Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ข่าวประชาสัมพันธ์ / ข่าวสำนักงาน กสม.
ข่าว View : 17332
เวทีสาธารณะ เรื่อง “พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. ๒๕๕๘ กับสิทธิของบุคคลหลากหลายทางเพศ”
เวทีสาธารณะ
เรื่อง “พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. ๒๕๕๘ กับสิทธิของบุคคลหลากหลายทางเพศ”
เมื่อวันศุกร์ที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๕๘
ณ ห้องเสวนา ชั้น ๖ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
 
 
กล่าวเปิดการเสวนา โดย นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช
 
        นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวทักทายผู้เข้าร่วมเวทีสาธารณะและกล่าวเปิดการเสวนาว่า เป็นอีกครั้งที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้มีโอกาสหยิบยกเรื่องที่น่าสนใจ มาพูดคุย แลกเปลี่ยน แสดงความคิดเห็น และหาแนวทางร่วมกันในการจัดทำข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานรัฐผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขและปรับปรุงในประเด็นที่เป็นปัญหา ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดสังคมที่ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
        เป็นที่แน่นอนว่าความเท่าเทียมนั้น เป็นจุดมุ่งหมายสำคัญของมนุษย์ทุกคน โดยในปัจจุบัน ประเทศไทยก็ได้มีกฎหมายเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในกฎหมายดังกล่าว ได้มีการเพิ่มเติมคำว่า “การแสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกำเนิด” ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ปรากฏคำนี้ในกฎหมายไทย และเชื่อว่าเมื่อกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อสังคม
        ถึงแม้ว่าจะได้มีการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้แล้วก็ตาม แต่ก็ยังพบว่ายังมีข้อห่วงกังวลในบางประเด็นจากหลายฝ่ายอยู่ ดังนั้น จึงขอให้ผู้เข้าร่วมการเสวนา ได้ใช้เวทีเสวนาในครั้งนี้เป็นพื้นที่ถ่ายทอดข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ซึ่ง กสม. จะนำข้อมูลที่ได้จากการเสวนาในวันนี้ เสนอต่อหน่วยงานผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปรับปรุงข้อบกพร่องของกฎหมายฉบับดังกล่าวต่อไป
 
อภิปราย “เรื่อง พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.๒๕๕๘ กับสิทธิของบุคคลหลากหลายทางเพศ 
 
        การอภิปรายในวันนี้มี รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ดำเนินรายการ โดย รศ.ดร.กฤตยาฯ กล่าวว่า ได้เคยมีการจัดเสวนาเพื่ออภิปรายเกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง โดยในขณะนั้น บทบัญญัติที่มีปัญหาอย่างมาก คือ บทบัญญัติมาตรา ๓ ที่ได้มีการกำหนดข้อยกเว้นในการปฏิบัติตามกฎหมายไว้ แต่เมื่อมาพิจารณากฎหมายฉบับนี้  ในปัจจุบันจะพบว่า ประเด็นที่เป็นปัญหาดังกล่าวได้ถูกแก้ไขแล้ว ซึ่งมาตรา ๓ นั้น ถือได้ว่าเป็นหัวใจหลัก
ของกฎหมายฉบับนี้
              ประเด็นที่จะได้มีการอภิปรายในวันนี้จะเกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีเพศสภาพที่ตรงกันข้ามกับเพศสรีระ (เพศโดยกำเนิด) และวิทยากรที่จะมาพูดคุย แลกเปลี่ยน อภิปรายในวันนี้ประกอบไปด้วย
              ๑. ศาสตราจารย์วิทิต มันตาภรณ์ จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
              ๒. คุณกันตพงศ์ รังษีสว่าง ผู้อำนวยการกลุ่มกฎหมาย กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว
              ๓. คุณอุษา เลิศศรีสันทัด จากมูลนิธิผู้หญิง
              ๔. คุณนัยนา สุภาพึ่ง ผู้อำนวยการมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร
             ๕. คุณเคท ครั้งพิบูลย์ จากเครือข่ายเพื่อกะเทยไทย
 
การอภิปราย โดย คุณกันตพงศ์ รังษีสว่าง (ผู้อำนวยการกลุ่มกฎหมาย กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว)     
 
