Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ข่าว กสม.
ข่าว View : 385
กสม. จัดงานวันสิทธิมนุษยชนสากล’๖๐ มอบรางวัลนักปกป้องสิทธิมนุษยชน – “ศ.วิทิต มันตาภรณ์” ปาฐกถาพิเศษ ฝาก ๕ แนวคิด ปชช./รัฐร่วมสร้างสังคมประชาธิปไตย ไม่ละเลยวัฒนธรรมท้องถิ่น
วันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๐ ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัด “งานวันสิทธิมนุษยชนสากล ๑๐ ธันวาคม ประจำปี ๒๕๖๐ – ร่วมสร้างสังคมไทยให้เคารพสิทธิมนุษยชน” โดยมีหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และประชาชนเข้าร่วมงานกว่า ๔๐๐ คน

นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเปิดงานว่า งานวันนี้จัดขึ้นเพื่อร่วมรำลึกถึงการประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติมีมติรับรองเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ (ค.ศ. ๑๙๔๘) และได้ถือให้วันที่ ๑๐ ธันวาคมของทุกปีเป็นวันสิทธิมนุษยชน (Human Rights Day) จวบจนวันนี้ ปฏิญญาสากลดังกล่าวจึงถือเป็นเอกสารสิทธิมนุษยชนสำคัญที่แสดงถึงความมุ่งหมายของมวลมนุษยชาติที่จะร่วมกันสร้างความเท่าเทียมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้เกิดขึ้น โดยการจัดงานวันสิทธิมนุษยชนสากลในปีนีเกิดขึ้นภายใต้แนวคิด “ร่วมสร้างสังคมไทยให้เคารพสิทธิมนุษยชน” เนื่องจากถือเป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญด้านสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย ตั้งแต่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ซึ่งบัญญัติให้ กสม. เป็นองค์กรอิสระทำหน้าที่ในการเสริมสร้างทุกภาคส่วนของสังคมให้ตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชน ต่อมาช่วงกลางปีมีการลงนามปฏิญญาความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อขับเคลื่อน “หลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ” และเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา รัฐบาลได้ประกาศเรื่อง “สิทธิมนุษยชน ร่วมขับเคลื่อนไทยแลนด์ ๔.๐ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน“ เป็นวาระแห่งชาติด้วย ทั้งนี้ตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดงานในวันนี้จะทำให้เราทุกคนได้ตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชนและร่วมมือกันสร้างสรรค์วัฒนธรรมการเคารพสิทธิฯ ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างแท้จริง จากนั้นมีปาฐกาถาพิเศษในหัวข้อ “ร่วมสร้างสังคมไทยให้เคารพสิทธิมนุษยชน” โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณวิทิต มันตาภรณ์ อดีตผู้เชี่ยวชาญอิสระว่าด้วยการป้องกันความรุนแรงและเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศของสหประชาชาติ สรุปได้ว่า ปัจเจกและรัฐมีความเกี่ยวข้องกันในเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยรัฐมีหน้าที่ประกันสิทธิให้แก่ประชาชนโดยมีมาตรฐานสากลเป็นตัวชี้วัดภายใต้ฐานคิดที่ต้องไม่ละเลยภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น สำหรับการสร้างสังคมไทยให้เคารพสิทธิฯ ได้นั้น ตนมีข้อคิดฝากไว้ ๕ ข้อ ดังต่อไปนี้
๑) “เริ่มตั้งแต่เด็ก” โดยการช่วยกันส่งเสริมให้เยาวชนได้มีโอกาสทำความดีในฐานะอาสาสมัคร เพื่อให้มีจิตอาสาตั้งแต่เยาว์วัย
๒) “เชื่อมข้ามวัฒนธรรม” เรียนรู้และทำความเข้าใจต่อกันระหว่างวัฒนธรรม ศาสนาและเพศที่หลากหลาย
๓) “ใช้วิธีสันติอหิงสา” เริ่มตั้งแต่การใช้วิธีสั่งสอนเด็กด้วยหลักเหตุผล ให้พลเรือนเป็นผู้นำสังคมโดยไม่ใช่กำลังทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ โดยเคารพการทำงานของเจ้าหน้าที่ในแต่ละบริบท
๔) “เคารพหลักสิทธิมนุษยชน โดยไม่ลืมภูมิปัญญาท้องถิ่น” ประเทศไทยนับได้ว่ามีพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนหลายประการที่ได้รับความชื่นชมจากสหประชาชาติ เช่น การมีแผนสิทธิมนุษยชนระดับชาติ การขจัดความยากจน หรือ การแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ อย่างไรก็ดี ประชาคมโลกยังมีข้อห่วงกังวลต่อประเทศไทยหลายประการ เช่น การละเมิดสิทธิสตรีโดยใช้ความรุนแรง การแสดงออกทางการเมืองภายใต้กฎหมายความมั่นคงที่จำกัดสิทธิหลายฉบับ ซึ่งรัฐควรมีหลักเกณฑ์และดุลยพินิจในการบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้ เช่น การใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ และ ๑๑๖  
๕) “เพิ่มการเชื่อมโยงระหว่างสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย สันติภาพ และการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยสนับสนุนให้ประเทศไทยก้าวสู่ประชาธิปไตยเต็มใบด้วยการเลือกตั้ง และดำเนินการตาม ๑๗ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals – SDGs) ร่วมกับประชาคมโลกด้วย
“ทุกท่านเป็นตัวแปรที่สำคัญในการสร้างสังคมเคารพสิทธิฯ เริ่มจากที่บ้าน ชุมชน สังคม และประเทศชาติ หากทุกท่านร่วมกันเป็นหุ้นส่วนในเรื่องนี้ ย่อมภูมิใจว่าเราได้ร่วมสร้างแสงสว่างเพื่อเพื่อนมนุษย์และลูกหลานของเราต่อไป” นายวิทิตกล่าว

ภายในงาน ยังมีการนำเสนอสรุปสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยประจำปี ๒๕๖๐ การอ่านบทกวีนิพนธ์ เชิดชูเกียรติผู้ได้รับรางวัล โดย นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. ๒๕๓๖ ตามด้วยพิธีมอบรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี ๒๕๖๐ โดยผู้ได้รับรางวัลเกียรติยศ “ผู้อุทิศตนเพื่อสิทธิมนุษยชน” มีจำนวน ๓ ท่าน ได้แก่ ๑) นายโคอิ มีมิ หรือ “ปู่คออี้” ผู้นำจิตวิญญาณแห่งผืนป่าแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ๒) นางสาวศรีสว่าง พั่ววงศ์แพทย์ ผู้ริเริ่มก่อตั้งคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) และ ๓) นายสุแก้ว ฟุงฟู รองประธานสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ส่วนรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปีนี้ มีผู้ได้รับรางวัลทั้งสิ้น ๑๑ ท่าน/องค์กร แบ่งเป็นประเภทบุคคลทั่วไป ประเภทเด็กและเยาวชน ประเภทสื่อมวลชน และประเภทองค์กรเอกชน นอกจากนี้ยังมีการมอบรางวัลผู้ชนะการแข่งขันโต้วาทีสิทธิมนุษยชนภาษาอังกฤษระดับอุดมศึกษาและเป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันโต้วาทีสิทธิมนุษยชนระดับเยาวชนในประชาคมอาเซียน ประจำปี ๒๕๖๐ ด้วย
 


© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5376703
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
1334
คน