Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ผลการดำเนินงาน View : 164
กสม. ชี้กรณีสื่อโทรทัศน์บันทึกภาพและเสียงแหล่งข่าวโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการละเมิดสิทธิฯ แนะ กสทช. ส่งเสริมสื่อให้ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมและจรรยาบรรณสื่ออย่างเคร่งครัด
                ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนขอให้ตรวจสอบการทำงานของสื่อโทรทัศน์ กรณีบันทึกภาพและเสียงของผู้ร้องสองรายไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นการนำเสนอข่าวการบริหารงานและการปฏิบัติหน้าที่โดยขาดหลักธรรมาภิบาลของอาจารย์สังกัดมหาวิทยาลัย โดยปรากฏภาพและเสียงของผู้ร้องทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยดังกล่าว ขณะให้ข้อมูลกับทีมข่าวในวันที่เดินทางไปขอเข้าพบอธิการบดีหรือผู้แทนของมหาวิทยาลัย ซึ่งต่อมาได้มีการเผยแพร่ ส่งต่อ และบันทึกซ้ำภาพข่าวอย่างแพร่หลายในสื่อออนไลน์ ทำให้ผู้ร้องทั้งสองได้รับความเสียหายและถูกละเมิดสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว โดยผู้ร้องทั้งสองได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสำนักงาน กสทช. ได้ส่งเรื่องร้องเรียนไปยังสื่อโทรทัศน์ผู้ถูกร้องและสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เพื่อพิจารณาตรวจสอบ และได้รับแจ้งผลจากสื่อโทรทัศน์ผู้ถูกร้องว่า การนำเสนอหรือเผยแพร่ข่าวดังกล่าวมิได้มีส่วนใดเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือกระทบกระเทือนสิทธิมนุษยชนของผู้ร้องทั้งสอง และยืนยันว่าได้ปฏิบัติงานโดยคำนึงถึงมาตรฐานทางจริยธรรมวิชาชีพ ส่วนสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยแจ้งว่า ไม่มีข้อมูลประกอบที่จะนำไปสู่การพิจารณาตามกระบวนการรับเรื่องร้องเรียน สำนักงาน กสทช. จึงไม่อาจดำเนินการใดๆ ต่อไปได้ นั้น
                นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธมนุษยชนแห่ชาติ กล่าวว่า “กสม. ได้ตรวจสอบและพิจารณาคำร้องประกอบข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้ให้การรับรองและคุ้มครองบุคคลทุกคนในสิทธิความเป็นอยู่ส่วนตัว รวมถึงสิทธิในเกียรติยศและชื่อเสียง การนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์จะกระทำมิได้ เว้นแต่เป็นการกระทำเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ขณะที่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ดังที่คู่มือจริยธรรมและการกำกับดูแลกันเองในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ของสำนักงาน กสทช. ได้วางหลักไว้ว่า ผู้ประกอบวิชาชีพกระจายเสียงและโทรทัศน์ต้องเปิดเผย และซื่อสัตย์ต่อบุคคลซึ่งเป็นแหล่งข่าวหรือผู้ให้สัมภาษณ์ที่ตกเป็นข่าว โดยแจ้งให้ทราบเรื่องการบันทึกเทป ชื่อรายการ วันและเวลาในการออกอากาศ หากมีความจำเป็นต้องปิดบังในการหาข่าวหรือข้อมูล ต้องสามารถให้เหตุผลและพิสูจน์ได้ว่า ทำไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือมีความจำเป็นทางกฎหมาย และหากมีความจำเป็นต้องบันทึกเทปลับ เพื่อให้ได้บรรยากาศตามเนื้อหา ก่อนนำไปออกอากาศ ควรขอความเห็นชอบจากบุคคลที่ถูกบันทึกเทปดังกล่าว”
                 ดังนั้น การที่ทีมข่าวในสังกัดผู้ถูกร้องไม่ได้ดำเนินการแจ้งขออนุญาตเพื่อทำการบันทึกภาพและเสียงของผู้ร้องทั้งสองเพื่อนำไปเผยแพร่ต่อสาธารณะ ทั้งที่ผู้ร้องทั้งสองถือเป็นแหล่งข่าวหรือผู้ให้สัมภาษณ์ ย่อมเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักการประกอบวิชาชีพ แม้จะอ้างว่ามีการตั้งกล้องถ่ายภาพอย่างเปิดเผยโดยไม่มีการปิดบังซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้ และไม่ได้มีการทักท้วงแต่อย่างใด ก็ยังไม่เพียงพอที่จะแสดงว่า ผู้ร้องทั้งสองทราบและอนุญาตให้บันทึกภาพและเสียงของตนเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะเช่นกัน อีกทั้งหากทีมข่าวในสังกัดผู้ถูกร้อง ดำเนินการแจ้งขออนุญาตทำการบันทึกภาพและเสียงของผู้ร้องทั้งสองแล้ว แต่ได้รับการปฏิเสธ ไม่อนุญาตให้ทำได้ ผู้ถูกร้องย่อมสามารถใช้วิธีการทางเลือกอื่นที่เหมาะสมและพอสมควรแก่เหตุแทนได้ กสม. จึงเห็นว่า การละเลยไม่แจ้งขออนุญาตทำการบันทึกภาพและเสียงของผู้ร้องทั้งสองคนก่อนนำไปเผยแพร่ เป็นการใช้เสรีภาพในการเสนอข่าวสารของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อที่เกินสัดส่วนกับเหตุผลความจำเป็น และกระทบต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว และสิทธิในเกียรติยศและชื่อเสียงของบุคคล อันขัดต่อหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพตามที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองและคุ้มครองไว้ และแม้ว่าภายหลังสื่อโทรทัศน์ผู้ถูกร้องจะได้ลบโพสต์คลิปวิดีโอรายการข่าวดังกล่าวออกจากเว็บไซต์ยูทูปแล้ว แต่ยังพบคลิปวิดีโอข่าวดังกล่าวซึ่งมีผู้บันทึกไว้แล้วแชร์ในสื่อออนไลน์อื่น ๆ ทำให้ปัจจุบันผู้ร้องทั้งสองยังคงได้รับความเสียหาย การกระทำของสถานีโทรทัศน์ผู้ถูกร้อง จึงถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ร้องทั้งสอง
                “ด้วยเหตุนี้ กสม. ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 จึงมีข้อเสนอแนะว่า (1) สถานีโทรทัศน์ผู้ถูกร้องควรเยียวยาจิตใจของผู้ร้องทั้งสองที่ได้รับผลกระทบเพื่อแสดงความรับผิดชอบ เช่น การประสานงานกับเว็บไซต์และผู้เกี่ยวข้องเพื่อลบโพสต์วิดีโอข่าวดังกล่าวออกจากระบบอินเทอร์เน็ต และ (2) สำนักงาน กสทช. ควรดำเนินการส่งเสริมกลไกการกำกับดูแลกันเองทางวิชาชีพ เพื่อควบคุมให้การประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนเป็นไปตามมาตรฐานทางจริยธรรมและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ โดยประสานความร่วมมือกับสื่อโทรทัศน์ต่าง ๆ ให้ปฏิบัติงานตามคู่มือจริยธรรมและการกำกับดูแลกันเองในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์อย่างเคร่งครัดด้วย ตามรายงานผลการตรวจสอบที่ 70-71/2563” ประธาน กสม. กล่าว
ตามเอกสารเเนบ

05/03/2563

© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5374884
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
1735
คน