
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีมติเห็นควรให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมที่ใช้ชื่อว่า “ราษฎรหยุด APEC 2022” กับเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน (เจ้าหน้าที่ คฝ.) บริเวณถนนดินสอ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 เป็นผลให้ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก รวมถึงสื่อมวลชนด้วย ซึ่งอาจมีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบของประชาชน และต่อมา กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากองค์กรเครือข่ายสื่อมวลชนหลายแห่ง ระบุว่า การปะทะกันในกรณีดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ชุมนุม ผู้สื่อข่าวและช่างภาพอย่างน้อย 4 คน ได้รับบาดเจ็บ อันเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และกระทบเสรีภาพในการเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน รวมทั้งได้รับคำร้องจากผู้ร้องรายหนึ่ง ระบุว่า กลุ่มผู้ชุมนุมได้ใช้เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ เพื่อร้องเรียนปัญหาไปยังผู้นำของประเทศต่าง ๆ แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐรวมถึงเจ้าหน้าที่ คฝ. คุกคามเสรีภาพในการชุมนุมไม่ว่าจะเป็นการปิดกั้นการเคลื่อนขบวน การใช้กำลังสลายการชุมนุมในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้ชุมนุม การทำร้ายร่างกายผู้ชุมนุม ซึ่งเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงขอให้ตรวจสอบ นั้น
กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองไว้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม กรณีข้างต้น กสม. เห็นว่ามีประเด็นที่ต้องพิจารณา ดังต่อไปนี้
ประเด็นที่หนึ่ง การชุมนุมของกลุ่มราษฎรหยุด APEC 2022 เมื่อวันที่ 16 - 18 พฤศจิกายน 2565 เป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธหรือไม่ เห็นว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ประจำกติกา ICCPR ได้อธิบายเงื่อนไขและขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบไว้ในความเห็นทั่วไป ฉบับที่ 37 (General comment No. 37 on the right of peaceful assembly) ว่า การชุมนุมที่มีเพียงแต่การผลักหรือดันกัน หรือการขัดขวางการเคลื่อนที่ของยานพาหนะหรือการสัญจรของผู้คน หรือการขัดขวางการทำกิจวัตรประจำวัน ไม่นับว่าเป็น “ความรุนแรง” การใช้ความรุนแรงเฉพาะตัวของผู้ชุมนุมบางคนไม่ควรที่จะถูกนำไปเหมารวมว่าเป็นการกระทำของผู้ชุมนุมคนอื่น ๆ และไม่อาจสรุปได้ว่าการชุมนุมทั้งหมดนั้นเป็นไปโดยไม่สงบ
จากเหตุการณ์ดังกล่าวเห็นว่า แม้ผู้ชุมนุมบางกลุ่มหรือบางรายในการชุมนุมราษฎรหยุด APEC 2022 จะมีพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าใช้ความรุนแรง เช่น การสาดพริกและเกลือคั่วร้อนใส่เจ้าหน้าที่ หรือ การใช้ท่อนไม้ตีแขนเจ้าหน้าที่ คฝ. ที่กำลังจับกุมผู้ชุมนุม แต่ไม่ถึงกับเป็นพฤติการณ์ที่ปรากฏอย่างแพร่หลายในที่ชุมนุม จึงไม่อาจนำไปเหมารวมได้ว่าผู้ชุมนุมส่วนใหญ่มีเจตจำนงที่จะใช้ความรุนแรง ประกอบกับแกนนำรวมถึงผู้ชุมนุมคนอื่น ๆ
ได้ห้ามปรามผู้ชุมนุมที่ขว้างปาสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่ คฝ. อยู่เป็นระยะด้วย จึงเห็นว่า การชุมนุมในภาพรวมเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ อันถือเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพภายใต้กรอบหรือเงื่อนไขที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ จึงมีผลผูกพันให้เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องต้องเคารพและประกันการใช้เสรีภาพในการชุมนุมดังกล่าวด้วย
ประเด็นที่สอง การควบคุมดูแลการชุมนุม เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 เจ้าหน้าที่ คฝ. ได้กระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาตามแผนการดูแลการชุมนุมสาธารณะ ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ประกอบแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมาย (United Nations Human Rights Guidance on Less-Lethal Weapons in Law Enforcement) ซึ่งกำหนดว่า ในการดูแลการชุมนุมสาธารณะ เจ้าหน้าที่ต้องพยายามใช้การเจรจาต่อรองเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ หลีกเลี่ยงการใช้กำลังและเครื่องมือควบคุมฝูงชนจนถึงที่สุดก่อน หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ การใช้กำลังและอาวุธต้องใช้เพียงเท่าที่จำเป็นและเหมาะสมกับสถานการณ์ โดยการใช้กระบองต้องไม่ตีบริเวณอวัยวะสำคัญ และต้องแจ้งเตือนก่อนการใช้ ส่วนการยิงกระสุนยางให้ยิงต่อเป้าหมายที่กระทำการหรือมีท่าทีคุกคามต่อชีวิตของผู้อื่น ต้องกำหนดเป้าหมายโดยชัดเจน
