Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ข่าว กสม.
ข่าว View : 21
กสม.สุภัทรา ประชุมหารือเกี่ยวกับการให้บริการทันตกรรมในระบบบริการสาธารณสุขของรัฐ
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 09.00 น. นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยนายภาณุวัฒน์ ทองสุข ที่ปรึกษาประจำสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายจุมพล ขุนอ่อน ผู้อำนวยการสำนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 1 และเจ้าหน้าที่กลุ่มงานคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 3 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประชุมรับฟังความคิดเห็นเรื่องสิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ กรณีขอให้ตรวจสอบบริการด้านทันตกรรมในระบบประกันสังคมให้เป็นมาตรฐานเดียวกับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (UC) ณ ห้องประชุม 605 สำนักงาน กสม. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ผู้แทนสำนักงานประกันสังคม ผู้แทนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ผู้แทนทันตแพทยสภา ผู้แทนสำนักทันตสาธารณสุข กระทรวงส่าธารณสุข ผู้แทนกรมบัญชีกลาง และผู้แทนชมชมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน โดยมีประเด็นหารือเกี่ยวกับบริการทันตกรรม และขอบเขตการให้บริการทันตกรรมขั้นพื้นฐานในทางการแพทย์ สิทธิประโยชน์กรณีการให้บริการทันตกรรมและการจัดสรรงบประมาณด้านบริการทันตกรรมในระบบประกันสังคม ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ ความเป็นไปได้ในการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ด้านบริการทันตกรรมในระบบการให้บริการสาธารณสุขของภาครัฐให้มีมาตรฐานเดียวกันทั้ง 3 ระบบ
ผู้แทนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้ข้อมูลว่า การป้องกันและรักษาโรคในช่องปากและบริการทันตกรรม เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประชาชนไม่ต้องสำรองจ่ายและหน่วยบริการไม่มีสิทธิเรียกเก็บเงิน โดยในปี 2566 นี้จะปรับการจ่ายเงินเป็นแบบตามรายการที่ให้บริการ (Free schedule) นอกเหนือจากค่าเหมาจ่ายรายหัว
ผู้แทนสำนักงานประกันสังคม ชี้แจงว่า การรักษาโรคในช่องปาก และบริการทันตกรรมที่นอกเหนือจากการขูดหินปูน การถอนฟัน อุดฟัน ใส่ฟันเทียม เป็นสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน ตามมาตรา 63 ตามพรบ.ประกันสังคม ซึ่งสำนักงานประกันสังคมใช้งบประมาณปีละประมาณ 3 พันล้านบาทในการให้บริการดังกล่าว โดยเพิ่มช่องทางการให้บริการด้วยการทำสัญญาร่วมกับคลินิกทันตกรรมเอกชนจำนวนกว่า 3 พันแห่งทั่วประเทศ ได้ปรับค่าบริการอุด ขูด ถอนฟัน มาเป็น 900 บาทต่อปีตั้งแต่ปี 2559
ผู้แทนชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน กล่าวว่าปัญหาของการรับบริการทันตกรรมของผู้ประกันตนคือ หากเกินกว่า 900 บาท ต้องจ่ายเพิ่ม และบางรายการต้องสำรองจ่ายไปก่อนมาเบิกคืนทีหลัง เมื่อไม่มีเงินส่วนต่างก็ไม่ไปรักษา ปล่อยให้อาการลุกลามรุนแรงขึ้น ไม่เคยรู้มาก่อนว่าบริการทันตกรรม การรักษาโรคในช่องปากเป็นสิทธิประโยชน์ตามมาตรา 63 พรบ.ประกันสังคม เพราะเจ้าหน้าที่ประกันสังคมไม่เคยให้ข้อมูลเช่นนี้ และหน่วยบริการก็เข้าใจว่าบริการทันตกรรมหรือการรักษาโรคในช่องปากมีเงินให้แค่ 900 บาทเท่านั้น จึงขอให้มีการทำความเข้าใจกับหน่วยบริการคู่สัญญาของประกันสังคมให้ชัดเจน รวมทั้งสร้างความเข้าใจกับผู้ประกันตน แกครั้งขอให้ปรับระบบการจ่ายเงินใหม่ให้เป็นมาตรฐานเดียวกับ สปสช. กรมบัญชีกลาง โดยไม่ต้องให้ผู้ประกันตนต้องสำรองจ่าย ชื่นชมที่สำนักงานประกันสังคมมีความร่วมมือกับคลินิกเอกชน ซึ่งทำให้ผู้ประกันตนเข้าถึงบริการมากขึ้น
ผู้แทนทันตแพทยสภาและสำนักทันตสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความสำคัญของการต้องให้บริการรักษาโรคในช่องปาก รวมทั้งบริการขั้นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับประชากรวัยทำงานในระบบประกันสังคม และอยากให้ทั้ง 3 กองทุน ปรึกษาหารือเพื่อปรับสิทธิประโยชน์และอัตราการจ่ายค่าบริการให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
ทั้งนี้ ข้อมูลความคิดเห็นทั้งหมดจากการประชุมจะนำประกอบการพิจารณาเรื่องร้องเรียน เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพิจารณาต่อไป


© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5374729
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
1580
คน