Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ผลการดำเนินงาน View : 239
กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 33/2565 กสม. ตรวจสอบกรณีผู้สูงอายุร้องเรียนได้รับเบี้ยยังชีพไม่ครบถ้วน แนะแก้ไขระเบียบ มท. ป้องกันการเสียสิทธิ - เสนอแก้ไขกฎหมายกระบวนการชันสูตรพลิกศพ ให้ สธ. เป็นหน่วยงานกลางทำหน้าที่ตรวจพิสูจน์ เพื่อประกันความโปร่งใสในกระบวนการยุติธรรม - กสม. ขานรับแนวทางการจัดตั้งศาลแผนกคดีจราจรและ กม. จราจรฉบับใหม่เพื่อคุ้มครองสิทธิความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน
วันที่ 15 กันยายน 2565 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 33/2565 โดยมีวาระสำคัญดังนี้
 
1. กสม. ตรวจสอบกรณีผู้สูงอายุร้องเรียนได้รับเบี้ยยังชีพไม่ครบถ้วน แนะแก้ไขระเบียบ มท. – เร่งเชื่อมโยงฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรระหว่างส่วนราชการ ป้องกันปัญหาการเสียสิทธิ/สวมสิทธิ
 
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่งเมื่อเดือนมีนาคม 2565 ระบุว่า ผู้ร้องเป็นผู้สูงอายุ มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2553 โดยเมื่อปี 2553 ผู้ร้องได้ไปขึ้นทะเบียนและติดต่อขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อสำนักงานเขตบางพลัด แต่มาได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน 2555 จำนวน 1,200 บาท ซึ่งเป็นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเงินตกเบิกจำนวนหนึ่งเดือน โดยเดือนต่อไปได้รับเบี้ยยังชีพจำนวน 600 บาท ตามปกติ ต่อมาเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2563 ผู้ร้องอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ ซึ่งควรได้รับเบี้ยยังชีพในอัตราเดือนละ 700 บาท แต่ผู้ร้องยังคงได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในอัตราเดือนละ 600 บาทต่อเดือน จนกระทั่งเดือนตุลาคม 2563 ผู้ร้องถึงได้รับเบี้ยยังชีพเดือนละ 700 บาทจนถึงปัจจุบัน จึงร้องเรียนขอให้ตรวจสอบการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของผู้ร้อง และแก้ไขปัญหาดังกล่าวในเชิงระบบ
 
กสม. ได้พิจารณาและตรวจสอบข้อเท็จจริงจากทุกฝ่ายแล้วปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ร้องได้ลงทะเบียนและยื่นคำขอรับเบี้ยยังชีพต่อสำนักงานเขตบางพลัดเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2553 อันตรงกับปีงบประมาณ 2554 ด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ใช้บังคับอยู่ ณ ขณะนั้น ทำให้ผู้ร้องมีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุครั้งแรกในเดือนตุลาคม ของปีงบประมาณถัดไป คือตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2554 โดยสำนักงานเขตฯ ได้จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้แก่ผู้ร้องครั้งแรกในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2554 เป็นจำนวน 1,000 บาท อันเป็นการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของเดือนตุลาคมและเดือนพฤศจิกายน 2555 พร้อมกัน
 
ต่อมา ได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2554 เรื่อง กำหนดอัตราเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุใหม่จากเดิมเดือนละ 500 บาท เป็นอัตราขั้นบันไดตามช่วงอายุของผู้สูงอายุที่มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยเกณฑ์อายุของผู้ร้อง ได้ปรับเป็นเดือนละ 600 บาท ซึ่งสำนักงานเขตบางพลัดได้รับอนุมัติงบประมาณให้จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแก่ประชาชนในเขตพื้นที่เมื่อเดือนเมษายน 2555 และได้โอนเงินตกเบิกเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ค้างเดือนละ 100 บาท เป็นเวลาทั้งสิ้น 6 เดือน รวมเป็นเงิน 600 บาท ให้แก่ผู้ร้องในวันที่ 2 เมษายน 2555 และเริ่มจ่ายเงินตามอัตราขั้นบันไดใหม่ให้แก่ผู้ถูกร้องนับจากนั้น  และเมื่อผู้ร้องมีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2563 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการปรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นเดือนละ 700 บาท นั้น การปรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามอัตราขั้นบันได จะไม่มีการปรับเบี้ยในระหว่างปีงบประมาณ ทำให้สำนักงานเขตบางพลัดไปจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้แก่ผู้ร้องในอัตราดังกล่าวครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2563 หรือเดือนแรกของปีงบประมาณ 2564
 
