Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ผลการดำเนินงาน View : 121
กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 38/2565 กสม. แนะราชทัณฑ์แก้ระเบียบ ห้ามเปิดอ่านจดหมายร้องทุกข์ของผู้ต้องขังที่ส่งไปยังหน่วยงานภายนอก เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยและความเสี่ยงจากการถูกข่มขู่คุกคาม - มีมติทบทวนรายงานผลการตรวจสอบใหม่ กรณีพนักงานรายวัน ขสมก. ยังไม่ได้รับส่วนแบ่งค่าโดยสารจากการเก็บเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ตามสิทธิที่พึงได้
วันที่ 27 ตุลาคม 2565 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายชนินทร์ เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 38/2565 โดยมีวาระสำคัญดังนี้
1. กสม. แนะราชทัณฑ์แก้ไขระเบียบห้ามเจ้าหน้าที่เรือนจำเปิดอ่านจดหมายร้องทุกข์ของผู้ต้องขังที่ส่งไปยังหน่วยงานอื่น เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยและความเสี่ยงจากการถูกข่มขู่คุกคาม
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนธันวาคม 2564 จากผู้ต้องขังในเรือนจำกลางบางขวางซึ่งมีความประสงค์ขอความช่วยเหลือและความคุ้มครองทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิในการร้องทุกข์ สืบเนื่องจากผู้ต้องขังรายดังกล่าวเห็นว่าในการร้องทุกข์ที่เป็นเรื่องลับ เจ้าหน้าที่เรือนจำจะตรวจจดหมายก่อนปิดผนึกลับ ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวทำให้เจ้าหน้าที่สามารถมองเห็นข้อความในจดหมายของผู้ต้องขังได้ และอาจส่งผลให้ผู้ต้องขังไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ปลอดภัยในกรณีที่การส่งจดหมายนั้นเป็นจดหมายร้องเรียนหรือร้องทุกข์ต่อหน่วยงานภายนอกเกี่ยวกับกรณีพิพาทระหว่างผู้ต้องขังกับเจ้าหน้าที่เรือนจำ จึงขอให้ตรวจสอบและพิจารณาว่าในกรณีที่ผู้ต้องขังร้องทุกข์ต่อหน่วยงานภายนอกจะสามารถปิดผนึกลับได้หรือไม่
กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริง หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ได้ให้การรับรองและคุ้มครองสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลและการไม่ถูกแทรกแซงความเป็นส่วนตัวโดยพลการหรือโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เสรีภาพในการติดต่อสื่อสาร และสิทธิในการเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ต่อหน่วยงานของรัฐ ขณะที่ข้อกำหนดขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (The United Nations Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners: The Nelson Mandela Rules) ได้กำหนดให้ผู้ต้องขังมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลหรือหน่วยงานอื่นใดที่มีอำนาจหน้าที่โดยจะต้องมีหลักประกันเพื่อคุ้มครองให้ผู้ต้องขัง
สามารถยื่นคำร้องขอหรือร้องทุกข์ได้อย่างปลอดภัย และกรณีที่ผู้ต้องขังต้องการให้กระทำอย่างเป็นความลับ ผู้ต้องขังต้องไม่ตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกตอบโต้ ข่มขู่ หรือได้รับผลกระทบด้านลบอันเนื่องมาจากการยื่นคำร้องทุกข์นั้นจ
ากการตรวจสอบ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 และระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการตรวจสอบจดหมาย เอกสาร พัสดุภัณฑ์ หรือสิ่งสื่อสารอื่น หรือสกัดกั้นการติดต่อสื่อสารทางโทรคมนาคมหรือโดยทางใด ๆ ซึ่งมีถึงหรือจากผู้ต้องขัง พ.ศ. 2561 ได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่เรือนจำสามารถตรวจสอบข้อความในจดหมาย และมีอำนาจในการระงับ ยับยั้งการส่งจดหมายของผู้ต้องขังได้ โดยมีเหตุผลความจำเป็นเพื่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยของเรือนจำ หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และเพื่อป้องกันเหตุร้ายจากการสื่อสารที่นำไปสู่การกระทำผิดทางอาญา จนเป็นที่มาของการแก้ไขกฎกระทรวงให้ตรวจสอบเนื้อหาในจดหมายหรือสิ่งสื่อสารอื่นที่มีถึงหรือจากผู้ต้องขังให้ไม่สามารถทำเป็นเรื่อง “ลับ” ได้ การที่เรือนจำตรวจสอบจดหมายหรือคำร้องทุกข์ของผู้ร้อง จึงเป็นการจำกัดเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารของผู้ร้องไปตามที่กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้
