Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ผลการดำเนินงาน View : 585
แถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เรื่อง ข้อห่วงใยต่อสถานการณ์การชุมนุม ในวันที่ 19 กันยายน 2563
            ตามที่ปรากฏสถานการณ์การชุมนุมและเรียกร้องทางการเมืองของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นมา และกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมได้เผยแพร่ข่าวว่าจะจัดกิจกรรมชุมนุมทางการเมืองในวันที่ 19 กันยายน 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นั้น
            คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ติดตามสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง และมีความห่วงใยเป็นอย่างยิ่งว่า การใช้เสรีภาพในการชุมนุม การแสดงความคิดเห็น และการเคลื่อนไหวทางการเมืองในมุมมองที่แตกต่างกัน สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์การละเมิดกฎหมายที่มีความรุนแรงและส่งผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน กสม. จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงหลักสิทธิมนุษยชนและแนวทางปฏิบัติสากลที่เกี่ยวข้องกับการใช้เสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงความคิดเห็น รวมถึงการจัดการการชุมนุมให้เป็นไปด้วยความสงบและสันติวิธี ดังนี้
            1. การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ และการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น เป็นสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานอันได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเป็นภาคี การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธจะกระทำมิได้ รัฐพึงงดเว้นการเข้าแทรกแซงด้วยประการใด ๆ และดูแลอำนวยความสะดวกตามสมควรแก่ประชาชน อย่างไรก็ตาม การใช้เสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นจะต้องเป็นไปโดยสงบเรียบร้อย และคำนึงถึงการเคารพสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น เนื่องจากเสรีภาพในเรื่องดังกล่าว มิใช่เป็นเสรีภาพที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองไว้อย่างบริบูรณ์ แต่อาจถูกจำกัดได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น  หรือป้องกันสุขภาพของประชาชน ตามนัยมาตรา 34 และมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช  2560 ซึ่งมีสาระสำคัญที่สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 19 และข้อ 21
            2. เพื่อให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนดังกล่าวข้างต้น กสม.จึงมีข้อเสนอแนะ ดังนี้
                2.1 รัฐบาล หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง
                     (1) ควรวางนโยบายและมาตรการที่ชัดเจนในการรักษาความสงบเรียบร้อยและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ อาทิ การจัดสถานที่และบริการขั้นพื้นฐาน การจัดจราจร และการดูแลความปลอดภัยของผู้ชุมนุม การจำกัดการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นอันเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย ควรถือเป็นข้อยกเว้นที่พึงกระทำเฉพาะในกรณีจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ภายในกรอบของกฎหมายเท่านั้น และไม่ควรมีการสร้างเงื่อนไขอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความรุนแรง
                     (2) ควรหลีกเลี่ยงการใช้กำลังในการรักษาความสงบเรียบร้อยในการชุมนุม หากมีความจำเป็นที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ที่จะต้องใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อยุติเหตุการณ์การละเมิดกฎหมายและมีความรุนแรงอันอาจเกิดขึ้นในการชุมนุม ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับความจำเป็นและความได้สัดส่วน โดยจะต้องกำหนดให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวประกาศเตือนให้ผู้ชุมนุมได้ทราบล่วงหน้าอย่างชัดแจ้ง รวมถึงชี้แจงถึงเหตุผลความจำเป็นที่ต้องมีการนำมาตรการนั้น ๆ มาใช้
                     (3) ควรนำหลักการสำคัญ 10 ประการสำหรับการจัดการการชุมนุมอย่างเหมาะสม (10 Principles for the proper management of assemblies) ที่จัดทำโดยผู้เสนอรายงานพิเศษแห่งองค์การสหประชาชาติมาปรับใช้ตามสมควรแก่กรณี อาทิ รัฐต้องเคารพและดูแลสิทธิทุกประการของผู้ที่เข้าร่วมในการชุมนุม การจำกัดการชุมนุมโดยสันติใด ๆ ต้องเป็นไปตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล การเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมจะต้องไม่แทรกแซงสิทธิในความเป็นส่วนตัวหรือสิทธิอื่น ๆ ที่กฎหมายไม่อนุญาตให้ทำได้ เป็นต้น
                2.2 ผู้จัดการชุมนุมและผู้ใช้เสรีภาพในการชุมนุม
                     (1) ผู้จัดการชุมนุมและผู้ใช้เสรีภาพในการชุมนุมควรตระหนักว่า เสรีภาพในการชุมนุมมิใช่เป็นเสรีภาพที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองไว้อย่างบริบูรณ์ และพึงใช้เสรีภาพดังกล่าวด้วยความระมัดระวังให้อยู่ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ มีการจัดระบบการควบคุมดูแลการชุมนุมให้เป็นไปโดยสงบเรียบร้อย ป้องกันมิให้เกิดความรุนแรงหรือสร้างเงื่อนไขที่อาจทำให้เกิดความรุนแรง รวมทั้งคำนึงถึงการเคารพสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น
                     (2) ผู้จัดการชุมนุมและกลุ่มผู้ชุมนุมควรมีหน้าที่ร่วมกัน ทำให้การชุมนุมเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ โดยยึดถือหลักสิทธิมนุษยชนและแนวทางสันติวิธี หลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำที่มีลักษณะยั่วยุให้มีการใช้ความรุนแรง สร้างความเกลียดชังหรือคุกคามต่อผู้มีความเห็นต่าง
                2.3 สื่อมวลชนและประชาชนทุกภาคส่วน
                     (1) สื่อมวลชนควรนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นจริง ครบถ้วนรอบด้าน เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ อย่างเป็นอิสระ เที่ยงตรง ระมัดระวังไม่ให้มีการเสนอข่าว หรือการแสดงความเห็น หรือเนื้อหาใด ๆ ที่จะทำให้เกิดความเกลียดชังหรือยั่วยุให้เกิดความรุนแรง
                     (2) ประชาชนทุกภาคส่วนควรติดตามสถานการณ์อย่างรอบด้าน โดยรับฟังข้อมูลข่าวสารจากกลุ่มต่าง ๆ ที่แสดงความคิดเห็นและการแสดงออกซึ่งความเชื่อและความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกันอย่างระมัดระวัง และเคารพในสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกที่แตกต่างกันของทุกฝ่าย
            หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะพึงตระหนักและเคารพสิทธิมนุษยชนซึ่งกันและกันอย่างเคร่งครัด ตลอดจนแสวงหาแนวทางหรือจัดให้มีกระบวนการเพื่อหาข้อสรุปอันเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายตามแนวทางสันติวิธี อันสอดคล้องกับวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย โดยคำนึงถึงประโยชน์และความสงบสุขของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ
ตามเอกสารแนบ

17/09/2563

© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5375379
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
10
คน