ด้วยเหตุดังกล่าว จึงเห็นได้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุครบถ้วนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บังคับใช้ในเวลาดังกล่าวแล้ว ในชั้นนี้จึงไม่อาจรับฟังได้ว่ามีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนแก่ผู้ร้อง
 
อย่างไรก็ดี กสม. มีข้อสังเกตถึงปัญหาในทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติที่บังคับใช้ในปัจจุบัน ตั้งแต่สิทธิในการรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ที่ก่อนปีงบประมาณ 2562 จะเริ่มจ่ายเบี้ยให้ในเดือนแรกของปีงบประมาณหลังจากที่ผู้สูงอายุมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และยังคงใช้บังคับกับกรณีผู้สูงอายุซึ่งไม่ได้ลงทะเบียนภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนด ขณะที่ผู้ที่มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและลงทะเบียนภายในระยะเวลาที่กำหนดตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 เป็นต้นไป จะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในเดือนถัดไป เช่นเดียวกับการปรับเบี้ยผู้สูงอายุตามอัตราขั้นบันได เนื่องจากแนวปฏิบัติที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน จะไม่มีการปรับอัตราเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุระหว่างปีงบประมาณ ทำให้ผู้สูงอายุบางส่วนเสียสิทธิที่ตนพึงจะได้รับในระหว่างนั้น อันอาจเกิดจากความเข้าใจต่อระเบียบการลงทะเบียนที่คลาดเคลื่อน และการขาดการประชาสัมพันธ์ที่เพียงพอของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
 
นอกจากนี้ ยังมีกรณีผู้สูงอายุซึ่งถูกสวมสิทธิการรับเบี้ยยังชีพจากบุคคลที่ตนมอบอำนาจให้รับเงินแทน กลุ่มผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพไม่ครบถ้วน หรือล่าช้า หรือกรณีผู้สูงอายุโยกย้ายภูมิลำเนาและไม่ได้ไปลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ณ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นภูมิลำเนาใหม่ หรือกรณีถูกจำหน่ายชื่อออกจากทะเบียนบ้าน จนเป็นเหตุทำให้เสียสิทธิการได้รับเบี้ยยังชีพหลังขึ้นปีงบประมาณใหม่ อันส่งผลต่อการดำรงชีพ กรณีเหล่านี้สะท้อนปัญหาการบังคับใช้ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 และวิธีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้สูงอายุบางกลุ่มที่อาจถูกลิดรอนสิทธิที่ตนพึงได้รับ ตลอดจนปัญหาการเชื่อมโยงระบบของหน่วยงานรัฐด้วยกัน ที่สร้างขั้นตอนและภาระเกินความจำเป็น
 
จากปัญหาที่กล่าวมา กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2565 จึงเห็นควรเสนอแนะให้พิจารณาทบทวนปรับปรุงระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ พ.ศ. 2552 และแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง ในประเด็นหลักเกณฑ์การลงทะเบียนและกระบวนการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เพื่อป้องกันปัญหาผู้สูงอายุที่อาจถูกลิดรอนสิทธิในการรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ตนพึงมี โดยให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่แท้จริงของพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546
 
นอกจากนี้ กสม. ยังมีข้อเสนอแนะให้คณะรัฐมนตรี โดยกระทรวงมหาดไทย ต้องเร่งรัดการดำเนินการเชื่อมโยงฐานข้อมูลของประชาชนทุกส่วนราชการกับฐานข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรให้เป็นระบบเดียวกันให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด และนำไปปรับใช้กับการลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ การปรับจ่ายเบี้ย การย้ายสิทธิจากการโยกย้ายภูมิลำเนา และการตรวจสอบการสวมสิทธิในการรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุด้วย ทั้งนี้ให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องดำเนินการประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจถึงแนวทางการลงทะเบียนและกระบวนการจ่ายรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแก่ประชาชน พร้อมดำเนินการเชิงรุกด้านการสำรวจจำนวนประชาชนที่มีสิทธิลงทะเบียนผู้สูงอายุในแต่ละปี เพื่อให้ความช่วยเหลือในการลงทะเบียนเพื่อป้องกันปัญหาการเสียสิทธิ รวมถึงดำเนินการตรวจสอบกระบวนการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้ถูกต้อง โปร่งใส และครบถ้วนตามสิทธิที่ผู้สูงอายุพึงได้รับ
 
