ขบวนการสิทธิมนุษยชน : กรณีขบวนการสิ่งแวดล้อมและขบวนการสตรี
อมรา พงศาพิชญ์
คำนำ
สงครามโลกครั้งที่สองมีผลในการหยุดยั้งการล่าอาณานิคมและทำให้เกิดประเทศใหม่ๆ หลายประเทศ หลังสงครามโลกครั้งที่สองช่วงแรก รูปแบบการเมืองการปกครองมีรูปธรรมให้เห็นในระบอบเสรีประชาธิปไตยของประเทศมหาอำนาจในโลกที่หนึ่ง กับระบอบคอมมิวนิสต์สังคมนิยมของประเทศโลกที่สอง รวมทั้งประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดหรือประเทศกำลังพัฒนาที่เรียกว่าโลกที่สาม เกิดการช่วงชิงระหว่างค่ายมหาอำนาจที่ส่งเสริมเสรีประชาธิปไตยและส่งเสริมการค้าเสรีของโลกที่หนึ่ง กับค่ายคอมมิวนิสต์ของรัสเซียและจีน ซึ่งเน้นเรื่องการพึ่งตัวเองและการสร้างความเป็นธรรมทางสังคมแนวสังคมนิยมของโลกที่สอง ปรากฏในรูปสงครามเย็น
การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมหลังสงครามโลกครั้งที่สองในรูปแบบทุนนิยมขยายตัวอย่างรวดเร็ว จากทุนนิยมเสรี สู่ทุนนิยมผูกขาดและทุนนิยมข้ามชาติ ฯลฯ กระบวนการโลกาภิวัตน์หรือการขยายตัวทางเศรษฐกิจข้ามพรมแดนส่งผลกระทบต่อประชาชนในประเทศด้อยพัฒนาเป็นอย่างมาก ประเทศเกิดใหม่หลายประเทศถูกครอบงำด้วยระบบทุนนิยมข้ามชาติและหลายประเทศเลือกแนวทางสังคมนิยม ความจำเป็นที่จะต้องถ่วงดุลระหว่างค่ายเสรีนิยมและค่ายคอมมิวนิสต์เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป
การพัฒนาทางเศรษฐกิจแนวเสรีนิยมที่เน้นการแข่งขัน และการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดกลไกสนับสนุนการลงทุนและมาตรการควบคุมระบบการค้าการลงทุนระดับเหนือรัฐ เกิดธนาคารโลก (World Bank) และธนาคารภูมิภาค เช่น ธนาคารการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund) องค์กรการค้าโลก (World Trade Organization) ข้อตกลงทั่วไปด้านภาษีและการค้า (GATT - General Agreement on Tariffs and Trade) ฯลฯ
การขยายตัวทางเศรษฐกิจข้ามพรมแดนหรือโลกาภิวัตน์ มีผลกระทบทางสังคมอย่างรุนแรง ความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศร่ำรวยกับประเทศยากจนมีเพิ่มมากขึ้น ภายในประเทศเดียวกัน ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนก็มีเพิ่มมากขึ้น มีการเอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจสังคม ทั้งทางตรงและทางอ้อม จนถึงสหประชาชาติต้องกำหนดมาตรการทางสังคมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางสังคมเพิ่มมากขึ้น แนวคิดเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน และแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชน เป็นตัวอย่างของแนวคิดด้านสังคมที่สหประชาชาติให้การสนับสนุนเพื่อถ่วงดุลการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่มีผลกระทบต่อผู้ด้อยโอกาสเป็นอย่างมาก
