Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ข่าว กสม.
ข่าว View : 44
กสม. ประชุมหารือประเด็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เตรียมความพร้อมเวทีสมัชชาสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ครั้งที่ 2
เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 เวลา 09.30 น. นางสาวสุภัทรา นาคะผิว ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วย นายพิทยา จินาวัฒน์ นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ ที่ปรึกษาประจำ กสม. นายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการ กสม. นายภาณุวัฒน์ ทองสุข ที่ปรึกษาประจำสำนักงาน กสม. และเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. เข้าร่วมการประชุมหารือการเตรียมความพร้อมเวทีสมัชชาสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ในประเด็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ ปัญหาและข้อเสนอแนะร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุม 605 สำนักงาน กสม.
ที่ผ่านมา กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนจำนวนมาก และประเด็นร้องเรียนที่เข้ามามากที่สุดคือเรื่องกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายไทยในปัจจุบัน พบว่าสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจากมาตรการบังคับในการออกหมายอาญา ทั้งหมายจับ หมายค้น และหมายขัง รวมทั้งการนำตัวบุคคลเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมหรือการจับ ถือเป็นมาตรการหนึ่งของรัฐที่ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ทั้งในด้านการกระทำและสถานที่ ซึ่งกระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างมาก
จากการศึกษาเปรียบเทียบการดำเนินคดีทางอาญาของไทยและต่างประเทศ มีดังนี้ 1) ประเทศที่มีกระบวนการสอบสวนและกระบวนการฟ้องร้องเป็นกระบวนการเดียวกัน ได้แก่ ประเทศเยอรมนี สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น และประเทศที่แยกกระบวนการสอบสวนและการฟ้องร้องออกจากกัน ได้แก่ ประเทศไทยและอังกฤษ 2) เงื่อนไขในการพิจารณาออกหมายจับ สำหรับประเทศไทยกำหนดน้ำหนักในการพิจารณา คือ “มีหลักฐานตามสมควรว่าผู้นั้นกระทำความผิดอาญา” ขณะที่ประเทศเยอรมนีต้องมี “ความสงสัยโดยชัดแจ้ง” คือปรากฏความเป็นไปได้สูงว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำความผิดอาญา ซึ่งความสงสัยโดยชัดแจ้งมีระดับเข็มข้นกว่าความสงสัยตามสมควร เป็นความสงสัยระดับที่กฎหมายบัญญัติให้อัยการฟ้องคดีต่อศาลและศาลต้องประทับฟ้องคดีไว้พิจารณา ซึ่งหากประเทศไทยเคร่งครัดในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานในชั้นออกหมายจับมากขึ้น จะทำให้ผู้ต้องสงสัยได้รับการคุ้มครองสิทธิตั้งแต่ในชั้นออกหมายจับมากขึ้นด้วย และ 3) การดำเนินตามหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา สหรัฐอเมริกา ดำเนินการติดตาม จับผู้ต้องหาตามหมายจับและทำการสอบสวนพร้อมทำรายงานสอบสวนคดีที่มีการจับกุมผู้ต้องหา พนักงานอัยการสหรัฐมีเวลา 72 ชั่วโมงในการแจ้งข้อหารวบรวมพยานหลักฐาน และยื่นฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลภายใน 30 วันหลังการจับกุม ขณะที่ประเทศไทยมีระยะเวลาควบคุมตัวผู้ถูกจับและฝากขังเพื่อสอบสวน 48 ชั่วโมงก่อนส่งศาล โดยการแจ้งข้อหารวบรวมพยานหลักฐานและยื่นฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลภายใน 84 วันหลังการจับกุม หากเจ้าพนักงานดำเนินการไม่ทันภายในระยะเวลากำหนดต้องปล่อยตัวผู้ถูกจับ ในทางปฏิบัติพบว่าไม่สามารถขอขยายระยะเวลารวบรวมพยานหลักฐานและยื่นฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลออกไปได้อีก จึงไม่สอดคล้องกับหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ (presumption of innocence)
ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาการสอบสวนและการดำเนินคดี สำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมในแต่ละประเทศมีความเหมือน และความต่าง ด้วยรูปแบบการปกครองและสภาพปัญหาแตกต่างกัน ประเทศไทยจะยึดรูปแบบประเทศใดประเทศหนึ่งโดยตรงไม่ได้ สิ่งสำคัญคือต้องรักษาความจริงแห่งคดีให้ได้ โดยมีข้อเสนอ ดังนี้
1) ให้อัยการอนุมัติหมายอาญา 2) อัยการต้องทำหน้าที่สืบค้นหาความจริง และ 3) การฟ้องคดีต้องมีพยานหลักฐานเพียงพอ ปราศจากข้อสงสัย ไม่นำคนบริสุทธิ์ไปฟ้องศาลเพราะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