อย่างไรก็ดี กสม. เห็นว่า แม้การดำเนินการของเรือนจำกลางบางขวาง และกรมราชทัณฑ์ ในฐานะผู้ถูกร้อง จะมิได้เป็นการจำกัดเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารของผู้ต้องขังอย่างสิ้นเชิง โดยผู้ต้องขังยังสามารถติดต่อครอบครัวหรือหน่วยงานภายนอกได้หากเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของระเบียบข้างต้น แต่เมื่อคำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องขังในฐานะพลเมือง รวมทั้งมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับประกันความปลอดภัยว่า ผู้ต้องขังจะไม่ตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบด้านลบอันเกิดจากการยื่นคำร้องทุกข์ การตรวจสอบเนื้อหาในจดหมายหรือสิ่งสื่อสารอื่น หากเป็นกรณีการสื่อสารระหว่างผู้ต้องขังกับหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ ดังเช่นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ผู้ต้องขังควรที่จะได้รับการประกันเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารมากกว่ากรณีการติดต่อกับบุคคลทั่วไป โดยเรือนจำและกรมราชทัณฑ์ควรดำเนินมาตรการให้แตกต่างไปตามวัตถุประสงค์ของการติดต่อสื่อสารนั้นด้วย ดังนั้น การที่หน่วยงานผู้ถูกร้องทั้งสองกำหนดให้อำนาจเจ้าหน้าที่เรือนจำตรวจดูจดหมายหรือคำร้องทุกข์ของผู้ร้องที่จะส่งไปยังหน่วยงานภายนอก อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้ต้องขัง และไม่เป็นไปตามหลักการที่กำหนดไว้ในมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง จึงถือเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
เพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2565 จึงมีข้อเสนอแนะมาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปยังกรมราชทัณฑ์ โดยให้พิจารณาทบทวนและแก้ไขกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการร้องทุกข์ของผู้ต้องขัง หากเป็นกรณีการสื่อสารระหว่างผู้ต้องขังกับหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ ดังเช่นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ให้ผู้ต้องขังสามารถปิดผนึก “ลับ” จดหมายหรือคำร้องทุกข์ได้ และเจ้าหน้าที่จะต้องงดเว้นการตรวจสอบเนื้อหาของเอกสารดังกล่าว นอกจากนี้ ให้กรมราชทัณฑ์กำหนดแนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เรือนจำเกี่ยวกับการตรวจสอบจดหมายหรือคำร้องทุกข์ของผู้ต้องขังในกรณีที่เป็นการร้องเรียนเจ้าหน้าที่เรือนจำที่มีข้อพิพาทกับผู้ต้องขัง โดยให้ผู้ต้องขังสามารถปิดผนึก “ลับ” จดหมายหรือคำร้องทุกข์ส่งถึงเจ้าหน้าที่เรือนจำที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ต้องขังโดยตรงได้ ทั้งนี้ให้ดำเนินการ ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งรายงานฉบับนี้
2. กสม. มีมติทบทวนรายงานผลการตรวจสอบใหม่ กรณีพนักงานรายวัน ขสมก. ยังไม่ได้รับส่วนแบ่งค่าโดยสารจากการเก็บเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ตามสิทธิที่พึงได้