การขยายตัวของธุรกิจข้ามชาติทำให้การแข่งขันทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น กลไกทางเศรษฐกิจในระดับประเทศเป็นกลไกแนวนอน ธุรกิจแข่งขันหรือร่วมมือกันโดยไม่ต้องพึ่งอำนาจรัฐ แต่การดำเนินงานของธุรกิจข้ามชาติทำให้รัฐต้องหันไปให้ความสำคัญกับกลไกแนวดิ่ง รัฐบาลทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างกลไกนอกประเทศกับธุรกิจในประเทศ ธุรกิจหวังพึ่งรัฐบาลในการจัดการด้านสาธารณะ เช่น การออกกฎระเบียบเพื่อใช้ในระดับประเทศหรือระหว่างประเทศ บทบาทของรัฐต้องปรับเปลี่ยนจากการปกครองประชาชนมาเป็นการประสานประโยชน์ให้เกิดการแข่งขันทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในสังคมโลกในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา รวมทั้งกระบวนการโลกาภิวัตน์ ทำให้เกิดการปรับกระบวนทัศน์ในการมองถึงบทบาทของรัฐ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและประชาชน ตลอดจนความสัมพันธ์ของสมาชิกในสังคมทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ การปรับกระบวนทัศน์ที่สำคัญ คือ การปรับจากความคิดด้านการปกครอง ( Governance ) ซึ่งหมายถึงการลดบทบาทอำนาจของรัฐให้น้อยลง เพิ่มบทบาทของภาคประชาชนในรูปของการกระจายอำนาจและยอมรับความแตกต่างของกลุ่มย่อยที่หลากหลายด้วย
Pierre and Peters ( 2000 ) มองว่า เกิดการถ่ายโอนอำนาจใน 3 รูปแบบ คือ (1) การถ่ายโอนอำนาจให้องค์กรเหนือรัฐในประเด็นของการควบคุมดูแลตรวจสอบด้านการค้าการลงทุน ด้านสิ่งแวดล้อมโลก ด้านความมั่นคง และสิทธิมนุษยชน (2) การถ่ายโอนอำนาจจากระดับรัฐชาติสู่ระดับท้องถิ่น ผ่านการลดขั้นตอนการบริหารจัดการ ลดกฎเกณฑ์ให้ยืดหยุ่นและตอบสนองความต้องการที่หลากหลายและแตกต่างในระดับท้องถิ่นได้ และสุดท้าย (3) การถ่ายโอนกิจการบางอย่างสู่ภาคประชาสังคมและภาคประชาชนซึ่งได้ขยายตัวอย่างมากหลังการล่มสลายของลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรนานาชาติและมหาอำนาจ
เป็นที่ชัดเจนว่า การเคลื่อนตัวขององค์กรประชาสังคมในประเทศต่างๆ เป็นการเคลื่อนไหวในระดับโลก ในรูปของขบวนโลกาภิวัตน์ทางสังคม โดยการสนับสนุนทางงบประมาณจากองค์กรข้ามชาติทั้งระดับทวิภาคี พหุภาคี สหประชาชาติ รวมทั้งองค์กรศาสนา/สาธารณประโยชน์ข้ามชาติ เครือข่ายอาจก่อตัวขึ้นภายในประเทศและขยายตัวเพื่อประสานกับองค์กรต่างชาติ หรือเครือข่ายอาจเริ่มจากนอกประเทศและมาตั้งองค์กรสมาชิกสาขาขึ้นในประเทศในภายหลัง การรวมตัวจัดตั้งเครือข่ายทำให้เกิดขบวนการทางสังคมที่เคลื่อนไหวในมิติต่างๆ เช่น สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน สุขภาพอนามัย และเป็นส่วนย่อยของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมข้ามชาติ
ขบวนการทางสังคมแนวใหม่
การให้คำนิยามของคำว่า “ขบวนการทางสังคมแนวใหม่” เป็นการชี้ให้เห็นการปรับกระบวนทัศน์ในการทำงานในการขับเคลื่อนทางสังคมจากเดิม ขบวนการทางสังคม (Social Movement) คือการรวมตัวกันเคลื่อนไหวเพื่อเป้าหมายบางอย่างที่สมาชิกของกลุ่มมีร่วมกัน เช่น ขบวนการแรงงานแบบเดิมเคลื่อนตัวเพื่อขอปรับค่าจ้างแรงงาน หรือขอเพิ่มสวัสดิการจากผู้บริหาร ส่วนขบวนการเกษตรกรแบบเดิมเคลื่อนตัวเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลปรับราคาสินค้าเกษตรหรือให้ความช่วยเหลือด้านวัตถุดิบหรือการลงทุนในการเพาะปลูก เป็นต้น แต่ขบวนการทางสังคมแนวใหม่ (New Social Movement) เป็นการรวมตัวของผู้ที่มีเป้าหมายมากกว่าผลประโยชน์เฉพาะของกลุ่ม โดยเน้นที่เป้าหมายของการปรับเปลี่ยนทางสังคมที่กว้างขวาง และสามารถสร้างผลกระทบต่อสาธารณชนโดยรวมด้วย
