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม 3. การแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล 4. การขจัดการเลือกปฏิบัติ และ 5. การแก้ไขความรุนแรงในครอบครัว
สำหรับประเด็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรม กสม. ได้มีข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมาย กฎ และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมตัวผู้ต้องหา เนื่องจากกฎหมายของประเทศไทยให้อำนาจพนักงานสอบสวนควบคุมตัวผู้ต้องหาในคดีอาญาได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง นับแต่ส่งตัวให้พนักงานสอบสวน จากนั้นต้องนำผู้ต้องหาไปพบศาล ซึ่งจะเห็นได้ว่ากฎหมายไทยนับระยะเวลาเริ่มตั้งแต่ผู้ถูกจับถูกนำตัวไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน (สถานีตำรวจ) โดยไม่ได้เริ่มนับระยะเวลาตั้งแต่ถูกจับกุมตามหลักสากล
นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงสาเหตุสำคัญของการละเมิดสิทธิมนุษยชน 4 ประการ คือ 1. ความไม่รู้หรือความไม่ตระหนัก
2. ความกลัวหรือความกังวล 3. ทัศนคติเชิงลบ และ 4. สภาพแวดล้อมทางสังคม พร้อมทั้งยกตัวอย่างสถานการณ์สิทธิมนุษยชนและตอบข้อซักถามในประเด็นสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ แก่นักศึกษา ปสม.3 อีกด้วย