Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ข่าว กสม.
ข่าว View : 24
กสม. ประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์และข้อมูลการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98
วันที่ 23 มีนาคม 2566 เวลา 13.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นางสาวสุภัทรา นาคะผิว และนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยนางรัตติกุล จันทร์สุริยา นายไพโรจน์ พลเพชร นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการ กสม. นางหรรษา บุญรัตน์ รองเลขาธิการ กสม. และเจ้าหน้าที่สำนักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์และข้อมูลการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้แทนองค์กรลูกจ้าง องค์กรนายจ้าง รวมทั้งเครือข่ายที่เกี่ยวข้องด้านแรงงาน ณ ห้องประชุม 704 ชั้น 7 สำนักงาน กสม. และผ่านระบบออนไลน์
ที่ประชุมได้นำเสนอข้อมูลสถานการณ์และความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการสมาคม สิทธิในการรวมตัว และการเจรจาต่อรองของประเทศไทย ในประเด็น ความท้าทาย อุปสรรค ปัญหาที่ผ่านมาที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 การจัดตั้งและการดำเนินงานขององค์กรลูกจ้างและนายจ้างภายใต้ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 และ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ความเหมาะสมของเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ... และร่าง พ.รบ.แรงงานสัมพันธ์ในรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ... ในการแก้ปัญหาและลดอุปสรรคต่อการจัดตั้ง การดำเนินงานขององค์กรลูกจ้างและนายจ้าง และการใช้เสรีภาพในการรวมกลุ่มและการต่อรองร่วม รวมทั้งความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว
อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม และการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน มีสาระสำคัญ คือ แรงงานและนายจ้างมีสิทธิในการจัดตั้งหรือเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์กร มีสิทธิจัดตั้งและเข้าร่วมเป็นสหพันธ์และสมาพันธ์รวมทั้งเข้าร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศ รัฐภาคีต้องไม่แทรกแซงหรือจำกัดสิทธิและต้องดำเนินการรับรองว่าแรงงานและนายจ้างสามารถใช้สิทธิในการรวมตัวได้อย่างเสรี สำหรับสาระสำคัญของอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวกันและการเจรจาต่อรองร่วม มีดังนี้คือ การคุ้มครองแรงงานในการรวมตัวและการต่อรอง การคุ้มครองไม่ให้เกิดการแทรกแซงระหว่างองค์กรแรงงานและนายจ้าง ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาและการใช้กลไกการเจรจา โดยอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับไม่ได้ครอบคลุมถึงกองกำลังติดอาวุธและตำรวจ
ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานได้ยกร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ... และร่าง พ.รบ.แรงงานสัมพันธ์ในรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ... ซึ่งผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยมีสาระสำคัญเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการในอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 มากขึ้น เช่น การปรับคุณสมบัติผู้ที่สามารถยื่นจัดตั้งสหภาพแรงงาน การนัดหยุดงานหรือการปิดงานในกรณีรัฐวิสาหกิจโดยเพิ่มการกำหนดแผนบริการขั้นต่ำสำหรับดำเนินกิจการสาธารณะในระหว่างการปิดงานหรือนัดหยุดงาน อย่างไรก็ตาม ภาคประชาสังคมและภาคส่วนแรงงานมีข้อกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในการรวมกลุ่มและการเจรจาต่อรองร่วม จึงเคลื่อนไหวให้มีการทบทวนเนื้อหาสาระของร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้กระทรวงแรงงานถอนร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวกลับไปพิจารณายกร่างใหม่กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
ข้อเสนอแนะจากการประชุมรับฟังความคิดเห็น มีดังนี้
1) รัฐบาลควรให้สัตยาบันการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา ILO ทั้ง 2 ฉบับ โดยไม่ต้องรอให้แก้ไขปรับปรุงกฎหมายภายในให้แล้วเสร็จก่อน เมื่อให้สัตยาบันแล้วก็มีเวลา 12 เดือนในการดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับอนุสัญญาทั้งสองฉบับ หากไม่แล้วเสร็จก็สามารถขยายเวลาไปได้ ทั้งนี้ความชัดเจนของนโยบายของรัฐบาลเป็นสิ่งสำคัญ
2) การให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 ต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาหรือไม่ เป็นเรื่องของการตีความ ซึ่งหากเป็นการกระทบต่อสิทธิสภาพนอกอาณาเขตหรือความมั่นคงของประเทศก็ต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
3) กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ควรมีฉบับเดียว ไม่ต้องแยกระหว่างสถานประกอบการเอกชนกับรัฐวิสาหกิจ และเนื้อหาต้องสอดคล้องกับอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ เพราะเป็นมาตรฐานสากล เป็นการยกระดับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิแรงงาน
4) ประเทศไทยต้องปรับปรุงกฎหมายคุ้มครองแรงงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นจริงในปัจจุบัน และเทียบเท่าตามมาตรฐานแรงงานสากล เนื่องจากสถานการณ์การจ้างงานของไทยในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป มีความต้องการแรงงานต่างด้าวเพิ่มสูงขึ้น และมีรูปแบบการจ้างงานแบบใหม่ที่แตกแต่งจากเดิม เช่น การจ้างงานแบบแพลตฟอร์ม
5) การปรับปรุงกฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ และการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา ILO ทั้ง 2 ฉบับ อาจจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการหรือนายจ้าง และการทำงานของลูกจ้างที่จะได้รับการคุ้มครองดูแลสวัสดิภาพมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวย่อมมีทั้งผู้เห็นด้วยและเห็นต่าง ฉะนั้นประเทศไทยควรมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการยึดหลักการสิทธิมนุษยชน ความเสมอภาค และการไม่เลือกปฏิบัติ ยกระดับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิแรงงาน เพื่อเป็นกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มีความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ โดยเฉพาะภาคการส่งออกของไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบจากมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน
กสม. ให้ความสำคัญกับสิทธิแรงงานเพราะเป็นสิทธิมนุษยชน และจะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวบรวมผลจากการประชุมรับความคิดเห็นและข้อเสนอแนะทั้งหมด เพื่อนำมาศึกษาวิเคราะห์และจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป


© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5375587
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
218
คน