Habermas (1981) ได้กล่าวว่า ขบวนการสังคมแนวใหม่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อกว่ายี่สิบปีมานี้เอง ในขณะที่ Gunder และ Fuentes (1989) กลับเห็นว่าขบวนการสังคม “แนวใหม่” นั้น แท้จริงแล้วไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด แต่ความน่าสนใจอยู่ที่ประเด็นใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมากกว่า ซึ่งประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นใหม่มี 2 เรื่องที่น่าสนใจ ประการแรกคือ เกิดการเปลี่ยนแปลงนิยามของคำว่า “การเมือง” จากความหมายเดิมที่มีนัยในเชิงการเมืองระดับรัฐชาติ รัฐบาลและพรรคการเมือง มาเป็นการเมืองภาคประชาชน และประการที่สองขบวนการสังคมแนวใหม่สนใจขบวนการต่อต้านอำนาจ (resistance movements) และการปฏิเสธกฎระเบียบ (civil disobedience) ไม่เฉพาะในประเทศและรัฐของตนเท่านั้น แต่รวมถึงการต่อสู้เรียกร้องระหว่างประเทศด้วย ทั้งนี้เป็นการสนองตอบความต้องการขยายพื้นที่ของประชาชนไม่ให้ถูกจำกัดเหมือนดังแต่ก่อน และเป็นการลดช่องว่างระหว่างรัฐและประชาชนลง อย่างไรก็ตามผลที่ต้องการให้เกิดขึ้นคือการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองหรือโครงสร้างสังคมเพื่อลดข้อขัดแย้ง
ขบวนการสังคมแนวใหม่แตกต่างจากขบวนการสังคมในอดีตเช่น การทำงานขององค์กรอาสาสมัคร องค์กรที่ไม่แสวงหากำไรหรือองค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งมีพื้นฐานความคิดอยู่ที่ชุมชนหรือกลุ่มพลเมือง (civic group) กลุ่มคนที่ให้ความร่วมมือกับรัฐเป็นอย่างดีและไม่สนใจการเมืองต่างกันกับขบวนการทางสังคมแนวใหม่ที่สนใจการเมือง ประชาสังคม ประเด็นทางสังคมและผู้เสียผลประโยชน์
ขบวนการสังคมแนวใหม่จึงเป็นทางเลือกใหม่ทางการเมืองที่สนับสนุนให้ใช้ระบบธรรมาภิบาล (governance) แทนที่ระบบการปกครองแบบเดิม และสนับสนุนให้เกิดความยุติธรรมในทุกกลุ่มสังคม ขบวนการสังคมแนวใหม่คือขบวนการต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์ที่พัฒนาไปสู่ระดับนานาชาติเพราะสามารถปรับตัวได้ทุกสถานการณ์และมีความยืดหยุ่นสูง
เมื่อสหประชาชาติประกาศให้มีปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในปี ค.ศ. 1948 (พ.ศ. 2491) การสร้างความเข้าใจและการนำปฏิญญาไปสู่การปฏิบัติเป็นเรื่องยาก และเนื่องจากเนื้อหาในปฏิญญามี 2 เรื่องหลัก จึงได้มีการจัดให้มี (1) กติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (2) กติกาสากลว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม แยกออกเป็น 2 ฉบับ โดยประกาศให้มีการรับรอง ในปี ค.ศ. 1966 ( พ.ศ. 2509 ) และมีผลบังคับใช้ในปี ค.ศ. 1976 ( พ.ศ. 2519) ใช้เวลาถึง 18 ปี กว่าจะสามารถตกลงกันในเนื้อหาของกติกา และอีก 10 ปี จึงได้มีประเทศภาคีให้สัตยาบันครบตามจำนวนที่กำหนดไว้ และสามารถมีผลบังคับใช้ได้ แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่สามารถขยายผลให้มีการรับรู้แนวคิดสิทธิมนุษยชนได้อย่างกว้างขวาง
ขบวนการด้านสิ่งแวดล้อม
