Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ผลการดำเนินงาน View : 109
กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 46/2565 กสม. ตรวจสอบกรณีเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลขอฟังคำวินิจฉัยของหมอโดยผู้ป่วยไม่ยินยอม ชี้สิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลต้องได้รับการคุ้มครอง -ระบุโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าฯ นาบอน นครศรีธรรมราช ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ - เผยผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะ กสม. กรณีมหาวิทยาลัยห้ามนักศึกษามุสลิมแต่งกายตามหลักศาสนา ล่าสุด มหาวิทยาลัยแก้ระเบียบแล้ว
วันที่ 29 ธันวาคม 2565 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 46/2565 โดยมีวาระสำคัญ 3 เรื่อง ดังนี้
            1. กสม. เผยผลการตรวจสอบกรณีพนักงานฝ่ายบุคคลของบริษัทขอเข้าร่วมรับฟังการวินิจฉัยโรคของแพทย์โดยผู้ป่วยไม่ยินยอม ย้ำสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลต้องได้รับความคุ้มครอง
29-1-01.jpg
            นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 จากผู้ร้องรายหนึ่ง ระบุว่าผู้ร้องเป็นผู้จัดการฝ่ายอาหารของบริษัทแห่งหนึ่ง ได้แจ้งทางบริษัทว่า มีอาการปวดศีรษะ อาเจียน และ เป็นไข้ ขอลาป่วยเพื่อไปพบแพทย์ที่คลินิก ปรากฏว่าพนักงานฝ่ายบุคคลของบริษัทได้ติดตามผู้ร้องไปที่คลินิกและแจ้งความประสงค์ขอเข้ารับฟังการวินิจฉัยของแพทย์ด้วย ผู้ร้องให้ความยินยอมเนื่องจากเกรงว่าอาจกระทบต่อผลการปฏิบัติงาน สองวันต่อมาผู้ร้องได้แจ้งบริษัทว่าไม่สบายและเห็นว่าน่าจะเป็นผลสืบเนื่องมาจากสถานที่ทำงานไม่ถูกสุขลักษณะ จึงขอลาป่วยไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล พนักงานฝ่ายบุคคลของบริษัทได้แจ้งความประสงค์ขอเข้าร่วมรับฟังการวินิจฉัยของแพทย์อีกครั้ง แต่ผู้ร้องไม่ให้ความยินยอม และนำเหตุดังกล่าวไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อเป็นหลักฐาน ต่อมาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 บริษัทได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างกับผู้ร้อง โดยอ้างผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และให้มีผลทันที จึงขอให้ตรวจสอบ
            กสม. พิจารณาข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว อันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล โดยบริษัทได้ชี้แจงว่า กรณีพนักงานฝ่ายบุคคลของบริษัทเข้าร่วมรับฟังการวินิจฉัยโรคของแพทย์เนื่องจากสงสัยว่าผู้ร้องมีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงหรือเป็นอาการป่วยที่เกิดจากการทำงานหรือไม่ หากเป็นการเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานบริษัทจะได้ส่งตัวผู้ร้องเข้ารับการรักษาตามสิทธิต่อไป อย่างไรก็ดี ผู้ร้องได้ฟ้องบริษัทต่อศาลแรงงานภาค 1 (พระนครศรีอยุธยา) เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 เพื่อขอให้บริษัทจ่ายค่าชดเชย ค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายให้แก่ผู้ร้องด้วย ซึ่งต่อมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ผู้ร้องได้ถอนฟ้องบริษัทเนื่องจากมีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกันแล้ว โดยบริษัทได้จ่ายเงินให้แก่ผู้ร้อง จำนวน 300,000 บาท และได้ขอถอนเรื่องร้องเรียนต่อ กสม.ด้วย จึงเป็นกรณีตามมาตรา 19 (7) ประกอบมาตรา 39 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ซึ่งกำหนดให้ กสม. สั่งยุติเรื่อง
            “สิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวและสิทธิในข้อมูลส่วนตัวเป็นสิทธิพื้นฐานสำคัญที่ทุกคนต้องได้รับความคุ้มครอง ซึ่งในการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลจะทำได้ก็ต่อเมื่อเจ้าของข้อมูลให้ความยินยอม เว้นแต่อยู่ภายใต้เงื่อนไขข้อยกเว้นอื่นที่กฎหมายให้อำนาจ กรณีดังกล่าวนี้แม้เรื่องจะเป็นที่ยุติแล้ว แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าทุกคนมีสิทธิที่จะปกป้องความเป็นอยู่ส่วนตัวและข้อมูลส่วนบุคคลของตนเอง” นายวสันต์กล่าว
