Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ผลการดำเนินงาน View : 356
กสม. ชี้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อจัดทำรายงานอีไอเอโครงการเหมืองแร่ถ่านหิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ละเมิดสิทธิมนุษยชน - เสนอให้หน่วยงานทบทวนใหม่ – นำหลักธุรกิจกับสิทธิฯ มาใช้ในการพิจารณาออกประทานบัตร
                นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยถึงการพิจารณารายงานผลการตรวจสอบกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียในโครงการเหมืองแร่ถ่านหินในพื้นที่หมู่บ้านกะเบอะดิน ตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งชาวบ้านได้เข้าร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เมื่อเดือนธันวาคม 2562 โดยระบุว่า เมื่อปี 2542 บริษัทเอกชนได้ยื่นคำขอประทานบัตรประกอบกิจการเหมืองแร่ถ่านหิน ต่อสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ โดยชาวบ้านเห็นว่าการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนประกอบการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) มีข้อบกพร่องหลายประการ เช่น ผู้เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นบางส่วนยังไม่บรรลุนิติภาวะ มีลายนิ้วมือหรือลายมือชื่อของชาวบ้านที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นเป็นผู้เข้าร่วมประชุม การดำเนินการดังกล่าว จึงไม่ถูกต้องและไม่สามารถนำไปใช้ประกอบการพิจารณาการขอประทานบัตรเหมืองแร่ได้ จึงขอให้ตรวจสอบ
                ประธาน กสม. กล่าวว่า ในการประชุม กสม. ด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน  2563 ที่ผ่านมา กสม.ได้พิจารณา เรื่องร้องเรียนดังกล่าวแล้วมีความเห็นว่า การขออนุญาตประกอบกิจการเหมืองแร่ถ่านหิน ต้องมีการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนตามกฎหมายอยู่ 2 ส่วนด้วยกัน
                ส่วนที่ 1 เป็นการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 จากการตรวจสอบพบว่า สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ได้ดำเนินการตามมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 เพื่อจัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของชุมชนเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2562 แต่ในวันดังกล่าวไม่สามารถจัดประชุมได้เนื่องจากมีประชาชนคัดค้าน ต่อมาภายหลัง สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ได้มีการหารือร่วมกันกับประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาข้อตกลงในการกำหนดวันและสถานที่สำหรับการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของชุมชนตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดต่อไป ถือว่าเป็นการทำหน้าที่เพื่อให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นตามที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกอบพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ดังนั้น กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนในส่วนนี้จึงยังไม่ปรากฏว่า มีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
                ในส่วนที่ 2 เป็นกรณีการดำเนินกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อประกอบการจัดทำรายงาน EIA ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 จากการตรวจสอบพบว่า ในการจัดประชาคมหมู่บ้านกะเบอะดิน ตำบลอมก๋อย ซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน มีข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เช่น มีประชาชนยืนยันว่าไม่เคยเข้าร่วมการประชุมมาก่อน แต่กลับปรากฏรายชื่อเป็นผู้เข้าร่วมการประชุมและลงชื่อเห็นด้วยกับโครงการเหมืองแร่ดังกล่าว นอกจากนี้ ในชั้นการพิจารณารายงาน EIA คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงาน EIA ด้านเหมืองแร่และอุตสาหกรรมถลุงหรือแต่งแร่มีความเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมของประชาชนว่า ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยเฉพาะประเด็นปัญหาด้านการสื่อสารผ่านผู้นำชุมชน ซึ่งน่าจะมีผลต่อความเข้าใจในรายละเอียดของโครงการ เนื่องจากประชาชนในพื้นที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง และวัตถุประสงค์ในการจัดประชาคมหมู่บ้านก็ให้ความสำคัญกับความต้องการของประชาชนมากกว่าการให้ข้อมูลและรายละเอียดที่จำเป็นของโครงการ จึงย่อมทำให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นโดยไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของตนเอง ดังนั้น การดำเนินการกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อประกอบการจัดทำรายงาน EIA ไม่สอดคล้องกับสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามที่บัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และ 2560 และไม่เป็นไปตามองค์ประกอบสำคัญของการจัดการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่มีความหมายอย่างแท้จริง ตามแนวทางที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กำหนดไว้