               คุณกันตพงศ์ฯ กล่าวว่า ภายหลังจากที่ประเทศไทย ได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) รวมถึงพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาฉบับดังกล่าวแล้ว หน่วยงานรัฐได้มีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางนโยบาย ทางปฏิบัติ และโครงสร้างของกฎหมายในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเลือกปฏิบัติต่อสตรี ทั้งนี้ เพื่อให้มีผลเป็นการสอดคล้องและรองรับการเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญา CEDAW ซึ่งในปัจจุบันได้มีการถอนข้อสงวนตามอนุสัญญาจนเหลืออยู่เพียงข้อเดียวเท่านั้น คือ ประเด็นเกี่ยวกับ
สิทธิสภาพทางศาล
        โดยการเปลี่ยนแปลงที่กล่าวมาแล้วข้างต้นที่สำคัญนั้น ได้แก่ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างของส่วนราชการใหม่ โดยได้มีการจัดตั้งสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวขึ้น (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น “กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว”) มีภารกิจหลักในการดำเนินงานให้เป็นไปตามอนุสัญญา CEDAW ซึ่งได้มีการประชุมหารือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งส่วนราชการและเอกชน โดยหลังจากการประชุมหารือแล้ว พบว่าประเทศไทยควรมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ จึงได้มีการจัดทำ “ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมโอกาสและความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ” ขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ โดยได้เสนอร่างกฎหมายเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในขณะนั้น และ ครม. ได้มีมติเห็นชอบ และส่งเรื่องไปตามกระบวนการนิติบัญญัติ แต่มีการยุบสภาเสียก่อนจึงยังไม่ได้มีการพิจารณา จนมาถึงในปัจจุบัน ภาคประชาชนได้มีการผลักดันในเรื่องนี้อีกครั้ง และรัฐบาลก็ให้การตอบรับในการผลักดันกฎหมายฉบับนี้ และเมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๘ จึงได้มีการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าว โดยใช้ชื่อว่า “พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. ๒๕๕๘” โดยเดิมทีนั้น ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้มีประเด็นความกังวลเกี่ยวกับการนิยามคำว่า “การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ” ซึ่งตามมาตราดังกล่าวได้มีการบัญญัติข้อยกเว้นไว้ด้วย  โดยในท้ายที่สุดคณะกรรมาธิการที่พิจารณาร่างกฎหมายได้ตัดสินใจตัดยกข้อเว้นในคำนิยามออก และนำเอาข้อยกเว้นดังกล่าวไปบัญญัติไว้ในเรื่องของการตรวจสอบการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศแทน
        กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มีเพียงแต่ส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมระหว่างเพศหญิงและเพศชายเท่านั้น แต่ยังได้คุ้มครองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วย โดยได้มีการสร้างกลไกในการขับเคลื่อนการทำงาน 
๒ กลไก ได้แก่
        ๑. คณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ (สทพ.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ โดยกรรมการนั้น ประกอบด้วยผู้ดำรงตำแหน่งต่างในส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน ๙ คน มาจากการแต่งตั้งของ ครม. โดยเลือกจากผู้แทนองค์กรสตรีและองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์ สิทธิมนุษยชน สังคมศาสตร์ และจิตวิทยา 
โดยคณะกรรมการ สทพ. จะทำหน้าที่กำหนดนโยบาย มาตรการ แผนงาน และดูแลสอดส่องให้เกิดความ
เท่าเทียมระหว่างเพศ
        ๒. คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) คณะกรรมการชุดนี้ จะได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการ สทพ. เมื่อได้รายชื่อบุคคลที่สมควรดำรงตำแหน่งแล้ว คณะกรรมการ สทพ. จะส่งรายชื่อดังกล่าวให้ ครม. เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการ วลพ. องค์ประกอบของคณะกรรมการ วลพ. นั้น มีจำนวน ๘ – ๑๐ คน ผู้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการชุดนี้ควรที่จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้และความสามารถสูง ทั้งนี้ เพื่อที่จะใช้ความรู้ความสามารถและประสบการณ์วินิจฉัยประเด็นเรื่องร้องเรียนได้โดยทันที
กฎหมายฉบับดังกล่าวได้กำหนดมาตรการสำคัญที่จะบังคับให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในการออกข้อบังคับต่างๆ ไม่ให้ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย กล่าวคือ ข้อบังคับต่างๆ นั้นจะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะเหตุของความแตกต่างระหว่างเพศไม่ได้
        กฎหมายฉบับนี้ยังถือได้ว่าเป็นกฎหมายที่เปิดช่องทางในการเลือกใช้สิทธิของผู้ที่รับผลกระทบจากการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ว่าจะใช้กลไกตามกฎหมายฉบับนี้ หรือใช้กลไกตามกระบวนการยุติธรรมอื่นๆ เช่น การฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาล แต่การเลือกใช้กลไกตามกฎหมายฉบับนี้จะมีเงื่อนไขในการใช้สิทธิอยู่บางประการ โดยได้กำหนดไว้ในมาตรา ๑๘ อันได้แก่ (๑) เรื่องที่ร้องเรียนนั้นต้องไม่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล (๒) ประเด็นที่ร้องเรียนนั้นยังไม่ได้มีคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาเป็นที่สุด ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดการใช้สิทธิซ้ำซ้อนกัน
        ส่วนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ วลพ. นั้น กฎหมายกำหนดให้เป็นที่สุด กล่าวคือ จะอุทธรณ์คำวินิจฉัยต่อไปไม่ได้อีกแล้ว แต่ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิในการนำประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวไปฟ้องร้องต่อศาลที่มีอำนาจ
        นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมกันระหว่างเพศขึ้น ซึ่งจะมีหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงิน ในการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ในกรณีที่คณะกรรมการ วลพ. วินิจฉัยว่าเกิดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ และยังได้กำหนดบทลงโทษแก่ผู้ที่ฝ่าฝืนคำวินิจฉัยดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อให้เจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้สามารถเกิดขึ้นจริงได้ในทางปฏิบัติ
 
