Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ผลการดำเนินงาน View : 109
กสม. ย้ำข้อเสนอแนะต่อ ครม. กรณีเด็กถูกกระทำความรุนแรงทางเพศโดยครูหรือบุคลากรทางการศึกษา แนะกระทรวงศึกษาฯ เร่งจัดทำแผนจัดการความเสี่ยง-แนวปฏิบัติในการป้องกันปัญหาความรุนแรงทางเพศ
            วันที่ 12 มีนาคม 2564 นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยถึงกรณีการกระทำความรุนแรงทางเพศต่อเด็กโดยครู ซึ่งล่าสุดมีเหตุการณ์เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ว่า สถานการณ์ความรุนแรงทางเพศต่อเด็กที่เกิดจากการกระทำของครูหรือบุคลากรทางการศึกษา ยังปรากฏให้เห็นเป็นข่าวอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่นานมานี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้หยิบยกสถานการณ์ปัญหาในลักษณะเดียวกันหลายกรณีขึ้นตรวจสอบและรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคสถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคมด้านสิทธิเด็ก และหน่วยงานของรัฐ และได้จัดทำรายงานข้อเสนอแนะมาตรการในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนกรณีดังกล่าวเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนมกราคม 2564
            ข้อเสนอแนะในประเด็นสำคัญของ กสม. ได้เน้นย้ำให้ (1) คณะรัฐมนตรี ควรพิจารณากำหนดนโยบายด้านการขจัดความรุนแรงทางเพศต่อเด็กในภาพรวมและกำชับการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สอดประสานและเชื่อมโยงกันในด้านนโยบาย โดยสนับสนุนงบประมาณด้านบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กแก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ให้มีจำนวนที่เพียงพอ โดยเฉพาะการเพิ่มจำนวนพนักงานสอบสวนหญิงหรือพนักงานสอบสวนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเด็ก นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ หรือบุคลากรสหวิชาชีพอื่น ๆ
            (2) กระทรวงศึกษาธิการ ควรกำหนดให้สถานศึกษาแต่ละแห่งประสานความร่วมมือกับเด็กนักเรียน ตัวแทนผู้ปกครอง ชุมชนและหน่วยงานของรัฐในพื้นที่เพื่อจัดทำ ‘แผนจัดการความเสี่ยงด้านความรุนแรงทางเพศต่อเด็ก’ และ ‘แนวปฏิบัติสำหรับเด็กในการป้องกันตนเองจากความรุนแรงทางเพศ’ ส่วนการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพหรือการต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ควรมีการกลั่นกรองและตรวจสอบการประพฤติตนตามจรรยาบรรณของวิชาชีพของครูหรือบุคลากรทางการศึกษาอย่างเคร่งครัด รวมทั้งควรกำหนดให้มีการพัฒนาความรู้ความเข้าใจในเรื่อง ‘สิทธิเด็ก’ และ ‘บทบาทการคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน’ แก่บุคลากรทางการศึกษา ซึ่งจะเป็นการป้องกันยับยั้งมิให้เกิดการกระทำความรุนแรงทางเพศหรือความรุนแรงรูปแบบอื่นต่อเด็ก นอกจากนี้ ควรพัฒนาช่องทางในการร้องเรียนแจ้งเบาะแสของศูนย์คุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาซึ่งถูกล่วงละเมิดทางเพศ รวมทั้งช่องทางให้เด็กสามารถขอรับคำปรึกษา เพื่อให้เด็กหรือผู้พบเห็นสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย สะดวกรวดเร็ว คำนึงถึงความปลอดภัยและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยอาจใช้รูปแบบเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันเป็นการเฉพาะ
            (3) คณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติซึ่งมีอำนาจและหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ควรพิจารณาจัดทำ ‘คู่มือหรือแนวทางการปฏิบัติงาน’ ที่เป็นมาตรฐานเฉพาะเกี่ยวกับการประสานความร่วมมือด้านกระบวนการยุติธรรมและการคุ้มครองเยียวยาเด็กในคดีความรุนแรงทางเพศ ซึ่งสามารถดำเนินการได้ในรูปแบบ ‘ผู้จัดการระบบดูแลเด็กในคดีความรุนแรงทางเพศ (Care Manager)’ ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีกระบวนการที่ชัดเจน ไม่ซ้ำซ้อน และมีระบบการบูรณาการข้อมูลกัน
            (4) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ควรจัดทำ ‘คู่มือหรือแนวทางการปฏิบัติงาน’ เกี่ยวกับกระบวนการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูสภาพจิตใจ วิธีการฟื้นฟูเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมทั้งกิจกรรมที่มุ่งเสริมสร้างพลังอำนาจ (Empowerment) แก่เด็กที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทางเพศ
            (5) กระทรวงยุติธรรมโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ควรศึกษาและแก้ไขปรับปรุงแนวทางการพิจารณาจ่ายค่าตอบแทนแก่เด็กที่เป็นผู้เสียหายในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ โดยควรกำหนดแนวทางการใช้ดุลพินิจสำหรับกรณีที่ต้องพิจารณาว่าผู้เสียหายมีพฤติกรรมยินยอมหรือไม่นั้น คำนึงถึงวุฒิภาวะและอำนาจการตัดสินใจของเด็ก ตลอดจนความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้กระทำความผิดกับเด็กด้วย
            นางประกายรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ กสม. ยังเสนอแนะให้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ตรวจสอบการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศต่อเด็กของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 อย่างเคร่งครัด รวมทั้งควรประสานความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเพื่อกำหนดแนวปฏิบัติเกี่ยวกับกระบวนการลบประวัติข้อมูลข่าวสารที่กระทบต่อความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว ตามหลักสิทธิที่จะถูกลืม (Right to be forgotten) ขณะที่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ควรกำกับดูแลกันเองและส่งเสริมให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนปฏิบัติงานโดยระมัดระวังและเพิ่มความตระหนักในเรื่องผลกระทบต่อเด็กและคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ตลอดจนการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลของผู้ที่เกี่ยวข้อง
            “ปัญหาความรุนแรงทางเพศต่อเด็กที่เกิดจากการกระทำโดยครูหรือบุคลากรทางการศึกษา นอกจากจะก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านร่างกาย สภาพจิตใจ และอนาคตของเด็กที่เป็นผู้เสียหายแล้ว ยังเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว สถานศึกษาและชุมชน รวมไปถึงความรู้สึกของประชาชนในวงกว้าง การป้องกันและแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นระบบจึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรร่วมกันดำเนินการ เพื่อให้เด็กซึ่งเป็นอนาคตของชาติได้รับการคุ้มครองจากความรุนแรงในทุกรูปแบบและได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมทั้งจากครอบครัว สถานศึกษา และกลไกต่าง ๆ ของสังคม โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ” ประธาน กสม. กล่าว
ตามเอกสารแนบ

12/03/2564

© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5375375
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
6
คน