Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ข่าว กสม.
ข่าว View : 151
กสม. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการถกปัญหาช้างป่ารุกที่ทำกินชาวบ้านในพื้นที่ภาคตะวันตก หนุนชุมชนประสานรัฐบูรณาการแก้ไขปัญหาให้คนอยู่ร่วมกับช้างอย่างสันติและยั่งยืน
วันที่ 19 – 20 กันยายน 2565 ที่ห้องประชุมเคียงธารา เขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) จัด “การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนการจัดการช้างป่าเชิงบูรณาการ ภาคตะวันตก: ขับเคลื่อนประชาชน ประสานรัฐ เพื่อจัดการช้างป่าอย่างยั่งยืน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพปัญหาและปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดปัญหาช้างป่าบุกรุกถิ่นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ต่าง ๆ และรวบรวมข้อเสนอแนะจากประชาชนและหน่วยงานในพื้นที่ในการแก้ไขปัญหาช้างป่าเพื่อให้คนกับช้างป่าอยู่และใช้ประโยชน์ในทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันอย่างสันติ อันนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
กิจกรรมวันแรก นางสาวรตญา กอบศิริกาญจน์ รองเลขาธิการ กสม. กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย ผู้แทนประชาชนจังหวัดกาญจนบุรีที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาช้างป่า 5 พื้นที่ ได้แก่ กลุ่มพื้นที่อำเภอศรีสวัสดิ์ กลุ่มอำเภอทองผาภูมิตอนบน กลุ่มอำเภอไทรโยคและทองผาภูมิตอนล่าง กลุ่มอำเภอเมือง และกลุ่มอำเภอบ่อพลอย ผู้แทนภาคประชาสังคม องค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ/องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น รวมกว่า 150 คน โดยมีนายไพโรจน์ พลเพชร ที่ปรึกษาประจำ กสม. กล่าวเปิดและชี้แจ้งวัตถุประสงค์ของการประชุม และนางสาวมณีรัตน์ มิตรปราสาท ที่ปรึกษาประจำ กสม. เข้าร่วมรับฟังการประชุม
ในการประชุมตลอดทั้งวัน มีการระดมความคิดเห็นแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับสภาพปัญหา
ในพื้นที่และแนวทางการจัดการช้างป่าในภาคตะวันตก นำโดยคุณพิเชฐ นุ่นโต โครงการวิจัยและพัฒนาระบบเพื่อการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่า (วช.) และคณะวิทยากรกระบวนการ ประกอบด้วย สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 เครือข่ายเสียงคนเสียงช้าง (Human and Elephant Voices Network) มูลนิธิสัตววิทยาแห่งลอนดอน ประเทศไทย องค์กร ZSL Thailand องค์กร Elephant Lab องค์กร Panthera ประเทศไทย มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และองค์กร Ourland โดยในช่วงท้ายมีการนำเสนอแนวทางการจัดการช้างป่าแบบมีส่วนร่วม และแนวทางการขับเคลื่อนร่วมกันของภาคประชาชน
กิจกรรมในวันสุดท้าย นายไพโรจน์ พลเพชร และนางสาวมณีรัตน์ มิตรปราสาท ที่ปรึกษาประจำ กสม. ร่วมนำการพูดคุยและระดมความเห็นของที่ประชุม เพื่อรับฟังปัญหาและอุปสรรคเชิงโครงสร้าง เช่น การเยียวยาความเสียหายต่อทรัพย์สินและผลิตผลทางการเกษตร การเข้าถึงองค์ความรู้ในการผลักดันและการอยู่ร่วมกับช้างป่าอย่างสันติ กลไกการจัดการปัญหาในระดับพื้นที่ ตลอดจนการสร้างแนวการบูรณาการจัดการปัญหาร่วมกันของแต่ละหน่วยงานภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน และเครือข่ายประชาชน
อนึ่ง การประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องมาจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีปัญหาช้างป่าทั้งจากประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเด็นสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายและสิทธิของบุคคลในทรัพย์สินหลายกรณีและในหลายภูมิภาค ประกอบกับพิจารณาเห็นว่า ปัจจุบันปัญหาช้างป่าในประเทศไทยได้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยหรือทำการเกษตรในพื้นที่ซึ่งอยู่ติดเขตอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประชาชนในพื้นที่กับช้างป่า จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการแก้ไขปัญหาและอนุรักษ์ช้างป่าในขณะเดียวกันนั้นต้องไม่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไปพร้อมกันด้วย สำนักงาน กสม. จึงได้จัดทำโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าวขึ้นเพื่อรับฟังสถานการณ์ปัญหาจากทุกภาคส่วนและจัดทำแผนการจัดการช้างป่าเชิงบูรณาการ โดยก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 กสม. ได้จัดประชุมรับฟังความเห็นจากประชาชนผู้ได้รับผลกระทบและภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาช้างป่าในพื้นที่ภาคตะวันออกด้วย ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเสนอรัฐบาลต่อไป


© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5376153
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
784
คน