Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ผลการดำเนินงาน View : 144
กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 13/2566 กสม. ชี้ กรณีกลุ่มกิจกรรมนักศึกษารับน้องโดยการบังคับ ข่มขู่ เป็นการละเมิดสิทธิฯ มหาวิทยาลัยต้องรับผิดชอบด้วย แนะกำกับดูแลอย่างเคร่งครัด - ชี้ โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้งของกรมชลประทาน ละเมิดสิทธิชุมชน กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง - มีมติหยิบยกกรณีวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ขึ้นตรวจสอบ
      วันที่ 30 มีนาคม 2566 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ นายจุมพล  ขุนอ่อน ผู้อำนวยการสำนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 1แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 13/2566 โดยมีวาระสำคัญดังนี้
     1. กสม. ชี้ กลุ่มกิจกรรมนักศึกษา ม.รามคำแหง รับน้องโดยการบังคับ ข่มขู่ เป็นการละเมิดสิทธิฯ แนะมหาวิทยาลัยกำกับดูแลอย่างเคร่งครัด
ข่าว-1.jpg
     นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนตุลาคม 2565 ระบุว่า พรรคการเมืองในมหาวิทยาลัยรามคำแหงพรรคหนึ่งได้จัดโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ในหัวข้อ “น้องใหม่จิตอาสาเสริมสร้างสายสัมพันธ์” ระหว่างวันที่ 15 - 17 กรกฎาคม 2565 ในลักษณะที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น การสั่งให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมหมอบและกลิ้งตัวลงบนพื้นหญ้า การข่มขู่ว่าจะใช้ไม้ตีหากไม่ทำตามคำสั่งหรือทำด้วยความชักช้า เป็นต้น นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยรามคำแหงในฐานะผู้ที่มีหน้าที่ในการควบคุม กำกับ และดูแล การจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ได้ปล่อยปละละเลยให้เกิดการจัดกิจกรรมในลักษณะ ที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงขอให้ตรวจสอบ กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า กรณีนี้มีประเด็นที่ต้องพิจารณาแยกเป็น 2 ประเด็น ดังนี้
     ประเด็นที่หนึ่ง การจัดกิจกรรมของพรรคการเมืองนักศึกษาพรรคดังกล่าวมีการกระทำอันเป็น การละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้ให้การรับรอง คุ้มครอง และกำหนดหลักประกันในเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วย สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ได้รับรองและคุ้มครองสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัย ในร่างกายของบุคคล การกระทำใด ๆ ที่ส่งผลต่อร่างกายหรือจิตใจของบุคคล ซึ่งขัดกับหลักสิทธิเสรีภาพหรือละเมิดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ย่อมไม่สามารถกระทำได้ จากการตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในช่วงการจัดกิจกรรมละลายพฤติกรรม ปรากฏภาพ การกระทำของรุ่นพี่ซึ่งเป็นตัวแทนของพรรคการเมืองดังกล่าว ใช้คำพูด น้ำเสียง หรือใช้ท่าทางในลักษณะของการข่มขู่หรือบีบบังคับให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงต้องปฏิบัติตามคำสั่งของตนเอง โดยไม่มีอำนาจอันชอบธรรมที่จะกระทำได้ ซึ่งไม่ใช่การปฏิบัติตามครรลองปกติที่บุคคลโดยทั่วไป ไม่ว่าอยู่ในสถานะใดจะพึงประพฤติปฏิบัติ โดยเฉพาะการปฏิบัติต่อกันของรุ่นพี่กับรุ่นน้องในสถาบันการศึกษา ที่รุ่นพี่จะต้องประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่รุ่นน้อง จึงคาดหมายได้ว่าการกระทำเช่นนี้จะทำให้ เกิดผลกระทบโดยตรงต่อสภาพจิตใจของผู้เข้าร่วมกิจกรรม ก่อให้เกิดความหวาดกลัวหรือความทุกข์ ทางจิตใจในระหว่างการทำกิจกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งถือเป็นการละเมิดต่อสิทธิในร่างกายของบุคคล ขณะเดียวกัน พรรคการเมืองนักศึกษาดังกล่าวไม่ได้ระบุกิจกรรมละลายพฤติกรรมไว้ในกำหนดการ อันเป็นข้อมูลที่มีความสำคัญต่อการสมัครใจหรือยินยอมที่จะเข้าร่วมทำกิจกรรม จึงเห็นว่า การจัดกิจกรรมดังกล่าวมีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
     ประเด็นที่สอง มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ปล่อยปละละเลยให้พรรคการเมืองนักศึกษาดังกล่าว จัดกิจกรรมที่สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือไม่ พิจารณาแล้วเห็นว่า มหาวิทยาลัยได้ออกประกาศกำหนดนโยบาย มาตรการและแนวปฏิบัติในการจัดทำโครงการกิจกรรมต่าง ๆ ของนักศึกษา รวมถึงกำหนดให้อาจารย์ที่ปรึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับดูแลและควบคุมการจัดกิจกรรมตั้งแต่ขั้นตอน การขออนุมัติไปจนถึงการทำกิจกรรมจนแล้วเสร็จ ตลอดจนมีการรณรงค์ให้นักศึกษาทำกิจกรรม ในมหาวิทยาลัยอย่างสร้างสรรค์ และได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงภายหลังจากที่ปรากฏภาพการจัดกิจกรรมของพรรคการเมืองนักศึกษาดังกล่าวซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์บนสื่อสังคมออนไลน์ แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปหรือผลการตรวจสอบหรือการลงโทษผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ประกอบกับอาจารย์ที่ปรึกษาไม่ได้ ทำหน้าที่กำกับดูแลและควบคุมการจัดกิจกรรมดังกล่าว อย่างเข้มงวด จึงเห็นว่า มหาวิทยาลัย ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับหน้าที่ความรับผิดชอบในส่วนที่จะเข้าไปควบคุมและกำกับดูแลการจัดกิจกรรมของกลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด อันสะท้อนให้เห็นถึงการขาดความตั้งใจอย่างแท้จริง ของมหาวิทยาลัย ที่จะขจัดหรือป้องกันไม่ให้เกิดการจัดกิจกรรมของนักศึกษาที่มีลักษณะละเมิด สิทธิมนุษยชนขึ้น จึงเป็นการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ด้วยเหตุผลดังกล่าว กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะไปยังพรรคการเมืองนักศึกษาพรรคดังกล่าวให้เน้นย้ำและกำชับสมาชิกของตนว่าต้องเคารพสิทธิมนุษยชนของผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคน ไม่ทำกิจกรรมที่มีลักษณะการบังคับ ขู่เข็ญ หรือกระทำการใด ๆ ที่ส่งผลให้เกิดความรุนแรงทั้งต่อร่างกายและจิตใจผู้อื่น และต้องไม่บังคับหรือกดดันให้ผู้ใดเข้าร่วมกิจกรรมทุกประเภท รวมถึงต้องแจ้งหรือระบุขอบเขตของการทำกิจกรรม ในกำหนดการโดยละเอียดเพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทราบแต่แรกด้วย และให้มหาวิทยาลัยรามคำแหง เน้นย้ำไปยังกลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย ให้จัดกิจกรรมทุกประเภทโดยไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และต้องมีบทลงโทษทางวินัยอย่างจริงจังและเข้มงวดกับนักศึกษา รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดกิจกรรมของกลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ ที่ขัดหลักสิทธิมนุษยชน กฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับ รวมทั้งกิจกรรมที่ก่อให้เกิดอันตรายทั้งต่อร่างกายหรือจิตใจ รวมทั้ง ต้องให้ความสำคัญกับการเน้นย้ำอาจารย์ที่ปรึกษาที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการกำกับควบคุมการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มงวดและเคร่งครัดตั้งแต่ต้นจนจบกิจกรรม ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับรายงานผลการตรวจสอบนี้
     2. กสม. ชี้ โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้ง อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ละเมิดสิทธิชุมชนและขาดการมีส่วนร่วมจากกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง
ข่าว-2.jpg
     นายจุมพล  ขุนอ่อน ผู้อำนวยการสำนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 1 เปิดเผยว่า คณะกรรมการ สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนเมษายน 2565 จากผู้ร้องสามราย ระบุว่า ตามที่กรมชลประทานมีแผนดำเนินโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้งภายใต้โครงการบริหารจัดการน้ำแก้ไขปัญหาภัยแล้งและบรรเทาอุทกภัยของลุ่มน้ำลำภาชี ในพื้นที่บ้านพุระกำ ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่เคยถูกอพยพมาจากบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน โดยกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงได้ปรับตัวและอยู่อาศัยในพื้นที่จนมีความมั่นคงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีแล้วนั้น แต่โครงการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ต้องสูญเสียที่ทำกินและถูกโยกย้ายไปอยู่แปลงอพยพ อีกทั้งพื้นที่ดำเนินโครงการยังอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชีและซ้อนทับกับเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่ของลุ่มน้ำแก่งกระจานที่ได้รับการขึ้นทะเบียน มรดกโลก การดำเนินการจึงอาจกระทบต่อทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า นอกจากนี้ การจัดกระบวนการ มีส่วนร่วมในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ไม่ทั่วถึง จึงขอให้ตรวจสอบ กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า กรณีนี้มีประเด็นที่ต้องพิจารณาแยกเป็น 2 ประเด็น ดังนี้
     ประเด็นที่หนึ่ง การดำเนินโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้งของกรมชลประทาน มีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ร้องทั้งสามและกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในพื้นที่ตั้งโครงการหรือไม่ เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รับรองสิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน และสิทธิของบุคคลและชุมชน และบัญญัติแนวนโยบายแห่งรัฐให้พึงส่งเสริมและให้ความคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิม ตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข ไม่ถูกรบกวน อีกทั้งมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง สรุปได้ว่า รัฐจะต้องส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ ในพื้นที่สูง ตลอดจนส่งเสริม สนับสนุน และยอมรับการใช้ประโยชน์ในพื้นที่และการจัดการของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม จากการตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริงว่า การดำเนินโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้ง ในเขตพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์ป่า ต้องเพิกถอนพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าบางส่วน จะส่งผลให้กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านพุระกำต้องถูกอพยพละทิ้งที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ซึ่งช่วงเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมานับแต่ ถูกอพยพจากพื้นที่ทำกินเดิมบริเวณบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน มายังบริเวณบ้านพุระกำและบ้านหนองตาดั้ง กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงได้ตั้งถิ่นฐานปรับตัวเข้ากับพื้นที่ใหม่ จนกระทั่งมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี สามารถประกอบอาชีพหาเลี้ยงครอบครัวได้ตามฐานานุรูป กรณีจะต้องถูกอพยพย้ายถิ่นฐานเป็นครั้งที่สอง ถือว่าส่งผลกระทบต่อสิทธิของประชาชนมากเกินสมควร อันไม่สอดคล้องตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงด้วย ดังนั้น หากกรมชลประทานจะดำเนินการตามแผนโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้ง จึงย่อมส่งผลกระทบต่อสิทธิชุมชน และสิทธิของบุคคล ในทรัพย์สินของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