            2. กสม. ชี้ โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดนาบอน นครศรีธรรมราช ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ ป้องกันปัญหา
29-2-01.jpg
            นางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากสภาองค์กรชุมชนตำบลทุ่งสง เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 ระบุว่า บริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าสองแห่ง ได้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดนาบอน 1 และนาบอน 2 กำลังผลิตกระแสไฟฟ้าโรงงานละ 25 เมกะวัตต์ ในพื้นที่หมู่ที่ 7 บ้านส้มปอย ตำบลทุ่งสง อำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งรัศมีโดยรอบในระยะ 5 กิโลเมตรของโรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งอยู่ใกล้ชุมชน ประกอบด้วยโรงเรียน วัด โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และมีความกังวลว่าการดำเนินโครงการ อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่โดยรอบ จากปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ และมลพิษในอนาคตจากการระบายน้ำทิ้งลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ รวมทั้งการจัดการทรัพยากรน้ำจากการขุดสระน้ำขนาดใหญ่เพื่อรองรับน้ำไว้ใช้
ในโครงการอีกทั้งยังเห็นว่าการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของทั้งสองโครงการและการรับฟัง ความคิดเห็นของประชาชน ไม่ครบถ้วนรอบด้าน จึงขอให้ตรวจสอบ
            กสม. พิจารณาจากข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า เรื่องดังกล่าวเป็นกรณีเกี่ยวกับสิทธิชุมชน ซึ่งสามารถแยกพิจารณาได้ 3 ประเด็น ดังนี้
            ประเด็นที่หนึ่ง การจัดหาไฟฟ้าตามคำร้องนี้ กำหนดกระบวนการขั้นตอนที่ให้การรับรองสิทธิ ในการมีส่วนร่วมของบุคคลและชุมชนมากน้อยเพียงใด เห็นว่า การดำเนินนโยบายจัดหาไฟฟ้าแม้จะเป็นไปเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน แต่การผลิตไฟฟ้าเป็นกิจการประเภทที่อาจก่อให้เกิดอันตรายและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชน การมีส่วนร่วมของประชาชนในเรื่องนี้จึงไม่ใช่เพียงแต่ การดำเนินการในเชิงกระบวนการเท่านั้น แต่ต้องมีผลเชื่อมโยงหรือนำไปสู่การตัดสินใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยที่การรับฟังความคิดเห็นจากบุคคลทั่วไปก่อนออกระเบียบและประกาศการรับซื้อไฟฟ้าของโครงการโรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งเป็นเพียงการเผยแพร่ร่างระเบียบและประกาศฯ ผ่านระบบสารสนเทศเพื่อให้บุคคลทั่วไปได้แสดงความคิดเห็นเท่านั้น แต่ประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ ได้ และแม้ในระเบียบและประกาศการรับซื้อไฟฟ้าจะมีเงื่อนไขการตรวจสอบข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน แต่เป็นเพียงการตรวจสอบในเชิงข้อกฎหมายและเอกสารเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งไม่มีการรับฟังความคิดเห็นเบื้องต้นจากประชาชนในพื้นที่ที่เป็นทำเลที่ตั้งโครงการ กระบวนการดังกล่าวจึงทำให้ประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบไม่สามารถใช้สิทธิในการให้ความเห็นหรือข้อเสนอแนะในกระบวนการคัดเลือกผู้ผลิตไฟฟ้าได้
            นอกจากนี้ แม้ว่าตามประกาศการรับซื้อไฟฟ้าจะกำหนดให้ผู้ได้รับคัดเลือกจัดให้มีการรับฟัง ความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียก่อนที่จะมีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า แต่กระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าได้เลือกทำเลที่ตั้งโครงการไว้แล้ว และทั้งสองโครงการยังมี การเปลี่ยนแปลงที่ตั้ง โดยได้เริ่มกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) ในที่ตั้งใหม่ก่อนที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานจะมีมติเห็นชอบการเปลี่ยนแปลงที่ตั้งด้วย ทำให้ความเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชนในขั้นตอนการจัดทำรายงาน EIA โดยเฉพาะเรื่องความเหมาะสมของทำเลที่ตั้งโครงการ ไม่ถูกนำไปพิจารณาประกอบ การตัดสินใจ
