Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ข่าว กสม.
ข่าว View : 79
กสม. ศยามล วิทยากรการเสวนา เรื่อง "ทุนใหญ่เติบโต ประชาชนตัวลีบเล็ก : ประเด็นน่ากังวลอันดับต้นของภูมิภาค" ในงานสัปดาห์ สิ่งแวดล้อมแม่โขง - อาเซียน (MAEW) 2022
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน 2565 เวลา 15.30 น. ณ สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน กรุงเทพฯ นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นวิทยากรในการเสวนา เรื่อง "ทุนใหญ่เติบโต ประชาชนตัวลีบเล็ก : ประเด็นน่ากังวลอันดับต้นของภูมิภาค" พร้อมด้วยวิทยากรอีก 2 ท่าน คือ Tanya Lee Roberts-Davis จาก NGO Forum on ADB ฟิลิปปินส์ และ นายอุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การเสวนานี้เป็นกิจกรรมหนึ่งในงานสัปดาห์สิ่งแวดล้อมแม่โขง - อาเซียน (Mekong-ASEAN Environmental Week : MAEW) ซึ่งเป็นพื้นที่เปิดสำหรับการแสดงออก การแลกเปลี่ยน และการแสวงหาทางออกที่ลึกซึ้งระหว่างประชาชนกลุ่มต่าง ๆ เครือข่ายภาคประชาสังคม คนรุ่นใหม่ และสื่อในภูมิภาค เกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคแม่น้ำโขงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเศรษฐกิจ สังคม การเมือง
การเสวนาเริ่มจาก Tanya Lee Roberts-Davis กล่าวถึงสถาบันการเงินระหว่างประเทศ คือ ธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank : AIIB) ให้ทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและสาขาการผลิตอื่น ได้แก่ โครงการไฟฟ้าพลังแก๊สในแม่โขง โครงการพลังงานในกัมพูชา ฯลฯ ส่วนธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development : ADB) ให้ทุนสนับสนุนระบบเศรษฐกิจและการพัฒนาของประเทศแถบเอเชียและแปซิฟิก ได้แก่ โครงการพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานจากขยะ โครงการสวนป่าขนาดใหญ่ ฯลฯ โครงการเหล่านี้ดำเนินการโดยบริษัทข้ามชาติร่วมกับบริษัทในประเทศนั้น ซึ่งพบว่าผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการคือนายทุนใหญ่ของประเทศนั้นทั้งยังไปไม่ถึงประชาชนโดยทั่วไป นอกจากนี้อีกหลายโครงการยังไม่สามารถสำรวจเส้นทางการใช้จ่ายเงินได้ จึงมีความจำเป็นจะต้องสร้างความโปร่งใสในการใช้จ่ายเงินทุนตามวัตถุประสงค์ของโครงการ
นายอุบล อยู่หว้า กล่าวว่า โครงการตามนโยบายของรัฐบาลไทยเกิดประโยชน์กับนายทุนใหญ่เป็นหลัก ส่วนชาวบ้านได้รับประโยชน์เล็กน้อย และขอแบ่งกลุ่มชาวนาที่พบเห็นเป็นดังนี้ 1) ชาวนาที่แปรรูปผลิตผลเพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น การผลิตโลชั่นน้ำนมข้าว 2) ชาวนารวมกลุ่มกันทำนาแปลงใหญ่ 3) ชาวนาวิศวกร DIY ใช้เทคโนโลยีทันสมัย นอกจากนี้ พบการปรับตัวของชาวนาจากการให้สินเชื่อของธนาคาร ธกส. โดยจะให้สินเชื่อซื้อรถไถนาเพื่อไปรับจ้างไถนา หรือซื้อยาฆ่าแมลงเพื่อรับจ้างฉีดพ่นยาในนา ชาวนาที่อยู่รอดได้คือชาวนาที่ดิ้นรนคิดนวัตกรรมพัฒนาตนเอง แต่ถ้าจะให้ก้าวหน้าต่อไปจำเป็นที่จะต้องได้รับการส่งเสริมสนับสนุนด้านวิชาการจากภาครัฐ และพลังทางสังคมของผู้บริโภคสนับสนุนให้ยั่งยืน
นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กล่าวว่า ภาครัฐจำเป็นอย่างยิ่งต้องเปลี่ยนวิธีคิดในการทำงานจากโจทย์ที่ใช้โครงการของรัฐเป็น ตัวตั้งกำหนดวิธีการทำงาน เปลี่ยนเป็นมาใช้ความต้องการของประชาชนคนตัวเล็กที่มีต้นทุนทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำเป็นตัวตั้งกำหนดเป้าหมายการทำงาน โดยคำนึงถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ได้แก่ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งโดยตรงและโดยอ้อม พิจารณาห่วงโซ่อุปทานทั้งการลงทุนของบรรษัทข้ามชาติ และกระบวนการทำงานอย่างมีส่วนร่วม รับฟังความเห็นนำไปประกอบการตัดสินใจอย่างสมเหตุสมผล เฉกเช่นเดียวกับการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จะตรวจสอบและเยียวยาอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะการประเมินผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights Impact Assessment : HRIA) นอกจากนี้ กสม. ได้ร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยผลักดันให้บริษัทนำหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Guiding Principles on Business and Human Rights : UNGP) ไปใช้อย่างจริงจัง และผลักดัน HRIA ให้แพร่หลายในภาคธุรกิจ ดังนั้น ประชาชนจะต้องเรียนรู้การเมืองอย่างเท่าทัน รับฟังข้อมูลอย่างไตร่ตรองก่อนตัดสินใจเลือกผู้แทนของประชาชนไปเป็นรัฐบาล เพราะรัฐบาลจะบริหารประเทศตามความต้องการของประชาชน


© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5397614
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
1256
คน