จากข้อเท็จจริงปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ คฝ. ใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชน 2 ประเภท ได้แก่ กระบองและกระสุนยาง ซึ่งยิงผู้ชุมนุมโดยไม่เลือกเป้าหมายที่ชัดเจน และไม่แจ้งเตือนให้ผู้ชุมนุมทราบก่อน ทำให้ผู้เข้าร่วมการชุมนุมและบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องได้รับบาดเจ็บหลายราย จนถึงขั้นสูญเสียการมองเห็น ทั้งยังปรากฎด้วยว่า เจ้าหน้าที่ใช้วัตถุอื่น ๆ ได้แก่ ขวดน้ำ ขวดแก้ว และท่อนไม้ ขว้างปาไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมหลายครั้ง ซึ่งวัตถุเหล่านี้ไม่ใช่เครื่องมือควบคุมฝูงชนที่จะสามารถใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายได้ การกระทำข้างต้นจึงไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมาย จึงเป็นการละเมิดต่อสิทธิในชีวิตและร่างกายของประชาชน นอกจากนี้ การใช้กำลังในการเข้าจับกุมผู้ชุมนุม เห็นว่า เจ้าหน้าที่ คฝ. ใช้กำลังที่เกินกว่าความจำเป็นเพื่อการควบคุมตัวหลายครั้ง เช่น การผลักจนล้มหรือการรุมเตะและชก ทั้งที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่าผู้ถูกจับกุมบางรายมีท่าทีที่ยอมจำนนและไม่ขัดขืน และแม้บางรายจะแสดงอาการขัดขืนอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้มีอาวุธที่จะใช้ต่อต้านจนถึงขนาดที่ผู้ถูกร้องจะต้องใช้กำลังเข้ารุมทำร้าย ซึ่งส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บหลายราย การเข้าจับกุมตัวผู้ชุมนุมในหลายครั้งจึงมีลักษณะเกินความจำเป็น ไม่เหมาะสมและไม่ได้สัดส่วนกับพฤติการณ์ของผู้ถูกจับกุม ถือเป็นการปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของประชาชนเช่นเดียวกัน
ประเด็นที่สาม การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ คฝ. มีการกระทำที่กระทบต่อเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนหรือไม่ เห็นว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนประจำกติกา ICCPR ได้ระบุถึงการคุ้มครองการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนไว้ในความเห็นทั่วไป ฉบับที่ 37 ว่า สื่อมวลชนและบุคคลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่สังเกตการณ์หรือการรายงานเหตุการณ์การชุมนุมต้องได้รับความคุ้มครอง และจะถูกห้ามมิให้ทำหน้าที่หรือจำกัดการทำหน้าที่โดยมิชอบไม่ได้ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการที่ประชาชนจะสามารถใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบได้อย่างเต็มที่
การที่เจ้าหน้าที่ คฝ. ปฏิบัติหน้าที่ในการชุมนุมกรณีนี้โดยปราศจากความระมัดระวัง ขัดต่อกฎหมายและมาตรฐานสากลที่ควรจะต้องปฏิบัติ จนทำให้มีสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บ รวมถึงมีการใช้กำลังทำร้ายและคุกคามสื่อมวลชนให้ปฏิบัติตามคำสั่ง ทั้งยังพยายามขัดขวางหรือปิดบังไม่ให้สื่อมวลชนรายงานข่าวโดยไม่มีเหตุผลความจำเป็น ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อหน้าที่ของรัฐในการให้ความคุ้มครองความปลอดภัยแก่สื่อมวลชน
อันเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และเสรีภาพในการเสนอข่าวสารของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองไว้ตามรัฐธรรมนูญ
