Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ผลการดำเนินงาน View : 695
คำชี้แจงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ 1/2563 กรณีรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประจำปี 2562 ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
คำชี้แจงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ที่ ๑/๒๕๖๓
กรณีรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประจำปี ๒๕๖๒ 
ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
 
       ตามที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เผยแพร่เอกสารรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประจำปี ๒๕๖๒ (Human Rights in Asia-Pacific: Review of 2019) เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๖๓ ซึ่งมีการนำเสนอสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยในช่วงปี ๒๕๖๒ นั้น
       คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พิจารณาแล้วเห็นว่า รายงานดังกล่าวมีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม และเห็นควรจัดทำคำชี้แจงหรือรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป ตามหน้าที่และอำนาจที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๔๗ (๔) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๒๖ (๔) และมาตรา ๔๔ ในประเด็นดังต่อไปนี้
       ๑. ประเด็นเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุมอย่างสงบ การสมาคม และสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว
           ๑.๑ กรณีที่รายงานว่าสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านถูกดำเนินคดีหลายข้อหา ขณะที่หัวหน้าพรรคถูกเพิกถอนสิทธิการดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกรัฐสภา ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นการกระทำที่มีแรงจูงใจทางการเมือง ทางการยังมองหาแนวทางที่จะยุบพรรคดังกล่าว หลังจากเคยยุบพรรคไทยรักษาชาติมาแล้วเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๒
           ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ หมวด ๑๑ การเพิกถอนสิทธิของบุคคลดังกล่าวเป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ ๑๔/๒๕๖๒ ลงวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่สิ้นสุดลง เนื่องจากเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๑๐๑ (๖) ประกอบมาตรา
๙๘ (๓) โดยการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๘๒ วรรคหนึ่งและวรรคสี่ ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๗ (๕)
           ๑.๒ กรณีที่รายงานว่าทางการคุกคามบุคคลซึ่งวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์หรือหน่วยงานของกองทัพ ในหลายกรณีได้บังคับให้พวกเขาลบหรือถอนคําพูดหรือให้เซ็นเซอร์ตัวเอง รัฐบาลยังกดดันบรรดาผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียให้จํากัดการเข้าถึงเนื้อหาดังกล่าวจากภายในประเทศไทย นักการเมืองและนักกิจกรรมทางการเมืองระบุว่า ตนตกเป็นเหยื่อการติดตามตัวและการคุกคามโดยเจ้าหน้าที่ทหาร รวมทั้งระหว่างที่มีการเลือกตั้งและก่อนพิธีพระบรมราชาภิเษก
           ประเทศไทยมีกฎหมายที่คุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ และประมวลกฎหมายอาญา โดยการพิจารณาผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามกฎหมายดังกล่าวเป็นอำนาจของศาลยุติธรรมซึ่งจะต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงแต่ละกรณีและบทบัญญัติของกฎหมายประกอบกัน การปฏิบัติหน้าที่ของศาลต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม โดยบุคคลที่ถูกกล่าวหาจะได้รับการคุ้มครองสิทธิในกระบวนการพิจารณาคดีตามที่บัญญัติไว้
ทั้งในรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
       ๒. ประเด็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
       กรณีที่รายงานว่าระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม ๒๕๖๒ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนคำสั่งศาลชั้นต้นจำคุกเกษตรกรหญิง ๑๔ คนเป็นเวลาสูงสุดถึง ๑๐ ปี ในคดีที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง จังหวัดชัยภูมิฟ้องร้องข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่า
       กรณีราษฎรในเขตอุทยานแห่งชาติไทรทอง จังหวัดชัยภูมิ ถูกดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกเขตอุทยานแห่งชาตินั้น ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาว่าราษฎรซึ่งมีทั้งชายและหญิงรวม ๑๔ รายมีความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ ความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ ความผิดต่อพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ ซึ่งโทษจำคุกที่แต่ละรายได้รับนั้น พบว่ารายที่ได้รับโทษจำคุกต่ำสุดคือจำคุก ๔ เดือน ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓ คดีหมายเลขแดงที่ ๑๐๔๘/๒๕๖๒ ลงวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๒ และรายที่ได้รับโทษจำคุกสูงสุดคือจำคุก ๔ ปี ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓ คดีหมายเลขแดงที่ ๑๒๙๗/๒๕๖๒ ลงวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๖๒ โดยไม่มีกรณีใดที่จำเลยได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์สูงสุดถึง ๑๐ ปี    
       ๓. ประเด็นผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัย
           กรณีที่รายงานว่าผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยยังคงเสี่ยงที่จะถูกจับกุม ควบคุมตัวและส่งกลับ เนื่องจากไม่มีสถานภาพตามกฎหมายไทย กระบวนการขั้นตอนในการพิจารณากำหนดสถานะบุคคล
เข้าเมืองที่ทางราชการประกาศในเดือนมกราคม ๒๕๖๐ ได้ประกาศใช้ในช่วงปลายปี ๒๕๖๒

           กรณีนี้ปัจจุบันรัฐบาลไทยได้มีการประกาศใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ พ.ศ. ๒๕๖๒ เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๒ ซึ่งจะมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด ๑๘๐ วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (คือ วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๖๓) เป็นต้นไป ระเบียบดังกล่าวกำหนดให้มีคณะกรรมการพิจารณาคัดกรองผู้ได้รับการคุ้มครอง ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดหลักเกณฑ์และพิจารณาคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาหรืออยู่ในราชอาณาจักรและไม่สามารถหรือไม่สมัครใจที่จะเดินทางกลับไปยังประเทศอันเป็นภูมิลำเนาของตนเนื่องจากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจะได้รับอันตรายจากการถูกประหัตประหาร ให้มีสถานะเป็นผู้ได้รับการคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยบุคคลดังกล่าวจะไม่ถูกส่งตัวกลับประเทศและได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราว รวมทั้งได้รับการดูแลด้านการสาธารณสุขและการศึกษา (กรณีที่ผู้ได้รับการคุ้มครองเป็นเด็ก) ตามสมควรด้วย
       จึงชี้แจงมาเพื่อทราบทั่วกัน
ตามเอกสารแนบ

27/04/2563

© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5398133
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
366
คน