Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ข่าว กสม.
ข่าว View : 789
พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จเป็นประธานเปิดงานสัมมนาวิชาการ “การลงโทษทางอาญากับหลักสิทธิมนุษยชน” วันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๖๐ ณ โรงแรมรามาการ์เดนส์ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ
พระองค์ภาฯ เสด็จเป็นประธานเปิดงานสัมมนาวิชาการ “การลงโทษทางอาญากับหลักสิทธิมนุษยชน” - นักวิชาการเสนอกำหนดโทษอาญาให้เหมาะกับฐานความผิด แก้ปัญหาคุกล้น - คืนคนดีสู่สังคม

วันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๖๐ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดโครงการสัมมนาวิชาการหัวข้อ “การลงโทษทางอาญากับหลักสิทธิมนุษยชน” จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย กระทรวงยุติธรรม สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย และมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา โดยมีนายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นางฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ นางอังคณา นีละไพจิตร นางเตือนใจดีเทศน์ นายชาติชาย สุทธิกลม  กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้บริหารสำนักงาน กสม. เฝ้ารับเสด็จ ณ โรงแรมรามาการ์เดนส์ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ

นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถวายรายงานใจความว่า นับแต่ปี ๒๕๔๕ เป็นต้นมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนควบคู่กับการส่งเสริมและสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการจับกุมขังบุคคล ซึ่งมีผลให้บุคคลสูญเสียสิทธิในการเดินทางอย่างอิสระเสรี อันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่ง โดยที่กระบวนการดังกล่าวต้องมีกฎหมายรองรับอย่างชัดเจน และมิอาจกระทำได้โดยพลการตามหลักของกฎบัตรสากล รวมไปถึง “โทษประหารชีวิต” อันเป็นสิทธิในชีวิต “ที่ไม่อาจลดทอน” หรือเป็น “สิทธิที่ไม่อาจระงับชั่วคราวได้” (Non-Derogable Rights) ด้วย

ปัจจุบันการอำนวยความยุติธรรมในการลงโทษทางอาญาของประเทศไทยมีพัฒนาการที่ควรแก่การสำรวจความเคลื่อนไหวว่า มีความสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนมากน้อยเพียงใด เช่น การที่จำนวนผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของไทยที่ยังคงมีจำนวนมากติดอันดับกลุ่มประเทศ ๑ ใน ๔ ของโลกที่กฎหมายยังไม่ยกเลิกโทษประหารชีวิต นอกจากนี้ยังมีกรณีการเพิ่มบทลงโทษทางอาญาในคดีอื่น ๆ นอกเหนือไปจากคดียาเสพติดที่ให้โทษมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย การสัมมนาวิชาการในครั้งนี้ จึงจัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของนักวิชาการทั้งชาวไทยและฝรั่งเศส เพื่อผลักดันข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการลงโทษทางอาญารัฐบาลต่อไป

พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงมีพระราชดำรัสเปิดการสัมมนาว่า มีความยินดีที่ได้มาร่วมในพิธีเปิดสัมมนาทางวิชาการครั้งนี้ ทั้งนี้ เพราะสิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่บุคคลพึงมีได้ตามกฎหมาย หากกระบวนการยุติธรรมของไทยมีกระบวนการลงโทษที่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนแล้ว ผู้กระทำความผิดก็ย่อมได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสม สามารถกลับมาเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพต่อชาติบ้านเมืองได้