การอภิปราย โดย คุณอุษา เลิศศรีสันทัด (มูลนิธิผู้หญิง)
 
              คุณอุษาฯ กล่าวว่า ในเบื้องต้น การผลักดันให้มีกฎหมายว่าด้วยความเท่าเทียมระหว่างเพศนั้น ภาคประชาชนได้มีความเห็นว่าไม่ควรที่จะผลักดันร่างกฎหมายเพื่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในชุดปัจจุบันพิจารณา เนื่องจากเห็นว่าอาจจะไม่มีความเข้าใจที่เพียงพอในประเด็นเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศ อีกทั้งกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาอาจจะไม่สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของภาคประชาชนที่เป็นผู้ผลักดันให้มีกฎหมายในเรื่องนี้ แต่ในท้ายที่สุดก็ได้มีการผลักดันจากหน่วยงานภาครัฐเพื่อให้ สนช. พิจารณาจนแล้วเสร็จ ซึ่งกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของ สนช. นี้ มีความแตกต่างจากร่างกฎหมายที่ภาคประชาชน
ได้ร่วมกันผลักดัน
              พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. ๒๕๕๘ แบ่งเนื้อหาออกได้เป็น ๖ หมวด โดยจะเห็นได้ว่ามีรูปแบบที่คล้ายคลึงกับกฎหมายฉบับอื่น กล่าวคือ ในตอนต้นจะเป็นเนื้อหาที่เกี่ยวกับคำนิยาม ต่อมาเป็นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการ ซึ่งกลไกคณะกรรมการนี้มีความสำคัญอย่างมาก โดยการพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการได้มีการแปรญัตติ ด้วยการเพิ่มจำนวนคณะกรรมการ สทพ. โดยเพิ่มตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหมให้เป็นคณะกรรมการ สทพ. โดยตำแหน่ง รวมทั้งได้มีการเพิ่มจำนวนคณะกรรมการ สทพ. ผู้ทรงคุณวุฒิ โดยเพิ่มผู้แทนจากองค์กรสตรีและองค์กรที่ทำงานสิทธิความหลากหลายทางเพศจำนวน ๖ คน และเพิ่มผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์ในด้านสิทธิมนุษยชน ด้วยองค์ประกอบทั้งหลายนี้ กฎหมายฉบับนี้จึงไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแต่เฉพาะการคุ้มครองสิทธิเท่านั้น แต่จะต้องดำเนินงานเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการเคารพความเสมอภาคทางเพศ และสร้างนโยบายเพื่อให้เกิดการเคารพต่อวิถีชีวิตที่มีความหลากหลายด้วย ส่วนในด้านบทบาทอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ สทพ. นั้น ได้มีการเพิ่มอำนาจในการกำหนดมาตรการพิเศษเพื่อส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมระหว่างเพศ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับมาตรฐานและวิธีปฏิบัติตามอนุสัญญา CEDAW
              ในส่วนของคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ได้มีการปรับจำนวนเพิ่มขึ้นในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ เป็นไม่น้อยกว่า ๘ คน และเพิ่มผู้แทนที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านแรงงานด้วย
              ในด้านการตรวจสอบการเลือกปฏิบัติตามมาตรา ๑๗ นั้น ได้มีการเพิ่มเติมข้อยกเว้นที่ไม่ให้ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศไว้ ๓ ประการ อันได้แก่ การคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัย การปฏิบัติตามหลักการทางศาสนา และความมั่นคงของประเทศ 
              นอกจากนี้ ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการนั้น ได้มีการเปลี่ยนแปลงคำว่า “สงเคราะห์” เป็น “ชดเชยและเยียวยา” แทน เนื่องจากเห็นว่า ความเสมอภาคทางเพศนั้นเป็นเรื่องของสิทธิ ดังนั้น เมื่อเกิดการละเมิดสิทธิจึงต้องมีการชดเชยและเยียวยาให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ ไม่ใช่มองว่าเป็นเรื่องของการสงเคราะห์
 
การอภิปรายโดย คุณนัยนา สุภาพึ่ง (ผู้อำนวยการมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร)
         
