Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ข่าว กสม.
ข่าว View : 23
กสม. ศยามล ประชุมตรวจสอบข้อเท็จจริงและรับฟังความคิดเห็นต่อเรื่องร้องเรียนในระบบเกษตรพันธสัญญา
เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2566 นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายไพโรจน์ พลเพชร ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วย นายจุมพล ขุนอ่อน ผู้อำนวยการสำนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 1 และเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประชุมร่วมกับบุคคลและผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรในระบบเกษตรพันธสัญญา เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปประกอบการพิจารณา จัดทำเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 2 กรณี ดังนี้
เวลา 09.00 – 12.00 น. ที่ห้องประชุม 605 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและคณะ ประชุมร่วมกับ ดร.ปริญญา ศิริสารการ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชุดที่ 2 นางสาวนิภาพร พุทธพงษ์ และนายอภิสัณห์ เย็นบุญส่ง อดีตอนุกรรมการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชุดที่ 2 เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีผู้ร้อง ตามรายงานผลการตรวจสอบฉบับหนึ่งเมื่อปี 2565 เรื่อง การปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม กรณีกล่าวอ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการทำสัญญาเข้าร่วมลงทุนในรูปแบบเกษตรพันธสัญญา มีคำขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พิจารณาทบทวนรายงานผลการตรวจสอบ ซึ่ง กสม. ได้มีมติรับไว้พิจารณาก่อนหน้านี้แล้ว เนื่องจากมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ผลการพิจารณาของ กสม. เปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ โดยในการประชุมวันนี้ได้รับฟังข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่เป็นสาระสำคัญเกี่ยวกับการจ่ายเงินค่าเสียหายและการเยียวยา เพื่อนำไปประชุมหารือและเจรจากับบริษัทผู้ถูกร้องให้พิจารณาทบทวนเรื่องการเยียวยาแก่เกษตรกรผู้เสียหาย อย่างถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นธรรมต่อไป
จากนั้น เวลา 13.30 – 16.30 น. ที่ห้องประชุม 704 สำนักงานณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและคณะ ประชุมร่วมกับนายไพสิฐ พาณิชย์กุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญ พร้อมด้วย ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และผู้แทนสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีปัญหาผลกระทบของกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ในระบบเกษตรพันธสัญญา จำนวน 15 ราย ในพื้นที่จังหวัดลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี ปราจีนบุรี และสระแก้ว ซึ่งได้เข้าทำสัญญาซื้อขายไก่กระทงประกันราคากับบริษัทแห่งหนึ่งภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 แต่ประสบภาวะขาดทุนและมีหนี้สินจำนวนมาก เกษตรกรผู้เสียหายเห็นว่า การบริหารจัดการในระหว่างสัญญามีหลายกรณีเกิดจากความบกพร่องของบริษัทผู้ถูกร้องที่ส่งมอบลูกไก่ อาหาร เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ที่ไม่มีคุณภาพและได้มาตรฐานตามกฎหมายให้แก่เกษตรกร ส่งผลให้ไก่ตายจำนวนมาก ส่วนที่รอดชีวิตก็เจริญเติบโตไม่ได้ขนาดและน้ำหนักตามที่บริษัทกำหนด เกษตรกรต้องรับผิดชอบในจำนวนเงินส่วนต่างจากราคารับซื้อ ทำให้ขาดทุนและมีหนี้สินรวมมูลค่ากว่าสองร้อยล้านบาท แต่บริษัทผู้ถูกร้องปฏิเสธความรับผิดชอบ
จากการประชุมดังกล่าว ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมระดมความคิดเห็นในประเด็นปัญหาการใช้บังคับพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 ได้แก่ นิยามและขอบเขตของเกษตรกรในระบบเกษตรพันธสัญญา การจัดทำรูปแบบสัญญามาตรฐาน การส่งเสริมการทำประกันภัย การเสริมสร้างองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกร การจัดทำฐานข้อมูลเกษตรพันธสัญญาที่เกษตรกรหรือประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ง่ายและมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจทั้งในเรื่องเอกสารชี้ชวนและรูปแบบสัญญามาตรฐาน รวมถึงข้อมูลการขึ้นบัญชีผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรที่มีประวัติเอาเปรียบคู่สัญญาอย่างไม่เป็นธรรม การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดทำระบบตรวจสอบคุณภาพสินค้าและปัจจัยการผลิตที่บริษัทส่งมอบให้แก่เกษตรกร การเสริมสร้างกลไกในการกำกับดูแลและติดตามให้ความคุ้มครองแก่คู่สัญญาอย่างเป็นระบบ การเพิ่มประสิทธิภาพและถ่วงดุลในกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ตลอดจนการพัฒนากลไกในการกำกับดูแลและให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรในเชิงรุก
ทั้งนี้ ข้อมูลความคิดเห็นทั้งหมดที่ได้จากการประชุมครั้งนี้ จะนำเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อพิจารณาดำเนินการและจัดทำข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป


© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5150108
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
7
คน