Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ผลการดำเนินงาน View : 72
กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 36/2565 กสม. แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกหลักเกณฑ์คุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพของนักศึกษาระหว่างการฝึกงาน - ประสานแก้ปัญหากรณีผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทยพื้นที่ จ.ระนองประสบปัญหาความล่าช้าในการขอคืนรายการทะเบียนราษฎร แนะเร่งสนับสนุนอัตรากำลังของเจ้าหน้าที่
วันที่ 6 ตุลาคม 2565 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และนางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 36/2565 โดยมีวาระสำคัญดังนี้
1. กสม. แนะคณะกรรมการการอาชีวศึกษา-กระทรวงการอุดมศึกษาฯ-กระทรวงแรงงาน ออกหลักเกณฑ์คุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพของนักศึกษาระหว่างการฝึกงาน
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ได้รับแจ้งเรื่องร้องเรียนจากเครือข่ายยุวพัฒนาสังคม (Social Fix) เมื่อเดือนมีนาคม 2565 ระบุว่า พบปัญหาการละเมิดสิทธิและสวัสดิภาพของนักเรียน นิสิต นักศึกษาระหว่างการฝึกงาน เช่น การล่วงละเมิดทางเพศ การเกิดอุบัติเหตุระหว่างการฝึกงาน การเจ็บป่วยจากการฝึกงาน และการให้ฝึกงานเกินกว่าเวลาที่กฎหมายแรงงานกำหนด โดยปัญหาดังกล่าวมีหลายหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง แต่กลับไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องคุ้มครองนักเรียน นิสิต นักศึกษาฝึกงานเป็นการเฉพาะ ประกอบกับการดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายตามกฎหมายทั่วไปใช้เวลานาน และไม่ครอบคลุมอุบัติเหตุหลายกรณีที่เกี่ยวข้องกับการฝึกงาน จึงขอให้ตรวจสอบ
กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีตามคำร้องเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาให้กับผู้เรียนซึ่งรวมถึงกลุ่มผู้เรียนที่เป็นเด็ก โดยที่กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ได้ให้การรับรองสิทธิของทุกคนในการศึกษาที่มุ่งให้เกิดการพัฒนาบุคลิกภาพของมนุษย์และความสำนึกในศักดิ์ศรีของตนอย่างบริบูรณ์ และจะต้องเพิ่มพูนการเคารพในสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน อย่างไรก็ตาม การดำเนินการเพื่อให้บุคคลได้เข้าถึงสิทธิในการศึกษาตลอดจนสิทธิในการได้รับคำแนะนำทางเทคนิควิชาชีพในเด็กจะต้องคำนึงถึงสิทธิของเด็กเป็นสำคัญโดยเฉพาะสิทธิที่จะได้มีเวลาพักผ่อน ได้มีเวลาในการเข้าร่วมกิจกรรมการละเล่นทางสันทนาการที่เหมาะสมตามวัย ดังที่ได้รับการรับรองไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ซึ่งรัฐมีหน้าที่ดำเนินการ กำกับ ส่งเสริม และสนับสนุนให้การจัดการศึกษาดังกล่าวมีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล
กสม. เห็นว่า แม้การฝึกงานซึ่งเป็นการพัฒนาทักษะของผู้เรียน จะไม่ใช่นิติสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างตามสัญญาการจ้างงานซึ่งอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายแรงงาน แต่สถานประกอบการยังคงมีหน้าที่จัดสภาพการทำงานให้มีความปลอดภัยเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของผู้ฝึกงานตามกฎหมาย ประกอบกับกรณีการฝึกงานในลักษณะการฝึกอบรมฝีมือแรงงานก็จะต้องจัดสวัสดิการให้กับผู้เข้ารับการฝึกให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงแรงงานเช่นกัน ขณะที่สถานศึกษาก็เป็นหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่ควบคุมและประสานงานกับสถานประกอบการในการคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพของนักศึกษา โดยเฉพาะกรณีการจัดให้มีสภาพการทำงานที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ สิทธิในการได้รับการพักผ่อน เวลาว่างและข้อจำกัดที่สมเหตุผลในเรื่องเวลาด้วย
จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า การจัดการฝึกงาน ฝึกอาชีพ และฝึกประสบการณ์วิชาชีพในสถานศึกษาในปัจจุบันพบว่าในระดับการอาชีวศึกษามีเพียงแนวปฏิบัติการดำเนินการฝึกงาน และมาตรฐานการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี เป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลให้การจัดการฝึกงาน หรือฝึกอาชีพในการเรียนการสอนระดับการอาชีวศึกษาเป็นไปตามมาตรฐานหลักสูตร โดยมีสาระเพียงบางส่วนที่ได้กำหนดถึงการให้ความคุ้มครองสวัสดิภาพของนักเรียน นักศึกษาในระหว่างการฝึกงานเท่านั้น เช่นเดียวกันกับกรณีการฝึกงาน หรือฝึกประสบการณ์วิชาชีพในระดับการอุดมศึกษาซึ่งแม้จะมีคู่มือการฝึกประสบการณ์วิชาชีพที่จัดทำโดยสถาบันการศึกษา แต่ก็มิได้กำหนดแนวทางการคุ้มครองสวัสดิภาพของผู้เรียนในระหว่างการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ หรือฝึกงานตามหลักสูตรสหกิจศึกษาเป็นการเฉพาะ
อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำหลักเกณฑ์การฝึกงานหลักสูตรการอาชีวศึกษา และการฝึกอบรมวิชาชีพในสถานประกอบการ พ.ศ. 2565 เพื่อกำหนดข้อปฏิบัติในการดูแลและคุ้มครองสวัสดิภาพของผู้เรียนในระหว่างการฝึกงานและฝึกอบรมวิชาชีพ โดยอยู่ระหว่างการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป ประกอบกับผู้ร้องได้ร้องเรียนเรื่องนี้ไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินให้พิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาด้วยแล้ว ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีมติให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดทำหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดมาตรฐานการส่งนักศึกษาที่เข้ารับการฝึกงานในสถานประกอบการเพื่อให้นักศึกษาได้รับการคุ้มครองในระหว่างการฝึกงาน และให้กระทรวงแรงงาน และกรมการพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นหน่วยงานสนับสนุนข้อมูลการดำเนินการของผู้ประกอบการให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดดังกล่าว กรณีดังกล่าวจึงถือว่ามีการดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสมแล้ว
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2565 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไปยังคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รวมทั้งกระทรวงแรงงาน เพื่อคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพของนักเรียน นิสิต นักศึกษาระหว่างการฝึกงาน สรุปได้ดังนี้
(1) ให้คณะกรรมการการอาชีวศึกษา เร่งดำเนินการให้มีการประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์การฝึกงานหลักสูตรการอาชีวศึกษา และการฝึกอบรมวิชาชีพ ในสถานประกอบการ พ.ศ. 2565 ตลอดทั้งควบคุมให้สถานศึกษาและสถาบันอาชีวศึกษาปฏิบัติตามประกาศดังกล่าว โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มผู้เรียนเด็ก ซึ่งมีอายุไม่เกิน 18 ปี
(2) ให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กำหนดมาตรการคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพของนิสิต นักศึกษาในระหว่างฝึกงานเป็นการเฉพาะ กำหนดช่องทางรับเรื่องร้องเรียน และมาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยานิสิต นักศึกษา ที่ได้รับผลกระทบจากการฝึกงานในสภาพการฝึกงานที่ไม่เหมาะสม หรือถูกละเมิดต่อสิทธิและสวัสดิภาพ โดยการดำเนินการกำหนดมาตรการดังกล่าวควรรับฟังความเห็นจากนิสิต นักศึกษา และผู้ที่มีประสบการณ์การฝึกงานด้วย
(3) ให้กระทรวงแรงงานกำชับให้กรมการจัดหางาน และกรมพัฒนาฝีมือแรงงานควบคุม กำกับการดำเนินการของสถานประกอบการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในการฝึกงานที่ได้มีการปรับปรุงตามหนังสือกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ที่ รง 0502/ว6417 ลงวันที่ 17 ตุลาคม 2562
2. กสม. ประสานสำนักทะเบียนอำเภอเมืองระนอง กรณีผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทยประสบปัญหาความล่าช้าในการขอคืนรายการทะเบียนราษฎร แนะกรมการปกครองเร่งสนับสนุนอัตรากำลังการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
นางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทยรายหนึ่ง ระบุว่า ตนและน้องสาวเป็นผู้มีรายการทะเบียนประวัติบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน เมื่อปี 2557 ได้ทราบว่ารายชื่อของตนและน้องสาวถูกสำนักทะเบียนอำเภอเมืองระนอง (ผู้ถูกร้อง) จำหน่ายออกจากรายการทะเบียนราษฎรเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2554 จึงติดต่อไปยังสำนักทะเบียนฯ เพื่อขอคืนรายการทะเบียนราษฎร ซึ่งสำนักทะเบียนฯ ได้ให้ผู้ร้องและน้องสาวยื่นคำขอคืนรายการทะเบียนราษฎร โดยได้รับลำดับที่ 405 และ 406 แต่เมื่อผู้ร้องติดตามทวงถามผลการดำเนินการดังกล่าว กลับได้รับแจ้งว่ายังไม่ถึงลำดับของผู้ร้องและน้องสาว ซึ่งเห็นว่าเป็นการดำเนินการที่ล่าช้ามาถึง 8 ปี จึงขอความช่วยเหลือ
กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงเบื้องต้นแล้วเห็นว่า เรื่องดังกล่าวเป็นกรณีเกี่ยวกับสิทธิและสถานะบุคคล ซึ่งได้รับการรับรองและคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) แต่เนื่องจากเห็นว่าการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าวสามารถดำเนินการอย่างรวดเร็วได้ด้วยการประสานงานกับหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้อง เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 จึงได้ส่งเรื่องไปยังสำนักทะเบียนอำเภอเมืองระนอง ผู้ถูกร้อง เพื่อขอทราบผลการดำเนินงาน
ต่อมา ในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม - กันยายน 2565 สำนักงาน กสม. ได้รับแจ้งผลการดำเนินงานและอุปสรรคที่เกี่ยวข้องจากสำนักทะเบียนอำเภอเมืองระนอง สรุปได้ว่า สำนักทะเบียนฯ อยู่ระหว่างเร่งรัดการดำเนินการขอคืนรายการทะเบียนราษฎรเพื่อให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งจะต้องมีการสอบสวนข้อเท็จจริงด้านคุณสมบัติของผู้ขอคืนรายการ ตลอดจนต้องเรียกพยานบุคคลที่น่าเชื่อถือมาสอบถามอย่างครบถ้วนและรอบคอบ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบและหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ดี เมื่อปี 2554 มีผู้ถูกจำหน่ายรายการทะเบียนราษฎรจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงผู้ร้องและน้องสาวได้มาลงทะเบียนยื่นขอคืนรายการทะเบียนราษฎรไว้แล้ว แต่เนื่องจากจังหวัดระนองมีกลุ่มเป้าหมายหรือผู้แจ้งความประสงค์ขอคืนรายการทะเบียนราษฎรจำนวนมาก ประกอบกับอัตรากำลังของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานไม่เพียงพอกับปริมาณคำขอ ทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินการ โดยปัจจุบันสามารถดำเนินการถึงลำดับที่ 200 โดยประมาณ ซึ่งสำนักทะเบียนฯ ได้มีหนังสือแจ้งข้อเท็จจริงกรณีขอให้เร่งรัดการขอคืนรายการทะเบียนราษฎรดังกล่าวให้ผู้ร้องทราบแล้ว
กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2565 ได้พิจารณาข้อเท็จจริงและการดำเนินงานข้างต้นแล้วเห็นว่า สำนักทะเบียนอำเภอเมืองระนองได้ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ ด้วยการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีขอให้เร่งรัดการขอคืนรายการทะเบียนราษฎรให้แก่ผู้ร้องและน้องสาวของผู้ร้อง อันเป็นการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ร้องตามสมควรแก่กรณีแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อติดขัดที่ทำให้ล่าช้าและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 16 ได้ให้การรับรองและคุ้มครองสิทธิและสถานะบุคคลว่า บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลตามกฎหมายในทุกแห่งหน ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมการเคารพและปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน จึงเห็นควรแจ้งไปยังสำนักทะเบียนอำเภอเมืองระนอง ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจ เพื่อให้มีหนังสือแจ้งความคืบหน้าการดำเนินการขอคืนรายการทะเบียนราษฎรให้ผู้ร้องทราบ พร้อมทั้งแจ้งไปยังกรมการปกครองเพื่อเร่งรัดและสนับสนุนการปฏิบัติงานของสำนักทะเบียนอำเภอเมืองระนองต่อไปด้วย
“เมื่อเดือนตุลาคม 2562 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบคำมั่นของไทยสำหรับการประชุมระดับสูงว่าด้วยความไร้รัฐ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ซึ่งถ้อยแถลงส่วนหนึ่งระบุถึงการพัฒนาประสิทธิภาพของระบบที่จะอำนวยความสะดวกให้คนไร้รัฐไร้สัญชาติเข้าถึงบริการของสำนักทะเบียนได้สะดวกยิ่งขึ้น รวมทั้งปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการพิจารณาสัญชาติและสิทธิความเป็นพลเมืองเพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่ยังเข้าไม่ถึงกระบวนการพิจารณาสถานะ ให้สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมและเสมอภาค กสม. จึงขอเน้นย้ำคำมั่นดังกล่าวที่สมควรจะต้องผลักดันไปสู่การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง คือการสนับสนุนและขจัดอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อให้คนไร้รัฐไร้สัญชาติทุกกลุ่มได้มีสถานะบุคคลตามกฎหมายอันเป็นการประกันการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานและรัฐสวัสดิการที่พลเมืองทุกคนสมควรได้รับ” กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าว
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
6 ตุลาคม 2565
05-10-65-Press-release-แถลงข่าว-36-2565_.pdf

06/10/2565

© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5376297
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
928
คน