Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ผลการดำเนินงาน View : 120
กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 35/2565 กสม. แนะบีทีเอสเพิ่มห้องน้ำสาธารณะในสถานีรถไฟฟ้าและติดตั้งประตูกั้นชานชาลา คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค - จัดทำข้อเสนอแนะคุ้มครองสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของบุคคลหลากหลายทางเพศ แนะสถานีตำรวจ-ราชทัณฑ์ แยกพื้นที่ควบคุมตัว - ขานรับยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เพื่อควบคุมโควิด 19 ชงยุติการดำเนินคดีผู้ฝ่าฝืน
วันที่ 29 กันยายน 2565 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายภาณุวัฒน์ ทองสุข ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 35/2565 โดยมีวาระสำคัญดังนี้
1. กสม. แนะบีทีเอสเพิ่มจำนวนห้องน้ำสาธารณะภายในสถานีรถไฟฟ้าและเพิ่มการติดตั้งประตูกั้นชานชาลา เพื่ออำนวยความสะดวกและคุ้มครองสิทธิความปลอดภัยผู้ใช้บริการ
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับแจ้งเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ระบุว่า ระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้าบีทีเอสของบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (ผู้ถูกร้อง) ไม่มีความปลอดภัย เนื่องจากบางสถานีไม่มีประตูกั้นชานชาลา และเห็นว่ายังขาดสิ่งอำนวยความสะดวก โดยเฉพาะห้องน้ำภายในสถานีที่มีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนผู้ใช้บริการ และไม่ถูกสุขลักษณะ จึงขอให้ตรวจสอบ
กสม. ได้พิจารณาคำร้อง บทบัญญัติของกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชนและคำสั่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า เรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องกับสิทธิของผู้บริโภค ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 56 บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องจัดหรือดำเนินการให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึงตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน ต้องดูแลมิให้มีการเรียกเก็บค่าบริการจนเป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร นอกจากนี้ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 4 ได้บัญญัติคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ สิทธิของผู้บริโภคที่ได้รับการรับรองไว้ข้างต้น ย่อมมีผลผูกพันให้รัฐรวมถึงหน่วยงานที่มีหน้าที่จัดบริการสาธารณะจะต้องบังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้การคุ้มครองสิทธิเช่นว่านั้น
จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ถูกร้องได้จัดให้มีห้องน้ำเพื่อให้บริการแก่ผู้โดยสารที่เข้ามาใช้บริการครบทั้ง 60 สถานี โดยผู้ใช้บริการสามารถแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ประจำสถานีเพื่อขอใช้บริการได้ และมีเจ้าหน้าที่ทำความสะอาดเป็นประจำ สำหรับประเด็นการติดตั้งประตูกั้นชานชาลา แม้ผู้ถูกร้องจะติดตั้งประตูกั้นชานชาลาไว้จำนวน 11 สถานี จากจำนวนสถานีทั้งหมด 60 สถานี คิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 18 ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของจำนวนผู้โดยสารแต่ละสถานี แต่ผู้ถูกร้องได้ดำเนินการเพื่อรักษาความปลอดภัยบริเวณสถานีรถไฟฟ้าภายใต้คำแนะนำของบริษัทภายนอกและมีมาตรการลักษณะเดียวกันทุกสถานี ไม่ว่าสถานีนั้นจะมีประตูกั้นชานชาลาหรือไม่ ทั้งยังติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยอื่น ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกและป้องกันอันตรายให้แก่ผู้ใช้บริการ จึงเห็นว่า ผู้ถูกร้องได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้การคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสในฐานะผู้บริโภคตามสมควรแก่กรณีแล้ว จึงไม่ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามที่ผู้ร้องได้ร้องเรียน
อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า ห้องน้ำบริเวณพื้นที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสจำนวนมากเน้นให้บริการพนักงานบริษัทฯ และส่วนใหญ่ไม่มีป้ายแสดงให้ผู้ใช้บริการรับทราบว่ามีห้องน้ำให้บริการอยู่บริเวณใดของสถานี หรือหากต้องการใช้ห้องน้ำจะสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ได้อย่างไร รวมถึงการมีประตูกั้นชานชาลาเพียง 11 สถานี จาก 60 สถานี อาจทำให้ผู้ใช้บริการไม่ได้รับความสะดวกที่เพียงพอและอาจเกิดอันตรายที่ไม่คาดคิดได้ กสม. จึงเห็นควรให้มีข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ถูกร้อง และกรุงเทพมหานคร สรุปได้ดังนี้