              คุณนัยนาฯ กล่าวว่า ในช่วงที่ภาคประชาชนได้เสนอร่างกฎหมายว่าการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ และคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายก็ได้ให้ข้อเสนอแนะต่อร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่จะสอดคล้องกับเนื้อหาที่ภาคประชาชนเสนอไป อันเป็นจังหวะเวลาเดียวกับที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ได้ให้ข้อมูลไปยังรัฐบาลว่ากฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและมีความจำเป็นเร่งด่วนในการประกาศใช้นั้น ได้แก่ ร่างกฎหมายว่าด้วยความเท่าเทียมระหว่างเพศ ซึ่งผ่านการพิจารณาโดย ครม. ชุดก่อน และคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ส่วนร่างกฎหมายที่ภาคประชาชนและคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายร่วมกันผลักดันนั้น ไม่ได้ถูกนำไปพิจารณาในชั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติด้วย เนื่องจากเห็นว่าร่างกฎหมายว่าด้วยความเท่าเทียมระหว่างเพศที่เสนอโดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ผ่านการพิจารณาโดยองค์กรต่างๆ แล้ว ส่วนร่างกฎหมายที่ผลักดันโดยภาคประชาชนนั้น ยังไม่ได้ผ่านการพิจารณาขององค์กรใดเลย จึงเห็นว่าจะเป็นการสะดวกกว่าที่จะพิจารณาร่างกฎหมายที่เสนอโดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์แทน
              ซึ่งสิ่งสำคัญที่ภาคประชาชนได้ร่วมกันผลักดันนั้น คือ คำนิยามที่ครอบคลุมถึงโครงสร้างของ
ความไม่เป็นธรรมในเรื่องการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศ เพราะมีบางประเด็นที่ต้องใช้ความคิดพินิจพิเคราะห์จึงจะทราบได้ว่าการกระทำใดที่เป็นการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศ เนื่องจากสังคมชาชินกับการปฏิบัติเช่นนั้นมานานจนมองไม่ออกว่าการกระทำนั้นเป็นการเลือกปฏิบัติ ดังนั้น หากในเนื้อหาของกฎหมายไม่ได้มีการบัญญัติคำนิยามที่ครอบคลุมไว้ว่าการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศมีได้ในกรณีใดบ้าง คณะกรรมการซึ่งเป็นองค์กรผู้ใช้กฎหมายก็อาจจะมองไม่เห็นว่าการกระทำนั้นเป็นการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศได้
              ในชั้นการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ได้มีการตัดคำว่า “ส่งเสริมโอกาส” ออก เนื่องจากผู้พิจารณาพิเคราะห์แต่เพียงด้านการมีผลบังคับของตัวกฎหมายเท่านั้น ทำให้มองการส่งเสริมโอกาสเป็นเพียงเนื้อหาที่ไม่มีความจำเป็น ซึ่งด้วยมุมมองเช่นนี้จะทำให้เจตนารมณ์ในการสร้างความเท่าเทียมระหว่างเพศอาจไม่สำเร็จผลขึ้นได้จริง เนื่องจากกฎหมายได้มุ่งเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาเพียงอย่างเดียว แต่อาจทดแทนข้อบกพร่องนี้ โดยให้คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศนำเนื้อหาที่ปรากฏอยู่ในร่างกฎหมายที่เสนอโดยภาคประชาชนมาปรับใช้ในการวินิจฉัยเรื่องร้องเรียน เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศได้อย่างครอบคลุม
              ในประเด็นเรื่องข้อยกเว้นตามมาตรา ๑๗ นั้น เป็นการต่อสู้ทางความคิดระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับประชาชน การย้ายข้อยกเว้นที่แต่เดิมถูกกำหนดไว้ในส่วนของคำนิยามอันถือว่าเป็นส่วนสำคัญยิ่งของกฎหมาย มาไว้ในมาตรา ๑๗ ถือได้ว่าทำให้ผลที่เกิดจากข้อยกเว้นนั้นเบาเทาเบาบางลง และอีกประเด็นที่อยากตั้งข้อสังเกตคือ การบัญญัติข้อยกเว้นโดยนำหลักเรื่องศาสนามากำหนดไว้นั้น ไม่มีความเหมาะสม เนื่องจากศาสนานั้นเป็นเรื่องของเสรีภาพของบุคคลในการที่จะเชื่อถือและศรัทธา ไม่ใช่สิ่งที่กฎหมายจะมาบังคับให้คนต้องปฏิบัติตามหลักการศาสนาในทุกกรณี ดังนั้น คณะกรรมการจะต้องระมัดระวังการใช้ข้อยกเว้นในเรื่องศาสนาด้วย
              ในเรื่องของการกำหนดโทษนั้น ยังมีข้อถกเถียงจากหลายฝ่ายว่าควรมีการบัญญัติไว้หรือไม่ เนื่องจากการกระทำที่เป็นความผิดตามกฎหมายฉบับนี้ ในบางครั้งผู้กระทำอาจไม่รู้การกระทำของตนเป็นความผิด อีกทั้งลักษณะของโทษนั้นเป็นโทษทางอาญาที่มีผลกระทบต่อสิทธิของบุคคล จึงเห็นว่าควรที่จะต้องมีการทบทวนในประเด็นนี้อีกครั้งหนึ่ง
 
