วันที่ 12 พฤศจิกายน 2563
นางฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม จัดโครงการแข่งขันโต้วาทีสิทธิมนุษยชนภาษาอังกฤษระดับอุดมศึกษา ประจำปี 2563 ขึ้น ระหว่างวันที่ 6 – 8 พฤศจิกายน 2563 ณ โรงแรมเอเวอร์กรีน เพลส สยาม บาย ยูเอชจี ราชเทวี กรุงเทพฯ โดยมีตัวแทนนิสิต นักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกจากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศเข้าร่วมการแข่งทั้งสิ้น 20 ราย จาก 7 สถาบัน ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นั้น
นางฉัตรสุดา กล่าวต่อไปว่า นิสิต นักศึกษา ผู้เข้าร่วมการแข่งขันได้ผ่านการอบรมให้ความรู้ประเด็นสิทธิมนุษยชน การใช้เสรีภาพในการแสดงออก และทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ นายสมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) นางสาวนรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ดร.เสรี นนทสูติ สมาชิกคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (Committee on Economic, Social and Cultural Rights – CESCR) นายฐานกาญจน์ วงศ์วิศิษฎ์ศิลป์ นักขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนด้านความเสมอภาคทางเพศ และนายปฐพร ทรัพย์ไพฑูรย์ สื่อมวลชนอิสระ ซึ่งนิสิต นักศึกษาผู้ร่วมการแข่งขันได้นำความรู้ที่ได้รับจากวิทยากรมาใช้ในการโต้วาทีภาษาอังกฤษที่จัดขึ้น 4 รอบตามญัตติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนตลอดระยะเวลาการแข่งขัน
บัดนี้ โครงการแข่งขันโต้วาทีสิทธิมนุษยชนภาษาอังกฤษระดับอุดมศึกษา ประจำปี 2563 ดำเนินการแล้วเสร็จ โดยปรากฏผลการแข่งขันของนิสิต นักศึกษาผู้ได้รับรางวัลแต่ละประเภทอย่างเป็นทางการ จำนวน 5 คน จากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ดังนี้
รางวัลชนะเลิศ นายชนกันต วิทยศักดิ์พันธุ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 นายปรินทร กอดำรง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 นางสาวมนัสยา พุ่มแก้ว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รางวัลชมเชย นายกรัน ปาเทลา มหาวิทยาลัยมหิดล
รางวัลชมเชย นางสาวณัฐญา จารุเวคิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“การแข่งขันโต้วาทีสิทธิมนุษยชนภาษาอังกฤษระดับอุดมศึกษา เป็นกิจกรรมที่ กสม. ให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการแข่งขันในลักษณะนี้ มิใช่เพียงการพัฒนาศักยภาพด้านการใช้ภาษาอังกฤษของเยาวชนเท่านั้น แต่ยังช่วยส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่สนใจเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนและใช้ความรู้ความสามารถต่อยอดเพื่อเผยแพร่เรื่องสิทธิฯ สู่สังคม ทั้งนี้ กสม. ขอแสดงความยินดีและเป็นกำลังใจให้แก่นิสิต นักศึกษาผู้ได้รับรางวัลตลอดจนผู้เข้าร่วมโครงการทุกคนที่ได้ร่วมกันสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนมา ณ โอกาสนี้” นางฉัตรสุดา กล่าว
ตามเอกสารแนบ