Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ผลการดำเนินงาน View : 265
กสม. เสนอความเห็นถึงนายกรัฐมนตรี – ประธาน สนช. ต่อร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย แนะสร้างหลักประกันทางกฎหมายที่ชัดเจนเพื่อคุ้มครองสิทธิประชาชนตามพันธกรณีระหว่างประเทศ
กสม. เสนอความเห็นถึงนายกรัฐมนตรี – ประธาน สนช.
ต่อร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย
แนะสร้างหลักประกันทางกฎหมายที่ชัดเจนเพื่อคุ้มครองสิทธิประชาชนตามพันธกรณีระหว่างประเทศ
 
                ตามที่คณะรัฐมนตรีได้เสนอร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... พร้อมแจ้งผลการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติฯ เพื่อให้ในคราวประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ซึ่งต่อมา ในคราวประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ ๘๖/๒๕๖๑ เป็นพิเศษ เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๑ ได้มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว และให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นเพื่อพิจารณาต่อไป นั้น
                คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ....  เป็นกฎหมายที่มีความสำคัญ เนื่องจากมีเจตนารมณ์เพื่อให้ประเทศไทยสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีได้อย่างครบถ้วนและมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น รวมทั้งเพื่อให้เป็นกฎหมายในการอนุวัติการตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (ICPPED) ที่ประเทศไทยได้ลงนามไว้ กสม. จึงได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับดังกล่าว และเสนอความเห็นเพิ่มเติมไปยังนายกรัฐมนตรีและประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สำหรับเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการและพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน โดยมีความเห็นสรุปดังนี้
                ๑. โดยทั่วไปร่างพระราชบัญญัติฯ มีสาระสำคัญที่สอดคล้องกับอนุสัญญา CAT และ ICPPED ทั้งในส่วนนิยามความผิดฐานกระทำทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหาย การดำเนินคดีและบทกำหนดโทษ รวมทั้งการป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายและการคุ้มครองผู้เสียหาย
                ๒. ในการรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมามีผู้เสนอความเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นต้องบัญญัติเรื่องการห้ามยกสถานการณ์ฉุกเฉิน สงคราม ความไม่มั่นคงของรัฐ หรือสถานการณ์พิเศษใดเป็นข้ออ้างในการทรมานหรือกระทำให้บุคคลสูญหาย และการห้ามส่งตัวบุคคลออกนอกราชอาณาจักรหากมีเหตุควรเชื่อได้ว่า บุคคลนั้นจะถูกทรมานหรือถูกกระทำให้สูญหาย หรือหลักการห้ามผลักดันกลับไปสู่อันตราย (non - refoulement) ตามมาตรา ๑๑ และ ๑๒ ไว้ในร่างพระราชบัญญัติ ฯ เนื่องจากมาตรา ๕ และ ๖ ของร่างพระราชบัญญัติฯ ได้กำหนดให้การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายเป็นความผิดโดยชัดแจ้งแล้ว เมื่อการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐครบองค์ประกอบความผิดแล้วไม่ว่าในสถานการณ์ใด ก็ไม่สามารถอ้างเหตุยกเว้นความผิดตามกฎหมายได้ ส่วนกรณีการส่งตัวบุคคลออกนอกประเทศนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำหลักการห้ามผลักดันกลับไปสู่อันตรายมาพิจารณา ประกอบกับประเทศไทยมีกฎหมายที่ให้ดุลพินิจฝ่ายบริหารในการพิจารณาไม่ผลักดันบุคคลออกนอกประเทศได้อยู่แล้ว อาทิ พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ 
                อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเห็นว่า บทบัญญัติในมาตรา ๑๑ และ ๑๒ ของร่างพระราชบัญญัติ ฯ เป็นหลักการสำคัญของอนุสัญญา CAT และอนุสัญญา ICPPED โดยเมื่อพิจารณาเห็นว่า ประเทศไทยยังมีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐตามอนุสัญญา CAT และ ICPPED การคงมาตรา ๑๑ และ ๑๒ ไว้ในร่างพระราชบัญญัติฯ จะเป็นการสร้างหลักประกันทางกฎหมายที่ชัดเจนในการคุ้มครองสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน
                ๓. การกำหนดความรับผิดของผู้บังคับบัญชาตามมาตรา ๓๒ ของร่างพระราชบัญญัติฯ มีที่มาจากอนุสัญญา ICPPED ข้อ ๖ (ข) ซึ่งกำหนดองค์ประกอบความรับผิดของผู้บังคับบัญชาไว้ ๓ ประการ คือ (๑) ทราบหรือเจตนาละเลยข้อมูลซึ่งระบุอย่างชัดเจนว่า ผู้ใต้บังคับบัญชาภายใต้อำนาจและการควบคุมที่มีผลของตนได้กระทำหรือจะกระทำความผิดฐานกระทำให้บุคคลหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (๒) มีอำนาจความรับผิดชอบและการควบคุมอย่างมีผลเหนือกิจกรรม ซึ่งเกี่ยวข้องกับความผิดฐานกระทำให้บุคคลหายสาบสูญโดยถูกบังคับ และ (๓) ไม่ดำเนินมาตรการต่าง ๆ ทั้งหมดที่จำเป็นและเหมาะสมภายใต้อำนาจของตน เพื่อป้องกันหรือระงับการกระทำให้บุคคลหายสาบสูญโดยถูกบังคับหรือเสนอเรื่องต่อเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจเพื่อดำเนินการสอบสวนและดำเนินคดี นั้น จึงเห็นว่า การกำหนดความรับผิดของผู้บังคับบัญชาตามมาตรา ๓๒ ในร่างพระราชบัญญัติฯ ซึ่งระบุว่า “ผู้บังคับบัญชาผู้ใดทราบว่าผู้ใต้บังคับบัญชาที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาโดยตรงของตนจะกระทำหรือได้กระทำความผิด...” อาจไม่สอดคล้องกับความมุ่งหมายตามข้อ ๖ ของอนุสัญญา ICPPED จึงเห็นควรตัดคำว่า “โดยตรง” ออก คงเหลือข้อความดังนี้ “ผู้บังคับบัญชาผู้ใดทราบว่าผู้ใต้บังคับบัญชาที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของตนจะกระทำหรือได้กระทำความผิด...” 
                ๔. กสม. มีข้อสังเกตว่า ในบันทึกหลักการและเหตุผลประกอบร่างพระราชบัญญัติฯ ระบุว่า ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญา CAT และอนุสัญญา ICPPED ยังมีความคลาดเคลื่อนอยู่ เพราะตามข้อเท็จจริงประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีเฉพาะอนุสัญญา CAT เท่านั้น ส่วนอนุสัญญา ICPPED แม้ว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะมีมติให้ความเห็นชอบในหลักการการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฯ เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๖๐ แต่ประเทศไทยยังไม่ได้ดำเนินการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญา ICPPED แต่อย่างใด การระบุว่าประเทศไทย
เป็นภาคีอนุสัญญา ICPPED จึงยังคลาดเคลื่อน
ตามเอกสารแนบ
 

23/01/2562

© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5375576
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
207
คน