การอภิปราย โดย คุณเคท ครั้งพิบูลย์ (เครือข่ายเพื่อกะเทยไทย)
 
        คุณเคทฯ กล่าวว่า ขอยกตัวอย่างกรณีของตนเองที่ถูกปฏิเสธการบรรจุจ้างเป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมหาวิทยาลัยให้เหตุผลว่า “มีการใช้ถ้อยคำหรือมีการแสดงออกทางสื่อสาธารณะที่ไม่เหมาะสม และอาจส่งผลถึงภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัย” นั้น ทำให้เกิดข้อสงสัยว่ามหาวิทยาลัยใช้หลักเกณฑ์ใดในการพิจารณา โดยการให้เหตุผลของมหาวิทยาลัยนั้นใช้ถ้อยคำที่ไม่สื่อถึงการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะเหตุแห่งเพศ แต่ใช้เหตุผลในด้านการแสดงออกผ่านทางสื่อสาธารณะแทน ซึ่งตนเห็นว่าสิ่งที่ตนเองได้แสดงออกไปนั้น มีเหตุและผลรองรับ ไม่ได้เป็นการแสดงออกที่ไม่เหมาะสม จึงเห็นว่ามหาวิทยาลัยอาจมีเหตุผลเบื้องหลังที่เห็นว่าตนเป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศมาใช้ประกอบการพิจารณาการรับเข้าทำงาน จะเห็นได้ว่าการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะเหตุแห่งเพศนั้นอาจแฝงมาในรูปของการใช้ถ้อยคำที่สวยหรู ดังนั้น จึงเห็นว่าคณะกรรมการที่เป็นผู้รับเรื่องราวร้องเรียนควรที่จะต้องพิเคราะห์ถึงเหตุผลในเบื้องหลังเหล่านี้ด้วย นอกจากนี้การให้เหตุผลของมหาวิทยาลัยนั้นจะเห็นได้ว่ามีความคับแคบในการใช้ดุลพินิจ และอาจเป็นการใช้ดุลพินิจที่บกพร่องด้วย เนื่องจากพิจารณาแต่เพียงด้านเดียว โดยไม่ได้นำสิ่งที่ตนเองได้แสดงออกในทางบวกมาพิจารณาในการคัดเลือก จากมุมมองเหล่านี้เองที่เป็นสิ่งที่จะสะท้อนให้เห็นว่าสังคมยังมีอคติต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศอยู่ ยังมีการจำกัดพื้นที่ของคนที่มีความหลากหลาย
ทางเพศ และไม่ยอมรับบทบาทของคนที่มีความหลากหลายทางเพศในการทำงานด้านอื่นๆ
        พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศฉบับนี้เปรียบเสมือนช่องทางหนึ่งในการร้องเรียนและแสดงให้เห็นว่าในสังคมยังมีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะเหตุแห่งความแตกต่างทางเพศอยู่ และขอตั้งข้อสังเกตว่าช่องทางหรือกลไกที่มีนั้นจะตอบสนองต่อผู้ได้รับผลกระทบจากการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศได้มากน้อยเพียงใด เนื่องจากเห็นว่าภาระงานของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวที่มีอยู่มากนั้น อาจทำให้เกิดข้อบกพร่องในการดำเนินงานตามกฎหมายฉบับนี้ได้ และข้อสังเกตอีกข้อหนึ่งนั้นคือ จะทำอย่างไรให้ประชาชนได้รับทราบว่ามีช่องทางหรือกลไกเช่นนี้อยู่ 
 
การอภิปราย โดย ศาสตราจารย์วิทิต มันตาภรณ์ (คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
 
              ศาสตราจารย์วิทิตฯ กล่าวว่า ขอฝากข้อสังเกต ข้อที่ควรตระหนัก และข้อทดลอง เกี่ยวกับพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. ๒๕๕๘ ไว้ ดังนี้
 
