Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ข่าวประชาสัมพันธ์ / ข่าวสำนักงาน กสม.
ข่าว View : 582
โรคโควิด 19 กับกลไกสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
1. โรคโควิด 19 และกลไกตามกระบวนการพิเศษ (Special procedures)
          กลไกตามกระบวนการพิเศษ (Special procedures) เป็นกลไกย่อยภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชน (Human Right Council: HRC) ทำหน้าที่ติดตามสอดส่องและรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งในลักษณะสถานการณ์สิทธิมนุษยชนรายประเทศ (Country situations) และสถานการณ์สิทธิมนุษยชนรายประเด็น (Thematic issues) โดยผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจาก HRC (Mandate holders) อาจเป็นในรูปของผู้เสนอรายงานพิเศษ (Special Rapporteurs) หรือผู้เชี่ยวชาญอิสระ (Independent experts) หรือคณะทำงาน (Working groups)
          ในช่วงสถานการณ์ของการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 กลไกตามกระบวนการพิเศษได้ดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด 19 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของการนำแนวทางด้านสิทธิมนุษยชนมาใช้ในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำหลักการในเรื่องของการไม่เลือกปฏิบัติ (Non-discrimination) การมีส่วนร่วม (Participation) การเสริมพลัง (Empowerment) และความรับผิดชอบ (Accountability) รวมทั้งการให้ความสนใจเป็นพิเศษกับผู้คนในสถานการณ์ที่เปราะบางมาปรับใช้ นอกจากนี้ ผู้เสนอรายงานพิเศษด้านสุขภาพ (Special Rapporteur on the right to health) พร้อมทั้งผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจาก HRC (Mandate holders) กว่า 60 คน ได้ร่วมกันออกมาเน้นย้ำว่าวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จะผ่านพ้นไปได้ ต้องแก้ไขด้วยมาตรการสาธารณสุขและมาตรการฉุกเฉินที่สำคัญต่าง ๆ พร้อมผนวกหลักการด้านสิทธิมนุษยชนด้วย เพราะทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการช่วยเหลือชีวิต (Everyone has right to life saving interventions)
          ผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจาก HRC (Mandate holders) ได้มีการระบุแนวโน้มปัญหาที่จะเกิดขึ้นใหม่อันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และได้ออกข้อเสนอแนะต่าง ๆ แก่รัฐและผู้มีส่วนได้เสียผ่านการดำเนินการต่าง ๆ เช่น ข่าวประชาสัมพันธ์จำนวน 124 ฉบับ เอกสารคำแนะนำ (Guidance tools) จำนวน 13 รายการ และเอกสารเครื่องมืออื่น ๆ รวมทั้งรายงานอย่างเป็นทางการ 14 ฉบับ และไม่เป็นทางการ 1 ฉบับ นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือข้อห่วงกังวลผ่านกระบวนการร้องเรียน (Communication procedure) โดยได้ออกจดหมายจำนวน 206 ฉบับ (ข้อมูล ณ วันที่ 8 ธันวาคม 2563) ที่เกี่ยวข้องกับข้อห่วงกังวลโดยตรงต่อเรื่องการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ตลอดจนได้ดำเนินการจัดทำรายงานไปยังคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน (HRC) และสมัชชาสหประชาชาติ (United Nations General Assembly: UNGA) โดยรายงานมีข้อเสนอแนะที่ครอบคลุมประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน เช่น สิทธิด้านสุขภาพ สิทธิในที่อยู่อาศัย ความยากจน เสรีภาพในการแสดงออก การเหยียดสีผิว การเลือกปฏิบัติ สิทธิในน้ำ สถานการณ์ของผู้สูงอายุ และความรุนแรงในครอบครัว เป็นต้น
