Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ข่าวประชาสัมพันธ์ / ข่าวสำนักงาน กสม.
ข่าว View : 472
เจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม.เข้าร่วมการประชุมหารือว่าด้วยเสรีภาพในการนับถือศาสนาและความเชื่อ (FoRB) จัดโดย AICHR
เจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. เข่าร่วมการประชุมหารือของ AICHR ว่าด้วยการปฏิบัติตามข้อ 22 ของปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียนที่เกี่ยวกับเสรีภาพในการนับถือศาสนาและความเชื่อ (AICHR Consultation on the Implementation of  Article 22 of the ASEAN Human Rights Declaration on Freedom of Religion and Belief) ระหว่างวันที่ 11 - 13 ธันวาคม 2562 ณ เมือง Nusa Dua เกาะบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย

1. ความเป็นมา
    การประชุมหารือของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights – AICHR) ว่าด้วยการปฏิบัติตามข้อ 22 ของปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียนที่เกี่ยวกับเสรีภาพในการนับถือศาสนา และความเชื่อ (Freedom of Religion and Believe - FoRB) เมื่อวันที่ 11 - 13 ธันวาคม 25625 ณ เมือง Nusa Dua เกาะบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย จัดโดยผู้แทนอินโดนีเซียใน AICHR โดยความสนับสนุนของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Office of the High Commissioner for Human Rights – OHCHR) และมีศาสตราจารย์ กิตติคุณ อมรา พงศาพิชญ์ ผู้แทนไทยใน AICHR ปฏิบัติหน้าที่ประธาน AICHR เป็นผู้กล่าวเปิดการประชุมการประชุมนี้ จัดขึ้นภายใต้โครงการตามประเด็นที่ AICHR ให้ความสำคัญในปี 2562 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนผลการปฏิบัติและประสบการณ์ที่เกี่ยวกับเสรีภาพในการนับถือศาสนาและความเชื่อในอาเซียน และหารือเกี่ยวกับรูปแบบในการจัดทำข้อเสนอแนะการปฏิบัติตามข้อ 22 ของปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียน (ASEAN Human Rights Daclaration - AHRD) ซึ่งมีสาระสำคัญว่า “บุคคลทุกคนมีสิทธิเสรีภาพทางความคิด มโนธรรม และศาสนา และการขาดการอดทนอดกลั้น การเลือกปฏิบัติ และการยั่วยุให้เกิดความเกลียดชังในรูปแบบต่าง ๆ ที่อยู่บนพื้นฐานของศาสนา และความเชื่อจะต้องถูกกำจัด” โดยเป้าหมายอันสูงสุดเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการยกระดับสันติภาพและความสมานฉันท์ของอาเซียน ซึ่งเป็นประชาคมที่มีความหลากหลายในเรื่องศาสนาและความเชื่อ

2. ผู้เข้าร่วมการประชุม         
    การประชุมหารือครั้งนี้ มีวิทยากร และผู้เข้าร่วมการประชุม รวมประมาณ 80 คน ประกอบด้วย
    (2.1) ผู้แทนสมาชิกอาเซียนใน AICHR ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เวียดนาม และไทย และผู้แทนคณะกรรมาธิการอาเซียนเพื่อคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิสตรีและเด็ก (ASEAN Commission on Promotion and Protection on the Rights of Women and Child – ACWC) ของอินโดนีเซีย ผู้แทนที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส ของอาเซียน (ASEAN Senior Officials' Meeting – SOM) ว่าด้วยกฎหมาย การศึกษา อาชญากรรม ข้ามชาติ เยาวชน และข้อมูลข่าวสาร ผู้แทนคณะกรรมาธิการสตรีของอาเซียน สมัชชารัฐสภาอาเซียน และสำนักงานเลขาธิการอาเซียน
    (2.2) ผู้แทนสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่เป็นสมาชิกของกรอบความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia National Human Rights Institutions Forum – SEANF) ได้แก่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของฟิลิปปินส์ และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทย ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ 2 คน ได้แก่ นางสาวอณิชภัทร สิทธิดำรงค์ สำนักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และนางสาวประชุมพร ชัยรัตน์ สำนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และผู้ตรวจการแผ่นดินของอินโดนีเซีย
