Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ข่าว กสม.
ข่าว View : 2014
ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ธุรกิจการท่องเที่ยวและการโรงแรมกับสิทธิมนุษยชน”
ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ธุรกิจการท่องเที่ยวและการโรงแรมกับสิทธิมนุษยชน”
 
โดย นายวัส ติงสมิตร
ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

๑) ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน

              “สิทธิมนุษยชน”(HR)  ในแนวคิดสมัยใหม่ ไม่ใช่สิทธิที่มีมาโดยธรรมชาติของมนุษย์  แต่เกิดจากการกระทำหรือสร้างสรรค์ของมนุษย์ภายหลังที่เกิดสังคมการเมืองที่เรียกว่า “รัฐ” แล้ว และเห็นว่าสิทธิมนุษยชน (HR) เป็นเรื่องของอุดมการณ์ที่มนุษย์กล่าวอ้างเพื่อให้ได้รับการคุ้มครองจากผู้ปกครอง โดยอ้างความชอบธรรมว่าเป็นสิ่งจำเป็น และไม่หยุดนิ่ง

              สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (UN OHCHR) เห็นว่า สิทธิมนุษยชน (HR) เป็นสิทธิที่ติดตัวมนุษย์ทุกคน โดยไม่คำนึงถึงสัญชาติ, ถิ่นที่อยู่, เพศ, ชาติพันธุ์,       สีผิว, ศาสนา, ภาษา, หรือสถานะอื่นใด เราทุกคนได้รับสิทธิมนุษยชน (HR) โดยเท่าเทียมกัน โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ สิทธิเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เชื่อมโยงและสัมพันธ์กัน และแบ่งแยกไม่ได้

              ส่วนสิทธิมนุษยชน (HR) ตามกฎหมายไทย หมายถึง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลที่ได้รับการรับรองหรือคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญไทย กฎหมายไทย หรือตามสนธิสัญญาที่ไทยมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม (พ.ร.บ. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓ วรรคหนึ่ง)

              เมื่อกล่าวถึงภาคธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เป็นที่ยอมรับกันมายาวนานว่าการทำธุรกิจนั้นมีผลต่อสิทธิมนุษยชน ทั้งด้านบวกและด้านลบ ทางด้านบวกนั้นภาคธุรกิจก่อให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ในสังคมที่ช่วยปรับปรุงพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนทั้งหลายในโลก อาทิ เทคโนโลยีการสื่อสารที่ช่วยเชื่อมโยงโลกใบนี้เข้าด้วยกัน การคิดค้นยารักษาโรคและเทคโนโลยีการแพทย์ที่ช่วยรักษาความเจ็บป่วยและช่วยรักษาชีวิต หรือแม้กระทั่งเทคโนโลยีการเกษตรและอาหารที่ช่วยขจัดความหิวโหย ส่วนในด้านลบ ภาคธุรกิจก็อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำรงชีพของมนุษย์ได้เช่นกัน อาทิ กรณีเกี่ยวกับสิทธิด้านแรงงาน กรณีที่บริษัทผลิตอาหารทำสัญญากับบริษัทจัดหางานที่ใช้แรงงานจากการค้ามนุษย์ โดยบังคับให้ส่งหนังสือเดินทางให้บริษัทเป็นผู้เก็บจนกว่าจะทำงานใช้หนี้สินจนหมด หรือกรณีที่บริษัทอุตสาหกรรมการผลิตเลือกปฏิบัติต่อคนงานที่เข้าร่วมสหภาพแรงงาน ทั้งในเรื่องการจ้างแรงงาน การต่อสัญญา    การเลื่อนตำแหน่ง หรือเลิกจ้างงานเมื่อคนงานใช้สิทธินัดหยุดงาน หรือกรณีที่บริษัทผลิตเสื้อผ้าจ้างโรงงานผลิตที่จ่ายค่าแรงให้คนงานต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และบังคับให้ทำงานมากกว่า ๘๐ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือถูกให้ทำงานในสภาพแวดล้อมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

