Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ข่าว กสม.
ข่าว View : 721
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นประธานเปิดงานสัมมนาวิชาการ “ปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับสัญชาติและสิทธิในความเป็นพลเมืองของรัฐไทย” วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ณ โรงแรมรามาการ์เดนส์ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดงานสัมมนา “ปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับสัญชาติและสิทธิในความเป็นพลเมืองของรัฐไทย” – ภาคประชาสังคมชี้ กม. แก้ปัญหาคนไร้สัญชาติมีปัญหาในทางปฏิบัติ
 
วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๐ เวลา ๐๙.๐๐ น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดงานสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “ปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับสัญชาติและสิทธิในความเป็นพลเมืองของรัฐไทย” จัดโดย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย มูลนิธิไทยเพื่อคนมีปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล และศูนย์ความเป็นเลิศด้านนโยบายสาธารณะและธรรมาภิบาล เยอรมัน-อุษาคเนย์ ภาคีเครือข่าย โดยมีนายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ นางอังคณา นีละไพจิตร นางเตือนใจดีเทศน์ นายชาติชาย สุทธิกลม  กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้บริหารสำนักงาน กสม. เฝ้ารับเสด็จ ณ โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ

นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถวายรายงานใจความว่า นับแต่ปี ๒๕๔๕ เป็นต้นมา กสม. ตรวจสอบคำร้องประเด็นสิทธิสถานะบุคคลประมาณ ๓๐๐ เรื่อง โดยพบว่า กลุ่มชาติพันธุ์ส่วนหนึ่งต้องประสบปัญหาการไม่มีสถานะบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถูกจำหน่ายรายชื่อและรายการบุคคลออกจากทะเบียนราษฎร กสม. ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหานี้ ที่ผ่านมาจึงมีการศึกษาวิจัยในเรื่องดังกล่าวและดำเนินการแก้ปัญหามาอย่างต่อเนื่อง การสัมมนาวิชาการในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นจากเจ้าหน้าที่รัฐและภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป

ต่อมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัสเปิดการสัมมนาว่า มีความยินดีที่ได้มาเปิดงานสัมมนาในวันนี้ โดยที่ผ่านมาแม้รัฐบาลไทยจะพยายามแก้ปัญหาสิทธิสถานะบุคคล แต่คนบางกลุ่มยังคงประสบปัญหาการไร้สถานะ ไร้สัญชาติ ทำให้ประสบปัญหาการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานด้านต่าง ๆ ทุกภาคส่วนจึงควรช่วยกันหามาตรการแก้ปัญหาเหล่านี้โดยมิให้ลิดรอนสิทธิของประชาชนและให้เป็นไปตามหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ไทยเป็นภาคี หลังจากนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงร่วมรับฟังการบรรยาย ทอดพระเนตรนิทรรศการเรื่องสถานะบุคคล ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับ

ในช่วงบ่ายของเวที มีการรับฟังปัญหาคนไร้รัฐจากภาคประชาชน และมีการอภิปรายเรื่อง “ปัญหาและแนวทางการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับสถานะของบุคคลในประเทศไทย : กฎหมายเกี่ยวกับสัญชาติ กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และกฎหมายเกี่ยวกับทะเบียนราษฎร” โดย ผู้แทนหน่วยงานรัฐภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

นายวีนัส สีสุข ผู้แทนกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสถานะบุคคลของไทย ประกอบด้วยกฎหมาย ๓ ฉบับ ได้แก่ กฎหมายการทะเบียนราษฎร กฎหมายคนเข้าเมือง และกฎหมายสัญชาติ โดยคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่ประสบปัญหาสิทธิสถานะบุคคล ได้แก่ ๑) กลุ่มที่ไม่มีเอกสารแสดงตนว่าเป็นคนของรัฐใด โดยมีแนวทางแก้ไข เช่น การแจ้งเกิด การเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร ๒) กลุ่มคนที่ไม่มีสิทธิในการอาศัยอยู่ในประเทศไทยซึ่งไม่เป็นไปตามที่กฎหมายคนเข้าเมืองให้การอนุญาต ๓) กลุ่มที่ลี้ภัยเข้ามายังราชอาณาจักรไทยมาเป็นเวลานานโดยรัฐไทยผ่อนผันให้อยู่ได้ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ เช่น กรณีการหนีภัยสงครามของกลุ่มเวียดนามอพยพ ซึ่งรัฐไทยไม่สามารถส่งกลับได้ นอกจากนี้ยังมีกรณีปัญหาของเด็กที่เกิดในราชอาจักรไทย แต่บิดามารดาไม่ใช่คนไทยจึงทำให้ไม่ได้รับสัญชาติไทย อย่างไรก็ดี กฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันมีหลักเกณฑ์ที่เปิดโอกาสให้คนที่เกิดในประเทศไทยได้เข้าถึงกลไกการได้สัญชาติไทยแล้ว ทั้งนี้ยอมรับว่าการพิจารณาให้สถานะบุคคลกับคนกลุ่มใดของรัฐไทยขึ้นอยู่กับการพิจารณาเรื่องสถานการณ์ความมั่นคงในประเทศด้วย

นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศ กล่าวว่า หากมองในแง่พันธะกรณีระหว่างประเทศต่อการแก้ปัญหาสิทธิสถานะบุคคล พบว่า ไทยไม่ได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาที่เกี่ยวข้องกับคนไร้รัฐไร้สัญชาติเช่นเดียวกับที่ประเทศในแถบเอเชียส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าร่วม อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาหลายฉบับ เช่น อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก กติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งได้กล่าวถึงสิทธิการได้สัญชาติและสิทธิการจดทะเบียนเกิด ประกอบกับที่ผ่านมาไทยมีการดำเนินการจดทะเบียนเด็กแรกเกิดในประเทศได้เป็นจำนวนมากทำให้ไทยได้รับความชื่นชมจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ อย่างไรก็ดี ไทยควรมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าว

นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า พี่น้องชาวเขาและกลุ่มชาติพันธุ์ได้อาศัยอยู่ตามแนวชายแดนภาคเหนือและภาคตะวันตกมายาวนาน บางแห่งนับร้อยปี ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จเยี่ยมชุมชนในถิ่นทุรกันดารและพระราชทานความช่วยเหลือด้านการศึกษา อาชีพ และคุณภาพชีวิตตลอดมา ซึ่งรัฐบาลได้สนองพระปณิธานโดยการตรากฎหมายและกำหนดนโยบายที่ก้าวหน้าในการพัฒนาสถานะบุคคลและสวัสดิการ แต่ยังมีปัญหาในระดับปฏิบัติ เจ้าหน้าที่บางส่วนไม่เข้าใจกฎหมาย มีการใช้ดุลยพินิจที่สร้างภาระแก่ชาวบ้าน หรือชาวบ้านให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ มีการร่วมมือกันทุจริต และบางพื้นที่มีการอพยพเข้ามาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติหลงเหลืออยู่ จำเป็นต้องมีการทบทวนการบังคับใช้กฎหมายทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พระราชบัญญัติสัญชาติ พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ให้ครอบคลุมกลุ่มประชากรเป้าหมายอย่างทั่วถึง สามารถแก้ปัญหาคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติได้อย่างเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับเสียงสะท้อนจากภาคประชาชนในเวทีถึงปัญหาต่อการเข้าถึงกลไกการได้สถานะบุคคลซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเพราะขาดความรู้ความเข้าใจ ขาดการใช้ดุลยพินิจที่ถูกต้อง หรือแม้กระทั่งการไม่กล้าปฏิบัติตามกฎหมายเพราะต้องรอการสั่งการจากผู้บังคับบัญชาก่อน เป็นต้น โดยเสนอให้มีการทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานอย่างเป็นรูปธรรมโดยร่วมมือกับภาคประชาสังคมในการแก้ไขปัญหาต่อไป

อนึ่ง ประเทศไทยมีนโยบายและกฎหมายที่มุ่งแก้ปัญหาความไร้รัฐ ไร้สัญชาติ อย่างต่อเนื่อง โดยกฎหมายกำหนดให้รัฐไทยต้องรับรองความเป็นบุคคลแก่บุคคลทุกคนที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทย กล่าวคือ หากบุคคลนั้นเกิดในประเทศไทย (ให้ดำเนินการจดทะเบียนการเกิด) อาศัยอยู่ (ให้จดทะเบียนบ้าน หรือทะเบียนประวัติ) หรือเสียชีวิต (ให้ออกใบมรณะบัตร) อย่างไรก็ดีในทางปฏิบัติยังประสบปัญหา เช่น ในบางพื้นที่เจ้าหน้าที่ยังคงปฏิเสธการจดทะเบียนเกิดให้แก่บุคคลที่เกิดในรัฐไทย ยังมีคนไร้รัฐซึ่งไม่ทราบจำนวน บางกรณีแม้บุคคลจะไม่ไร้รัฐ แต่ก็ไม่มีสิทธิอาศัยหรือได้รับอนุญาตให้อาศัยในรัฐไทย นอกจากนี้ยังมีปัญหาการระงับการเคลื่อนไหวทางทะเบียนราษฎร หรือการจำหน่ายชื่อและรายการบุคคลออกจากทะเบียนราษฎรโดยไม่มีการแจ้งหรือเปิดโอกาสให้บุคคลเป้าหมายได้ชี้แจง ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันนับตั้งแต่การแจ้งเกิดบุตร การทำนิติกรรม ธุรกรรมต่าง ๆ และขาดเอกสารที่จะใช้สมัครงาน ฯลฯ


© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5397861
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
94
คน