Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ข่าวประชาสัมพันธ์ / ข่าวสำนักงาน กสม.
ข่าว View : 375
ความคืบหน้าการดำเนินการของหน่วยงานตามข้อเสนอแนะของ กสม. ในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดน กรณีโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบง สปป.ลาว
          ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบข้ามพรมแดนที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบง ของ สปป.ลาว ในแม่น้ำโขง ซึ่งบริเวณที่จะก่อสร้างอยู่ห่างจากอำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย เพียง 96 กิโลเมตร ทำให้ประชาชนบริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขงมีข้อห่วงกังวลว่าจะได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าว กสม. ได้ตรวจสอบและมีมติเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 โดยเห็นว่า โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบงเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงซึ่งเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศที่ไหลผ่านทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ซึ่งประชาชนได้พึ่งพาอาศัยในการใช้ประโยชน์ร่วมกันทั้งการอุปโภคบริโภค การประมง การชลประทาน เกษตรกรรม การใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีพและวิถีชีวิตของบุคคลและชุมชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขง แม่น้ำโขงจึงถือว่าเป็นทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นทรัพยากรร่วมของทุกคน แม้ว่าเขื่อนดังกล่าวจะอยู่ในเขตพื้นที่อธิปไตยของ สปป.ลาว แต่หากมีการก่อสร้างในแม่น้ำโขง ผลกระทบต่อระบบนิเวศ การดำรงชีพ วิถีชีวิต และการประกอบอาชีพประมงและเกษตรกรรม ย่อมอาจเกิดขึ้นกับประชาชนชาวไทยและประเทศไทยซึ่งมีภูมิประเทศพื้นที่ชายแดนติดต่อกัน โดยรัฐไทยมีหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครอง และบริหารจัดการผลกระทบจากการพัฒนาโครงการดังกล่าวตามหน้าที่ของรัฐที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนชาวไทย
          กสม. ได้ปรึกษาหารือ เชิญผู้ทรงคุณวุฒิ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีมติเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คณะรัฐมนตรี คณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เพื่อพิจารณาดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ต่อมาสำนักงาน กสม. ได้รับแจ้งรายงานผลการดำเนินการในเบื้องต้น มีความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าวสรุปได้ดังนี้
          1) เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบผลการดำเนินการของกระทรวงพลังงานซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการรับข้อเสนอจาก กสม. ซึ่งได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ในประเด็นการซื้อขายพลังงานจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบง ซึ่ง กสม. มีข้อเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณากระบวนการดังกล่าว
          โดยนำหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน : การปฏิบัติตามกรอบการคุ้มครอง เคารพ และเยียวยา (UNGPs : United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights: Implementing the Protect, Respect and Remedy Framework (2011)) ไปปรับใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาประกอบ
          การตัดสินใจ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของ กสม. โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้เสนอให้กระทรวงพลังงานจัดตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณากรอบการดำเนินงานตามหลักการที่ กสม. เสนอ ในขณะที่กระทรวงพลังงานรับที่จะนำหลักการชี้แนะฯ ไปพิจารณาประกอบขั้นตอนการดำเนินงานให้เหมาะสมและสอดคล้องกับกระบวนการพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำของ สปป.ลาว ต่อไป
          2) จากข้อมูลทางวิชาการ กสม. ได้พิจารณาว่า หากมีการก่อสร้างโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบง อาจมีผลกระทบเรื่องปริมาณน้ำเท้อไหลย้อนมาที่ฝั่งประเทศไทยบริเวณจังหวัดเชียงราย กสม. จึงมีข้อเสนอให้คณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย เสนอให้ สปป.ลาว สร้างความมั่นใจ ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบการจัดทำบันทึกข้อตกลงหรือวิธีการอื่นใดเป็นกรณีพิเศษ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนทั้งสองริมฝั่งแม่น้ำโขง รวมทั้งระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติในแม่น้ำโขง ซึ่งในประเด็นดังกล่าว สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ซึ่งเป็นผู้ประสานงานหลักฝ่ายไทย ในฐานะคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทยได้จัดทำ (ร่าง) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการระหว่างราชอาณาจักรไทย และ สปป.ลาว เพื่อแลกเปลี่ยน แบ่งปันข้อมูล ด้านอุตุ – อุทกวิทยา รวมทั้งข้อมูลที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการอาคารประกอบหรือเขื่อนตอนบนในลุ่มน้ำโขง ที่มีผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำตอนล่าง และส่งผลถึงประชาชนที่อยู่อาศัยริมฝั่งแม่น้ำโขง เสนอต่อคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ซึ่งได้มีมติเห็นชอบในหลักการ และมอบหมายให้ สทนช. เป็นหน่วยงานหลักในการทำบันทึกความเข้าใจดังกล่าว และหารือหน่วยงานด้านความมั่นคงและกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศมีข้อเสนอแนะให้จัดทำบันทึกข้อตกลงในรูปแบบ 2+2 (two plus two) โดยเห็นควรนำประเด็นด้านพลังงานและทรัพยากรน้ำรวมอยู่ภายใต้บันทึกข้อตกลงเดียวกัน และควรยกระดับให้เป็นเรื่องระดับชาติ ปัจจุบันกรณีดังกล่าวอยู่ระหว่างการหารือเพื่อขอความเห็นจาก สปป.ลาว เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
          3) ในส่วนที่ กสม. มีข้อเสนอให้คณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ยกระดับความสำคัญของแม่น้ำโขง โดยการจัดทำแผนอนุรักษ์ระบบนิเวศและวิถีชีวิตริมฝั่งแม่น้ำโขง ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในแม่น้ำโขง ให้สอดคล้องกับหลักการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน นั้น คณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ได้ร่วมวางกลยุทธ์การพัฒนาลุ่มน้ำโขง (Basin Development Strategy :BDS) ใน 5 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 6 และเป้าหมายที่ 15 นอกจากนี้ สทนช. ยังได้ปรับแผนงบประมาณปี พ.ศ. 2563 สนับสนุนโครงการนำร่องของแต่ละจังหวัดเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายและสนับสนุนการปรับตัวของประชาชนริมแม่น้ำโขง เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน และได้เสนอแผนต่าง ๆ เพื่ออนุรักษ์ระบบนิเวศและวิถีชีวิตริมฝั่งแม่น้ำโขง ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน โดยแบ่งแผนออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ แผนระยะเร่งด่วน เช่น การจัดการสาธารณภัย การอนุรักษ์วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว การทำประมง การทำเกษตรกรรมและเกษตรริมฝั่ง การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายความร่วมมือ แผนระยะกลาง เช่น การศึกษาและวิจัยผลกระทบของการเปลี่ยนแปลง การก่อสร้างเพื่อบริหารจัดการน้ำ และแผนระยะยาว เช่น การจัดตั้งกองทุนและการเยียวยา การสร้างข้อตกลง มาตรการการใช้งาน และการอนุรักษ์แม่น้ำโขง
          ทั้งนี้ สำนักงาน กสม. จะได้ติดตามกรณีเรื่องร้องเรียนในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดนอื่น ๆ ตามหน้าที่และอำนาจของ กสม. หากมีความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว จะนำมาเผยแพร่ให้ทราบต่อไป


© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5375449
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
80
คน