    ประเด็นที่สอง การจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อประกอบ การขออนุญาตดำเนินโครงการฯ โดยเฉพาะประเด็นการมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นของ ผู้มีส่วนได้เสีย มีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 58 บัญญัติให้รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาตั้ง ของกรมชลประทาน เข้าข่ายต้องจัดทำรายงาน EIA ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2554 จากการตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริงว่า แม้ผู้ร้องทั้งสามและกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านพุระกำ รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะแสดงความเห็นคัดค้านโครงการมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่จังหวัดราชบุรีมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาข้อเท็จจริงและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นบนพื้นฐานของ หลักสิทธิมนุษยชน ประกอบกับมีข้อเท็จจริงชัดว่าโครงการฯ จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ร้องจนเกินสมควร และการโยกย้ายกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านพุระกำออกจากพื้นที่ก็เป็นการกระทำซ้ำต่อผู้ได้รับผลกระทบกลุ่มเดิม อันส่งผลกระทบต่อสิทธิชุมชน และสิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน แต่กรมชลประทาน ยังคงดำเนินการจัดทำรายงาน EIA เพื่อประกอบการขออนุญาตดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้ง เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยมิได้นำความคิดเห็นและข้อห่วงกังวลของผู้ร้องทั้งสามและกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงไปเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพิจารณาดำเนินโครงการ จึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ด้วยเหตุผลดังกล่าว กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะให้กรมชลประทานยกเลิกแผนการดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำ บ้านหนองตาดั้ง และให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติระงับการพิจารณาให้ความเห็นต่อรายงาน EIA โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้ง ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ได้รับรายงาน ผลการตรวจสอบนี้ นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยให้กรมชลประทานร่วมกับจังหวัดราชบุรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ศึกษาทางเลือกอื่นในการบริหารจัดการน้ำ ที่จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านพุระกำ โดยใช้กลไกคณะกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดและคณะกรรมการลุ่มน้ำ ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 รวมทั้งเสนอให้ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินการให้พื้นที่บ้านพุระกำและบ้านหนองตาดั้งเป็นเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรม ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ด้วย
         3. กสม. มีมติหยิบยกกรณีวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ขึ้นตรวจสอบ 
ข่าว-3.jpg
     นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ติดตามสถานการณ์กรณีวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 (Cesium-137) สูญหายจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 304 อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งมีการแจ้งความเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 ต่อมามีการนำเสนอข่าวและการค้นหาโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง กระทั่งตรวจพบสารซีเซียมในถุงขนาดใหญ่ของโรงหลอมเหล็กแห่งหนึ่ง ในเขตอุตสาหกรรมกบินทร์บุรี อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ส่งผลให้ประชาชนมีความวิตกกังวลถึงผลกระทบของ สารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับมาตรการ ด้านความปลอดภัย กฎหมาย กฎระเบียบ ในการควบคุมของเสียและกากอุตสาหกรรม การเปิดเผยข้อมูลของหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในกรณีดังกล่าว รวมทั้งการตั้งคำถามต่อการประกอบกิจการของโรงไฟฟ้าว่ามีการดำเนินธุรกิจโดยเคารพสิทธิมนุษยชนหรือไม่ นั้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566 ได้พิจารณากรณีดังกล่าวแล้ว จึงมีมติเห็นควรหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นตรวจสอบ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ซึ่งบัญญัติว่า เมื่อความปรากฏต่อคณะกรรมการ ไม่ว่าโดยทางใด ไม่ว่าจะมีผู้แจ้งหรือผู้ร้องเรียนหรือไม่ก็ตาม ว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้น ให้คณะกรรมการตรวจสอบเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงที่ถูกต้องและทำความจริงให้ปรากฏโดยไม่ล่าช้า และต้องศึกษาและวิเคราะห์ให้ทราบถึงสาเหตุของการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยมุ่งเน้นที่จะแก้ไขปัญหาและป้องกันมิให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเรื่องนั้นหรือลักษณะเดียวกันนั้นขึ้นอีก 
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
30 มีนาคม 2566
30-03-66-แถลงข่าวครั้งที่13-2566-(1).pdf

30/03/2566

© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5375547
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
178
คน