Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ผลการดำเนินงาน View : 93
ประธาน กสม. ขอให้รัฐบาลผ่อนปรนการชุมนุมทางการเมือง นายวัส ติงสมิตร ประธาน กสม. ขอให้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐคลี่คลายปัญหาการชุมนุม โดยสงบและปราศจากอาวุธ อย่างละมุนละม่อม และแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการห้ามชุมนุม ทางการเมืองให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของบ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปสู่การเลือกตั้ง ส.ส.
ประธาน กสม. ขอให้รัฐบาลผ่อนปรนการชุมนุมทางการเมือง
                นายวัส ติงสมิตร ประธาน กสม. ขอให้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐคลี่คลายปัญหาการชุมนุม
โดยสงบและปราศจากอาวุธ อย่างละมุนละม่อม และแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการห้ามชุมนุม
ทางการเมืองให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของบ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปสู่การเลือกตั้ง ส.ส.
                เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๑ อันเป็นวาระครบ ๔ ปี ในการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้กล่าวถึง ๔ ปี คสช. กับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ต่อกรณีที่ “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” เรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ภายในปลายปี ๒๕๖๑ ว่า “เป็นกรณีที่ผู้ชุมนุมได้แจ้งการชุมนุมต่อเจ้าพนักงานตำรวจผู้รับผิดชอบตาม พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ๒๕๕๘ แล้ว แต่ตำรวจกำหนดเงื่อนไขไว้โดยห้ามจัดการชุมนุมทางการเมือง และห้ามเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมในลักษณะที่ขัดต่อกฎหมาย”
                “ผู้ชุมนุมได้ฟ้องต่อศาลปกครองกลางขอให้ยกเลิกเงื่อนไขการชุมนุม อำนวยความสะดวกให้
ผู้ชุมนุมเดินเท้าจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ไปยังทำเนียบรัฐบาล รวมทั้งให้ชดใช้ค่าเสียหาย แต่ศาลปกครองกลางไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา” นายวัสกล่าว
                ประธาน กสม. กล่าวต่อว่า “ ตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ มาตรา ๔๔ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ แต่มีข้อยกเว้นอยู่ ๔ ข้อ ที่รัฐจะจำกัดเสรีภาพดังกล่าวได้ คือ เพื่อรักษา
(๑) ความมั่นคงของรัฐ (๒) ความปลอดภัยสาธารณะ (๓)ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
และ (๔) เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น ซึ่งสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วย
สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR ที่ไทยเป็นภาคี) ข้อ ๒๑”
                “พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ๒๕๕๘ ไม่ใช้กับการชุมนุมภายในสถานศึกษา การจัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมี ๑๕๐ เมตรจากพระราชวัง หรือภายในพื้นที่ของรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล และศาลจะกระทำไม่ได้ ในกรณีจำเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายมีอำนาจประกาศห้ามชุมนุมในรัศมีไม่เกิน ๕๐ เมตร รอบรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล และศาลได้ และที่น่าสังเกตคือกฎหมายฉบับนี้ออกมาโดยอ้างว่า สมควรกำหนดหลักเกณฑ์การใช้สิทธิชุมนุมสาธารณะให้ชัดเจนและสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศ
ว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่ไทยเป็นภาคี” ประธาน กสม. กล่าว
                “สำหรับคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๓/๒๕๕๘ ออกมาใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๘ อันเป็นเวลาหลังการรัฐประหารไม่นาน โดยห้ามมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ ๕ คนขึ้นไป เว้นแต่เป็น
การชุมนุมที่ได้รับอนุญาต ผู้ฝ่าฝืนมีโทษทางอาญา (จำคุกไม่เกิน ๖ เดือน หรือปรับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ) บัดนี้การรัฐประหารได้ล่วงเลยมา ๔ ปี และสถานการณ์บ้านเมืองได้พัฒนาไปสู่โหมดการเลือกตั้ง ส.ส. แล้ว จึงควรที่รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐจะได้ผ่อนปรนให้มีการการชุมนุมทางการเมืองได้ในระยะยาว ก็ควรแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องการห้ามชุมนุมทางการเมือง” นายวัสกล่าวในที่สุด
 เผยแพร่โดย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๑

24/05/2561

© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5397525
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
1167
คน