ฯพณฯ จิลล์ การาชง เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย กล่าวปาฐกถานำ สรุปว่า การยกเลิกโทษประหารชีวิตในประเทศฝรั่งเศส มีประวัติการต่อสู้ที่ยาวนาน ย้อนไปตั้งแต่ยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการซึ่งในขณะนั้นโทษประหารชีวิตเป็นระบบหลักที่ใช้ในการตัดสินการกระทำต่าง ๆ และมีบางคดีเช่นการประหารชีวิต ฌ็อง กาลาซ์ ใน ค.ศ. ๑๗๖๐ เป็นที่กังขาแก่สาธารณะถึงความไม่เป็นธรรม นำไปสู่รณรงค์ทั้งเชิงวิชาการและสังคมให้มีการปฏิรูประบบตัดสินความผิดทางอาญา ก่อให้เกิดปรัชญาว่าด้วยการลงโทษหรือทัณฑวิทยา รวมทั้งแนวคิดเรื่องความได้สัดส่วนความหนักเบาของการกระทำความผิดมากำหนดอัตราการลงโทษ และยังมีการเสนอให้ใช้ระบบการกักขังและปฏิบัติต่อนักโทษอย่างเป็นมนุษย์ให้มากขึ้นด้วย กระทั่งฝรั่งเศสเข้าสู่การปฏิวัติใหญ่เมื่อ ค.ศ. ๑๗๘๙ นักปฏิวัติได้นำแนวคิดดังกล่าวมาวางรากฐานของการปฏิรูป เริ่มด้วยการออกประมวลกฎหมายอาญาฉบับแรกใน ค.ศ. ๑๘๑๐ การต่อสู้เรื่องการยกเลิกโทษประหารชีวิตยังคงดำเนินต่อมากระทั่งสิ้นสุดระบอบกษัตริย์ จนเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๘๑ มิเชล ฟูโกลด์ นักปรัชญาคนสำคัญของโลกได้สรุปประเด็นข้อถกเถียงเรื่องโทษประหารชีวิตไว้ในหนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่ง ซึ่งนับเป็นข้อเสนอให้ยกเลิกโทษประหารอย่างแท้จริง ๑๘ กันยายน ค.ศ. ๑๙๘๑ สภาผู้แทนราษฎรฝรั่งเศสได้ลงมติด้วยเสียงข้างมากให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในที่สุด จะเห็นได้ว่า ทั้งที่มีความพยายามต่อสู้เรียกร้องในเรื่องนี้มายาวนาน แต่ฝรั่งเศสก็เกือบจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศลำดับสุดท้ายในยุโรปที่ยึดหลักคุณค่ามนุษยชาติเป็นสำคัญ และขณะนี้ทั่วโลกกำลังรอการตัดสินใจของท่านอยู่

ในงานสัมมนา ยังมีปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การลงโทษทางอาญากับหลักสิทธิมนุษยชน” โดย ศาสตราจารย์พิเศษ กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม สรุปว่า กฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่มีไว้เพื่อดำเนินการกับพฤติกรรมที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม ซึ่งโยงไปถึงการลงโทษทางอาญาอันเป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคล การใช้โทษทางอาญามีข้อสังเกตและข้อควรระวังสำคัญ เช่น กฎหมายอาญามิใช่ทางเลือกเดียวในการใช้บังคับกำกับพฤติกรรมของคนในสังคม แต่เมื่อเลือกนำมาใช้แล้ว รัฐธรรมนูญได้ระบุไว้ชัดเจนว่า จะต้องใช้กับความผิดร้ายแรงเท่านั้น เนื่องจากเป็นกฎหมายที่กระทบสิทธิในชีวิตของบุคคล อย่างไรก็ดี นอกจากประเทศไทยจะใช้มาตรการทางอาญามากแล้ว ยังนิยมการลงโทษทางอาญาที่รุนแรงเกินสมควรเพื่อสังคมสร้างความอบอุ่นใจให้กับประชาชน สวนทางกับข้อมูลทางวิชาการที่ระบุว่า ความรุนแรงของการลงโทษไม่ได้มีผลต่อพฤติกรรมเท่ากับความแน่นอนของการลงโทษแต่อย่างใด ทั้งนี้ตนเห็นว่าทางเลือกในการกำกับพฤติกรรมคนยังมีอีกหลากหลายรูปแบบ เช่น การใช้มาตรการทางปกครอง การใช้มาตรการคุมประพฤติ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการที่ทำให้ผู้กระทำผิดได้สำนึก มีโอกาสในการดำเนินชีวิตและพัฒนาตัวเอง โดยที่ไม่หวนมากระทำผิดซ้ำเพราะไร้หนทางอีก