              ข้อสังเกตต่อพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. ๒๕๕๘ ผ่านมุมมองที่เกิดขึ้นในบริบทของโลกยุคปัจจุบัน
              ๑. สิ่งที่ต้องย้อนกลับมาถามตนเองอันดับแรกคือ เรามองความหลากหลายทางเพศว่าเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ หรือมองว่าเป็นพฤติกรรมที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าเรามองว่าเป็นสิ่งที่ธรรมชาติของมนุษย์ ก็จะตรงกับกรอบของกฎหมายในประเทศและกระแสของโลกในปัจจุบัน ที่มองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ที่มีความหลากหลาย แต่ถ้าเรามองว่าเป็นพฤติกรรมที่สามารถแปรเปลี่ยนได้ ก็จะเป็นการมองในมุมของจิตวิทยา ซึ่งในบางรัฐได้มีการส่งตัวเข้าไปบำบัด (Conversion Therapy) เพื่อให้กลับมามีสภาพปกติ  โดยในประเด็นนี้ในประเทศจีนได้มีการฟ้องร้องเกี่ยวกับกระบวนการบำบัดดังกล่าว และศาลได้ตัดสินว่าการบำบัดโดยใช้กระบวนการ Conversion Therapy นั้นเป็นสิ่งที่ผิดต่อกฎหมาย การตัดสินเช่นนี้แสดงให้เห็น
ถึงความก้าวหน้าอย่างมากในเรื่องสิทธิของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ
              ๒. ในหลายประเทศ โดยเฉพาะในทวีปเอเชีย มีกฎหมายกำหนดโทษการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่มีเพศเดียวกัน ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นที่หลายประเทศทั่วโลกพยายามรณรงค์ให้ยกเลิกกฎหมายที่มีเนื้อหาดังกล่าว 
เราต้องตระหนักถึงในเรื่องนี้ด้วย เพราะมีความเกี่ยวข้องในแง่ของการประยุกต์ใช้วิธีการในการแก้ไขปัญหา
              ๓. สิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญที่จำเป็นจะต้องตระหนักถึงได้แก่ การเลือกปฏิบัติและการใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยในทวีปอเมริกาใต้บางประเทศมีการใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมากที่สุด ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีกฎหมายห้ามการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกัน
ก็ตาม สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงปัญหาสำคัญปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นกับกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ
ในบริบทโลก
              ๔. ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่ง ได้แก่ การรับรองสถานภาพของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และกลุ่มบุคคลผู้มีภาวะเพศกำกวม(Intersexual) ตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่ว่าจะเป็นสูติบัตร บัตรประจำตัว หนังสือเดินทาง ฯลฯ ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่สำคัญที่มีความเกี่ยวข้องกับประเทศไทยด้วย เนื่องจากยังขาดความชัดเจนในแนวนโยบายของภาครัฐ อีกทั้งกฎหมายในปัจจุบันไม่ได้มีการกล่าวถึงประเด็นนี้
              ๕. กระแสของโลกในปัจจุบัน ได้มีการพยายามเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มคำเรียกบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศใหม่ ซึ่งคำว่า LGBT (Lesbian, Gay, Bisexual, Transgender) ในภายหลังได้มีการเติมตัว I (Intersexual) เข้าไปด้วย นอกจากนี้ยังมีการบัญญัติคำว่า SOGI โดยมีที่มาจากคำว่า Sexual Orientation (วิถีทางเพศ) และ Gender Identity (อัตลักษณ์ทางเพศ) ซึ่งหลักเกณฑ์เกี่ยวกับ SOGI นั้น ได้มีการกล่าวถึงในหลักการยอกยาการ์ตา (Yogyakarta Principles) อันเป็นหลักการที่ประยุกต์กฎหมาย
สิทธิมนุษยชนมาใช้ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ โดยคำว่า SOGI นั้น 
มีความหมายเช่นเดียวกับ LGBTI
              ๖. มีกฎหมายระหว่างประเทศมากมายที่กล่าวถึงเรื่อง SOGI ซึ่งรวมถึงกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี จำนวน ๗ ฉบับ ซึ่งการใช้กฎหมายระหว่างประเทศทั้งหลายนี้ต้องตีความให้ครอบคลุมต่อการคุ้มครอง SOGI ด้วย
 