                ดังนั้น กสม. จึงมีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน และมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ 2 ส่วน ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
                1. สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ควรนำรายงาน EIAโครงการทำเหมืองแร่ถ่านหินเสนอต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงาน EIA ด้านเหมืองแร่และอุตสาหกรรมถลุงหรือแต่งแร่ เพื่อทบทวนรายละเอียดในส่วนของการมีส่วนร่วมของประชาชนที่มีข้อบกพร่อง โดยให้คำนึงถึงสิทธิของชุมชนในการมีส่วนร่วมในการจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติรับรองไว้ ในกรณีที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ เห็นชอบกับรายงาน EIA และเห็นว่าเมื่อมีการประกอบกิจการเหมืองแร่ถ่านหินแล้ว เกิดผลกระทบทางลบต่อประชาชน ชุมชน สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ พึงกำหนดให้บริษัทเอกชนผู้ขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ มีแผนเยียวยาความเดือนร้อนหรือเสียหายให้แก่ประชาชนหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรม และได้สัดส่วนกับความเดือดร้อนหรือเสียหายที่อาจเกิดขึ้น และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ ควรเร่งทำความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการรับฟังความเห็นของชุมชนตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 เพื่อลดความกังวลของประชาชนในพื้นที่ โดยให้ประชาชนได้รับทราบถึงวิธีการให้ข้อมูลและการรับฟังความคิดเห็น โดยมีรายละเอียดต่าง ๆ ที่เพียงพอเหมาะสมแก่การเข้าถึงข้อมูล และพึงดำเนินการให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียได้รับข้อมูลของโครงการล่วงหน้าเป็นเวลาเพียงพอที่จะสามารถเข้าใจเนื้อหาสาระ และสามารถให้ความเห็นต่อโครงการอย่างเป็นประโยชน์ได้ โดยดำเนินการภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ได้รับรายงาน
                2. กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ควรนำหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs) แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน แนวนโยบายแห่งรัฐ ตามรัฐธรรมนูญในเรื่องพลังงาน และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในกรอบสหประชาชาติ มาใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาประกอบการอนุญาตออกประทานบัตรเหมืองแร่ถ่านหิน ซึ่งเป็นโครงการหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในเชิงธุรกิจ อันอาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน เพื่อให้เกิดประโยชน์และเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย
                ทั้งนี้ หากในท้ายที่สุดแล้วจำเป็นต้องมีการอนุญาตให้สัมปทานแก่เอกชนเข้าทำเหมืองแร่ถ่านหินในพื้นที่ดังกล่าว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมป่าไม้ และกระทรวงมหาดไทย ควรต้องร่วมกันพิจารณาแนวทางการคุ้มครองวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงให้มีพื้นที่ทำกินอย่างเพียงพอและเหมาะสมในการดำรงชีวิตตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมของตนอย่างสงบสุข
                “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และ 2560 รับรองให้บุคคลและชุมชนมีสิทธิจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน โครงการพัฒนาในทุกพื้นที่จึงจำเป็นต้องอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงเพื่อให้การดำเนินกิจกรรมทุกอย่างเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน และให้ความคุ้มครองแก่กลุ่มชาติพันธ์ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่เสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน สำหรับกรณีนี้ กสม. เห็นว่า ประชาชนในอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ถูกละเมิดสิทธิการมีส่วนร่วมในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการเหมืองแร่ถ่านหิน จึงได้มีข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาโดยเร็วต่อไป” นายวัส ติงสมิตร กล่าว
ตามเอกสารแนบ

15/07/2563

© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5375451
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
82
คน