ให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ ปรับปรุงและเพิ่มห้องน้ำสาธารณะที่สามารถรองรับการใช้งานของประชาชนผู้ใช้บริการได้อย่างเหมาะสมและเพียงพอต่อความต้องการใช้งานของทุกคนที่มิใช่เพียงพนักงานของบริษัทฯ และประชาสัมพันธ์แก่ผู้ใช้บริการได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งที่ตั้งและการใช้บริการห้องสุขาภายในสถานีรถไฟฟ้าแต่ละแห่ง ทั้งนี้ให้กรุงเทพมหานคร กำกับดูแลการก่อสร้างห้องน้ำสาธารณะให้เพียงพอแก่การอำนวยความสะดวกให้ประชาชนผู้ใช้บริการระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้าบีทีเอสด้วย นอกจากนี้ ให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ ติดตั้งประตูกั้นชานชาลาเพิ่มเติมในสถานีรถไฟฟ้า ที่มีข้อมูลแสดงให้เห็นว่ามีจำนวนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสในสถานีดังกล่าวมากขึ้นในระดับที่เทียบเคียงกับสถานีที่มีการติดตั้งประตูกั้นชานชาลาอยู่แล้ว
2. กสม. เสนอคุ้มครองสิทธิในกระบวนยุติธรรมชั้นสอบสวนของบุคคลหลากหลายทางเพศ แนะสถานีตำรวจ-ราชทัณฑ์ แยกพื้นที่ควบคุมตัว สนับสนุนให้มีกฎหมายกลางว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติ และกฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ
นายภาณุวัฒน์ ทองสุข ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจำนวน 33 เรื่อง กล่าวอ้างว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมด้วยเหตุแห่งเพศและการปฏิบัติอันไม่เป็นธรรมต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในชั้นการสืบสวนสอบสวนจากผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศซึ่งมีความประสงค์ขอให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงปฏิบัติหน้าที่ที่มีความละเอียดอ่อนต่อกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในขั้นตอนต่าง ๆ เช่น การจับกุม การตรวจค้นตัว การตรวจปัสสาวะ และขอให้จัดพื้นที่ให้บริการโดยเฉพาะสำหรับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ประกอบกับมีกรณีร้องเรียนว่าเรือนจำไม่จัดให้มีห้องขังผู้ต้องขังสำหรับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยปรากฏข้อมูลระหว่างปี 2563 - 2565 มีสถิติเรื่องร้องเรียนที่กล่าวอ้างว่ามีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมด้วยเหตุแห่งเพศคิดเป็นร้อยละ 20 ของจำนวนเรื่องร้องเรียนทั้งหมด
กสม. จึงได้รวบรวมสภาพปัญหาและข้อเท็จจริงจากเรื่องร้องเรียน ศึกษาบทบัญญัติแห่งกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน งานวิจัย ความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตัวอย่างการปฏิบัติในต่างประเทศ คำวินิจฉัย คำพิพากษา แล้วเห็นว่า แม้ว่าสังคมไทยจะมีการเปิดกว้างและยอมรับการมีอยู่ของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น แต่ประเทศไทยยังมิได้มีการบัญญัติกฎหมายเพื่อการรับรองและคุ้มครองสิทธิแก่บุคคลดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม ยังมิได้ให้การรับรองสถานะทางกฎหมายของบุคคลข้ามเพศให้สามารถเปลี่ยนแปลงตามเพศสภาพของตนเองได้ และยังมิได้มีการแก้ไขบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการค้นตัวผู้ต้องหา การตรวจตัวผู้ต้องหาหรือผู้เสียหาย รวมทั้งการถามปากคำผู้เสียหายในความผิดเกี่ยวกับเพศให้คุ้มครองสิทธิครอบคลุมไปถึงบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ทำให้บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศยังคงได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน กสม. จึงเห็นว่าสิ่งสำคัญอย่างยิ่งเหนือสิ่งอื่นใด คือ การสร้างความตระหนักรู้และการสร้างความเข้าใจให้แก่เจ้าพนักงานตามกฎหมายซึ่งเป็นต้นทางแห่งความยุติธรรมให้ได้รับรู้และเข้าใจถึงแนวทางการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ปฏิบัติหน้าที่บนหลักของความเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติและไม่มีทัศนคติเกลียดชังต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ อันจะนำไปสู่ความก้าวหน้าในการแก้ไขบทบัญญัติในการคุ้มครองสิทธิความเท่าเทียมทางเพศที่เหมาะสมต่อไปในอนาคต
ด้วยเหตุผลดังกล่าว กสม. จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมราชทัณฑ์ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิในชั้นสอบสวนของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ สรุปได้ดังนี้
1) ข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
การควบคุมตัวที่สถานีตำรวจ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดแนวทางปฏิบัติให้สถานีตำรวจทุกแห่งจัดสรรสถานที่ให้เหมาะสม โดยคำนึงถึงความมิดชิดเป็นส่วนตัวสำหรับบุคคลทุกเพศ รวมถึงบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยให้ผู้กำกับการสถานีตำรวจแต่ละแห่ง ใช้อำนาจสั่งการให้มีการจำแนกห้องควบคุมเป็นการเฉพาะคราวได้เพื่อควบคุมตัวบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เช่นเดียวกับกรณีมีการจับกุมผู้ต้องหาที่เป็นเยาวชน และในการค้นตัว ให้กำหนดแนวทางปฏิบัติให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเพศเดียวกันค้นตัวผู้เสียหายหรือผู้ต้องหา สำหรับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบถามก่อนด้วยความสุภาพ โดยคำนึงถึงลักษณะรูปพรรณสัณฐานของผู้ต้องหา การเปลี่ยนแปลงของเพศสรีระ และจัดเจ้าหน้าที่ซึ่งผู้ต้องหาหรือผู้เสียหายแจ้งความจำนงเป็นผู้ตรวจค้น
