Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ข่าว กสม.
ข่าว View : 669
กสม.จัดโครงการส่งเสริมสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ : รวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล ครั้งที่ ๘ หัวข้อ รัฐธรรมนูญกับเขตการคุ้มครองวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์

นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าร่วมกิจกรรม รวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล ครั้งที่ ๘ รัฐธรรมนูญกับเขตการคุ้มครองวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ณ ชุมชนชาวเลบ้านทับตะวัน อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงวัฒนธรรม ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) มูลนิธิชุมชนไท จังหวัดภูเก็ต จังหวัดพังงา จังหวัดสตูล จังหวัดระนอง และจังหวัดกระบี่ เมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๐

การจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๓ เรื่องนโยบายฟื้นฟูชีวิตชาวเล และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนไปปฏิบัติ ประกอบด้วย การสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย ที่ทำกินในทะเล การช่วยเหลือด้านสาธารณสุข การแก้ปัญหาสัญชาติ การส่งเสริมด้านการศึกษา การส่งเสริมด้านภาษาและวัฒนธรรมการแก้ปัญหาอคติทางชาติพันธุ์ การส่งเสริมชุมชนชาวเลให้เข้มแข็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมวัฒนธรรมของชาวเล

นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้แสดงความเห็นในเวทีเสวนา รัฐธรรมนูญกับเขตการคุ้มครองวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ว่าต้องมีการดำเนินการแก้ไขปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งในระยะยาว และระยะสั้น หรือเริ่มต้น โดยเน้นการแก้ไขปัญหาที่ดิน ที่ทำกิน และที่อยู่อาศัยอย่างเร่งด่วน การแก้ไขปัญหา การให้การคุ้มครองเขตชาติพันธุ์จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดการแก้ไขปัญหา นอกจากนั้น ควรขยายขอบเขต หรือสร้างความชัดเจน หรือการตีความเรื่อง ชนพื้นเมืองเพื่อให้เกิดแนวทางการส่งเสริมและคุ้มครองที่เป็นจริง สอดคล้องกับบริบท ณ ปัจจุบัน และนำมาตรการที่ชัดเจน อาทิ การกำหนดพระราชบัญญัติส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... และได้นำเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหา คือ (๑) การทบทวนข้อเสนอ หรือความคืบหน้าในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับมติคณะรัฐมนตรี รวมถึงการขับเคลื่อนข้อเสนอทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนการกำหนดเขตพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรม และการจัดตั้งสภาเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (๒) การพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่มีความเหมาะสมต่อวิถีชีวิต และวัฒนธรรม (๓) การติดตาม ประเมินสถานการณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ ชนพื้นเมืองตามมาตรฐานหรือกลไกต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง (อาทิ ICERD)

นอกจากนี้ เวทีเสวนา รัฐธรรมนูญกับเขตการคุ้มครองวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์มีผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น ได้แก่ พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัยพื้นที่ทำกินและพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเล แทนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ผู้แทนเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ผู้แทนศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ผู้แทนมูลนิธิชุมชนไท และผู้แทนเครือข่ายชาวเล โดยร่วมแสดงความเห็นในเรื่อง เขตการคุ้มครองทางวัฒนธรรมของชุมชนชาวเลกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ครอบคลุมในส่วนของการดูแลกลุ่มชาติพันธุ์ และการใช้วิถีวัฒนธรรมในการดูแล ทั้งนี้ ประเด็นที่เห็นโอกาสในการแก้ไข หรือคุ้มครอง ได้แก่ เรื่องการขับเคลื่อนร่างข้อเสนอนโยบาย หรือบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติ (การคุ้มครองเขตทางวัฒนธรรม) การกำหนดนิยามความหมายของชนพื้นเมือง การใช้แนวคิดทางธุรกิจและสิทธิมนุษยชนในการดำเนินงาน การสร้างรูปธรรม หรือโมเดลนำร่อง การจัดทำแผนพัฒนาเชิงรุก (๕ ปี)

ชาวเลหมายถึง กลุ่มชนพื้นเมืองที่มีชีวิตอยู่กับทะเลมานาน มีการสืบทอดภาษา วัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์มาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตาทวด มีประวัติความเป็นมาของกลุ่ม มีความรู้ มีเรื่องเล่าตำนานที่บอกต่อๆ กันจากรุ่นสู่รุ่น แม้จะไม่มีภาษาเขียนเป็นของตนเอง แต่ใช้วิธีบอกเล่าผ่านคำพูด ชาวเลที่เป็นกลุ่มชนพื้นเมืองในประเทศไทยมี ๓ กลุ่ม คือ ชาวมอแกน ชาวมอแกลน และชาวอูรักลาโว้ย ซึ่งชาวต่างชาติเรียกว่าเป็น ยิปซีทะเลซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ต้องได้รับการส่งเสริมสิทธิตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกประติบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of all Forms of Racial Discrimination – CERD) ซึ่งถือเป็นพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งประเทศไทยได้ให้การรับรองโดยการภาคยานุวัติ เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๔๖ และมีผลบังคับใช้ในประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗



© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5375471
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
102
คน