รองศาสตราจารย์ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยายพิเศษในประเด็นดังกล่าว สรุปว่า โทษทางอาญาของไทยควรพัฒนาไปสู่แนวคิดการกำหนดโทษให้เหมาะสมกับสัดส่วนความผิดในแต่ละฐาน โดยใช้เกณฑ์การแบ่งอาชญากรออกเป็น อาชญากรใหญ่ หรือตัวการที่สร้างผลกระทบต่อรัฐ และอาชญากรเล็กที่สร้างผลกระทบต่อผู้เสียหายมากกว่ารัฐ โดยคำนึงถึงเหตุภาววิสัย (พฤติการณ์ของความผิด) และเหตุอัตวิสัย (ลักษณะส่วนตัวของผู้กระทำความผิด) ในการลงโทษควบคู่กัน เนื่องจากที่ผ่านมาศาลไทยมีแนวทางการพิจารณาโทษโดยคำนึงถึงเหตุภาววิสัยเท่านั้น เช่น ในคดียาเสพติดซึ่งผู้กระทำผิดประกอบด้วยผู้มีบทบาทหลายส่วน ทั้งผู้ผลิต ผู้ขนส่ง ผู้ขายรายใหญ่ ผู้ขายรายย่อย หรือ ผู้เสพ ซึ่งนอกจากจะมีบทบาทต่างกันแล้ว ยังมีความต่างกันด้านสถานะทางสังคมด้วย แต่การลงโทษผู้กระทำผิดทุกคนเท่ากันจากพฤติการณ์ของความผิดเช่นเดียวกัน เช่น ดูจากจำนวนยาเสพติดที่ครอบครอง ย่อมทำให้ผู้กระทำผิดทุกราย ไม่ว่ารายเล็กหรือรายใหญ่ ไม่มีโอกาสได้รับการฟื้นฟูแก้ไข นำไปสู่ปัญหาปริมาณนักโทษล้นเรือนจำ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้ต้องขังมากที่สุดเป็นอันดับที่ ๖ ของโลก คิดเป็นจำนวนผู้ต้องขัง ๔๔๕ คน ต่อ ประชากร ๑๐๐,๐๐๐ คน และส่วนใหญ่เป็นผู้ต้องขังในคดียาเสพติด ทั้งนี้ ตนเสนอให้ในการทำสำนวนสอบสวนมีการสืบเหตุอัตวิสัย เช่น ประวัติ สถานะเศรษฐกิจ และที่มาแห่งการกระทำผิดเพื่อให้ทราบว่าบุคคลนั้นเป็นตัวการสำคัญหรือตัวประกอบแห่งความผิด เพื่อสร้างการลงโทษที่เป็นธรรม และสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากลที่เน้นให้ผู้กระทำผิดได้รับโอกาสฟื้นฟูแก้ไขตนและกลับเป็นคนดีของสังคมต่อไป

ในงานสัมมนาดังกล่าว ยังมีการอภิปราย เรื่อง “มุมมองจากองค์กรพัฒนาเอกชนและภาคประชาสังคมต่อโทษประหาร” โดยผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคมไทยและต่างประเทศ สรุปว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศแถบอาเซียน ที่ยังคงโทษประหารชีวิต แต่ไม่มีการบังคับใช้โทษประหารแล้วมาเป็นเวลา ๘ ปี หากครบ ๑๐ ปี ก็จะถือว่าเป็นประเทศที่ไม่มีโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ อย่างไรก็ดี แม้ว่าคนไทยส่วนใหญ่กว่าร้อยละ ๗๐ ยังคงเห็นด้วยกับโทษประหารชีวิต แต่มีแนวโน้มที่จะไม่เห็นด้วยกับโทษประหารมากขึ้น เมื่อได้รับทราบข้อมูลเรื่องสิทธิในชีวิตอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่า การประหารชีวิตนั้นไม่ได้มีความสัมพันธ์ต่อการลดจำนวนอาชญากรรม แต่การคงโทษประหารชีวิตกลับเป็นสิ่งเร้าไปสู่ความรุนแรงในการก่ออาชญากรรม เช่น การที่อาชญากรตัดสินใจฆ่าเหยื่อทิ้งเพื่อป้องกันการถูกซักทอดความผิดอันนำไปสู่การรับโทษประหาร นอกจากนี้ยังพบว่า อาชญากรมักมีพื้นฐานมาจากความยากจน ซึ่งความเหลื่อมล้ำและขาดโอกาสทางสังคมนี้ เป็นสาเหตุหลักของการก่ออาชญากรรมที่สังคมควรร่วมกันแก้ไขมากกว่าการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุด้วยการประหารชีวิต

นอกจากนี้ ในงานดังกล่าว ยังมีการนำเสนอวีดิทัศน์การรณรงค์เกี่ยวกับเรื่องโทษประหารในประเทศฝรั่งเศส รวมทั้งการอภิปราย เรื่อง “มุมมองจากศาสนิกต่อโทษประหาร” โดยผู้แทนศาสนาต่าง ๆ ซึ่งสรุปได้ว่า ศาสนาทุกศาสนาต่างเห็นว่าชีวิตมนุษย์คือสิ่งมีค่า และควรได้รับการพัฒนา อย่างไรก็ดีบางศาสนายังมีหลักที่อิงกับกระบวนการยุติธรรมให้มีการประหารชีวิตในความผิดร้ายแรงได้ แต่การลงโทษประหารนั้นจะต้องได้รับการพิสูจน์ความผิดที่แน่ชัดเสียก่อน
 
 
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๑๘ ธันวาคม ๒๕๖๐
 
 


© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5375128
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
1979
คน