จากเหตุผลดังกล่าว กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2566 จึงมีมติให้เสนอแนะมาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สรุปได้ว่า ให้เร่งรัดหาข้อเท็จจริงจากเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกรายที่รับผิดชอบในการออกคำสั่งและเจ้าหน้าที่ คฝ. ที่ใช้กำลังและเครื่องมือควบคุมฝูงชนโดยไม่เป็นไปตามหลักปฏิบัติที่กำหนด และต้องติดตั้งกล้องพกพาที่ตัวเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเพื่อตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่ละรายให้เป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานสากลด้วย และให้สั่งการไปยังเจ้าหน้าที่ คฝ. ที่เกี่ยวข้องในการดูแลการชุมนุมสาธารณะให้อำนวยความสะดวกในการชุมนุม ไม่แทรกแซงการชุมนุมที่เป็นไปโดยสงบ ไม่ห้าม จำกัด ขัดขวาง หรือรบกวนการชุมนุมโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร หลีกเลี่ยงการใช้กำลังในการรักษาความสงบเรียบร้อย โดยควรมุ่งเน้นการลดความตึงเครียดของเหตุการณ์ไม่ให้นำไปสู่การใช้ความรุนแรงจากทุกฝ่าย หากมีสถานการณ์ที่จำเป็นต้องใช้กำลังในการควบคุมดูแลการชุมนุมหรือเครื่องมือควบคุมฝูงชน ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด และระมัดระวังผลกระทบต่อผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น สื่อมวลชน ผู้สังเกตการณ์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ทางการแพทย์ในพื้นที่การชุมนุม และประชาชนโดยทั่วไป รวมทั้ง ให้ประชาสัมพันธ์หรือเปิดช่องทางให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือได้รับความเสียหายจากการใช้กำลังเข้าควบคุมดูแลการชุมนุมและการใช้กำลังเข้าจับกุมที่เกินกว่าความจำเป็นและไม่ได้สัดส่วนในเหตุการณ์การชุมนุมดังกล่าว ยื่นคำขอให้มีการเยียวยาและชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้
สำหรับมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กสม. มีข้อเสนอให้ สตช. กำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีหน้าที่ควบคุมสั่งการดูแลการชุมนุมสาธารณะ ให้สื่อสารและประสานงานกับผู้จัดการชุมนุมหรือผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจของฝ่ายผู้ชุมนุมอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้การบริหารจัดการชุมนุมเป็นไปอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ ให้ผู้จัดการชุมนุมดูแลการชุมนุมให้เป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ กำชับและย้ำเตือนผู้ชุมนุมโดยเฉพาะผู้ที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัย ให้ระมัดระวังการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย งดเว้นการใช้ความรุนแรง การแสดงพฤติกรรมในลักษณะยั่วยุที่อาจนำไปสู่ความรุนแรง หรือกระทำการในลักษณะที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นด้วย
2. กสม. ประชุมขับเคลื่อนเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนร่วมกับกลุ่มประเทศมุสลิมสมาชิก OIC หนุนรัฐบาลไทยพัฒนากลไกเชิงกฎหมายกำกับการประกอบกิจการที่เคารพสิทธิฯ รองรับการปรับตัวของตลาดโลก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 – 25 พฤษภาคม 2566 ตนในฐานะผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้เข้าร่วมการประชุมสามัญครั้งที่ 21 ของคณะกรรมาธิการอิสระถาวรด้านสิทธิมนุษยชน (Independent Permanent Human Rights Commission – IPHRC) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องสิทธิมนุษยชนในโลกมุสลิม ภายใต้องค์การความร่วมมืออิสลาม (Organisation of Islamic Cooperation - OIC) ณ สำนักงานใหญ่ IPHRC เมืองเจดดาห์ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย
การประชุมครั้งนี้เป็นการรายงานสถานการณ์และการขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชนในกลุ่มประเทศมุสลิมสมาชิก OIC จำนวน 57 ประเทศ โดย กสม. ไทยได้รับเชิญในฐานะประเทศที่มีสถานะเป็นผู้สังเกตการณ์ของ OIC ซึ่งมีเพียง 3 ประเทศได้แก่ ประเทศไทย สหพันธรัฐรัสเซีย และสาธารณรัฐแอฟริกากลาง ในการนี้ ที่ประชุมได้หารือร่วมกันในหัวข้อ “ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน: Normative Framework and Implementation Guideline for OIC Countries” และได้รับหลักการสำคัญเบื้องต้นร่วมกัน ได้แก่ (1) หลักการและจริยธรรมของชะรีอะฮ์อิสลาม (หลักกฎหมายอิสลาม) รวมถึงความรับผิดชอบและความไว้วางใจที่ย้ำเน้นถึงมาตรฐานทางศีลธรรม คุณค่า และบรรทัดฐานทางพฤติกรรมครอบคลุมทุกมิติของชีวิต รวมถึงทางธุรกิจที่สอดคล้องกับหลักการอิสลามและคุณค่าในการปกป้องสิทธิมนุษยชน อันเป็นไปตามแนวปฏิบัติของสหประชาชาติ ระเบียบและกฎหมายของบรรดาประเทศสมาชิก