              ข้อควรตระหนักในพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. ๒๕๕๘
              ๑. ในช่วงที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ ต่อเนื่องมาจนถึงฉบับปี พ.ศ. ๒๕๕๐ อยู่ในระหว่างกระบวนการจัดทำนั้น ได้มีความพยายามจากหลายฝ่ายให้ทุกภาคส่วนได้ตระหนักถึงกลุ่ม LGBT โดยถึงแม้ว่าจะไม่สามารถผลักดันให้รัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับกล่าวถึงกลุ่มLGBT ไว้โดยตรงก็ตาม แต่ก็ยังได้มีการพิจารณาถึงกลุ่ม LGBT ด้วย ซึ่งปรากฏหลักฐานอยู่ในบันทึกการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับดังกล่าว เมื่อหันกลับมามองในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีบทบัญญัติที่กล่าวถึงกลุ่ม LGBT ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญด้วย  
        สิ่งที่น่าสนใจจึงอยู่ที่ว่าเราจะกล่าวถึงเรื่องนี้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ และหากมีการกล่าวถึงจะกล่าวถึงอย่างไร ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ก็ได้มีการกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญแล้ว โดยใช้คำว่า “เพศสภาพ” ก่อให้เกิดคำถามที่ตามมาว่า คำว่า “เพศสภาพ” นั้น หมายความว่าอย่างไร และจะสอดคล้องกับพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. ๒๕๕๘ หรือไม่ จึงอยากฝากข้อคิดในประเด็นนี้ไว้ให้แก้ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาถึงด้วย
              ๒. ในพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. ๒๕๕๘ นี้ ได้มีการกำหนดนิยามคำว่า “การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ” ไว้ ซึ่งควรที่จะตีความให้รวมถึงกลุ่ม SOGI ด้วย เพราะเท่ากับว่ามีการรับรองกลุ่มผู้ที่มีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดทุกกลุ่ม และจะเป็นการสอดคล้องกับบริบทของโลกในปัจจุบันที่กล่าวถึงเรื่องนี้ด้วย
              ๓. การห้ามเลือกปฏิบัติระหว่างเพศที่ห้ามทั้งส่วนราชการและเอกชนนั้น นับว่าเป็นการกำหนดแนวทางที่ค่อนข้างครอบคลุม นอกจากนี้ยังมีการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วย จึงนับว่าเป็นเรื่องที่ดีที่มีการบัญญัติประเด็นเหล่านี้ในกฎหมาย
              ๔. ในกฎหมายฉบับนี้มีการกำหนดกลไกการรับเรื่องร้องเรียนด้วย ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดีในการสร้างกลไกดังกล่าว เพราะจะช่วยให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบสามารถจะมีช่องทางในการร้องเรียนได้
              ๕. กลไกการดำเนินงานตามกฎหมายฉบับนี้มีความหลากหลาย ดังจะเห็นได้จากการดำเนินงานรับเรื่องร้องเรียนตามกลไกคณะกรรมการ วลพ. ที่มีอำนาจวินิจฉัยเรื่องร้องเรียน รวมถึงการกำหนดให้มีการเยียวยา นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่รับผลกระทบสามารถเลือกที่จะฟ้องร้องเป็นคดีความต่อศาลได้ อีกทั้งคณะกรรมการ วลพ. ยังสามารถยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินได้ในกรณีที่เห็นว่ากฎหมายที่ก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญด้วย
              ๖. นอกจากกลไกรับเรื่องร้องเรียนแล้ว กฎหมายฉบับนี้ยังกำหนดให้มีกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ซึ่งกองทุนนี้มีเป้าหมายการจัดตั้งในการสนับสนุนการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ รวมถึงนำเงินจากกองทุนไปใช้ช่วยเหลือเยียวยาให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศ ซึ่งถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ได้มีการบัญญัติกลไกนี้ในกฎหมาย
 