2. กสม. แนะแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับกระบวนการชันสูตรพลิกศพ ให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานกลางทำหน้าที่ตรวจพิสูจน์ เพื่อประกันความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ในกระบวนการยุติธรรม
 
นายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2565 ได้พิจารณาข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนรวมทั้งข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายกรณีสิทธิในกระบวนการยุติธรรมอันเกี่ยวเนื่องกับกระบวนการชันสูตรพลิกศพ เนื่องจากเห็นว่าการชันสูตรพลิกศพเป็นพื้นฐานของกระบวนการสอบสวนการตายทั้งระบบ อันสะท้อนให้เห็นถึงภารกิจพื้นฐานของรัฐในการรักษาความยุติธรรมโดยการเปิดเผยความเป็นจริงให้เป็นที่ประจักษ์ ดังนั้น เมื่อมีการตายเกิดขึ้น รัฐจึงต้องมีระบบการจัดการเกี่ยวกับการตายให้สอดคล้องและมีประสิทธิภาพทั้งระบบ ประกอบกับมีกรณีที่มีการร้องขอให้ กสม. ให้ความเห็นต่อมาตรฐานการให้ความเห็นของแพทย์ผู้ทำการชันสูตรพลิกศพหรือความเชี่ยวชาญในการชันสูตรพลิกศพ และการไม่มีแนวทางการแก้ไขปัญหาหรือกระบวนการตรวจสอบซ้ำ ซึ่งอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรม จึงเห็นสมควรหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นพิจารณา
 
กสม.ได้รับฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบกับการพิจารณาโครงสร้างทางกฎหมายที่กำหนดกระบวนการชันสูตรพลิกศพในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) แล้ว มีความเห็นในประเด็นสำคัญ เช่น
 
1) ป.วิอาญา มาตรา 148 กำหนดให้มีการชันสูตรพลิกศพเมื่อปรากฏว่าเป็นการตายโดยผิดธรรมชาติหรือตายในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงาน ซึ่งหากถูกพิจารณาแต่แรกว่า เป็นการตายตามธรรมชาติ ก็จะไม่เข้าสู่กระบวนการชันสูตรพลิกศพ จึงเห็นควรให้มีบทบัญญัติที่อนุญาตให้ญาติของผู้ตายสามารถร้องขอให้มีการชันสูตรพลิกศพได้
 
2) ป.วิอาญา ยังขาดบทบัญญัติที่กำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในเรื่องที่เกี่ยวกับการตรวจพิสูจน์ซ้ำ ซึ่งเมื่อมีกรณีที่กฎหมายมีช่องให้ตรวจพิสูจน์การตายซ้ำได้หลายครั้งจึงเป็นผลให้ในคดีเดียวกันมีรายงานการชันสูตรจำนวนมาก อันส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ และเมื่อมีการชันสูตรแล้ว กฎหมายก็มิได้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขให้บุคคลที่เกี่ยวข้องขอทราบผลการชันสูตรพลิกศพได้ด้วยเหตุความจำเป็นของสำนวนการสอบสวนที่ยังมิอาจเปิดเผย รวมทั้งยังมิได้กำหนดเวลาเกี่ยวกับการคืนศพแก่ญาติไปเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งควรต้องมีการกำหนดมาตรการที่เหมาะสมและชัดเจนภายใต้เหตุผลความจำเป็นในการค้นหาเหตุและพฤติการณ์การตายที่หมดลงแล้วโดยแท้จริง เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีกรอบการปฏิบัติงาน และบุคคลทั่วไปได้รับรู้และเข้าใจ
 
3) ปัญหาเกี่ยวกับองค์กรเจ้าหน้าที่ เช่น บทบัญญัติในป.วิอาญา ยังขาดหลักประกันความเป็นกลางและความอิสระทั้งในกรณีการตายตามธรรมชาติ ที่ไม่ได้กำหนดว่าแพทย์ที่ชันสูตรจะต้องสังกัดหน่วยงานใด ทำให้บางกรณีการชันสูตรอาจดำเนินการโดยแพทย์ที่อยู่ภายใต้สังกัดหน่วยงานทางทหารหรือตำรวจ และในกรณีที่มีการตายระหว่างการถูกควบคุมตัวของพนักงานสอบสวนก็ขาดบทบัญญัติที่กำหนดว่าให้พนักงานสอบสวนจากหน่วยงานอื่นเป็นผู้ดำเนินการแทน นอกจากนี้ ป.วิอาญา ยังไม่ได้กำหนดว่าแพทย์จะต้องสังกัดหน่วยงานใด ทำให้ปัจจุบันแพทย์นิติเวชกระจายอยู่ในหน่วยงานต่าง ๆ และหน่วยงานต้นสังกัดของแพทย์ อาทิ กระทรวงสาธารณสุข ทำให้ไม่สามารถตั้งงบประมาณ หรือกรอบอัตรากำลังเพื่อรองรับการทำงานของแพทย์นิติเวชไว้ได้เป็นการเฉพาะเนื่องจากมีภารกิจงานด้านการรักษาพยาบาลเป็นหลัก ทั้งนี้ ในประเด็นกระบวนการไต่สวนการตายในชั้นศาล ภายหลังจากที่พนักงานผู้ชันสูตรพลิกศพได้ดำเนินการจัดทำสำนวนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้นแล้ว ควรเป็นบทบาทขององค์กรตุลาการในการรับฟังการโต้แย้งคัดค้านรายงานผลการชันสูตรพลิกศพนั้น เพื่อให้ศาลเป็นผู้พิจารณาทบทวนหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายงาน
 