            ประเด็นที่สอง พิจารณาว่า สิทธิของบุคคลและชุมชนในกระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการโรงไฟฟ้าได้รับการรับรองและคุ้มครองหรือไม่ โดยเห็นว่า แม้โรงไฟฟ้าทั้งสองโครงการจะได้จัดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนตามแนวทางของสำนักงานนโยบายและ แผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 2 รอบ เมื่อปี 2562 และปี 2563 แล้ว แต่ผู้แทนกลุ่มครัวเรือนในระยะประชิดโครงการหลายรายได้ให้ข้อเท็จจริงต่อ กสม. ว่า ไม่ได้มีส่วนร่วมในการแสดง ความคิดเห็นตั้งแต่เริ่มต้น เนื่องจากในการรับฟังความคิดเห็น ผู้นำท้องที่จะเป็นผู้กำหนดรายชื่อคนเข้าร่วมประชุม หากไม่มีรายชื่อก็ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ อีกทั้งประชาชนในพื้นที่กว่า 1,400 คน ยังได้ร่วมกันลงชื่อคัดค้านโครงการทั้งสอง และส่วนใหญ่มีข้อกังวลเรื่องปัญหาผลกระทบด้านอากาศและฝุ่นละออง การแย่งชิงทรัพยากรน้ำ และอื่น ๆ เช่น การระบายน้ำทิ้ง ปัญหาน้ำท่วมขัง การขุดดินถมดิน ประกอบกับในช่วงที่มีการปรับพื้นที่ของโครงการ ผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง ได้รับผลกระทบและเหตุเดือดร้อนรำคาญในปัญหาฝุ่นละออง เสียงเครื่องจักร และน้ำท่วมขังบริเวณสวนยางพารา ซึ่งประชาชนได้ร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบอย่างจริงจัง จึงยังไม่อาจสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้ว่ารายงาน EIA จะเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิได้
            ประเด็นที่สาม สิทธิของบุคคลและชุมชนในกระบวนการขออนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า ตามกฎหมายได้รับการรับรองและคุ้มครองมากน้อยเพียงใด เห็นว่า แม้ปัจจุบันโรงงานทั้งสองแห่งจะยังไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า แต่มีข้อสังเกตว่าในขั้นตอนการขออนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง มีข้อยกเว้นการจัดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน สำหรับโรงงานที่ได้รับความเห็นชอบรายงาน EIA ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและบำรุงรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 แล้ว การมีส่วนร่วมของประชาชนในการขออนุญาตจัดตั้งโรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งดังกล่าวจึงอยู่ในระดับการปรึกษาหารือเท่านั้น แต่ยังไม่สามารถเชื่อมโยงหรือมีความหมายต่อการตัดสินใจของผู้มีอำนาจอนุมัติหรืออนุญาตได้
            โดยสรุป กสม. เห็นว่า กระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด
นาบอน 1 และนาบอน 2 ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าวตั้งแต่เริ่มต้น โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน ปรากฏเฉพาะในขั้นตอนการจัดทำรายงาน EIA ของโครงการ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่ทั้งสองโครงการได้ตัดสินใจเลือกทำเลที่ตั้งเรียบร้อยแล้ว ความคิดเห็นของประชาชน ในการพิจารณาความเหมาะสมของพื้นที่จึงไม่มีผลต่อการพิจารณาตัดสินใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง อีกทั้ง ในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมยังไม่ครอบคลุมข้อห่วงกังวลของประชาชน จึงเห็นว่า การดำเนินนโยบายจัดหาไฟฟ้าและการพิจารณาความเหมาะสมของพื้นที่ดำเนินโครงการ รวมทั้งการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม มีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ด้วยเหตุนี้ กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2565 จึงเห็นควร มีข้อเสนอแนะ ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสรุปได้ดังนี้
            1) ข้อเสนอแนะในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน
                 ให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานทบทวนการเปลี่ยนแปลงที่ตั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดนาบอน 1 และนาบอน 2 เนื่องจากขัดต่อหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้า อีกทั้งปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการดำเนินกระบวนการจัดทำรายงาน EIA ในที่ตั้งใหม่ก่อนที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานจะอนุญาตให้เปลี่ยนแปลงที่ตั้งโครงการ นอกจากนี้ ให้กระทรวงพลังงาน และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เร่งรัดการแต่งตั้งคณะกรรมการกลางประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) เกี่ยวกับความเหมาะสมของพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดนาบอน 1 และนาบอน 2 โดยพิจารณาจากศักยภาพและความเหมาะสมของพื้นที่ เพื่อศึกษาเปรียบเทียบทางเลือกในการพัฒนารวมถึงข้อดีข้อเสีย ในแต่ละด้าน และให้หน่วยงานในระดับพื้นที่รวมถึงประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและวางแผนการศึกษาในทุกขั้นตอน