นายชนินทร์ เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับการร้องขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนเรื่องสิทธิแรงงานกรณีพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ประเภทพนักงานประจำรายวัน ได้รับส่วนแบ่งค่าโดยสารจากตั๋วกระดาษรายวันลดลงตั้งแต่มีการนำเครื่องจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติหรือเครื่องอีดีซี (Electronic Data Capture: EDC) มาใช้แทนเงินสด โดยเห็นว่าเป็นการลิดรอนสิทธิประโยชน์และเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ซึ่ง กสม. ได้ตรวจสอบ และมีมติให้ยุติเรื่องไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2564 ตามรายงานผลการตรวจสอบที่ 115/2564 เนื่องจากเห็นว่า การที่ ขสมก. นำระบบ EDC มาใช้ เป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้โดยสารในการจ่ายเงิน มิใช่การเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง โดย ขสมก. ยังคงจ่ายเงินส่วนแบ่งจากการจำหน่ายบัตรอิเล็กทรอนิกส์ให้กับพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสารในอัตราเดิม อีกทั้งได้มีคำสั่งให้จ่ายเงินส่วนแบ่งรายได้ย้อนหลังไปถึงวันที่มีการติดตั้งระบบ EDC ถือว่าได้มีการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสมแล้ว
อย่างไรก็ตาม เมื่อ กสม. ได้แจ้งรายงานผลการตรวจสอบให้ผู้ร้องทราบ ทางผู้ร้องได้ให้ข้อเท็จจริงมายัง กสม. ว่า ขสมก. ยังมิได้จ่ายส่วนแบ่งรายได้จากระบบ EDC ให้แก่พนักงานประจำรายวัน และคำสั่งที่ให้มีการจ่ายเงินส่วนแบ่งรายได้ย้อนหลังก็ไม่ได้ไปถึงวันที่มีการติดตั้งระบบ อีกทั้งเป็นกรณีการจ่ายค่าตอบแทนจากการจำหน่ายบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ผ่านตัวแทนที่ ขสมก. แต่งตั้งเท่านั้น ไม่ใช่ส่วนแบ่งให้พนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสารแต่อย่างใด ผู้ร้องจึงขอให้ กสม. พิจารณารายงานผลการตรวจสอบที่ 115/2564 อีกครั้ง
กสม. ได้มอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ปรากฏว่า เครื่อง EDC ไม่สามารถแสดงรายได้เป็นรายวันเพื่อมาคำนวณเงินส่วนแบ่งรายได้ให้กับพนักงานประจำรายวันได้ จึงทำให้พนักงานรายวันไม่ได้รับส่วนแบ่งรายได้ในกรณีที่ผู้โดยสารชำระค่าโดยสารด้วยบัตรอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะแตกต่างจากพนักงานประจำรายเดือนที่ไม่ประสบปัญหาในการคำนวณส่วนแบ่งรายได้ผ่านเครื่อง EDC ตามระบบเงินเดือน
จากข้อเท็จจริงดังที่กล่าวมาข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2565 พิจารณาแล้วเห็นว่า คำขอให้พิจารณาใหม่นี้ ถือเป็นการนำเสนอข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานใหม่ อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วตามรายงานผลการตรวจสอบที่ 115/2564 เปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ ดังนั้น จึงมีเหตุอันสมควรให้พิจารณารายงานผลการตรวจสอบใหม่ในประเด็นข้อเท็จจริงว่า ขสมก. ได้จ่ายเงินส่วนแบ่งรายได้จากบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่พนักงานประจำรายวันหรือไม่ ซึ่งจะมีผลต่อการพิจารณาทบทวนใหม่ว่า ขสมก. ได้กระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อพนักงานประจำรายวันของ ขสมก. ด้วยการลดสิทธิประโยชน์และเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง หรือไม่ ต่อไป
“กรณีนี้ ทราบจากผู้ร้องที่สองซึ่งเป็นพนักงานเก็บค่าโดยสารว่า ผู้ร้องที่หนึ่งซึ่งเป็นพนักงานขับรถได้เสียชีวิตไปแล้ว โดยก่อนเสียชีวิตก็ได้ฝากฝังให้ผู้ร้องที่สองต่อสู้เรื่องนี้อย่างถึงที่สุด เพื่อสิทธิประโยชน์ของเพื่อนพนักงานโดยรวม ซึ่ง กสม. ก็ได้มีมติพิจารณาเรื่องนี้ใหม่ เพื่อให้สิทธิแรงงานของพนักงานหน่วยงานรัฐแห่งนี้ได้รับการคุ้มครอง” รองเลขาธิการ กสม. กล่าว
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
27 ตุลาคม 2565
27-10-65-Press-release-แถลงข่าว-38-2565_.pdf

27/10/2565

© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5398203
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
436
คน