ระบบการชันสูตรพลิกศพในประเทศต่าง ๆ อาจแยกออกเป็นสามประเภท ได้แก่ (1) ระบบตำรวจ (police system) ซึ่งองค์กรตำรวจเป็นผู้มีบทบาทหลักในการชันสูตรพลิกศพ (2) ระบบโคโรเนอร์ (coroner system) คือการที่ศาลแต่งตั้งเจ้าพนักงานเข้ามามีบทบาทรับผิดชอบโดยตรงต่อการดำเนินการชันสูตรพลิกศพ และ (3) ระบบแพทย์ (medical examiner) ที่ให้แพทย์เป็นผู้มีบทบาทหลักในการชันสูตรพลิกศพตั้งแต่การตรวจศพ การรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดจากการตาย รวมถึงอำนาจในการผ่าศพเพื่อค้นหาเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย โดยประเทศไทยเป็นระบบตำรวจซึ่งพนักงานสอบสวนเป็นผู้มีบทบาทหลักในการรวบรวมพยานหลักฐานร่วมกับแพทย์จากหน่วยงานต่าง ๆ เป็นเจ้าพนักงานผู้ทำการชันสูตรพลิกศพ ทั้งนี้ กสม. เห็นว่า หากกำหนดให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นองค์กรหลักด้านการชันสูตรพลิกศพและมีแพทย์นิติเวชอยู่ภายใต้สังกัดเป็นองค์กรเจ้าหน้าที่หลักในการชันสูตรพลิกศพ (medical examiner) โดยกำหนดอัตรากำลัง งบประมาณ และความก้าวหน้าในสายอาชีพแยกต่างหากจากแพทย์ที่มีหน้าที่ในการรักษา ย่อมสามารถบูรณาการข้อมูลและองค์ความรู้ทางการแพทย์ และการสาธารณสุขได้อย่างเป็นเอกภาพและมีความเป็นกลาง
 
จากการศึกษาโครงสร้างทางกฎหมายที่กำหนดกระบวนการชันสูตรพลิกศพอันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิในกระบวนการยุติธรรมข้างต้น กสม. จึงเห็นสมควรมีข้อเสนอแนะมาตรการในการแก้ไขปัญหาเชิงระบบไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ดังนี้
 
1) ข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาระยะสั้น เช่น ให้กระทรวงสาธารณสุข สถาบันนิติเวชวิทยา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และแพทยสภา ร่วมกันพิจารณาแนวทางในการตรวจพิสูจน์ซ้ำ เพื่อให้มีมาตรฐานและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน
 
2) ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงกฎหมาย เห็นสมควรเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาเพื่อพิจารณาให้มีการยกร่างกฎหมายว่าด้วยการชันสูตรพลิกศพเป็นการเฉพาะแยกต่างหากจาก ป.วิอาญา โดยต้องกำหนดให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ในการชันสูตรพลิกศพ การกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของญาติผู้ตายตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการ เช่น การเข้าร่วมสังเกตการณ์ การเปิดเผยรายงานผลการชันสูตรพลิกศพต่อญาติหรือต่อสาธารณะ เป็นต้น การมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับการร้องขอให้มีการตรวจพิสูจน์ศพซ้ำ หลักเกณฑ์เกี่ยวกับระยะเวลาในการคืนศพแก่ญาติ และความจำเป็นในการเก็บศพเพื่อผ่าพิสูจน์ ตลอดจนการให้องค์กรตุลาการมีบทบาทในการไต่สวนในกรณีที่มีการร้องขอให้มีการทบทวนรายงานผลการชันสูตรพลิกศพ
 