จุดเริ่มต้นที่สำคัญที่ทำให้เกิดขบวนการสิทธิมนุษยชน คือ การประชุมที่สต๊อกโฮล์ม สวีเดน ค.ศ. 1972 ( พ.ศ. 2515 ) เรื่อง Human Environment ซึ่งได้ข้อสรุปในการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม 3 ข้อ คือ (1) ควรมีการจัดตั้งหน่วยงานระดับสหประชาชาติเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม (2) สนับสนุนให้ ภาคประชาสังคมหรือองค์กรพัฒนาเอกชนรณรงค์เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม และ (3) นำเสนอแนวคิดเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development ) โดยมีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง จากข้อสรุปดังกล่าวจึงมีการจัดตั้งโครงการสหประชาชาติด้านสิ่งแวดล้อม ( UNEP – United National environmental Project ) และให้การสนับสนุนให้ภาคประชาชนทำงานด้านสิ่งแวดล้อม หลังจากนั้น 20 ปี การประชุมด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญคือ การประชุมสุดยอดของโลก Earth Summit หรือการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (UNCED : UN Conference on Environment and Development ) ที่เมือง Rio de Janeiro ในปี ค.ศ. 1992 ( พ.ศ. 2535 ) เป็นที่ชัดเจนว่าการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมมีความคึกคักมากหลังจากการประชุม Earth Summit และมีการประชุมอีกครั้งที่ Johannesburg ในปี ค.ศ. 2002 ( พ.ศ. 2545 ) โดยการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมจะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อมนุษย์โดยรวมด้วย สิทธิทางด้านสิ่งแวดล้อมได้รับการยอมรับว่าเป็นสิทธิประเภทหนึ่ง และแนวทางการทำงานขององค์กรด้านสิ่งแวดล้อม จะยึดหลักสิทธิมนุษยชน ( right – based approach )
ขบวนการด้านสิ่งแวดล้อมไม่สามารถแยกออกจากขบวนการสิทธิมนุษยชนได้ เพราะการเรียกร้องสิทธิในการควบคุมตรวจสอบสภาพสิ่งแวดล้อม เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มคนเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง โดยใช้แนวคิดสิทธิชุมชน การทำงานจะมีการเคลื่อนไหวในระดับชุมชนแต่ในขณะเดียวกันก็เชื่อมต่อกับเครือข่ายระดับสากลด้วย ตัวอย่างในประเทศไทยมีให้เห็นอยู่ทั่วไป เริ่มจากบทบาทของสมัชชาคนจนที่มีเป้าหมายในการเรียกร้องสิทธิในการทำมาหากินของชาวนาและชาวประมงพื้นบ้านแล้วยังมีเป้าหมายในการต่อต้านการก่อสร้างโครงการพื้นฐานขนาดใหญ่ โดยชี้ให้เห็นถึงผลกระทบของการสร้างเขื่อนปากมูล เขื่อนราษีไศล และเขื่อนอื่นๆบนลำน้ำมูล ตัวแทนสมาชิกอื่นๆของสมัชชาคนจนได้เคยเดินทางไปดูผลกระทบการสร้างเขื่อนนามาตาในอินเดียด้วย ปัจจุบันภาคประชาสังคมเคลื่อนไหวกันอย่างคึกคักในการต่อต้านการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านอื่นๆ เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน เหมืองทอง ท่าเรือน้ำลึก เป็นต้น
ขบวนการด้านสิ่งแวดล้อมทำงานในพื้นที่เฉพาะของตัว แต่เชื่อมโยงข้ามพรมแดนไปยังประเทศข้างเคียงและอาจข้ามภูมิภาคได้ โดยมีองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมระดับสากลเป็นผู้ปฏิบัติการในการเชื่อมโยงองค์กรย่อยต่างๆ