(2) แนวคิดสิทธิมนุษยชนเป็นแกนกลางของชะรีอะฮ์อิสลาม ซึ่งมุสลิมทั้งแง่ปัจเจกชน และองค์กรต้องร่วมกันปกป้องผลประโยชน์และสิทธิของผู้อื่นอย่างเท่าเทียมกัน (3) บทบาทของบรรษัทข้ามชาติและธุรกิจเอกชนได้เข้ามามีอิทธิพลต่อประเทศสมาชิกเป็นอย่างมากและอาจส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางไปในระดับโลกทั้งมิติทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีแนวทางป้องกันปัญหา
เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบจากการประกอบธุรกิจที่ละเมิดสิทธิฯ โดยรัฐของประเทศสมาชิกต้องให้ความสำคัญกับการปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights - UNGPs) โดยต้องพัฒนากฎหมายที่จะคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจากการดำเนินธุรกิจ และประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารให้สาธารณะรับทราบเพื่อให้เข้าถึงการเยียวยาเมื่อได้รับผลกระทบด้วย
(4) ภาคธุรกิจเอกชนมีความรับผิดชอบที่จะต้องเคารพและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในทุกกระบวนการของธุรกิจ โดยคำนึงถึงมิติด้านสิทธิมนุษยชนของคนทุกกลุ่มที่มีส่วนได้เสีย ทั้งสิทธิผู้ใช้แรงงาน สิทธิสิ่งแวดล้อม และสิทธิในสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรม และปฏิบัติตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและในประเทศ โดยต้องจัดให้มีกลไกการร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย และ (5) ประเทศสมาชิกจะประณามนโยบาย
และการทำธุรกิจที่ไร้จริยธรรมที่สนับสนุนการยึดครองดินแดนผู้อื่น รวมทั้งการทำธุรกิจที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ด้วยเหตุนี้ ที่ประชุมจึงได้เรียกร้องให้สหประชาชาติและประเทศต่าง ๆ สำรวจความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุนโลกเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการขับเคลื่อนเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ตลอดจนใช้กลไกของสหประชาชาติทั้งกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review - UPR) และกลไกตามอนุสัญญาต่าง ๆ ในการประเมินและสนับสนุนให้ประเทศสมาชิก นำมาตรฐานสิทธิมนุษยชนมาเป็นเครื่องมือกำกับดูแลการดำเนินธุรกิจของบรรษัทข้ามชาติและองค์กรธุรกิจในประเทศต่าง ๆ อย่างเคารพสิทธิมนุษยชนรอบด้านโดยเฉพาะในพื้นที่ขัดแย้ง รวมทั้งหยุดกิจกรรมธุรกิจที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายด้วย นอกจากนี้ที่ประชุมยังเรียกร้องให้ ประเทศสมาชิก OIC เร่งลงนามในกติการะหว่างประเทศต่าง ๆ กฎบัตรของ OIC เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ตลอดจนหลักการ UNGPs เพื่อให้ได้รับแรงสนับสนุนทางการเมืองในการออกกฎหมาย นโยบาย หรือเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันอันตรายและเยียวยาความเสียหายอันเกิดจากการประกอบธุรกิจ และรับประกันความรับผิดชอบของธุรกิจในการเคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชนด้วย
“การประชุมครั้งนี้นับเป็นการปรับตัวของสมาชิกกลุ่มประเทศมุสลิม 57 ประเทศ เพื่อสร้างความตระหนักในประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน โดยกลุ่มประเทศสมาชิก OIC ซึ่งมีประชากรเกือบ 2,000 ล้านคน ถือเป็นกลุ่มประเทศตลาดใหญ่สำหรับการส่งออกของประเทศไทย เช่น สินค้าอาหารฮาลาล ซึ่งตลาดนี้อยู่ระหว่างการปรับทิศทางการประกอบธุรกิจให้สอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล ด้วยเหตุนี้ การประกอบธุรกิจของประเทศไทยจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจังโดยยึดหลักการเคารพ ป้องกัน และการเยียวยา เพื่อไม่ให้ประเทศไทยตกขบวน ดังนั้น รัฐบาลไทยจำเป็นต้องเร่งรัดสนับสนุนให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องดังกล่าว และพัฒนากลไกเชิงโครงสร้าง เช่น การออกระเบียบและกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นหลักประกันสำคัญในการคุ้มครองและส่งเสริมการดำเนินธุรกิจตามหลักสิทธิมนุษยชนอย่างมีประสิทธิภาพ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ กล่าว
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
2 มิถุนายน 2566
แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์20-2566_02-06-66.pdf