              จากสภาวการณ์เช่นนี้ ทำให้ในปัจจุบันโลกกำลังให้ความสำคัญกับบทบาทของภาคธุรกิจในการเคารพสิทธิมนุษยชนมากยิ่งขึ้น โดยเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๔ (ค.ศ. ๒๐๑๑) ประเทศสมาชิกสหประชาชาติ ได้ให้การรับรองเอกสารหลักการแห่งสหประชาชาติด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน : การปฏิบัติตามกรอบการคุ้มครอง เคารพ เยียวยา (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights : Implementing the Protect, Respect, Remedy Framework (UNGPs) ซึ่งมีเสาหลัก ๓ ประการเป็นพื้นฐานสำคัญ ได้แก่

              (๑) ให้รัฐมีหน้าที่ในการ “คุ้มครอง” ประชาชน (State Duty to Protect) จากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กระทำโดยบุคคลรวมทั้งองค์กรภาคธุรกิจจากการมีนโยบายควบคุมที่เหมาะสม

              (๒) ให้ภาคธุรกิจ “เคารพ” ในหลักสิทธิมนุษยชน (Corporate Responsibility to Respect) ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจระดับใดก็ตาม ต้องคำนึงถึงผลกระทบในทางลบที่จะตามมาในการดำเนินกิจการ และควรที่จะใช้ความระมัดระวังเพื่อหลีกเลี่ยงการละเมิดสิทธิของผู้อื่น

              (๓) การเข้าถึง “การเยียวยา” (Access to Effective Remedy) ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนต้องเข้าถึงการเยียวยาที่มีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าเป็นการเยียวยาในทางศาลหรือไม่ใช่ในทางศาลก็ตาม

               เป็นที่น่ายินดีว่า ในช่วงที่ผ่านมาไม่นานนี้ ภาครัฐได้ปรับตัวในประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนอย่างสำคัญ โดยจะเห็นได้จากการที่ปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนรัฐบาลไทย ได้มีคำกล่าวในโอกาสนำเสนอรายงานการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยภายใต้กระบวนการ Universal Periodic Review (UPR) รอบที่ ๒ ต่อที่ประชุมคณะทำงาน UPR สมัยที่ ๒๕ ซึ่งเป็นกลไกภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council) ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๙ ว่าประเทศไทยกำลังจะจัดทำแผนปฏิบัติการแห่งชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan: NAP) ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายเห็นพ้องว่าจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการนำหลักการ UNGPs มาใช้ในประเทศ  นอกจากนี้ เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๙ คณะรัฐมนตรีได้มีมติมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานหลักพิจารณาตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายไปยังรัฐบาล ให้นำหลักการ UNGPs มาเป็นกรอบในการดำเนินงานในกรณีการดำเนินโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจทวายในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ เพื่อให้มีกลไกและกำหนดภารกิจในการกำกับดูแลการลงทุนในต่างประเทศของผู้ลงทุนสัญชาติไทย ให้เคารพต่อหลักการพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชน และต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้หน่วยราชการต่างๆ ดำเนินการในหลายประการ อาทิ การเผยแพร่ความรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการ UNGPs และการผลักดันให้ภาคเอกชนมีมาตรการที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในด้านต่างๆ

              ดังนั้น หากภาคธุรกิจไทยจะใช้โอกาสนี้ในการปรับตัวและทำความเข้าใจกับแนวโน้มของโลกในเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการศึกษาแนวทางในการนำหลักการชี้แนะเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs) ไปใช้ในการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นระบบ ก็จะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยป้องกันหรือบรรเทาแรงกดดันจากประชาคมโลกในประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจของไทย ซึ่งอาจส่งผลกระทบถึงการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ตลอดจนผลประโยชน์และภาพลักษณ์ของธุรกิจไทย ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญในการสร้างความยั่งยืน (Sustainability) ในการประกอบธุรกิจของภาคเอกชน รวมถึงการพัฒนาประเทศอีกด้วย

๒) ธุรกิจการท่องเที่ยวและการโรงแรมกับสิทธิมนุษยชน

              โครงการสัมมนา เรื่อง “ธุรกิจการท่องเที่ยวและการโรงแรมกับการเคารพสิทธิมนุษยชนตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติ” เป็นโครงการนำร่องที่ กสม. ได้ริเริ่มจัดทำขึ้นเพื่อเป็นการส่งสัญญาณให้ทั่วโลกได้รับรู้ว่าประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและการโรงแรมของไทยตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน รวมถึงความสำคัญในการนำหลักการ UNGPs มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ

             เหตุผลที่ กสม.เลือกธุรกิจการท่องเที่ยวและการโรงแรม เป็นโครงการนำร่อง มีดังต่อไปนี้

              ๒.๑ การท่องเที่ยวและการโรงแรมเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของไทย โดยประมาณการว่ารายได้จากการท่องเที่ยวทางตรงต่อ GDP ของประเทศมีมูลค่าสูงถึง ๑๒ ล้านล้านบาท โดยมีสัดส่วนต่อ GDP ของประเทศเพิ่มขึ้นจาก ๙% (คิดเป็นมูลค่า ๑ ล้านล้านบาท) ใน พ.ศ. ๒๕๕๖ มาเป็น ๑๖%  และเมื่อรวมเข้ากับรายได้ทางอ้อมของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว กล่าวได้ว่ามีรายได้มากถึง ๒๐.๒% (คิดเป็นมูลค่า ๒.๔ ล้านล้านบาท)

              ๒.๒ ในปี ๒๕๕๖ ประเทศไทยถูกจัดอันดับให้เป็น ๑ ใน ๑๐ อันดับแรกของ “จุดหมายปลายทางระดับสูงของนักท่องเที่ยว” ในระดับโลก ที่มีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเดินทางเข้ามามากถึง ๒๖.๕ ล้านคน ซึ่งหมายความว่าในปีหนึ่ง ๆ ธุรกิจนี้เกี่ยวข้องกับคน ๒๕ ล้านคนจากทั่วโลกและจำนวนนักท่องเที่ยวก็เพิ่มขึ้นทุกปี

              ๒.๓ อุตสาหกรรมการโรงแรมและอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดการจ้างงานทางตรงถึง  ๒,๒๑๐,๐๐๐ อัตรา ในปี ๒๕๕๗ (หรือคิดเป็น ๕.๘% ของการจ้างงานทั้งหมด) และมีการคาดการณ์แนวโน้มการเติบโตไว้ที่ ๐.๒% ในปี ๒๕๕๘ เป็น ๒,๒๑๕,๕๐๐ อัตรา (หรือคิดเป็น ๕.๗% ของการจ้างงานทั้งหมด) ทั้งนี้ รวมถึงการจ้างงานโดยโรงแรม บริษัทท่องเที่ยวสายการบิน งานบริการการขนส่งผู้โดยสาร และธุรกรรมในอุตสาหกรรมร้านอาหารและสถานบันเทิงด้วย

๓) ข้อสรุป

              การสัมมนาในวันนี้นอกจากจะเป็นการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับหลักการ UNGPs  ให้แก่ผู้ประกอบการโรงแรมในจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดใกล้เคียงแล้ว ยังเป็นโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในธุรกิจการท่องเที่ยวและการโรงแรมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการนำหลักการ UNGPs ไปใช้ ซึ่ง กสม. จะได้นำผลของการสัมมนาในวันนี้ไปสังเคราะห์เป็นข้อเสนอเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานต่อภาครัฐและ ภาคธุรกิจในการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจการท่องเที่ยวและการโรงแรมโดยเคารพสิทธิมนุษยชนต่อไป

              กสม. คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในการสัมมนาในวันนี้ จะทำให้ผู้เข้าร่วมได้รับความรู้เรื่องหลักการUNGPs ซึ่งภาคธุรกิจสามารถนำไปใช้ในการดำเนินธุรกิจของตน และผลักดันให้ภาคธุรกิจพันธมิตรหรือธุรกิจในเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานของตนนำหลักการดังกล่าวไปใช้ เพื่อป้องกันและกำจัดสาเหตุที่เป็นการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งย่อมก่อให้เกิดความยั่งยืนของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การพัฒนาเศรษฐกิจ และความอยู่ดีกินดีของประชาชนชาวไทยในที่สุด
 
............................................................

 


© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5377029
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
1660
คน