    (2.3) ผู้แทนภาครัฐบาลของอินโดนีเซีย ได้แก่ ผู้แทนกระทรวงการศาสนา ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนกระทรวงการกฎหมายและสิทธิมนุษยชน และคณะกรรมาธิการแห่งชาติว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อสตรี
    (2.4) ผู้แทนองค์กรภาคประชาชน องค์กรด้านการยุติธรรม และสมาคมนักหนังสือพิมพ์ เช่น ผู้แทนภาคประชาสังคมด้านสิทธิมนุษยชนของอินโดนีเซีย เมียนมา มาเลเซีย ผู้แทนภาคประชาสังคมที่เป็นกลุ่มเยาวชนของอินโดนีเซีย และผู้แทนสภาทนายความของมาเลเซีย เป็นต้น
    (2.5) ผู้แทนภาควิชาการ เช่น อาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการนับถือศาสนาและความเชื่อ เป็นต้น

3. สาระสำคัญของการประชุม การประชุมแบ่งเป็น 2 ช่วง กล่าวคือ
    ช่วง 2 วันแรก จะเป็นการอภิปรายตามหัวข้อต่างๆ รวม 8 หัวข้อที่เกี่ยวกับเสรีภาพในการนับถือศาสนาและความเชื่อ โดยในการประชุมหารือมีวิทยากรที่ทำงานเกี่ยวข้องในประเด็นต่างๆ มาร่วมแลกเปลี่ยน และถ่ายทอดประสบการณ์ รวมถึงข้อเสนอแนะเพื่อให้ AICHR นำไปพิจารณาพัฒนาเป็นข้อเสนอแนะต่อไป
    ช่วงวันที่ 3 จะเป็นการประชุมกลุ่มย่อย ซึ่งมีสาระสำคัญโดยสรุป ดังนี้
    3.1 การประชุมวันที่ 1 (11 ธันวาคม 2562) มีการอภิปราย 4 หัวข้อ ได้แก่
         (1) การทำความเข้าใจในกรอบกฎหมายที่ชัดเจนเกี่ยวกับเสรีภาพในการนับถือศาสนาและความเชื่อ ทั้งในกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายภายในภูมิภาค ซึ่งเป็นการอภิปรายถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อที่ 18 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อที่ 18 (2) ข้อจำกัดในการปฏิบัติตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อที่ 22 โดยวิทยากรที่เป็นอาจารย์สอนด้านกฎหมายและศาสนาจากมหาวิทยาลัย Brigham Young University ประเทศสหรัฐอเมริกา และอดีตผู้แทนอินโดนีเซียใน AICHR
         (2) บริบททั้งด้านสังคม บริบทของกฎหมาย และสถานการณ์ของเสรีภาพในการนับถือศาสนาและความเชื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งพบว่า กฎหมายในประเทศอาเซียนโดยส่วนใหญ่ให้การรับรองเสรีภาพในการนับถือศาสนาและความเชื่ออยู่แล้ว แต่มักพบปัญหาในเชิงการปฏิบัติ โดยวิทยากรจากผู้ตรวจการแผ่นดินของอินโดนีเซีย กล่าวถึงกฎหมายของอินโดนีเซียและข้อท้าทาย อาทิ ปัญหาของกลุ่มผู้ถือศาสนาที่เป็นคนส่วนน้อยในอินโดนีเซีย ผู้แทนสมัชชารัฐสภาอาเซียนกล่าวถึงปัญหาของกฎหมายของเวียดนามที่ไม่สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อที่ 18 และผู้แทนภาคประชาสังคมด้านสิทธิมนุษยชนของมาเลเซียที่กล่าวถึงระบบกฎหมายของมาเลเซีย เช่น กฎหมายชะรีอะห์ (Sharia) ที่มีปัญหาการบังคับใช้ที่แตกต่างกันของแต่ละรัฐของมาเลเซีย และข้อเสนอแนะจากกระบวนการ UPR ในเรื่องเสรีภาพในการนับถือศาสนาและความเชื่อของประเทศต่างๆ ในอาเซียน เป็นต้น
          (3) การคุ้มครองกลุ่มคนเปราะบางและชนกลุ่มน้อยที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการนับถือศาสนาและความเชื่อของเด็ก สตรี ผู้โยกย้ายถิ่นฐาน ผู้แสวงหาที่พักพิง แรงงานข้ามชาติ และชนกลุ่มน้อยต่างๆ โดยมีวิทยาการจากผู้แทนคณะกรรมาธิการแห่งชาติว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อสตรีของอินโดนีเซีย ที่กล่าวถึงข้อจำกัดและการเลือกปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยทางศาสนาในอินโดนีเซีย ผู้แทนภาคประชาสังคมของมาเลเซีย และเมียนมาที่ได้วิเคราะห์ปัญหาเรื่องเสรีภาพในการนับถือศาสนาและความเชื่อในอาเซียน
