Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ผลการดำเนินงาน View : 164
กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 22/2565 กสม. ชี้กรณีสลายการชุมนุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เจ้าหน้าที่ละเมิดสิทธิผู้ชุมนุมและเสรีภาพสื่อมวลชน - ลงพื้นที่รับฟังปัญหาของกลุ่มคนไทยพลัดถิ่น จ.ตราด ชงแก้ไขระเบียบที่สร้างภาระในการขอสถานะ
               วันที่ 16 มิถุนายน 2565 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และนางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 22/2565 โดยมีวาระสำคัญ ดังนี้
               1. กสม. เผยผลการตรวจสอบเหตุสลายการชุมนุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเมื่อเดือนธันวาคม 2564 – ชี้เจ้าหน้าที่ละเมิดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ แนะ สตช. ทบทวนแนวปฏิบัติในการจัดการการชุมนุม            ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนขอให้ตรวจสอบกรณีเหตุการณ์สลายการชุมนุมของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2564 ณ บริเวณทำเนียบรัฐบาล สืบเนื่องจากเครือข่ายฯ กว่า 30 คน ได้เดินทางมารวมตัวเพื่อทวงสัญญาจากรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จังหวัดสงขลา โดยให้มีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) แบบมีส่วนร่วมก่อนดำเนินการโครงการ นั้น
               กสม. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่ากรณีดังกล่าวมีปัญหาที่ต้องพิจารณาว่า เหตุการณ์การสลายการชุมนุมของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เจ้าหน้าที่ตำรวจสังกัดกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน ผู้ถูกร้อง และเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลดุสิต มีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นหรือไม่ โดยพิจารณาออกเป็น 3 ประเด็น ได้ดังนี้
               ประเด็นที่หนึ่ง การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการเข้าควบคุมตัวผู้ชุมนุมของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น มีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เห็นว่า การชุมนุมของเครือข่ายฯ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2564 เป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นไปโดยสงบปราศจากอาวุธที่ไม่ถือว่าเป็นความรุนแรง ในส่วนของเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมการชุมนุมเป็นไปตามแผนปฏิบัติการ โดยมีการเจรจากับผู้ชุมนุมหลายครั้งเพื่อขอให้เคลื่อนย้ายไปชุมนุมนอกบริเวณพื้นที่ทำเนียบรัฐบาล แต่เมื่อล่วงเลยเวลาที่กำหนดให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนย้าย กลับใช้วิธีเข้าสลายการชุมนุมและควบคุมตัวผู้ชุมนุมเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยอ้างว่า เนื่องจากในวันที่ 7 ธันวาคม 2564 เป็นวันเปิดทำการ จะมีการใช้เส้นทางหนาแน่น และการชุมนุมมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 การชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมโดยผิดกฎหมาย กสม. เห็นว่า เหตุผลตามที่กล่าวอ้างนี้ยังไม่อาจพิจารณาได้ว่า เป็นเหตุแห่งความจำเป็นในการเข้าสลายการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมของผู้ชุมนุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของผู้ชุมนุมตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้รับรองและคุ้มครองไว้ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
               ประเด็นที่สอง การดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลดุสิตต่อผู้ชุมนุมมีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เห็นว่า ในการพิจารณาดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมจากการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญ แม้ว่าจะอยู่ภายใต้การบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจบังคับใช้กฎหมายควรพิจารณาถึงความได้สัดส่วนเพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุม ตลอดจนไม่กระทำการอันใดที่เป็นการจำกัดหรือสร้างภาระแก่ผู้ใช้เสรีภาพดังกล่าวเกินสมควรแก่เหตุ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า พนักงานสอบสวนได้สอบปากคำและแจ้งข้อกล่าวหาผู้ชุมนุมที่ถูกควบคุมตัวในฐานความผิดตามกฎหมายหลายฉบับ ได้แก่ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ประมวลกฎหมายอาญา พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 ส่งผลให้ผู้ชุมนุมที่ถูกจับต้องเดินทางไปรายงานตัวตามหมายเรียกอยู่เป็นระยะจนถึงปัจจุบัน กสม. เห็นว่า การดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมกรณีนี้ไม่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เนื่องจากการชุมนุมมีวัตถุประสงค์เพื่อการติดตามทวงถามการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลต่อโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ซึ่งสุดท้ายแล้วรัฐบาลได้รับข้อเสนอของผู้ชุมนุมไว้เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง การกระทำของพนักงานสอบสวนจึงเป็นการกระทำเกินสมควรแก่เหตุและสร้างภาระแก่ผู้ใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
