Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ผลการดำเนินงาน View : 138
กสม. แจงเสนอชื่อผู้แทนเป็นกรรมการสรรหา กกต. ครั้งที่สองตามหนังสือของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา
ข่าวเผยแพร่สื่อมวลชน
 

กสม. แจงเสนอชื่อผู้แทนเป็นกรรมการสรรหา กกต. ครั้งที่สองตามหนังสือของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา

          วันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ เวลา ๑๐.๓๐ น. นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ด้านบริหารประจำสัปดาห์ว่า ตามที่มีข้อมูลเผยแพร่ต่อสาธารณะในทำนองว่า กสม. ส่งชื่อบุคคลเป็นกรรมการสรรหาบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ล่าช้า หรือพ้นกำหนด ทำให้ไม่มีผู้แทนของ กสม. ทำหน้าที่เป็นกรรมการสรรหา กกต. ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๑๑ วรรคหนึ่ง (๔) นั้น ที่ประชุม กสม. เห็นว่า ข้อมูลที่เผยแพร่ข้างต้นผิดพลาดคลาดเคลื่อนอย่างมีนัยสำคัญ อันอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญโดยสุจริตของ กสม. รวมทั้งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่องค์กรแห่งนี้ตามมาได้

         นายวัส  กล่าวว่า สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ในฐานะหน่วยธุรการของคณะกรรมการสรรหา กกต. ได้ส่งหนังสือสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ด่วนที่สุด ที่ สว ๐๐๐๘(ส)/๔๙๗๖ ลงวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๖๐ ถึงเลขาธิการ กสม. เพื่อแจ้งให้ กสม. พิจารณาดำเนินการเสนอชื่อบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการสรรหา กกต. ซึ่งในคราวประชุม กสม.ด้านบริหาร ครั้งที่ ๒๕/๒๕๖๐ เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๖๐ ได้มีมติแต่งตั้งนายธีรภัทร สันติเมทนีดล ซึ่งมีคุณสมบัติครบถ้วนตาม พ.ร.ป.กกต. มาตรา ๘ มาตรา ๙ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๐ เป็นกรรมการสรรหา กกต. พร้อมทั้งส่งชื่อไปยังสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเพื่อดำเนินการในขั้นตอนต่อไป

         นายวัส กล่าวอีกว่า ต่อมาเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๖๐ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้ส่งหนังสือสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ด่วนที่สุด ที่ สว ๐๐๐๘(ส)/๕๔๖๖ ลงวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๖๐ ถึงเลขาธิการ กสม. มีเนื้อหาสรุปว่า คณะกรรมการสรรหา กกต. ในคราวประชุมเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๖๐ ได้พิจารณาเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลซึ่งศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระอื่นซึ่งมิใช่ กกต. เสนอชื่อเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการสรรหา กกต. และมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า นายธีรภัทรขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๘ (๑) (ก) คือ กรณีการ “รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี” จึงเป็นเหตุให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการสรรหา กกต.
    
         ประธาน กสม. กล่าวต่อว่า หนังสือดังกล่าวซึ่งลงนามโดยนายนัฑ ผาสุข เลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการสรรหา กกต. ยังได้ขอให้ กสม. พิจารณาดำเนินการเสนอชื่อบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการสรรหา กกต. อีกครั้ง พร้อมทั้งให้ กสม. แจ้งให้บุคคลดังกล่าวทราบด้วยว่าคณะกรรมการสรรหา กกต. จะมีการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๐  ดังนั้นในคราวประชุม กสม. ด้านบริหาร ครั้ง ๒๗/๒๕๖๐ เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๖๐ จึงได้มีมติแต่งตั้งนายปรีชา บุตรศรี ซึ่งมีคุณสมบัติครบถ้วนตาม พ.ร.ป.กกต. เช่นกัน เป็นกรรมการสรรหา กกต. และส่งชื่อไปยังสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเป็นครั้งที่สองเพื่อดำเนินการต่อไป

         นายวัส กล่าวว่า แต่ภายหลังการประชุมคณะกรรมการสรรหา กกต. เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๐     มีข้อมูลเผยแพร่ทางสื่อมวลชนว่า กสม. ส่งชื่อบุคคลเป็นกรรมการสรรหา กกต. พ้นจากห้วงเวลาในบทเฉพาะกาลมาตรา ๗๑ ของ พ.ร.ป.กกต. ที่บัญญัติว่า “ภายในยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่มิใช่คณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้งและส่งชื่อผู้แทนให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเพื่อประกอบเป็นคณะกรรมการสรรหาตามมาตรา ๑๑”

         “ในทางปฏิบัติ กสม. และฝ่ายกฎหมายได้พิจารณาบทเฉพาะกาลมาตรา ๗๑ ของ พ.ร.ป.กกต. มาก่อนหน้า และเห็นว่าการเสนอชื่อกรรมการสรรหา กกต. จะครบกำหนดเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๖๐ เนื่องจาก พ.ร.ป.กกต. เริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๖๐ แต่การที่เลขาธิการวุฒิสภามีหนังสือมาถึงเลขาธิการ กสม. เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๖๐ อันเป็นเวลาที่พ้น ๒๐ วันไปแล้ว แจ้งว่านายธีรภัทรพ้นจากตำแหน่งกรรมการสรรหา กกต. พร้อมทั้งให้ กสม. เสนอชื่อกรรมการสรรหา กกต. ใหม่ กรณีย่อมถือได้ว่า นายธีรภัทรต้องดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการสรรหา กกต. แล้วตั้งแต่วันที่ กสม. ส่งชื่อไปในครั้งแรก มิฉะนั้นจะมีกรณีที่ต้องพ้นจากตำแหน่งไปได้อย่างไร และการที่ให้เสนอชื่อใหม่จึงนับเป็นการแต่งตั้งแทน ซึ่งไม่ใช่กรณีที่ต้องนำเรื่องระยะเวลา ๒๐ วันตามมาตรา ๗๑ มาใช้บังคับ” ประธาน กสม. ระบุ   

         นายวัส กล่าวในตอนท้ายว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภามีหนังสือแจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการสรรหา กกต. นัดแรก (วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๖๐) มายังเลขาธิการ กสม. ในวันเดียวกันกับที่มีการประชุมคณะกรรมการสรรหา กกต. แต่หนังสือแจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการสรรหา กกต. นัดที่สอง (วันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๐) ปรากฏว่าต้องรอจนถึงวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๐ เลขาธิการวุฒิสภาจึงได้ลงนามส่งหนังสือมาถึงเลขาธิการ กสม. โดยระบุว่า กสม. ไม่สามารถที่จะเสนอชื่อและแต่งตั้งนายปรีชาเป็นกรรมการสรรหา กกต. ได้ โดยอ้างว่าเป็นการเสนอชื่อผู้แทนและแต่งตั้งบุคคลเป็นกรรมการสรรหา กกต. เกินกำหนดระยะเวลาที่ พ.ร.ป.กกต. บัญญัติไว้ดังกล่าว.

************************




PDF Version (คลิกที่นี่)

07/11/2560

© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5394554
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
297
คน