นายสมชาย หอมลออ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายมหาชน ที่ปรึกษาสภาทนายความ และที่ปรึกษาสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) กล่าวว่าปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย สาเหตุสำคัญมาจากการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ตั้งแต่ขั้นตอนก่อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในชั้นเจ้าพนักงาน (พนักงานสอบสวน/อัยการ) การสืบสวนสอบสวนเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง ขั้นตอนระหว่างการพิจารณาคดีของศาล ขั้นตอนหลังมีคำพิพากษาที่ผู้ต้องโทษเข้าสู่เรือนจำ และการปล่อยผู้ต้องโทษคืนสู่สังคม ฉะนั้นต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาทั้งระบบ โดยยึดหลักนิติธรรม (The Rule of Law) หลักสิทธิมนุษยชน และหลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (Fair Trial) สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) มีข้อเสนอให้ปฏิรูปตำรวจ กระบวนการยุติธรรมทางอาญาในชั้นการสอบสวน อัยการ และงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ ดังนี้
1) แยกงานตำรวจหรืองานบังคับใช้กฎหมายและงานสอบสวนออกจากกัน โดยให้งานสอบสวนเป็นหน่วยงานอิสระจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อถ่วงดุลการจับกุมกับการสอบสวน และให้พนักงานสอบสวนมีความก้าวหน้าเติบโตในสายงานที่ต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะงานสอบสวน และให้งานสอบสวนอยู่ภายใต้การกำกับของพนักงานอัยการ
2) กระจายอำนาจการบริหารงานตำรวจไปสู่ระดับจังหวัด ให้มีหน้าที่ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม รักษาความสงบเรียบร้อยในระดับจังหวัด
3) ยกเลิกกองบัญชาการตำรวจภาคทั้ง 9 ภาค กระจายกำลังพลไปประจำโรงพักเพื่อบุคลากรได้ทำงานเต็มที่ ลดงบประมาณที่ไม่จำเป็น และให้ประชาชนในจังหวัดร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดหรือตำรวจในจังหวัด โดยเสนอให้ตำรวจจังหวัดอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัด
4) ให้พนักงานอัยการรับผิดชอบกำกับดูแลการสอบสวนของพนักงานสอบสวน เพื่อมุ่งค้นหาความจริงเกี่ยวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหา และข้อเท็จจริงหรือข้อมูลเกี่ยวกับคดี
5) ให้พนักงานสอบสวนจัดให้มีการบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่อง ในขณะสอบสวนหรือลงพื้นที่รวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อเป็นหลักฐานในการตรวจสอบได้ภายหลัง
6) ให้มีพนักงานสอบสวนหญิงและตำรวจหญิงทุกสถานีทั่วประเทศ เพื่อบริการประชาชนเพศหญิงและเด็กหญิงได้โดยตรง และจัดให้มีห้องสอบสวนที่เป็นสัดส่วน ปลอดภัย เก็บความลับได้
7) ให้อัยการเป็นผู้รับผิดชอบ มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนแต่เริ่มแรก เช่น การแจ้งข้อหา การขอออกหมายศาล การค้น การจับกุม การสอบสวน การรวบรวมพยานหลักฐาน พนักงานสอบสวนต้องแจ้งต่อสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ พนักงานฝ่ายปกครอง และพนักงานอัยการทันที เพื่อให้มีหลายหน่วยงานเข้ามาสอบสวนและเข้าถึงข้อมูลและพยานหลักฐานโดยเร็ว
ให้แก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการอัยการ (กอ.) ให้มีสัดส่วนของคณะกรรมการอัยการมาจากผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นบุคคลภายนอกจากสถาบันวิชาการด้านนิติศาสตร์ และผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่เคยเป็นข้าราชการอัยการ
9) ให้สำนักงานอัยการสูงสุด รายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีต่อรัฐสภา
10) ให้เผยแพร่ผลการสอบสวน เมื่อพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง หรือสั่งฟ้องคดีอาญาต่อสาธารณะ
11) ให้โอนสำนักงานพิสูจน์หลักฐานและสถาบันนิติเวชวิทยาไปสังกัดสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และให้เจ้าหน้าที่ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยมีอำนาจหน้าที่ร่วมสอบสวนคดีอาญาตามหลักนิติวิทยาศาสตร์
12) ให้ปรับปรุงพระราชบัญญัติการให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ พ.ศ.2559 ในเรื่องอำนาจหน้าที่ร่วมสอบสวนคดีอาญาตามหลักนิติวิทยาศาสตร์ ปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการกำกับการให้บริการ ประกอบด้วยผู้แทนองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เลขาธิการสำนักงาน กสม. นายกแพทยสภา และผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์ด้านจิตวิทยา แพทย์ นิติเวชศาสตร์ สิทธิมนุษยชน และด้านเด็กและสตรี จำนวน 5 คน เป็นกรรมการ
ทั้งนี้ ข้อมูลความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้จากการประชุมครั้งนี้ กสม. จะรวบรวมข้อเท็จจริงทั้งหมดนำไปวิเคราะห์สำหรับขับเคลื่อนประเด็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เพื่อเตรียมความพร้อมเวทีสมัชชาสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ระว่างวันที่ 23-24 สิงหาคม 2566 ต่อไป


© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5148456
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
161
คน