Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ข่าว กสม.
ข่าว View : 259
สัมมนาวิชาการเพื่อพัฒนา สนับสนุน และขับเคลื่อนการดำเนินงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)
กสม. ขับเคลื่อนแนวทางมาตรฐานทางจริยธรรม กับการสร้างเสริมความสุจริต สิทธิมนุษยชน และธรรมาภิบาล

          เมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน  ๒๕๖๐ นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการสัมมนาวิชาการเพื่อพัฒนา สนับสนุน และขับเคลื่อนการดำเนินงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เรื่อง “แนวทางมาตรฐานทางจริยธรรม กับการสร้างเสริมความสุจริต สิทธิมนุษยชน และธรรมาภิบาล” ณ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทาราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ  กรุงเทพมหานคร
          นายวัส  กล่าวว่า  กสม. เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีอำนาจหน้าที่ในการสร้างเสริมทุกภาคส่วนของสังคมให้ตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชน ปัจจุบัน “สิทธิมนุษยชน” มีมิติกว้างขวางและซับซ้อนมากขึ้นทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม การพัฒนา รวมถึงการทุจริตคอรัปชันที่มีผลกระทบต่อสิทธิของผู้คน ความเชื่อมโยงระหว่างการทุจริตกับสิทธิมนุษยชนอยู่บนแนวความคิดที่ว่า หากการทุจริตเกิดขึ้นในที่ที่มีแนวโน้มและโอกาส แนวทางสิทธิมนุษยชนอาจช่วยลดโอกาสที่จะเกิดพฤติกรรมทุจริต และสร้างแนวโน้มที่ผู้กระทำการทุจริตจะถูกจับได้และถูกลงโทษอย่างเหมาะสม การระบุความเชื่อมโยงเป็นการเฉพาะระหว่างการทุจริตกับสิทธิมนุษยชนอาจโน้มน้าวผู้กระทำการหลักอันได้แก่  เจ้าหน้าที่ของรัฐ สมาชิกรัฐสภา ผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ นักธุรกิจ สื่อมวลชน และสาธารณชนทั่วไป ให้เกิดความตระหนักและมีจุดยืนที่เข้มแข็งกว่าเดิมในการต่อต้านการทุจริตได้  ดังนั้น การส่งเสริมจิตสำนึกด้านจริยธรรม สิทธิมนุษยชน และธรรมาภิบาลในทุกภาคส่วนจึงเป็นกลไกสำคัญในการสร้างเสริมความสุจริต การป้องกันการทุจริตคอรัปชัน การส่งเสริมธรรมาภิบาล และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย
          “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ระบุเรื่อง “จริยธรรม” ไว้ในมาตรา ๒๑๙ โดยบัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้นใช้บังคับแก่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ เพื่อรักษาเกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ ทั้งนี้ ในการจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าว รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี และเมื่อประกาศใช้บังคับแล้วให้ใช้บังคับแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีด้วย”  ประธาน กสม. กล่าว
          จากนั้นมีการอภิปราย เรื่อง “แนวทางมาตรฐานทางจริยธรรม กับการสร้างเสริมความสุจริต สิทธิมนุษยชน และธรรมาภิบาล”  โดย  พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ  ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ  กล่าวถึงบทบาทของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตามบทบาทของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ว่า  รัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐ บัญญัติให้ไม่มีการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่สามารถฟ้องร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีทางการเมืองได้ทันทีในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทำผิดในคดีอาญา และให้มีการดำเนินการทางวินัยในกรณีของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยการไต่สวนการทุจริต ป.ป.ช. จะใช้รูปแบบคณะอนุกรรมการที่เป็นองค์คณะในการไต่สวน  และในกรณีสำคัญก็สามารถใช้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหญ่ ร่วมเป็นองค์คณะในกรณีนั้นได้  ปัจจุบันประชาชนคาดหวังให้ ป.ป.ช.ดำเนินการตรวจสอบได้อย่างรวดเร็ว ซึ่ง ป.ป.ช. ได้กำหนดระยะเวลาในการดำเนินการไต่สวนที่ชัดเจนแล้ว
          พลเอก วิทวัส รชตะนันทน์  ผู้ตรวจการแผ่นดิน ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน  กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินยังมีอำนาจให้ข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานเจ้าของระเบียบ กฎหมาย ที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือไม่เป็นธรรมต่อประชาชน นอกจากนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ยังกำหนดให้องค์กรอิสระต้องกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรม ภายใน ๑ ปี นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญบังคับใช้  และองค์กรอิสระยังต้องกำหนดวิธีการในการ"ส่งต่อ" เรื่องร้องเรียน หากเห็นว่าเรื่องร้องเรียนดังกล่าวอยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์กรอื่น เช่น กรณีเห็นว่าเรื่องร้องเรียนเป็นเรื่องของการทุจริต ก็ส่งเรื่องร้องเรียนไปยัง ป.ป.ช. เมื่อผู้ร้องเรียนติดตามเรื่อง ก็จะแนะนำผู้ร้องเรียนติดตามเรื่องร้องเรียนที่สำนักงาน ป.ป.ช. ต่อไป
          นายวัส ติงสมิตร  ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  กล่าวว่า ขณะนี้องค์กรตามรัฐธรรมนูญได้ดำเนินการพิจารณาร่างประมวลจริยธรรมฯ สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหัวหน้าหน่วยธุรการองค์กรอิสระเสร็จเรียบร้อยแล้ว สำหรับบทบาทของ กสม.มีหน้าที่สำคัญในการส่งเสริม คุ้มครอง เยียวยา  โดยนำหลักการปารีสส่วนหนึ่งมาใช้ในการร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ กสม.จึงเป็นเหมือนสะพานเชื่อมระหว่างองค์กรภาครัฐกับองค์กรภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม แม้รัฐธรรมนูญจะนำหลักการปารีสมาใช้ในการออกแบบ กสม. แต่ก็ยังมีหลายประเด็นที่ยังไม่ได้คำนึงถึง เช่น การไกล่เกลี่ย อันเป็นมาตรฐานหนึ่งของหลักการปารีส ซึ่งไม่ได้ระบุไว้ในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (พรป.กสม.) ซึ่งคณะกรรมาธิการให้เหตุผลว่า แม้ร่าง พรป. กสม.จะไม่ได้ระบุเรื่องการไกล่เกลี่ยอย่างชัดเจน แต่ กสม. ก็สามารถดำเนินการไกล่เกลี่ยได้ อย่างไรก็ตามตนเห็นว่าการระบุเรื่องการไกล่เกลี่ยไว้ในร่าง พรป.กสม. จะเป็นเครื่องยืนยันว่า กสม. มีอำนาจไกล่เกลี่ย ไม่ได้กระทำการเกินอำนาจหน้าที่
          อนึ่ง การจัดเวทีสัมมนาดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อประมวลข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากองค์กรทุกภาคส่วนในการดำเนินงานด้านจริยธรรมร่วมกัน นำไปสู่การพัฒนาการดำเนินงานของ กสม. ต่อไป


© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5376939
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
1570
คน