          ข้อทดลอง ๖ ประการ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ
              ๑. ในอดีตองค์การอนามัยโลก (WHO) มองว่าคนที่เกย์นั้นป่วยเป็นโรคทางจิต และต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยนมุมมองในเรื่องนี้ใหม่ โดยมองว่าไม่ได้เป็นคนป่วย แต่ในปัจจุบันองค์การอนามัยโลกยังมองว่ากลุ่มที่เป็นคนข้ามเพศมีความผิดปกติในอัตลักษณ์ของตน (Gender identity disorder) จนเมื่อไม่นานมานี้รัฐสภายุโรปได้ทำหนังสือถึงองค์การอนามัยโลกให้เปลี่ยนแปลงทัศนคติในเรื่องนี้ ปัญหาในเรื่องนี้สามารถเชื่อมโยงกลับมาถึงประเทศไทยในเรื่องมุมมองของแพทย์ที่มีต่อประเด็นดังกล่าวว่าเป็นอย่างไร กฎหมายฉบับนี้จึงมีนัยสำคัญต่อแพทย์ เช่น ถ้าหากแพทย์ยังมองว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้นเป็น Gender identity disorder ผู้ที่ได้รับผลกระทบจะสามารถฟ้องร้องแพทย์ได้หรือไม่ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ประเด็นนี้จึงนับได้ว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญในแง่ของการปรับเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศให้ตรงกัน
              ๒. ประเด็นเรื่องการเกณฑ์ทหาร ที่ในอดีตได้มีการกำหนดประเภทของบุคคลไว้ในแบบบันทึกการคัดเลือกว่าบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้น เป็นผู้ที่มีความผิดปกติทางจิต แต่ในปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงข้อความกำหนดประเภทของบุคคลใหม่แล้ว โดยเรียกบุคคลประเภทดังกล่าวว่า “ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด” แต่ในภาษาอังกฤษกลับยังคงใช้คำว่า Gender identity disorder อยู่เช่นเดิม การคงข้อความภาษาอังกฤษไว้เช่นนี้ก่อให้เกิดข้อท้วงติงจากหลายฝ่ายให้มีการปรับเปลี่ยนเป็นข้อความใหม่ที่สอดคล้องกับข้อความในภาษาไทย
              ๓. ประเด็นเรื่องการจ้างงาน ที่กำหนดในแบบรับสมัครตั้งแต่ต้นในการกีดกันบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้นถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติที่ชัดเจน จึงเห็นควรที่จะต้องดำเนินการฟ้องร้อง โดยอาจใช้ช่องทางหรือกลไกตามกฎหมายฉบับนี้ได้
              ๔. การรับรองสถานภาพของกลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยปัจจุบันนั้น กลุ่มผู้มีภาวะเพศกำกวม (Intersexual)สามารถขอเปลี่ยนคำนำหน้านามได้แล้ว ส่วนกลุ่มคนข้ามเพศนั้น (Transgender) ยังไม่สามารถที่จะร้องขอปรับเปลี่ยนคำนำหน้านามได้ ซึ่งในหลายประเทศได้มีการรับรองให้กลุ่ม LGBTI สามารถเปลี่ยนคำนำหน้านามได้ แต่ในบางประเทศมีเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นผู้ที่แปลงเพศแล้วเท่านั้น
             ๕. ประเด็นเรื่องศาสนา ควรที่จะต้องมีการเจรจากับผู้นำทางศาสนาให้มีความผ่อนปรนความเคร่งครัด รณรงค์ส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจและยอมรับในแนวคิดเรื่องความหลากหลายทางเพศมากยิ่งขึ้น
              ๖. ประเด็นเรื่องการแต่งงานของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ในปัจจุบันเกิดกระแสในการผลักดันให้มีการอนุญาตการแต่งงานสำหรับคนเพศเดียวกันได้ โดยเฉพาะในต่างประเทศ และในหลักการยอกยาร์กาตา (Yogyakarta Principles) ได้กล่าวรับรองในเรื่องนี้ด้วยโดยกำหนดเป็นแนวทางว่า หากรัฐใดอนุญาตให้มีการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันได้ รัฐนั้นต้องรับรองสิทธิของคู่รักที่เป็นเพศเดียวกันเฉกเช่นเดียวกับการแต่งงานระหว่างหญิงและชาย ส่วนในประเทศไทยนั้น แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ ๓ ได้กล่าวรับรองเรื่องการแต่งงานของระหว่างเพศเดียวกันไว้เช่นกัน ซึ่ง ครม. ได้มีมติรับรองแผนสิทธิมนุษยชนฯ ฉบับนี้แล้ว จึงนับได้ว่าเป็นก้าวที่สำคัญในการรับรองสิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ
              ประเด็นสุดท้ายที่ขอฝากให้ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาคือ การส่งเสริมให้เกิดการเคารพสิทธิมนุษยชนได้นั้น  อย่างน้อยต้องมีการปรับปรุงในเรื่องต่างๆ ๖ ประการ คือ
              ๑. การปรับปรุงกฎหมายให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นทั้งในการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
              ๒. ต้องมีนโยบายที่ครอบคลุมทุกประเด็นในเรื่องที่เป็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อที่หน่วยงานต่างๆ สามารถจะกำหนดแผนงานในการดำเนินงานตามนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
              ๓. ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
              ๔. ความมีประสิทธิภาพของกลไกในการรับเรื่องร้องเรียนและการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน 
ในเรื่องสิทธิมนุษยชน
              ๕. ต้องส่งเสริมการศึกษา การสร้างความเข้าใจ การปรับเปลี่ยนค่านิยม วัฒนธรรม และความเชื่อ
ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล
              ๖. ต้องมีการจัดหาทรัพยากรเพื่อเป็นทุนในการดำเนินงานให้เพียงพอ รวมถึงการสร้างเครือข่ายและการรณรงค์ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน
 
กล่าวปิดการเสวนา โดย นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช (กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ)
 
              นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวปิดการเสวนาและกล่าวขอบคุณวิทยากรและผู้เข้าร่วมเวทีสาธารณะทุกท่านในการเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ข้อมูล ประเด็นปัญหาต่างๆ ร่วมกัน ซึ่งทาง กสม. จะรวบรวมประเด็นที่ได้จากการเสวนาในครั้งนี้ จัดทำเป็นข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องของกฎหมายว่าด้วยความเท่าเทียมระหว่างเพศฉบับนี้ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการส่งเสริมความเคารพและปกป้องสิทธิของกลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศได้อย่างครอบคลุมต่อไป


© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5398103
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
336
คน