3. กสม. ขานรับแนวทางการพิจารณาคดีและการจัดตั้งแผนกคดีจราจร – ติดตามการบังคับใช้กฎหมายจราจรฉบับใหม่ ย้ำความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของผู้ใช้ถนนต้องได้รับการคุ้มครอง
 
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ติดตามสถานการณ์และจัดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นในประเด็นสิทธิและความปลอดภัยของคนเดินเท้าเมื่อเดือนมีนาคม 2565 เพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาความปลอดภัยบนท้องถนนเชิงนโยบายอย่างเป็นระบบ โดยได้รวบรวมข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกับภาคประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ องค์กรเอกชน และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในประเด็นสำคัญ ดังนี้
 
1) การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจราจร ให้มีการกำหนดควบคุมความเร็วที่ปลอดภัยในเขตพื้นที่ชุมชน โดยเพิ่มอัตราโทษแก่ผู้ทำผิดกฎจราจรในเขตควบคุม รวมทั้งกำหนดบทลงโทษและดำเนินการทางวินัยกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายละเลยหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจราจร เพื่อมิให้เป็นแบบอย่างที่ไม่ดีแก่ประชาชน
 
2) การผลักดันให้นำมาตรการตัดคะแนนความประพฤติของผู้ขับขี่มาบังคับใช้อย่างจริงจังตามแนวทางในต่างประเทศ โดยนำระบบเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการและบูรณาการฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการขนส่งทางบก สำนักงานคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลการกระทำผิดกฎหมายจราจรกับฐานข้อมูลใบขับขี่ รวมถึงระบบข้อมูลการทำประกันภัยภาคบังคับ เช่น เลขทะเบียนรถ ประเภทรถ รหัสจังหวัด เลขตัวรถ และยี่ห้อรถ รวมทั้งชื่อผู้ครอบครองรถ ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ทันท่วงทีในกรณีที่มีการฝ่าฝืนกฎจราจรหรือเกิดอุบัติเหตุซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการบังคับใช้กฎหมาย
 
3) การปรับปรุงด้านกายภาพและสภาพแวดล้อม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรร่วมกันปรับปรุงโครงสร้างของถนนหรือทางเท้าให้มีโครงสร้างที่คำนึงถึงความปลอดภัยของคนเดินเท้าโดยดำเนินการ เช่น กำหนดพื้นที่ชะลอความเร็วก่อนถึงทางข้าม (Speed Zone) บำรุงรักษาสภาพพื้นผิวทางเท้า/ทางข้ามให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานเสมอโดยไม่มีสิ่งกีดขวาง ปรับปรุงเครื่องหมาย ไฟจราจรสำหรับคนข้าม หรือทางม้าลายให้มีความชัดเจน ติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) และกล้องตรวจจับความเร็วในจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ รวมทั้งกำจัดจุดบกพร่องที่บดบังทัศนียภาพการมองเห็นบริเวณทางข้ามในเขตชุมชน เป็นต้น
 
กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวต่อไปว่า หลังจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2565 โดยมีการเพิ่มอัตราโทษในการกระทำที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น กรณีไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ขับรถเร็วเกินกำหนด ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดง ปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือ ไม่รัดเข็มขัด/ไม่สวมหมวกนิรภัย ปรับไม่เกิน 2,000 บาท ประกอบกับล่าสุด เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีจราจร พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมเสนอ โดยกำหนดให้มีกฎหมายวิธีพิจารณาคดีจราจรและจัดตั้งแผนกคดีจราจรขึ้นเป็นการเฉพาะแยกออกจากคดีอาญาทั่วไป นั้น กสม. พร้อมสนับสนุนแนวทางการพิจารณาคดีจราจรและการจัดตั้งแผนกคดีจราจรดังกล่าว รวมทั้งจะติดตามสถานการณ์การบังคับใช้ พ.ร.บ. จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 อย่างต่อเนื่อง โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีอำนาจจะบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและไม่เลือกปฏิบัติ และผู้ใช้รถใช้ถนนจะได้ร่วมกันรณรงค์กวดขันวินัยจราจร ทั้งนี้ เพื่อให้สิทธิในความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนได้รับการคุ้มครองอย่างเข้มงวดมากยิ่งขึ้น
 
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
15 กันยายน 2565

สามารถดาวน์โหลดไฟล์เอกสาร ได้ที่นี่ 15-09-65-Press-release-แถลงข่าว-33-2565_.pdf

15/09/2565

© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5376151
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
782
คน