การควบคุมตัวในชั้นราชทัณฑ์ ให้กรมราชทัณฑ์จำแนกประเภทและแยกการคุมขังผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นการเฉพาะต่างหาก โดยกำหนดแนวทางปฏิบัติเพิ่มเติมสำหรับผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อให้เรือนจำทั่วประเทศปฏิบัติให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน
นอกจากนี้ ให้กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ส่งเสริมเผยแพร่ความรู้เพื่อให้เกิดการเคารพสิทธิมนุษยชนต่อกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ และเสริมสร้างการอยู่ร่วมกันภายใต้ความแตกต่างหลากหลายได้อย่างสันติไปยังทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการจัดการอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ให้กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ (คณะกรรมการ สทพ.) และคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (คณะกรรมการ วลพ.) จัดทำคู่มือคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพว่าด้วยการปฏิบัติที่เหมาะสมต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในกระบวนการยุติธรรมในชั้นสอบสวน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานที่เหมาะสมต่อไป
2) ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่ง
ให้กระทรวงยุติธรรม เร่งผลักดันให้มีกฎหมายกลางว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติ เพื่อเป็นกฎหมายกลางในการส่งเสริมความเท่าเทียมและขจัดการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบ รวมทั้งสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ การแสดงออกทางเพศสภาพและคุณลักษณะทางเพศ พ.ศ. .... เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งความแตกต่างทางเพศด้วย นอกจากนี้ ให้กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ให้สามารถส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศในเชิงรุกมากขึ้น เช่น ควรแก้ไขให้อำนาจคณะกรรมการ วลพ. สามารถหยิบยกปัญหาขึ้นวินิจฉัยเองได้ เป็นต้น เพื่อให้บรรลุเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมาย
3. กสม. ขานรับยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เพื่อควบคุมโควิด 19 ชงยุติการดำเนินคดีผู้ฝ่าฝืน
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2565 ได้มีมติเห็นชอบยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563 และการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 19) ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 รวมทั้งบรรดาข้อกำหนด ประกาศและคำสั่ง ที่นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีใช้อำนาจแห่งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งหมดโดยให้มีผลในวันที่ 30 กันยายน 2565 เป็นต้นไป นั้น
กสม. เห็นด้วยและขอขอบคุณ ศบค. ที่มีมติดังกล่าวข้างต้น เนื่องจากเห็นว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 คลี่คลายไปมากแล้ว และที่ผ่านมา ในหลายกรณี การดำเนินการตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯและข้อกำหนดที่ออกตามประกาศดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนและประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่ง กสม. เคยมีข้อเสนอให้ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ รวมถึงข้อกำหนดฯ (ฉบับที่ 27) ข้อ 11 ด้วยแล้ว
กสม. เห็นว่า เมื่อมีการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ รวมถึงข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งต่าง ๆ แล้ว พนักงานสอบสวนควรยุติการดำเนินคดีกับประชาชนที่ออกมาใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ หรือคดีเกี่ยวเนื่องกับความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง สำหรับพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบคดีควรใช้ดุลพินิจในการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี หรือหากเห็นว่าสังคมโดยรวมจะไม่ได้รับประโยชน์หากมีการดำเนินคดีก็ควรเสนอความเห็นไปยังอัยการสูงสุดในการสั่งไม่ฟ้องหรือถอนฟ้องคดีอาญาดังกล่าว โดยคำนึงถึงความจำเป็นของการดำเนินคดี รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนเป็นสำคัญ
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
29 กันยายน 2565
V-7-Press-release-แถลงข่าว-35-2565_29-09-65.pdf

30/09/2565

© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
4901617
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
367
คน