Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ข่าว กสม.
ข่าว View : 223
กสม. ร่วม นิด้า – ITD จัดฝึกอบรมหลักสูตร “ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนสำหรับรัฐวิสาหกิจ” ส่งเสริมความรู้แก่รัฐวิสาหกิจไทยเป็นต้นแบบในการดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน
          วันที่ 6 ธันวาคม 2561 นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนสำหรับรัฐวิสาหกิจ” จัดโดย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) (ITD) และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โดยมีนางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมเป็นวิทยากร และนางฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยนายบุญเกื้อ สมนึก รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าร่วม ณ ห้องจามจุรี บอลรูม เอ บี โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส กรุงเทพมหานคร
          ในการนี้ นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเปิดการฝึกอบรมว่า การประกอบธุรกิจโดยเคารพสิทธิมนุษยชน นอกจากจะทำให้ธุรกิจเป็นที่ยอมรับแล้ว ยังเป็นโอกาสในการนำประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะธุรกิจคือพลังขับเคลื่อนความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และสิทธิมนุษยชนคือ การดูแลคนทุกคนให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีความปลอดภัยในชีวิต มีมาตรฐานการครองชีพที่เหมาะสม มีโอกาสเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการของรัฐ และได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรม ดังนั้น ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนจึงเป็นการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการสร้างความเป็นธรรมในสังคม
          จากความสำคัญดังกล่าว องค์การสหประชาชาติจึงได้มีการรับรองหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principles on Business and Human Rights : UNGPs) ตามกรอบงานของสหประชาชาติ ในการคุ้มครอง เคารพ และเยียวยา อันเป็น 3 เสาหลัก คือ ให้รัฐมีหน้าที่ในการ “คุ้มครอง” ประชาชนจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กระทำโดยบุคคลรวมทั้งองค์กรภาคธุรกิจ ให้ภาคธุรกิจ “เคารพ” ในหลักสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจระดับใดก็ตาม และผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนสามารถเข้าถึง “การเยียวยา” ที่มีประสิทธิผล โดยมีกระบวนการปรึกษาหารือ ให้ข้อมูล และแจ้งเตือนถึงผลกระทบที่อาจมีต่อบุคคลหรือชุมชนที่เกี่ยวข้อง
          รัฐวิสาหกิจ (State - Owned Enterprises; SOEs) ถือเป็นกลไกสำคัญของรัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศและมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจโลก เนื่องจากรัฐวิสาหกิจของแต่ละประเทศอาจดำเนินกิจการทั้งภายในประเทศและนอกประเทศในภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับปัจจัยในการดำรงชีวิตของประชาชนแทบทั้งสิ้น อาทิ โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งคมนาคม พลังงาน การสื่อสารโทรคมนาคม และการธนาคาร ฯลฯ
          ปัจจุบันรัฐวิสาหกิจในประเทศไทยมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 56 แห่ง มีมูลค่าทรัพย์สินรวมประมาณ 6 ล้านล้านบาท สามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศกว่า 2.7 ล้านล้านบาท การดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศไทย ขณะที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สถานการณ์ด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยเป็นที่จับตามอง และได้สร้างแรงกระเพื่อมต่อศักยภาพและโอกาสในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในเวทีโลกมากยิ่งขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัตรในประเด็นบรรษัทข้ามชาติที่มีรูปแบบในการประกอบธุรกิจที่หลากหลาย เช่น บริษัทย่อย การร่วมทุนการรับเหมา การใช้ตัวแทนจำหน่าย ทั้งหมดล้วนเกิดห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) จำนวนมาก ซึ่งมีโอกาสที่การดำเนินธุรกิจจะเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งในประเด็นการจ้างงาน สิ่งแวดล้อม และความรับผิดชอบต่อสังคม ฯลฯ ดังนั้นการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจที่ดีและสร้างความชัดเจนตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงแนวทางปฏิบัติขององค์กร โดยคำนึงถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนและเชื่อมโยงกับแนวคิดอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นแนวความคิดเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ (Corporate Social Responsibility : CSR) ธุรกิจแบบยั่งยืน(Sustainable Business) ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศและความยั่งยืนในอนาคต ขณะที่การบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจที่สวนทางและสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนย่อมอาจก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้างอย่างร้ายแรงได้เช่นกัน