การทำงานในลักษณะเครือข่ายทำให้มีความคล่องตัวในการปรับตัว จากการทำงานในบทบาทเฉพาะพื้นที่ มาเป็นการทำงานร่วมกับสมาชิกเครือข่าย ทำให้สามารถขยายพื้นที่ปฏิบัติการได้โดยไม่ต้องมีการจัดทำโครงสร้างเพิ่มเติมซึ่งจะใช้เวลา ทำให้การปฏิบัติงานล่าช้า
ขบวนการสิทธิสตรี
ขบวนการสิทธิสตรีนับเป็นขบวนการแรกๆ ที่มีการดำเนินการเพื่อเรียกร้องสิทธิอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากความเหลื่อมล้ำทางเพศมีปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน ขบวนการสตรีนิยม ( feminist movement ) และขบวนการผู้หญิง ( women’s movement ) มีความแตกต่างกัน ขบวนการสตรีนิยมเป็นแนวคิดทางทฤษฎีและอุดมการณ์มากกว่า ในขณะที่ขบวนการผู้หญิงทำกิจกรรมทางสังคมที่มีจุดมุ่งหมายเฉพาะกว่า อย่างไรก็ตามขบวนการสตรีนิยมมีอิทธิพลที่ชัดเจนมากกว่าขบวนการผู้หญิง ขบวนการสตรีนิยมในช่วงแรกเรียกร้องให้เกิดสิทธิและความเสมอภาคทางเพศ ซึ่งส่งผลให้เกิดการปฏิรูปทางการเมืองและสังคมตามมา ในขณะที่ขบวนการสตรีนิยมในช่วงที่สองเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงรากฐานของความคิดที่ทำให้ผู้หญิงต้องตกเป็นเหยื่อของการถูกกดขี่ และการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ ขบวนการสตรีนิยมในช่วงที่สองเป็นขบวนการสังคมแนวใหม่ที่ทำให้ประเด็นเรื่องผู้หญิงกลายเป็นประเด็นทางการเมือง โดยยกระดับประเด็นเรื่องผู้หญิงจากปัญหาส่วนตัวและปัญหาครอบครัวไปสู่การยอมรับในระดับสาธารณะ ดังนั้นขบวนการผู้หญิงจึงก่อให้เกิดผลในรูปของการต่อต้านและบางครั้งทำให้เกิดการเผชิญหน้ากับรัฐเพื่อเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงความเชื่อทางประเพณีและวัฒนธรรมเกี่ยวกับเพศขึ้นในแทบทุกสังคม
หลังจากการประชุม Human Environment ในปี ค.ศ. 1972 ( พ.ศ. 2515 ) สหประชาชาติจัดประชุม World Conference on Women ในปี ค.ศ. 1975 ( พ.ศ. 2518 ) และรับรองอนุสัญญาต่อต้านการเลือกปฏิบัติต่อสตรี ( CEDAW - A Convention on the Elimination Against Women ) ในปี ค.ศ. 1979 ( พ.ศ. 2522 ) อนุสัญญาฉบับนี้เรียกร้องให้รัฐภาคีจัดตั้งหน่วยงานเพื่อดูแลสถานภาพผู้หญิง และสนับสนุนให้ภาคประชาสังคมร่วมมือกับรัฐในการต่อต้านการเลือกปฏิบัติต่อสตรี ปฏิเสธไม่ได้ว่าขบวนการผู้หญิง หรือขบวนการพัฒนาสตรีได้เติบโตอย่างรวดเร็วจากการสนับสนุนของสหประชาชาติ นอกจากนี้สหประชาชาติยังได้จัดให้มีการประชุมด้านสตรีระดับโลกครั้งที่ 2 – 4 ในปี ค.ศ. 1980/ พ.ศ. 2523 ค.ศ. 1985/ พ.ศ. 2528 และ ค.ศ. 1990/ พ.ศ. 2533 ด้วย
ขบวนการสตรีนิยมในช่วงที่สามเคลื่อนตัวต่อไป ในแง่ที่มีความหลากหลายในการวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นเรื่องผู้หญิง ดังนั้นขบวนการสตรีนิยมในช่วงที่สาม จึงเน้นกิจกรรมทางการเมืองและไม่เน้นแต่เฉพาะอุดมการณ์ นอกจากนั้นขบวนการสตรีช่วงที่สามและขบวนการผู้หญิงมีความคาบเกี่ยวกันและมีการปรับเปลี่ยนเป้าหมายอย่างมาก นักกิจกรรมสตรีนิยมมักจะต่อต้านอำนาจรัฐและองค์การระหว่างประเทศ ส่วนขบวนการผู้หญิงได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติ ประเทศพัฒนาแล้ว และกองทุนการพัฒนา จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าองค์กรระหว่างประเทศได้เข้ามาแทรกแซงขบวนการต่อต้านอำนาจรัฐ ในขณะเดียวกันองค์การสหประชาชาติ และตัวแทนรัฐก็มีส่วนอย่างสำคัญในการปรับโครงสร้างและกำหนดนโยบายรัฐ ดังนั้นกลุ่มองค์กรผู้หญิงจะต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ต้องเลือกระหว่างร่วมกันคิดเกี่ยวกับการทำงานภายใต้โครงสร้างของรัฐ หรือการทำงานนอกกรอบโครงสร้างของรัฐโดยทำกิจกรรมในรูปของขบวนการสังคมแนวใหม่ อย่างไรก็ตามปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งขบวนการสตรีนิยมและขบวนการผู้หญิงมีพลวัตและความเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดยั้ง บทความนี้ต้องการแสดงให้เห็นว่าขบวนการสตรีนิยมหรือกลุ่มองค์กรผู้หญิงในยุคที่สามเป็นเครือข่ายกับพันธมิตรอื่นและมีลักษณะเป็นขบวนการสังคมแนวใหม่ที่ให้ความสนใจในประเด็นสาธารณะ ดังนั้นกิจกรรมของขบวนการสตรีนิยมจึงกลายเป็นกิจกรรมทางการเมืองอย่างชัดเจนในปัจจุบัน
สรุป
ขบวนการสิ่งแวดล้อมและขบวนการผู้หญิง เป็นเพียงตัวอย่างของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ที่มีเป้าหมายเพื่อปรับเปลี่ยนนโยบายและโครงสร้างการบริหารจัดการทั้งในระดับชาติและระดับสากล เป็นขบวนการข้ามชาติ นอกเหนือจาก 2 ตัวอย่างนี้ ขบวนการทางสังคมแนวใหม่ เห็นได้ในขบวนการต่อต้านเผด็จการ ขบวนการต่อต้านข้อตกลงการค้าเสรี ( FTA Watch ) ขบวนการต่อต้านการปฏิวัติ เป็นต้น การเรียกร้องของขบวนการเหล่านี้ คือ การเรียกร้อง สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความเท่าเทียม เพื่อความเป็นธรรมทางสังคม ทั้งภายในประเทศและข้ามพรมแดน
การขยายตัวของขบวนการข้ามชาติ เกิดจากแรงสนับสนุนภาคประชาสังคมของสหประชาชาติ รวมทั้งพลังทางสังคมที่ได้ตื่นตัวเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อกลไกลทางเศรษฐกิจเสรีนิยมสร้างกลไกระดับเหนือรัฐ การเคลื่อนตัวของภาคประชาสังคมระดับข้ามรัฐจึงเกิดขึ้นตามมา เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ ความเท่าทันกับขบวนการทางเศรษฐกิจที่จัดตั้งขึ้นมา
บรรณานุกรม
Gunder, Frank A. and M Fuentes ( 1989 ) "Ten Theses on Social Movements" World Development .17/2 ( February ) : 179-191.
Harbermas, J. ( 1981 ) "New Social Movement" Telos .( 49 ) Fall : 33 – 37.
Pierre, Jon and B. Grey Peters( 2000 ) Governance , Politics and the State. London: Macmillan Press, Ltd.
อมรา พงศาพิชญ์ และคณะ ( 2546 ) องค์กรสาธารณะประโยชน์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: สถาบันวิจัยทางสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อมรา พงศาพิชญ์ ( 2548 ) สตรีนิยมและขบวนการผู้หญิง:ความเคลื่อนไหวของเครือข่ายประชาสังคมข้ามชาติและขบวนการสังคมแนวใหม่. กรุงเทพฯ: สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข
อมรา พงศาพิชญ์ ( 2549 ) อนาคตการเมืองไทย:ขบวนการประชาธิปไตยเพื่อความเป็นธรรมทางสังคม. ปาฐกถา 14 ตุลา/ประจำปี 2549 กรุงเทพฯ: มูลนิธิ 14 ตุลา