               ประเด็นที่ 3 การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในเหตุการณ์การชุมนุมของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น มีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อสื่อมวลชนหรือไม่ จากการตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริง พบว่า ในการสลายการชุมนุมเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประกาศให้สื่อมวลชนออกจากพื้นที่การชุมนุมและมีการใช้อุปกรณ์ยิงแสงเลเซอร์ส่องไปยังสื่อมวลชนและอุปกรณ์ถ่ายภาพ ทำให้สื่อมวลชนไม่สามารถถ่ายภาพขณะเจ้าหน้าที่เข้าปฏิบัติการสลายการชุมนุมและควบคุมตัวผู้ชุมนุมได้ ทั้งยังอาจทำให้เซ็นเซอร์กล้องได้รับ
ความเสียหายและมีผลต่อการมองเห็นชั่วคราวของดวงตาได้ ดังนั้น หากการใช้สิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชนอยู่ภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้ เจ้าหน้าที่จะต้องอำนวยความสะดวกและไม่ปิดกั้นสื่อมวลชนในการทำหน้าที่รายงานสถานการณ์และข้อเท็จจริงอย่างเสรี โดยไม่สร้างอุปสรรคอันเป็นการกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนเกินความจำเป็น จึงเห็นว่า การกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ เป็นการกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชนตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้รับรองและคุ้มครองไว้ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
               ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2565 จึงมีข้อเสนอแนะแนวทางในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สรุปได้ดังนี้
               1) ทบทวนแนวทางปฏิบัติในการควบคุมและจัดการการชุมนุมซึ่งจะต้องไม่กระทำการใด ๆ ในลักษณะที่เป็นการกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ชุมนุม และจัดสถานที่ที่ปลอดภัยให้แก่ผู้ชุมนุมที่ใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ
               2) กำชับแนวทางปฏิบัติต่อการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมอันสืบเนื่องมาจากการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ โดยให้ดำเนินการอย่างระมัดระวังซึ่งต้องคำนึงถึงความได้สัดส่วนและความจำเป็นตามแต่ละกรณี โดยหลีกเลี่ยงการตั้งข้อหาหรือฐานความผิดที่เป็นการจำกัดหรือสร้างภาระแก่ผู้ใช้สิทธิและเสรีภาพดังกล่าวเกินสมควรแก่เหตุ
               3) กำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมและดูแลสถานการณ์การชุมนุม อำนวยความสะดวกและเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนทำหน้าที่รายงานสถานการณ์และข้อเท็จจริงอย่างเสรี โดยไม่สร้างอุปสรรคอันเป็นการกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในการปฏิบัติหน้าที่เกินความจำเป็น หากการใช้สิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชนอยู่ภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้
               ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งรายงานผลการตรวจสอบกรณีนี้
               2. กสม. ลงพื้นที่จังหวัดตราดรับฟังสถานการณ์ปัญหาของกลุ่มคนไทยพลัดถิ่น – ภาคประชาสังคมชงแก้ไขระเบียบที่สร้างภาระให้แก่ผู้ยื่นคำขอเกินจำเป็น
               เมื่อวันที่ 8 – 10 มิถุนายน 2565 นางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช และผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยนางเตือนใจ ดีเทศน์ ผู้ทรงคุณวุฒิของ กสม. ด้านสิทธิของกลุ่มเปราะบาง และกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นตาม พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2555 และเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. ลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์และประชุมหารือร่วมกับนายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ผู้แทนกรมการปกครอง และเครือข่ายภาคประชาสังคมกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นในอำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด กว่า 300 คน ถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาสถานะของกลุ่มคนไทยพลัดถิ่น ณ จังหวัดตราด
