Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ผลการดำเนินงาน View : 236
ข่าวแจก กสม. เตือนใจ ร่วมแลกเปลี่ยนและประเมินสถานการณ์สิทธิของคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติในอาเซียน พร้อมชมเชยการปฏิบัติงานของรัฐบาลไทยในความพยายามปฏิบัติงานตามเป้าหมาย “Zero Statelessness”
ข่าวแจก
กสม. เตือนใจ ร่วมแลกเปลี่ยนและประเมินสถานการณ์สิทธิของคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติในอาเซียน พร้อมชมเชยการปฏิบัติงานของรัฐบาลไทยในความพยายามปฏิบัติงานตามเป้าหมาย “Zero Statelessness”
 
          นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิสถานะกลุ่มชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมือง เข้าร่วมการอภิปราย “สิทธิในการถือสัญชาติ และการยุติการไร้รัฐในภูมิภาคอาเซียน” เนื่องในโอกาสครบรอบ ๒ ปีของการจัดทำโครงการรณรงค์ #IBelong เพื่อยุติการไร้รัฐ  ใน พ.ศ. ๒๕๖๗   (Panel Discussion, marked 2nd Anniversary of UNHCR's #IBelong Campaign to End Statelessness in 2024) เพื่อสรุปความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิและสถานะบุคคลของประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ ณ โรงแรมบูโรพุทโธ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย 
          นางเตือนใจฯ กล่าวสรุปประสบการณ์การปฏิบัติงานที่ผ่านมาว่า ได้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการขจัดการไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย ในระยะเวลา ๔๒ ปี โดยยึดถือการปฏิบัติตนตามกระแสพระราชดำรัส และแบบอย่างการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระประมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาโดยตลอด โดยเริ่มต้นในพื้นที่บ้านปางสา อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่ปี ๒๕๑๗ ในฐานะนักพัฒนา และครูอาสาสมัคร ตามโครงการหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง (บัณฑิตอาสาสมัคร) รุ่นที่ ๖ สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนกระทั่งก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ในปี ๒๕๒๘ พร้อมกับปฏิบัติงานทั้งในฐานะนักส่งเสริมสิ่งแวดล้อม ผู้บริหาร และกรรมการโครงการและกิจกรรมการพัฒนาต่างๆ จนกระทั่งได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (จังหวัดเชียงราย) ในปี ๒๕๔๓ สมาชิกสภานิติบัญญัติ ในปี ๒๕๔๙ และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในปี ๒๕๕๘-ปัจจุบัน ทำให้เห็นความสำคัญของการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล โดยเฉพาะการขจัดการไร้รัฐ ไร้สัญชาติของประชากรในประเทศ  เพื่อทำให้บุคคลมีสถานะทางกฎหมาย สามารถเข้าถึงการใช้สิทธิ และสวัสดิการต่างๆ ของรัฐ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามศักยภาพที่บุคคลนั้นๆ พึงมีพึงได้ สิ่งหนึ่งที่ทำให้งานสำเร็จ คือ เครือข่าย NGOs สื่อมวลชน ภาคประชาสังคม และภาควิชาการพัฒนาการที่ตนเห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาการไร้รัฐในประเทศไทย โดยเฉพาะในปี ๒๕๕๑ ซึ่งได้มีโอกาสร่วมผลักดันการแก้ไขกฎหมายสำคัญๆ ๒ ฉบับ ที่ช่วยให้เกิดการแก้ไขปัญหาการไร้รัฐ ไร้สัญชาติได้อย่างเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ได้แก่ การกำหนดให้เด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทยต้องได้รับเอกสารพิสูจน์ตน ทั้งหนังสือรับรองการเกิด และสูติบัตร การคืนสัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดน (มาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑)  สำหรับบุคคลที่เกิดในไทย ได้รับผลจากการประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๗ การได้สัญชาติไทยเป็นการทั่วไป  (ตามมาตรา ๗ ทวิ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑) ซึ่งปัจจุบันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยปรับให้อยู่ในการพิจารณาระดับจังหวัด (คำร้องในจังหวัดต่างๆ) และอธิบดีกรมการปกครอง (คำร้องในกรุงเทพมหานคร) รวมถึงการเร่งรัดให้มีการพิจารณากระบวนการกำหนดสถานะสำหรับเด็กนักเรียน หรือบุคคลที่สำเร็จการศึกษาแล้ว ที่เป็นคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ และไร้รากเหง้าตามที่มีการสำรวจแล้ว
          โดยเห็นว่าองค์ประกอบที่เป็นข้อเสนอแนะในการปฏิบัติงานของประเทศไทย ซึ่งทำให้ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ได้แก่ (๑) การสร้างเสริมความเข้มแข็งให้กับกลไกความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อการพิสูจน์สิทธิ และการแก้ไขปัญหาการไร้รัฐ (๒) การสร้างระบบการเชื่อมต่อของการบริการออกเอกสารใบรับรองการเกิด และสูติบัตรของหน่วยบริการของภาครัฐที่ยังอยู่ต้องดำเนินการเพิ่มเติม (ประมาณ ๑๐๐ แห่ง) และหน่วยบริการของเอกชนที่ยังไม่มีการดำเนินการดังกล่าว (ประมาณ ๘๑ แห่ง) (๓) การแก้ไขกฎหมาย หรือนโยบายที่ยังคงขัดแย้ง หรือไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ ณ ปัจจุบัน (๔) การส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของเอกสารใบรับรองการเกิด (ท.ร.๑/๑) ขอหนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.๒๐/๑)  และสูติบัตรสำหรับผู้ที่เกิดในไทยทุกคน ตลอดจนผู้ปฏิบัติงานทุกองค์กร และ (๕) การเชื่อมร้อย หรือสร้างมาตรฐานร่วมของระบบการจัดทำ ท.ร.๒๐/๑  และสูติบัตร
          ทั้งนี้ ในการปฏิบัติงานครั้งนี้ นางเตือนใจฯ ได้มีโอกาสรับฟังสถานการณ์การดำเนินงานด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของกลุ่มบุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติของกลุ่มบุคคลที่อยู่ในประเทศอินโดนีเซีย โดยแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเอกอัครราชทูตไทย ผู้แทนถาวรประจำอาเซียน ผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ สำนักงาน UNHCR ประจำประเทศอินโดนีเซีย สำนักงาน UNICEF ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออก และแปซิฟิก ผู้ช่วยที่ปรึกษารัฐมนตรี กระทรวงยุติธรรม สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ผู้แทนสาธารณรัฐอินโดนีเซียด้านสิทธิผู้หญิง และประธานคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของผู้หญิงและเด็ก และกลุ่มผู้ประสบปัญหาการไร้รัฐชาวอินโดนีเซีย ซึ่งเชื่อมโยงถึงสถานการณ์การบังคับ (ขาย) เด็กเพื่อการสมรส การค้ามนุษย์/ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองของกลุ่มมุสลิมโรฮินจา ข้อกำหนดทางสังคมวัฒนธรรมเกี่ยวกับการสมรสของบิดา-มารดาตามศาสนาอิสลาม และกฎหมายการสมรสของแต่ละประเทศ ตลอดจนการดำเนินงานนโยบายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังเห็นว่า ปัญหาดังกล่าว อาเซียนจะต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง และหากเป็นไปได้ทุกประเทศในโลกนี้ ไม่ควรจะมีคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติอีกต่อไป
 
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแหงชาติ
๑๕ พฤศจิกายน  ๒๕๕๙
51074.jpg
 
700
 
 51075.jpg

ดูเอกสาร PDF (คลิกที่นี่)

15/11/2559

© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5375263
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
2114
คน