           (4) โอกาสและความสำคัญในการส่งเสริม และคุ้มครองเสรีภาพในการนับถือศาสนาและความเชื่อของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับแผนงานประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน พ.ศ. 2568 (ค.ศ. 2025) โดยวิทยากรจากผู้แทนอินโดนีเซียใน ACWC ด้านสิทธิเด็ก ซึ่งได้กล่าวถึงสาระสำคัญของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และสิทธิเด็กที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงที่เกิดจากศาสนา และผู้แทนอินโดนีเซียใน AICHR กล่าวถึง AHRD และข้อจำกัดของแผนงานประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน พ.ศ. 2568 รวมถึงข้อท้าทายในการส่งเสริมเสรีภาพในการนับถือศาสนาและความเชื่อในอาเซียน
     3.2 การประชุมวันที่ 2 (12 ธันวาคม 2562) มีการอภิปราย 4 หัวข้อ ได้แก่
           (1) การแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติ ความก้าวหน้า และข้อท้าทายในการส่งเสริมและคุ้มครอง เสรีภาพในการนับถือศาสนา และความเชื่อจากประเทศสมาชิกอาเซียน โดยมีวิทยากรจากกระทรวงการศาสนาของอินโดนีเซียที่กล่าวถึงภาพรวมของอินโดนีเซียที่มีความหลากหลาย มีข้อท้าทายทั้งในเชิงนโยบาย และการปฏิบัติในเรื่องศาสนาและความเชื่อ และเสนอว่าทุกความหลากหลายควรต้องเดินทางสายกลาง (religious moderation)ส่วนวิทยากรที่เป็นผู้นำทางศาสนาฮินดูของอินโดนีเซียเสนอว่าสุดท้ายแล้วศาสนาทุกศาสนาต้องอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจและเคารพซึ่งกันและกัน และวิทยากรที่เป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของฟิลิปปินส์กล่าวถึงกฎหมายของฟิลิปปินส์และบทบาทของ กสม.ฟิลิปปินส์ในเรื่องนี้ และเสนอว่าทุกสังคมควรยึดหลักการเคารพสิทธิมนุษยชน เพราะผู้นับถือศาสนาทุกศาสนา หรือทุกความเชื่อล้วนเป็นผู้ถือสิทธิด้วยกันทั้งสิ้น
           (2) การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการปฏิบัติในการห้ามไม่ให้มีการยั่วยุให้เกิดการเกลียดชัง หรือวาจาที่สร้างความเกลียดชัง รวมถึงวิธีการในการต่อสู้กับการขาดการอดทนอดกลั้น ทัศนคติเชิงลบ การตีตรา การเลือกปฏิบัติ การยั่วยุให้เกิดความรุนแรง ตลอดจนความรุนแรงที่เกิดต่อบุคคลอันเนื่องมาจากศาสนาหรือความเชื่อ โดยวิทยากรที่เป็นผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซีย นำเสนอความเป็นมาของข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ข้อที่ 16/18 และการดำเนินการที่เกี่ยวข้องในกรอบสหประชาชาติ ผู้แทนสมาคมนักหนังสือพิมพ์นำเสนอบทบาทของสื่อต่อเรื่องเสรีภาพในการนับถือศาสนา และความเชื่อและภาคประชาสังคมของเมียนมาที่แลกเปลี่ยนสถานการณ์ความขัดแย้งในเรื่องนี้ในเมียนมา โดยเฉพาะความรุนแรงที่เกิดจากวาจาที่สร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) เป็นต้น
           (3) บทบาทของผู้มีส่วนได้เสียในการส่งเสริมเสรีภาพในการนับถือศาสนาและความเชื่ออย่างสร้างสรรค์ มีการนำเสนอบทบาทในการส่งเสริมเสรีภาพในการนับถือศาสนาและความเชื่อ โดยวิทยากรที่เป็นผู้แทนกลุ่มเยาวชนของอินโดนีเซีย ซึ่งได้นำเสนอกิจกรรมของเยาวชนที่ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความหลากหลาย เช่น โครงการพูดคุยระหว่างเพื่อนต่างศาสนา วิทยากรที่เป็นผู้แทนสมัชชารัฐสภาอาเซียนที่กล่าวถึงปัญหาสถานการณ์ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงจากเวียดนาม (Montagnard) ในประเทศไทย และวิทยากรที่เป็นผู้แทนภาคประชาสังคมด้านสิทธิมนุษยชนของเมียนมา ที่กล่าวถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธกับชาวคริสต์ในรัฐชิน (Chin) ของเมียนมา และวิทยากรจากภาควิชาการ โดยอาจารย์จากมหาวิทยาลัย Godjah Mada ประเทศอินโดนีเซียได้นำเสนอโครงการเกี่ยวกับการเรียนรู้ศาสนา (Religion Literacy) เพื่อความสมานฉันท์ท่ามกลางความหลากหลายและลดความรุนแรงในสังคม เป็นต้น  
           (4) การแลกเปลี่ยนการปฏิบัติที่มีของรัฐและหน่วยงานที่ไม่ใช่รัฐในการตอบสนองต่อการร้องทุกข์ และการเยียวยาที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการนับถือศาสนาและความเชื่อในอาเซียน และการแสวงหาแนวทางความรับผิดชอบในเชิงป้องกันที่เป็นไปได้สำหรับการใช้เสรีภาพในการนับถือศาสนาและความเชื่อภายในกรอบบรรทัดฐานของภูมิภาค โดยมีวิทยากรที่เป็นผู้แทนกระทรวงการกฎหมายและสิทธิมนุษยชนของอินโดนีเซีย ซึ่งกล่าวถึงกลไกการรับเรื่องร้องเรียนในเรื่องสิทธิมนุษยชนของภาครัฐ และวิทยากรที่เป็นผู้แทนจากสภาทนายความของมาเลเซียที่ได้ยกข้อเสนอแนะไว้น่าสนใจ 4 ประการ ตั้งแต่เชิงโครงสร้างทางกฎหมาย การบริหารจัดการ การศึกษา และความสัมพันธ์ระหว่างศาสนา เพื่อเป็นทางออกสำหรับเรื่องนี้

     3.3 การประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) วันที่ 3 (13 ธันวาคม 2562)
          เป็นการอภิปรายกลุ่มเพื่อระดมความคิดในการพัฒนาข้อเสนอแนะใน 3 ประเด็นตามองค์ประกอบของข้อที่ 22 ของปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน โดยคาดหวังให้ผู้เข้าร่วมประชุมช่วยกันเสนอข้อเสนอแนะที่เป็นไปได้ในแต่ละหัวข้อ ได้แก่   
         (1) หัวข้อ เสรีภาพในการแสดงความคิด มโนธรรม และศาสนา
         (2) หัวข้อ ปัญหาการขาดการอดทนอดกลั้น และการเลือกปฏิบัติ       
         (3) หัวข้อ ปัญหาการยั่วยุให้เกิดความเกลียดชังอันเนื่องมาจากศาสนาหรือความเชื่อ
         ผลในการประชุมกลุ่มย่อยทั้ง 3 กลุ่ม ข้อเสนอแนะที่ผู้เข้าร่วมประชุมมีความเห็นร่วมกัน เพื่อนำไปบรรจุไว้ในร่างข้อเสนอแนะของ AICHR ว่าด้วยเสรีภาพในการนับถือศาสนาและความเชื่อ อาทิ การส่งเสริมการปรึกษาหารือระหว่างศาสนาหรือความเชื่อ (Interfaith dialogue) เพื่อสร้างความความรู้เข้าใจในความแตกต่าง การเคารพซึ่งกันและกัน มีความเป็นกลางทางศาสนา (Neutrality or Religious Moderation) และการส่งเสริมให้รัฐเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาหรือตราสารด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
         โดยในส่วนของผู้แทนสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนภาพรวมของประเทศไทย และภาพรวมการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่า ประเทศไทยค่อนข้างมีเสรีภาพในเรื่องศาสนาและความเชื่อ แม้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญของไทยไม่ได้ระบุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติไว้อย่างชัดเจน แต่บัญญัติว่าพระมหากษัตริย์ของไทยทรงเป็นพุทธมามกะ กล่าวคือ พระมหากษัตริย์ทรงนับถือศาสนาพุทธ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องทำนุบำรุงศาสนาอื่นด้วย โดยประชากรไทยประมาณร้อยละ 93 นับถือศาสนาพุทธ สำหรับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งมีกลไกการทำงานในการรับเรื่องร้องเรียนและจัดทำข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น ในห้วง 10 ปีที่ผ่านมา กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการนับถือศาสนาและความเชื่อ ประมาณ 30 เรื่อง โดยส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องความไม่รู้ และความไม่เข้าใจที่ทำให้เกิดการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม เช่น เรื่องที่โรงเรียนไม่อนุญาตให้นักเรียนสามารถแต่งกายตามหลักศาสนาที่ตนนับถือในโรงเรียน โดยกสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีที่โรงเรียนไม่ให้นักเรียนหญิงที่เป็นมุสลิมสวมฮิญาบเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแบบนักเรียน ซึ่งในความเป็นจริงมีระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2551 กำหนดไว้อย่างชัดเจนอยู่แล้ว ว่าเด็กนักเรียนหญิงที่เป็นมุสลิมสามารถสวมฮิญาบได้ ซึ่ง กสม.ก็ได้ตรวจสอบหาข้อเท็จจริง และจัดทำข้อเสนอแนะไปยังกระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น

4. การดำเนินการต่อไป
    AICHR จะจัดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อร่วมกันพิจารณาร่างแรก (zero draft) ของข้อเสนอแนะดังกล่าวอีกครั้ง ในประมาณเดือนมีนาคม พ.ศ.2563


© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5375392
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
23
คน