               กสม. ได้รับรายงานว่า กรมการปกครองได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลของกลุ่มคนไทยพลัดถิ่น โดยสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติและเอกสารแสดงตนของผู้ที่มีเชื้อสายไทยที่อยู่ในเงื่อนไขที่จะได้รับการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นตามกฎหมาย จำนวน 17,903 คน ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตราด จังหวัดตาก จังหวัดชุมพร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดระนอง ทั้งนี้ กรมการปกครองได้อนุมัติสัญชาติไทยให้แก่กลุ่มดังกล่าวไปแล้วกว่าร้อยละ 70 เฉพาะในพื้นที่จังหวัดตราดได้รับการรับรองสถานะเป็นคนไทยพลัดถิ่นแล้ว จำนวน 3,079 คน อย่างไรก็ดี ยังคงเหลือกลุ่มเป้าหมายที่ยังไม่ได้ยื่นคำขอรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นอีกถึง 1,869 คน
               จากการรับฟังสถานการณ์ของกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นในจังหวัดตราด พบว่ามีกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นที่ประสบปัญหาในการขอสถานะ อาทิ กลุ่มที่ได้ยื่นเอกสารหลักฐานแล้วแต่ตกหล่นหรือถูกจำหน่ายทางทะเบียน กลุ่มที่ยังไม่ได้ยื่นเอกสารเลยเนื่องจากขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการยื่นคำขอและเงื่อนไขตามกฎหมาย ขณะที่บางกลุ่มไม่มีเอกสาร หลักฐานหรือเครือญาติตามที่กฎหมายกำหนด จึงไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นได้ สำหรับอุปสรรคในการพิจารณารับรองสถานะ อาทิ ความยุ่งยากของขั้นตอนในการพิจารณา ซึ่งต้องใช้พยานหลักฐานจำนวนมาก ทั้งพยานบุคคล พยานเอกสาร และผังเครือญาติ ความล่าช้าในการดำเนินการระดับพื้นที่ ซึ่งทำให้จำนวนคำขอที่จะส่งต่อให้คณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นของกรมการปกครองพิจารณารับรองมีจำนวนน้อยและไม่ต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดหากจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจสารพันธุกรรม DNA เพื่อพิสูจน์ความเชื่อมโยงเครือญาติ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้คนไทยพลัดถิ่นจำนวนมากยังไม่สามารถเข้าสู่ระบบการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นได้ ขณะที่จำนวนเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในระดับอำเภอเพื่อรับคำขอและดำเนินการตามกระบวนการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นมีจำนวนไม่เพียงพอกับปริมาณคำขอ อีกทั้งมีการโยกย้ายเปลี่ยนแปลงเจ้าหน้าที่บ่อยครั้ง ทำให้การปฏิบัติงานขาดความต่อเนื่อง และขาดผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว
               ในการนี้ กสม. ได้หารือร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ซึ่งได้มอบนโยบายให้ส่วนราชการในจังหวัดแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลของกลุ่มคนไทยพลัดถิ่น โดยให้ทุกอำเภอในจังหวัดตราดเร่งสำรวจและจัดทำข้อมูลทะเบียนสถานะแก่กลุ่มคนไทยพลัดถิ่นที่ยังคงตกค้างและกลุ่มที่ยังไม่ได้ยื่นคำขอให้เป็นปัจจุบัน รวมถึงให้จัดทำแผนดำเนินงานและเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลของกลุ่มคนไทย
พลัดถิ่นร่วมกัน
               นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังเสนอให้กรมการปกครองพิจารณาปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกลไกการพิจารณารับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นให้เกิดความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน โดยไม่สร้างภาระแก่ผู้ยื่นคำขอเกินจำเป็น ทั้งนี้ อาจจัดทำฐานข้อมูลหรือระบบการดำเนินงานในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งจะสามารถเชื่อมโยงข้อมูล ติดตาม และประเมินผลการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลให้แก่กลุ่มคนไทยพลัดถิ่นได้อย่างเป็นระบบ
               “สิทธิในสถานะบุคคลเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐต้องให้การรับรอง เพื่อให้บุคคลสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่าง ๆ ได้ อาทิ สิทธิในการศึกษา สิทธิในการรักษาพยาบาล เสรีภาพในการเดินทาง และการได้รับความคุ้มครองทางสังคมในการทำงาน ทั้งนี้ กสม. จะติดตามสถานการณ์ของผู้มีปัญหาสถานะบุคคล เพื่อประสานการคุ้มครองและส่งเสริมให้รัฐดำเนินมาตรการเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบและประกันสิทธิของบุคคลทุกคนในประเทศตามหลักสิทธิมนุษยชนต่อไป” กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าว
ดาวน์โหลด PDF

16/06/2565

© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5375456
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
87
คน