          อนึ่ง เมื่อวันที่ 30 เมษายน ๒๕๖๓ กลไกตามกระบวนการพิเศษได้จัดการหารืออย่างไม่เป็นทางการกับคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน (HRC) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอและหารือเกี่ยวกับผลการดำเนินงานที่เกี่ยวกับโรคโควิด 19 ตามที่ได้รับมอบหมาย โดย Ms. Elisabeth Tichy-Fisslberger ประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ได้กล่าวว่ากลไกตามกระบวนการพิเศษเปรียบได้ดั่ง "ตาและหูของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน" และเน้นย้ำว่าผลงานด้านความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมของเครื่องมือและวิธีการที่กลไกดังกล่าวได้พัฒนาขึ้นได้ช่วยเหลือรัฐและผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ ในการรับมือต่อวิกฤตการณ์ของโรคโควิด 19 ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ในส่วนของ Ms. Anita Ramasastry และ Mr. Dainius Puras ซึ่งเป็นตัวแทนของคณะกรรมการประสานงานได้เน้นย้ำว่า กลไกตามกระบวนการพิเศษได้มีการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการรับมือต่อสถานการณ์ของโรคโควิด 19 ที่หลากหลายและรวดเร็ว ตลอดจนรัฐภาคีและตัวแทนภาคประชาสังคมต่างชื่นชมต่อการตอบสนองอย่างทันท่วงทีของกลไกตามกระบวนการพิเศษ
         
2. โรคโควิด 19 และคณะกรรมการประจำสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน
          วิกฤตที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 กำลังท้าทายสิทธิทั้งปวงที่บัญญัติในสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน ไวรัสแพร่อย่างรวดเร็วในเรือนจำ สถานกักขัง สถานพยาบาล และรายงานที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติ การละเมิด และการสูญเสียรายได้ มาตรการพิเศษต่าง ๆ และความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อคุ้มครองกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนและสำคัญยิ่ง
          นับตั้งแต่ช่วงแรกของการแพร่ระบาด คณะกรรมการประจำสนธิสัญญาได้เรียกร้องให้ผู้นำระดับโลกสร้างความมั่นใจว่า มาตรการของรัฐบาลเคารพต่อสิทธิมนุษยชนเพื่อจัดการกับภัยคุกคามด้านสาธารณสุขที่เกิดจากการระบาดของโรคโควิด 19 คณะกรรมการประจำสนธิสัญญาได้ออกข้อเสนอแนะแก่รัฐต่าง ๆ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากกับงานของผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ เกี่ยวกับการตอบสนองที่มีพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชนต่อการแพร่ระบาดของโควิด 19 ข้อเสนอแนะดังกล่าวเผยแพร่ในฐานะบันทึกแนวทาง (Guidance notes) คำแนะนำ (Advice) แถลงการณ์ (Statements) และข่าวประชาสัมพันธ์ (Press releases) ปรากฏในเอกสารรวบรวมแถลงการณ์ของคณะกรรมการประจำสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนในบริบทของการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 (Compilation of statements by human rights treaty bodies in the context of the COVID-19 pandemic)
          นอกจากนี้ สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Office of the High Commissioner for Human Rights: OHCHR) ได้เผยแพร่ชุดเครื่องมือเกี่ยวกับมุมมองด้านกฎหมายในบริบทของโรคโควิด 19 (Toolkit of treaty law perspectives and jurisprudence in the context of COVID-19) ชุดเครื่องมือดังกล่าวใช้มุมมองของกฎหมายและแปลงเป็นการสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างแนวทางสิทธิมนุษยชนในการตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทั้งสหประชาชาติและรัฐต่าง ๆ ซึ่งต้องมีการปรับให้เข้ากับบริบทต่าง ๆ นอกจากนี้ ชุดเครื่องมือดังกล่าวอยู่ระหว่างดำเนินการอันเป็นผลจากความท้าทายด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งมีรูปแบบและความรุนแรงที่เปลี่ยนแปลงไป
ดาวน์โหลด PDF


© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5394464
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
207
คน