          ปัจจุบัน แนวทางการบริหารจัดการที่ดีและเคารพสิทธิมนุษยชนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาล ถือเป็นแนวทางดำเนินการที่รัฐบาลทั้งในระดับประเทศและในเวทีโลกต่างให้ความสำคัญ ดังที่ทุกท่านทราบอยู่แล้วว่า ปัจจุบัน ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – พ.ศ. 2580) และแผนปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ได้ถูกประกาศเป็นแนวทางการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ซึ่งมีแนวทางให้ทุกภาคส่วนคำนึงถึงการดำเนินการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเริ่มตั้งแต่การดำเนินการภายในองค์กรซึ่งต้องมีมาตรการควบคุม กำกับ ติดตาม มีการจัดการที่มีธรรมาภิบาล มีความโปร่งใส รวมทั้งการเปิดเผยและเข้าถึงข้อมูลซึ่งสามารถตรวจสอบได้ และการดำเนินการภายนอกองค์กร ซึ่งต้องเร่งให้เกิดการสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับของประชาชน โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน คำนึงถึงความหลากหลายของชุมชนและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการสร้างความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ ใช้ประโยชน์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยแนวทางการขับเคลื่อนไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศไทยดังกล่าว สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ค.ศ. 2030 (พ.ศ.2573) ขององค์การสหประชาชาติ ทั้งเป้าหมายหลัก (Goals) 17 เป้าหมาย และเป้าประสงค์รอง (Targets) อีก 169 เป้าหมาย ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้ประเทศสมาชิกมุ่งขจัดความยากจนในทุกมิติและทุกรูปแบบ รวมทั้งเน้นการพัฒนาที่สมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อันถือเป็นเสาหลักที่เอื้ออำนวยซึ่งกันและกัน และไม่สามารถแบ่งแยกกันได้ภายใต้แผนการพัฒนาที่ยั่งยืน
          อนึ่ง เป็นที่น่ายินดีว่าจากการประชุมด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับความชื่นชมเป็นอย่างมากในฐานะประเทศผู้นำการขับเคลื่อนประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นผลจากการร่วมมือ ร่วมใจ อย่างจริงจัง ของทุกภาคส่วนที่พยายามช่วยกันขับเคลื่อนประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนให้เกิดขึ้นในประเทศไทย
          อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังมีประเด็นด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนที่ท้าทายอีกจำนวนมากที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันดำเนินการให้ดียิ่งขึ้น เช่น การคุ้มครองสิทธิแรงงาน การเสริมสร้างความตระหนักรู้เรื่องหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs) ในกลุ่ม SMEs, Supply Chains และภาคประชาชน การคำนึงถึงผลกระทบในพื้นที่ที่มีการพัฒนาโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมถึงผลกระทบของความตกลงด้านการลงทุนระหว่างประเทศที่อาจสร้างข้อจำกัดต่อภาครัฐและเป็นอุปสรรคต่อชุมชน โดยการหารือกับชุมชนในการใช้บังคับกฎหมายอย่างเป็นธรรม การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และการเข้าถึงการเยียวยา เป็นต้น
“มีข้อสังเกตว่า วิธีการสำคัญที่จะทำให้เกิดความตระหนักในธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนอย่างยั่งยืนนั้น คือ การสร้างการรับรู้ เข้าถึง และเข้าใจ โดยมุ่งเน้นการนำหลักการ UNGPs ไปดำเนินการให้เกิดผลในทางปฏิบัติ เพื่อให้ทุกภาคส่วนเกิดความตระหนัก ตลอดจนการมีแผนปฏิบัติการด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน มีการติดตามและประเมินผล รวมทั้งมีเครือข่ายความร่วมมือเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และแนวปฏิบัติที่ดี เกิดการหนุนเสริมให้มีความร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่างกัน ดังเช่นกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะมีขึ้นในการฝึกอบรมครั้งนี้ โดยมุ่งหวังว่าเราทุกคนจะร่วมมือกันในฐานะหุ้นส่วนเพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนภายใต้คำมั่นที่จะไม่ทอดทิ้งบุคคลใดไว้เบื้องหลัง Leaving No One Behind” นายวัส กล่าว
          อนึ่ง โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนสำหรับรัฐวิสาหกิจ” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6 – 7 ธันวาคม 2561 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและให้ความรู้แก่รัฐวิสาหกิจในประเทศไทยเห็นความสำคัญและเป็นต้นแบบในการดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน ตลอดจนเพื่อให้ส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจในประเทศไทยได้นำหลักการ UNGPs และการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence - HRDD) ไปใช้ให้เกิดผลในทางปฏิบัติ โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการประมาณ 80 คน ประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสาขาต่าง ๆ และผู้แทนหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน


© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5397878
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
111
คน