Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ข่าว กสม.
ข่าว View : 33
กสม. ศยามล ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างเครือข่ายสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม ผ่านการจัดทำความตกลง Escazú และอนุสัญญา Aarhus และการจัดทำแผนขับเคลื่อนเครือข่ายด้านสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม
ระหว่างวันที่ 23 – 24 กุมภาพันธ์ 2566 ที่โรงแรม ทีเค. พาเลซ&คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.) กรอบความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia Pacific Forum of National Human Rights Institutions - APF) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยการสนับสนุนงบประมาณจาก the European Union จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างความตระหนักรู้และเสริมสร้างเครือข่ายด้านสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม ผ่านการจัดทำความตกลงเอสกาซู (Escazú) และอนุสัญญาอาร์ฮุส (Aarhus) และการจัดทำแผนขับเคลื่อนเครือข่ายด้านสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 4 ประเด็น ได้แก่ (1) การขับเคลื่อนข้อมติสมัชชาสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม (2) การสร้างกระบวนการเรียนรู้ในประเด็นสิ่งแวดล้อมจากกลไกระหว่างประเทศให้แก่เครือข่ายสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม (3) การรับฟังความคิดเห็นแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในผลักดันการจัดทำกรอบการปฏิบัติงานระดับอาเซียนว่าด้วยสิทธิทางสิ่งแวดล้อม และ (4) การจัดทำแผนขับเคลื่อนเครือข่ายด้านสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม
นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเปิดถึงที่มาของการประชุมสรุปว่า การประชุมครั้งนี้เริ่มต้นจากการขับเคลื่อนมติสมัชชาสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 1 เมื่อปี 2565 ซึ่งประเด็นสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม เป็น 1 ใน 5 ประเด็นที่ กสม. ให้ความสำคัญร่วมขับเคลื่อนกระบวนการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนตามหน้าที่และอำนาจของ กสม. ในการผลักดันการจัดทำกรอบการปฏิบัติงานระดับอาเซียนว่าด้วยสิทธิทางสิ่งแวดล้อมในระดับอาเซียนร่วมกับคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) โดยมี ศ. อมรา พงศาพิชญ์ เป็นผู้แทน ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ผลักดันกรอบการปฏิบัติงานดังกล่าวผ่านความร่วมมือและกลไกการขับเคลื่อนจากสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.) ในการเชื่อมประสานระดับพื้นที่ กฎหมาย และการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่สนับสนุนการดำเนินงานของภาคประชาชนทั่วประเทศ รวมถึงสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่สนับสนุนหน่วยงาน ภาคีต่าง ๆ ผ่านกลไกระดับนโยบายในเรื่องมิติสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับเรื่องสุขภาวะ
กิจกรรมวันแรกในช่วงเช้า เป็นการรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การขับเคลื่อนเรื่องสิทธิในสิ่งแวดล้อมระดับโลก และภูมิภาคยุโรป อเมริกาใต้ และอาเซียน เพื่อการจัดทำกรอบการปฏิบัติงานว่าด้วยสิทธิทางสิ่งแวดล้อมในระดับภูมิภาคและอาเซียน รวมถึงการแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินการขับเคลื่อนกรอบการปฏิบัติงานว่าด้วยสิทธิทางสิ่งแวดล้อมในอาเซียนให้เป็นจริง โดยมีวิทยากร ได้แก่ คุณเดวิด อาร์. บอยด์ (Mr. David R. Boyd) ผู้รายงานพิเศษสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม ศ.อมรา พงศาพิชญ์ ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) คุณร่มฉัตร วัชระรัตนกรกุล ผู้ประสานงานกลางประเด็นสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิทธิมนุษยชน สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดำเนินรายการโดย คุณบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ ที่ปรึกษา กสม. และในช่วงบ่ายเป็นการรับฟังและแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับรายละเอียดของอนุสัญญา Aarhus และความตกลง Escazú รวมถึงการเชื่อมโยงกับประเทศไทยด้านกฎหมายทั้งภายในและระหว่างประเทศในเรื่องสิทธิสิ่งแวดล้อม โดย คุณแมทธิว เบียด (Matthew Baird) ผู้อำนวยการ Asian Research Institute for environmental Law (ฟิลิปปินส์) รศ.ดร. คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดย ดร.กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
กิจกรรมในวันสุดท้าย เป็นกระบวนการเชื่อมโยง ระดม และรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมทั้งหมด เพื่อนำมาประมวลเป็นข้อเสนอแนะต่อการพัฒนากรอบการปฏิบัติงานระดับอาเซียนว่าด้วยสิทธิทางสิ่งแวดล้อม รวมถึงการจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมซึ่งจะขับเคลื่อนกิจกรรม สร้างการเรียนรู้ และระดมความคิดเห็นในภูมิภาคต่าง ๆ โดยจะส่งต่อให้สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พิจารณาปฏิบัติงาน และกสม. จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวด้วย
ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมในสถานที่กว่า 60 คนประกอบด้วยเครือข่ายองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมใน 7 ภูมิภาคทั่วประเทศไทย สมาชิกของกรอบความร่วมมือ APF รวมถึงผู้แทนสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อนึ่งความตกลง Escazú คือข้อตกลงว่าด้วยสิทธิการดำรงชีพในสิ่งแวดล้อมที่ดีประจำภูมิภาค และอนุสัญญา Aarhus คืออนุสัญญาว่าด้วยการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจสาธารณะ และการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมในคดีสิ่งแวดล้อม ค.ศ. 1998


© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
4901745
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
495
คน