            2) ข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
                 2.1) ให้จังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบและติดตามการจัดหาน้ำของบริษัทจัดหาน้ำหรือเอกชนรายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาน้ำใช้ให้กับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดนาบอน 1 และนาบอน 2 หากการดำเนินการอาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและชุมชน ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบ
                 2.2) ให้กระทรวงพลังงานจัดให้มีการประเมินศักยภาพพื้นที่ที่มีความเหมาะสมและจัดทำแผนแม่บทกำหนดพื้นที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล (zoning) โดยให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการกำหนดกรอบการพัฒนาพื้นที่ตั้งแต่เริ่มต้น และให้คำนึงถึงประเภทและปริมาณเชื้อเพลิงในแต่ละท้องถิ่น ศักยภาพพื้นที่ในการรองรับผลกระทบ (carrying capacity) การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) และเจตจำนงของชุมชนท้องถิ่นในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย
                 2.3) ให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานกำหนดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและ
ทำความเข้าใจกับประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่มีกำลังผลิตตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ขึ้นไป ที่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยอาจศึกษาเปรียบเทียบกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ที่แยกระหว่างกระบวนการมีส่วนร่วมในการขอใบอนุญาตประทานบัตรกับการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เนื่องจากทั้งสองกระบวนการมีเจตนารมณ์ ในการดำเนินการและผลที่เชื่อมโยงต่อการพิจารณาตัดสินใจของผู้มีอำนาจอนุมัติอนุญาตแตกต่างกัน และนำหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติไปปรับใช้ในการพิจารณาอนุญาตด้วย  
               2.4) ให้บริษัทเจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าสะอาดนาบอน 1 และนาบอน 2 พัฒนาแผนยุทธศาสตร์หรือนโยบายในการดำเนินธุรกิจที่เคารพต่อสิทธิมนุษยชน โดยจัดให้มีระบบการตรวจสอบและประเมิน ด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านในการดำเนินธุรกิจที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมเพื่อให้ครอบคลุมห่วงโซ่อุปทานในระบบธุรกิจ
                 2.5) ให้คณะกรรมการสาธารณสุขเสนอให้มีการปรับปรุงประเภทกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยให้กิจการประเภทโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน เป็นกิจการที่ต้องรับฟังความคิดเห็น ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมด้วย
            3. เผยมหาวิทยาลัยที่ห้ามนักศึกษามุสลิมแต่งกายตามหลักศาสนาในการฝึกงาน ยอมแก้ระเบียบตามที่ กสม. เสนอแนะแล้ว

29-3-01.jpg
            นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยผลการติดตามการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ กสม. อันเป็นเรื่องสืบเนื่องจากกรณีที่มีผู้ร้องซึ่งนับถือศาสนาอิสลามและเป็นนักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ สาขาวิชาการพยาบาล มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง ได้ร้องเรียนต่อ กสม. เมื่อปี 2564 ว่า ในการศึกษาตามหลักสูตร มหาวิทยาลัยกำหนดให้ต้องลงพื้นที่ฝึกงานในโรงพยาบาลและชุมชน แต่ต้องแต่งกายตามข้อกำหนดของมหาวิทยาลัยที่กำหนดให้แต่งกายด้วยเครื่องแบบแขนสั้นและห้ามมิให้นักศึกษาที่นับถือศาสนาอิสลามแต่งกายด้วยชุดฮิญาบ ซึ่งผู้ร้องเห็นว่าข้อกำหนดดังกล่าวมีลักษณะเป็นการจำกัดเสรีภาพในการปฏิบัติตามหลักศาสนา โดย กสม. ได้พิจารณาตรวจสอบเรื่องดังกล่าวและมีมติเมื่อเดือน พฤศจิกายน 2564 ว่า การที่มหาวิทยาลัยดังกล่าวไม่อนุญาตให้นักศึกษาที่นับถือศาสนาอิสลามแต่งกายตามหลักศาสนา ถือเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และมีข้อเสนอแนะไปยังมหาวิทยาลัย โดยให้กำหนดระเบียบหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการแต่งกายของคณะพยาบาลศาสตร์ สาขาวิชาการพยาบาลให้สามารถแต่งกายตามหลักศาสนาได้ในขณะลงพื้นที่ฝึกงานในชุมชนและโรงพยาบาล โดยอาจกำหนดลักษณะเฉพาะเพิ่มเติมเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งตามหลักที่ศาสนากำหนด นอกจากนี้ ให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กำหนดระเบียบหลักเกณฑ์กลางเกี่ยวกับข้อบังคับในการแต่งกายของนักศึกษาตามหลักศาสนาในคณะต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องมีการฝึกงาน นอกสถานที่ และแจ้งเวียนไปยังมหาวิทยาลัยที่อยู่ในกำกับดูแลให้ยึดถือปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด พร้อมกำชับให้มหาวิทยาลัยที่อยู่ในสังกัดทุกแห่งเปิดเผยข้อมูลระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับนักศึกษา เพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสศึกษาระเบียบและข้อบังคับต่าง ๆ ก่อนเข้าศึกษาในสถานศึกษาด้วย
            ในการประชุมคณะทำงานติดตามการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามมาตรการหรือข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2565 ที่ประชุมได้รับทราบและพิจารณาผลการติดตามการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะดังกล่าว สรุปว่า
              (1) มหาวิทยาลัยดังกล่าวได้มีมติอนุมัติการปรับปรุงข้อกำหนดมหาวิทยาลัย หมวดเครื่องแบบนิสิตหรือการแต่งกายในคราวประชุมเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2565 เพื่อให้เป็นหลักเกณฑ์สำหรับทุกคณะวิชาในเรื่องเครื่องแบบนิสิตหรือเครื่องแต่งกายนิสิต โดยได้มีการเพิ่มเติมข้อกำหนดว่า "กรณีนิสิตที่นับถือศาสนาอิสลาม นิสิตสามารถสวมเครื่องแบบนิสิตตามหลักศาสนาได้ อนึ่ง กรณีการขึ้นฝึกภาคปฏิบัติ/ภาคสนาม ให้นิสิตสวมเครื่องแบบนิสิต โดยสวมผ้าคลุมศีรษะสีขาวและสีอื่นได้ตามหลักศาสนา แต่ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงหลักการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค และความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสำคัญ"
            (2) สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้แจ้งให้มหาวิทยาลัยทราบผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ กสม. และได้ขอให้มหาวิทยาลัยดำเนินการเกี่ยวกับการออกระเบียบและข้อบังคับการแต่งกายของนักศึกษาที่นับถือศาสนาอิสลามให้เป็นไปตามหลักศาสนาและไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้ว นอกจากนี้ ยังได้มีหนังสือขอความร่วมมือไปยังสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดหรือในกำกับของรัฐ และสถาบันอุดมศึกษาเอกชนทุกแห่งที่อยู่ในสังกัดของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ให้เปิดเผยข้อมูลระเบียบและข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับนักศึกษาเพื่อให้นักศึกษามีโอกาสได้ศึกษาระเบียบ/ข้อบังคับต่าง ๆ ก่อนเข้าศึกษาด้วย
            จากผลการดำเนินการข้างต้น คณะทำงานฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ กสม. แล้วทั้งหมด จึงเห็นควรยุติการติดตาม ส่วนการดำเนินการของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ เห็นว่า กระทรวงควรกำหนดระเบียบอันเป็นหลักเกณฑ์กลางเกี่ยวกับข้อบังคับในการแต่งกายของนักศึกษาตามหลักศาสนา และแจ้งเวียนไปยังมหาวิทยาลัยที่อยู่ในกำกับดูแลให้ยึดถือปฏิบัติตาม โดยเคร่งครัดด้วย       
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
29 ธันวาคม 2565
29-12-65-แถลงข่าว-46-2565.pdf

29/12/2565

© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5376297
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
928
คน